7 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังอมก๋อย จัดงาน ‘โลกเย็นที่เป็นธรรม: 5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด’ ณ คริสตจักรกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองสะท้อนถึงความท้าทายอันซับซ้อนที่พวกเขากำลังเผชิญ ทั้งจาก ‘วาทกรรมตีตรา’ ในวิถีชีวิตและการกล่าวโทษว่าชนเผ่าพื้นเมืองเป็นต้นเหตุของวิกฤตสิ่งแวดล้อม ‘ความล้มเหลวของระบบธรรมาภิบาลโลก’ โดยเฉพาะการเจรจาพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในการปกป้องวิถีชีวิตของประชาชน ที่มองข้ามเสียงของกลุ่มเปราะบาง รวมทั้ง ‘การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน’ ทั้งจากอำนาจรัฐและทุนใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงประชาชนโดยตรง
ทั้งนี้ ภายในงานได้เปิดพื้นที่สำคัญผ่าน 2 วงเสวนา ได้แก่ วงเสวนาผ่านเสียงของชุมชน (Commun Talk) ‘5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย การเดินทาง จุดยืน และความหวัง’ ที่จะมาเล่าถึงเรื่องราวการเดินทาง จุดยืน และความหวังของชุมชนกะเบอะดิน รวมถึงผู้คนในอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยืนหยัดต่อต้านโครงการเหมืองถ่านหินอย่างเด็ดเดี่ยว สร้างประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากการรุกรานของทุน และวงเสวนา Public Talk ‘โลกเย็นที่เป็นธรรม การต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด’ อีกหนึ่งวงเสวนาสำคัญที่เปิดประเด็นเกี่ยวกับ ‘ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ’ อีกทั้งประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิทางสิ่งแวดล้อม [1]
‘5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย’ การเดินทาง จุดยืน และความหวัง
เวลา 09.50 – 10.20 ภายในงานได้เปิดเวที Commun Talk ‘5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย การเดินทาง จุดยืน และความหวัง’ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเส้นทางการต่อสู้ 5 ปีของชุมชนกะเบอะดินและผู้คนในอมก๋อย ที่ยืนหยัดปกป้องบ้านเกิดจากโครงการเหมืองถ่านหิน พร้อมสะท้อนความหวังและจุดยืนที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจทุน ร่วมแลกเปลี่ยนโดย สวัสดิ์ติพล วงศ์เกษตรกร แกนนำชาวบ้านหนองกระทิง สุดารัตน์ พลทวิช เยาวชนบ้านกะเบอะดิน ดวงใจ วงศรง แกนนำสตรีบ้านกะเบอะดิน สมศักดิ์ แก้วศรีนวล เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย และ ศักดิ์ดา แสนมี่ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) ดำเนินรายการโดย ธรธรร การมั่งมี และ อรพรรณ มุตติภัย
สวัสดิ์ติพล วงศ์เกษตรกร แกนนำชาวบ้านหนองกระทิงและตัวแทนจากชุมชนเส้นทางขนส่งเแร่ ได้สะท้อนถึงการต่อสู้ที่ยาวนานกว่า 5 ปี ของชาวกะเบอะดินและอมก๋อยในการปกป้องบ้านเกิดจากโครงการเหมืองถ่านหิน โดยกล่าวว่า วันนี้ขอขอบคุณเพื่อน ๆ เชียงใหม่และเพื่อนต่างถิ่นที่มาให้กำลังใจพี่น้องอมก๋อย เราต่อสู้กันมา 5 ปีแล้ว และยังคงไม่รู้ว่าต้องต่อสู้ไปอีกกี่ปี เพราะถ่านหินอยู่ที่นี่และอีกฝ่ายก็อยากได้ แต่บ้านเราก็ยืนยันไม่ให้ เราพร้อมที่จะต่อสู้และถ้ามีการเปลี่ยนเส้นทางเหมือนที่เคยได้ยินข่าว ก็ถือว่าเราได้ชัยชนะอีกขั้นหนึ่งแล้ว เพราะที่กะเบอะดินเรามีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่ให้ใครเข้ามาทำเหมืองที่นี่ เราขอยืนยันให้รู้ไว้ว่าคนที่นี่ไม่ยอมให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของเรา “ขอให้รู้ไว้ว่าคนที่นี่ไม่ให้มาทำเหมืองที่นี่” สวัสดิ์ติพลกล่าว
สุดารัตน์ พลทวิช (ซ้าย) ดวงใจ วงศรง (ขวา)
สุดารัตน์ พลทวิช ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน เล่าเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของเยาวชนในการต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่บ้านกะเบอะดินมาเป็นเวลา 5 ปีว่า เยาวชนถือเป็นตัวแทนหลักในการลุกขึ้นต่อสู้ คัดค้านการทำเหมืองแร่ถ่านหิน โดยไม่เพียงแต่ทำงานสำรวจข้อมูลชุมชน แต่ยังร่วมในงานเคลื่อนไหวและสื่อสารเพื่อให้คนในชุมชนเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากการทำงานที่ผ่านมา เยาวชนกะเบอะดินถือเป็นที่รู้จักจากคนในหลายพื้นที่ สุดารัตน์ถือเป็นหนึ่งในเยาวชนที่เริ่มต้นการต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2562 และจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 5 ปี พื้นที่กะเบอะดินก็ยังคงปลอดจากการทำเหมืองแร่ สุดารัตน์เชื่อมั่นว่าการต่อสู้ของพวกเขาจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับชุมชนอื่น ๆ และเป็นความหวังที่จะหยุดยั้งโครงการเหมืองแร่ในพื้นที่
