เมียนมา
การโจมตีทางอากาศของรัฐบาลทหารเมียนมา คร่าชีวิตพลเรือน 540 ราย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่
ตามรายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ระบุว่า การโจมตีทางอากาศโดยกองทัพเมียนมาในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 540 คน โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพเมียนมาและกองทัพชาติพันธุ์อาระกัน (AA) ผู้เสียชีวิตในรัฐยะไข่มีจำนวนถึง 159 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ
จากข้อมูลของ AAPP พบว่าอย่างน้อย 109 คน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศในช่วงดังกล่าว เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้คนในรัฐยะไข่รายงานว่า การโจมตีทางอากาศจากกองทัพเมียนมาถูกกำหนดเป้าหมายไปที่หมู่บ้านที่มีประชาชนสนับสนุน AA โดยเฉพาะในพื้นที่ทวินดูและท้องอุบ
ทางด้านการประเมินของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เตือนว่า รัฐยะไข่กำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางมนุษยธรรมที่ใกล้จะเกิดขึ้น เนื่องจากการจำกัดการนำเข้าสินค้าและการขัดขวางการค้าระหว่างประเทศทำให้ประชากรกว่า 2 ล้านคนในรัฐยะไข่ตกอยู่ในความเสี่ยงจากภาวะอดอยาก โดยคาดว่าในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2025 การผลิตอาหารในรัฐจะสามารถรองรับความต้องการของประชากรได้เพียง 20%
UNDP ระบุว่าเศรษฐกิจของรัฐยะไข่เกือบจะหยุดชะงัก โดยอุตสาหกรรมการเกษตรและการก่อสร้างถูกกระทบอย่างรุนแรง ขณะที่การผลิตข้าวตกต่ำเนื่องจากขาดเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม
ศาลอาญาระหว่างประเทศเร่งออกหมายจับผู้นำทหารเมียนมา กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ยื่นคำร้องขอหมายจับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารเมียนมา ในข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ กรณีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ปี 2017
อัยการ ICC นายการิม ข่าน เปิดเผยว่า มีหลักฐานน่าเชื่อว่าพล.อ.มิน อ่อง หล่าย มีความผิดในการเนรเทศและการกดขี่ชาวโรฮิงญาจา ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2024
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ชาวโรฮิงญาจากว่า 740,000 คน ต้องอพยพหนีภัยไปยังประเทศบังคลาเทศ หลังกองทัพเมียนมาโจมตีและเผาทำลายชุมชนโรฮีนจา สหรัฐฯ และนานาประเทศระบุว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
กลุ่มสิทธิมนุษยชนต้อนรับการดำเนินคดีครั้งนี้ โดย โมฮัมหมัด จูไบร์ ประธานสมาคมสันติภาพและสิทธิมนุษยชนโรฮิงญา กล่าวว่า นี่คือข่าวดีสำหรับเรา และหวังว่าจะเปิดทางให้เราสามารถกลับมายังเมียนมาได้
กองทัพเมียนมาปฏิเสธการดำเนินคดี โดยระบุว่า เมียนมาไม่ได้เป็นรัฐสมาชิกของ ICC จึงไม่รับรองคำแถลงนี้
กองทัพไทยกดดัน UWSA ปลดค่ายชายแดน พร้อมเผชิญความท้าทายความมั่นคง
กองทัพไทยได้ออกคำเตือนให้กองทัพรัฐวะ (UWSA) รื้อถอนค่ายทหาร 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาภายในวันที่ 18 ธันวาคม โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้สะท้อนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงในภูมิภาค UWSA เป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีอำนาจมากที่สุดในเมียนมา มีกำลังพลประมาณ 30,000-80,000 นาย และควบคุมพื้นที่รัฐฉาน