“เราหวังว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับชุมชน และเป็นความหวัง ความฝันของชุมชนที่สามารถยุติเหมืองแร่ได้ และหวังอย่างยิ่งว่าเสียงของเราจะดังพอที่จะทำให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายได้เห็นและได้ยินความสำคัญของชุมชน จุดยืนหนึ่งเดียวคือ ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน” สุดารัตน์กล่าว
ดวงใจ วงศรง แกนนำสตรีบ้านกะเบอะดิน แบ่งปันเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดจากโครงการเหมืองแร่ถ่านหินที่คุกคามวิถีชีวิตของชุมชนว่า ที่นี่เป็นบ้านของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่เรามีป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำให้เราดื่มและนาให้เราปลูกข้าวกิน เรามีพืชผักต่าง ๆ ที่เราปลูกแล้วนำมาขาย เพื่อชีวิตประจำวัน ชุมชนของเรามีวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงชุดที่เราใส่ก็ทอเอง ทุกคนช่วยเหลือกันและไม่ทิ้งกัน เมื่อเรารู้ว่าเหมืองจะเกิดขึ้นที่บ้านเรา ชาวบ้านก็ร่วมมือกันช่วยเหลือ มีการยื่นหนังสือต่าง ๆ และในวันนี้หลังจากผ่านมา 5 ปี ศาลได้คุ้มครองชั่วคราวให้พวกเรายืนหยัดอยู่ได้ จุดยืนของพวกเราคือ “ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหินที่กะเบอะดิน แมแฮแบ” และเราหวังอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถยุติโครงการเหมืองแร่ถ่านหินได้
สมศักดิ์ แก้วศรีนวล ตัวแทนเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในอมก๋อยของคนอมก๋อยที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มร้านค้าในอมก๋อยและกลุ่มรักยางเปา ที่นำประเด็นเหมืองถ่านหินเข้าสู่โลกโซเชียล จุดประกายให้ชาวบ้านตระหนักถึงภัยคุกคามที่กำลังจะเกิดขึ้นกับทรัพยากรในพื้นที่ ให้ชุมชนตื่นตัวและเริ่มรวมพลังกันขับเคลื่อน การรวมตัวของเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อยประกอบด้วยคนหลากหลายภาคส่วน ทั้งข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้า และประชาชนในพื้นที่ หลังจากประชุมกันในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 เครือข่ายได้ระดมรายชื่อเพื่อยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการหยุดยั้งโครงการนี้จนถึงปัจจุบัน
สมศักดิ์ยืนยันว่า เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อยจะยังคงต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของอมก๋อย ไม่ใช่แค่เรื่องเหมืองแร่ แต่รวมถึงโครงการอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยกล่าวปิดท้ายว่า “เราจะต้องร่วมมือกัน ต้องเป็นหูเป็นตา ต้องช่วยกัน ในนามของตัวแทนเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อยก็ต้องขอบคุณน้อง ๆ เยาวชน พี่ ๆ ที่ลุกขึ้นมาสู้เป็นตัวตั้งตัวตีและยืนหยัดว่าจะไม่ให้มีเหมืองแร่ที่อมก๋อย เราคงต้องเกาะเกี่ยวไปด้วยกัน เพื่อยุติการทำลายทรัพยากรของประเทศไทย”
ศักดิ์ดา แสนมี่ จากสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) และผู้ขับเคลื่อนงานในสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของชนเผ่าพื้นเมืองในการรักษาธรรมชาติและการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากร พร้อมย้ำถึงบทบาทสำคัญของชนเผ่าพื้นเมืองในเวทีระดับโลก เช่น การประชุมของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเสียงของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก
“เสียงของชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการรับฟังจากประชาคมโลก ล่าสุดในที่ประชุมของสหประชาชาติได้มีการมีมติรับรองให้มีกลไกถาวรในการที่จะนำเรื่องขององค์ความรู้ภูมิปัญญามาสู่การปรับแก้ไขปัญหาของเรา แสดงว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องฟังเสียงของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในบ้านตัวเอง”
“ชุมชนจำเป็นที่จะต้องยืนหยัดในการต่อสู้ ยืนหยัดอยู่บนฐานวิถีของเรา ยืนหยัดอยู่บนฐานคุณค่าวัฒนธรรมของเราที่จะเป็นตัวที่ทำให้เราสามารถดำรงอยู่ได้ ถ้าจะรับการเปลี่ยนแปลงหรือจะต้องปรับตัว ต้องปรับตัวอยู่บนฐานภูมิปัญญาของเราให้ได้ ก็จะเป็นตัวหลักประกันสำคัญที่ทำให้การต่อสู้ของเราไม่ใช่ต่อสู้เพื่อให้ชนะกรณีของเหมืองอย่างเดียว เพื่อจะปูพื้นฐานให้กับลูกหลานเราที่จะสามารถดำรงวิถีของเราอยู่ได้ในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ ณ ขณะนี้ต่อไปด้วย” ศักดิ์ดากล่าว
โลกเย็นที่เป็นธรรม การต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด
มนูญ วงษ์มะเซาะห์ สุมิตรชัย หัตถสาร กฤษฎา บุญชัย อรรถพล พวงสกุล เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล (ซ้ายไปขวา)
หลังจากเปิดเวทีวงเสวนาแรกไปอย่างเข้มข้นในช่วงเช้า บรรยากาศในงานยังคงคึกคักและต่อเนื่องไปที่เวที Public Talk ในหัวข้อ ‘โลกเย็นที่เป็นธรรม การต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด’ ที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญที่โลกกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการส่งเสียงในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิทางสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอทางออกให้เกิดความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ร่วมแลกเปลี่ยนโดย สุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice For All เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล แอมเนสตี้ ประเทศไทย อรรถพล พวงสกุล นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรม กรีนพีซ ประเทศไทย และ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ดำเนินรายการโดย มนูญ วงษ์มะเซาะห์ กรีนพีซ ประเทศไทย
สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า เราจะไม่เรียกร้องเฉพาะการยกเลิกการขอประทานบัตร แต่เราจะยกเลิกแหล่งถ่านหินเพื่อไม่ให้ใครขอประทานบัตรได้อีก รัฐไม่เคยรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาชนและนานาชาติ จึงนำมาสู่การเรียกร้องสิทธิในวันนี้
“เราค้นพบว่าความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมในคดีที่ชาวอมก๋อยยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จ.เชียงใหม่กรณีโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย และสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญล้วนแล้วแต่ไม่มีความชอบธรรม เช่น กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้ากว่า 2 ปี และยังคลุมเคลือต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งมันยังเป็นความเสี่ยงต่อชุมชนเพราะถ่านหินมันยังคงอยู่ในพื้นที่ เราจึงอยากได้คำตัดสินที่สร้างความชัดเจนไปเลยว่าพื้นที่อมก๋อยนี้ต้องห้ามประทานบัตรทำโครงการเหมืองถ่านหินอีก เพราะรัฐต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิในการพัฒนาตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิในการพัฒนาที่ได้ระบุถึงพื้นฐานการพัฒนาพื้นที่จะต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นคนตัดสินใจและมีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยในสิทธินี้ยังหมายถึงการบรรลุถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองอย่างเต็มที่ด้วย”
กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice For All เสนอข้อเสนอที่มีความสำคัญเพื่อจัดการกับวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญ โดยย้ำถึงความจำเป็นในการยอมรับสถานการณ์ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และการปรับตัวให้ทันกับความเป็นจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น
“ข้อเสนอแรกคือ การยอมรับสถานการณ์ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา อีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้าตามการพยากรณ์ กรุงเทพฯ พื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ทั้งหมดจะถูกน้ำท่วม ถ้าภาวะก๊าซเรือนกระจกยังเป็นแบบนี้ ผลผลิตการเกษตรทั่วประเทศจะตกต่ำไม่ต่ำกว่า 20% รวมทั้งราคาอาหารจะพุ่งขึ้นสูง วิกฤตเรื่องสุขภาพ ฝุ่นควัน ไฟป่า และอื่น ๆ จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นี่คือความเป็นจริงที่เราไม่ต้องขุดถ่านหินอะไรอีกแล้ว เราไม่ต้องมีพลังงานฟอสซิลที่จะทำร้ายโลกมากไปกว่านี้อีกแล้ว”
“ความจริงที่สองที่ควรยอมรับ ขณะนี้ก๊าซเรือนกระจกบนชั้นฟ้าเกินกว่าโลกจะรับได้ไป 5 แสนล้านตันคาร์บอน ไม่มีระบบนิเวศชนิดไหนดูดมันกลับมาได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือ เมื่อเราเห็นว่าชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น คนตัวเล็กตัวน้อยคือกำลังสำคัญ ในการทั้งสร้างระบบนิเวศที่จะซึมซับก๊าซเรือนกระจก นั่นหมายความว่า การยอมรับ คุ้มครอง ส่งเสริม ชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น คือด่านหน้าสำคัญที่จะต้องดำเนินการ แล้วสิ่งเหล่านี้ต้องทำอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับยุติกระบวนการฟอกเขียวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการอ้างเรื่องพลังงานสะอาดจากพลังงานฟอสซิล การฟอกเขียวจากตลาดคาร์บอน และอื่น ๆ ทั้งหมดจะต้องยุติเรื่องนี้โดยด่วน ไม่เช่นนั้นคือความเสียหายที่จะเผชิญร่วมกันทั้งหมด และคนเดือดร้อนที่สุดคือพวกเรา และพวกเราก็จะกลายเป็นคนจนในเมือง เพราะระบบนิเวศต่าง ๆ ล่มสลาย นี่คือฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ แล้วเราทำอะไรหรือยัง ผมอยากให้เรายอมรับเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา แล้วเร่งปรับทั้งระบบโดยด่วนที่สุด” กฤษฎากล่าว
เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล แอมเนสตี้ ประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ และการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยงสูง โดยกล่าวว่า “การที่ภาครัฐได้ไปรับรองกฎหมายระหว่างประเทศต่าง ๆ ก็อยากให้นำกลับมาใช้จริง ๆ แล้วก็วิเคราะห์ข่าวว่าเรามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง ฟังเสียงจากพี่น้อง ฟังเสียงจากรายงานคู่ขนานหรือว่ารายงานเงา อันที่สองก็คือ หยุดคุกคามข่มขู่นักปกป้องสิทธิ โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิที่มีความเสี่ยงมาก ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบอาจจะมีความเสี่ยงมาก ๆ ทั้งชีวิตแล้วก็ร่างกาย ต่อไปพูดถึงเรื่องการทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ต้องวางแผนกลไกให้ละเอียดรอบคอบ แล้วก็มีการติดตามการพัฒนาให้มากกว่านี้ มีการเยียวยา”
“สุดท้ายอยากจะบอกว่า สิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิในชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิในที่ดิน สิทธิผู้หญิง สิทธิในการปกป้องสิทธิ สิทธิในการตัดสินใจ ทั้งหมดเลยคือสิทธิมนุษยชน”
อรรถพล พวงสกุล นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรม กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ในประเด็นด้านการปลดระวางถ่านหิน ประเทศไทยถือว่าเป็นวาระที่ควรถูกยกระดับให้เป็นวาระเร่งด่วน เพราะไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสตั้งแต่ปี 2559 และได้ให้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลก (National Determined Contribution: NDC) ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้ได้ร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2573
“อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจในประเทศยังคงมีการดำเนินกิจการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับถ่านหิน ซึ่งเป็นพลังงานที่ล้าหลังและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ การปนเปื้อนสารพิษในดิน ลำน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ และในงานวิจัยของกรีนพีซ สากล และเครือข่าย Endcoal [2] ยังชี้ให้เห็นว่า ในแต่ละปี ผู้คนมากกว่า 350,000 คนทั่วโลกต้องเสียชีวิต จากมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานถ่านหิน โดยรวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเช่นกัน”
สุดท้าย เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ได้เสนอการดำเนินการที่จำเป็นในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากการใช้พลังงานถ่านหิน โดยเน้นย้ำถึงการยุติการใช้ถ่านหินเป็นพลังงานภายในปี 2570 พร้อมกับการหยุดอนุญาตให้ใช้ถ่านหินในกิจการต่าง ๆ เช่น การทำเหมืองแร่หรือการผลิตพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยกล่าวว่า “มันถึงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องประกาศอย่างชัดเจนว่า อย่างน้อยที่สุด 2570 ต้องยุติการใช้หรือยุติการอนุญาตให้ใช้ถ่านหินเป็นพลังงานในกิจการทุกอย่าง รัฐบาลต้องประกาศอย่างนี้ แล้วก็ต้องไม่มีการออกใบอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาตในการทำเหมืองแร่ หรือใบอนุญาตของโรงงานที่ต้องใช้ถ่านหินเป็นพลังงานในการผลิตของโรงงาน ต้องยุติการอนุญาตเหล่านี้”
เลาฟั้งชี้ให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้ถ่านหิน ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ใกล้กับกิจการที่ใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน ท้ายที่สุดเขายังกล่าวเสริมว่า การยุติการใช้ถ่านหินจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีทุนสูงหันไปพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว
กะเบอะดิน-อมก๋อย รวมพลัง ประกาศจุดยืน ‘ไม่เอาถ่านหิน’
หลังจากการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเข้มข้น พี่น้องชุมชนกะเบอะดิน อมก๋อย และตัวแทนจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาดูแลรักษามาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องวิถีชีวิตท่ามกลางการท้าทายจากโครงการเหมืองถ่านหินและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
“ทรัพยากรในโลกเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก แต่ไม่มีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนโลภเพียงคนเดียว คำกล่าวข้างต้นเป็นของมหาตมะ คานธี ผู้ต่อสู้กับการกดขี่อย่างสันติ ท่านคือสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เป็นแบบอย่างให้พวกเราในการต่อสู้ของการถูกรุกรานจากบริษัทเอกชนที่พยายามเข้ามาขุดเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งจะกระทบกับวิถีชีวิตและทรัพยากรที่พวกเราดูแลรักษาตั้งแต่บรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง ดั่งคำกล่าวของผู้สูงอายุกะเหรี่ยงที่กล่าวว่า ‘ดื่มน้ำให้รักษาน้ำ ใช้ป่าเราต้องรักษาป่า’ เนื่องในงานโอกาสครบรอบ 5 ปี การต่อสู้ของชุมชนกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนเส้นทางขนส่งแร่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ได้ร่วมกันต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งหลังจากที่ชุมชนได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่เพื่อเพิกถอน EIA ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปัจจุบันศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้นำรายงาน EIA ไปออกประทานบัตรได้จนกว่าจะมีคำสั่งพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอื่น ในวันนี้พวกเราได้รวมกันจัดกิจกรรม ‘โลกเย็นที่เป็นธรรม: 5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด’ เพื่อตอกย้ำถึงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ คนอยู่กับป่า ดูแลรักษาป่า รักษาสายน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ ตอกย้ำถึงกระบวนการ EIA ที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการส่งเสียงต่อรัฐบาลให้ทบทวนนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องและเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทมากกว่าชุมชนท้องถิ่นที่กำลังเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากการส่งเสริมพลังงานฟอสซิล โดยเฉพาะพลังงานถ่านหิน และชุมชนขอเสนอให้รัฐบาลยุติใช้พลังงานจากถ่านหินอย่างถาวรตามข้อเสนอของสหประชาชาติ พวกเราที่ได้มารวมตัวกันตอนนี้ ณ สถานที่แห่งนี้ ขอประกาศเจตนารมณ์ ขอประกาศแถลงการณ์ต่อจิตวิญญาณอันทรงเกียรติว่า พวกเราชาวบ้านกะเบอะดิน พร้อมภาคีเครือข่าย จะร่วมปกป้องบ้านเกิด วิถีชีวิต ที่ทำกินเลี้ยงชีพ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ให้บริษัทแย่งยึดไปเพื่อหาประโยชน์ให้ตนเอง โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และ 1 จุดยืน ดังนี้
1. เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีเพิกถอน EIA ของศาลปกครองมีความล่าช้าอย่างมาก จึงขอให้ศาลปกครองเร่งดำเนินการพิพากษา
2. ขอให้รัฐบาลเพิกถอนพื้นที่เหมืองถ่านหินของหมู่บ้านกะเบอะดินออกจากพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ของอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อไม่ให้เอกชนรายใดสามารถยื่นขอสัมปทานได้อีก
3. ชุมชนต้องมีอำนาจในการจัดการในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง โดยกระจายอำนาจให้ชุมชนมีสิทธิจัดการพื้นที่ของตนเองได้อย่างแท้จริง เพื่อให้โอกาสในการเติบโตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น รวมถึงสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการศึกษา และสาธารณสุขต่าง ๆ เช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้าที่ดีได้
จุดยืนหนึ่งเดียวของพวกเราคือ ‘ไม่ต้องการโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน’
ด้วยจิตคารวะ”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...