พื้นที่ของ UWSA มีชื่อเสียงในด้านการผลิตและค้ายาเสพติด โดยรายงานของหน่วยงานต่อต้านยาเสพติดของไทยระบุว่า ยาเสพติดส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ประเทศไทยมาจากพื้นที่ควบคุมของชาววะ ซึ่งสร้างความกังวลอย่างมากให้กับความมั่นคงตามแนวชายแดน
UWSA ต้องการความเป็นอิสระและการปกครองตนเอง โดยในปี 2560 ได้เสนอแบบจำลองสหพันธรัฐที่ให้กองกำลังชาติพันธุ์มีอำนาจควบคุมความปลอดภัยในเขตของตน แต่รัฐบาลเมียนมามองว่าข้อเรียกร้องนี้เป็นภัยคุกคามต่อเอกภาพของชาติ
สถานการณ์ในขณะนี้ค่อนข้างซับซ้อน ไทยพยายามรักษาความสัมพันธ์เชิงทูตกับเมียนมา ขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับปัญหายาเสพติดและความไม่มั่นคงตามชายแดน UWSA ยังคงมีอิทธิพลและยังไม่ยอมลดอาวุธ ทำให้การเจรจาสันติภาพเป็นไปอย่างยากลำบาก
กบฏโกก้างประหารชีวิต 6 คน หลังการพิพากษาสาธารณะในรัฐฉาน
กองกำลังกู้ชาติเมียนมา (MNDAA) ในเขตโกก้างกังทางตอนเหนือของเมียนมา ได้ประหารชีวิตผู้ต้องหา 6 คน หลังการพิจารณาคดีสาธารณะต่อหน้าประชาชนหลายร้อยคน โดยบันทึกเหตุการณ์และเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ในวิดีโอที่ดูเหมือนจะผลิตอย่างมืออาชีพ ผู้ต้องหาใส่ชุดกระโดงสีฟ้าถูกอ่านข้อหาเป็นภาษาจีนกลาง ผู้ต้องหาถูกตัดสินในข้อหาต่างๆ อาทิ ฆาตกรรมสามี ฆาตกรรมคนขับรถ และวางแผนฆาตกรรมเจ้าของบริษัทก่อสร้างและก๊าซธรรมชาติ
ผู้ต้องหาอีก 8 คนถูกตัดสินจำคุก 10-20 ปี เหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตเลากาย รัฐฉานตอนเหนือ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2024
นักกฎหมายแสดงความกังวลเกี่ยวกับการประหารชีวิตสาธารณะนี้ โดยระบุว่าไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายเมียนมาปัจจุบัน และขัดกับหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม
ลาว
บริษัทจีนเล็งขยายพื้นที่ทำเหมืองถ่านหินในลาว ชาวบ้านหวั่นไม่ได้รับค่าชดเชย
บริษัท Zhongya Yuxi Cement Lao Sole กำลังเจรจากับรัฐบาลลาวเพื่อขอสัมปทานที่ดิน 400 เฮกตาร์ในแขวงสาละวัน เพื่อทำเหมืองถ่านหิน โดยคาดว่าจะลงนามสัญญาในกลางเดือน พ.ย. 2024 นี้
ชาวบ้านในพื้นที่แสดงความกังวลว่าจะไม่ได้รับค่าชดเชยจากการสูญเสียที่ดินทำกิน หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทเคยได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองในพื้นที่ 200 เฮกตาร์ระหว่างปี 2017-2018 และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่แผนกพลังงานและบ่อแร่แขวงสาละวันระบุว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ โดยรัฐบาลกลางเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในการให้สัมปทานเหมืองถ่านหิน
IMF เตือนเศรษฐกิจลาววิกฤต หนี้สาธารณะพุ่ง-เงินเฟ้อสูง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานประเมินสถานะทางการเงินของลาว ชี้สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง โดยเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงถึง 25% ขณะที่ค่าเงินกีบอ่อนค่าลงถึง 140% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ม.ค. 2021 ถึง ก.ย. 2024
แม้หนี้สาธารณะจะลดลงจาก 131% ของ GDP ในปี 2022 เหลือ 116% ในปี 2566 แต่ IMF ระบุว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่ยั่งยืน อีกทั้งยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเงินตราต่างประเทศ รวมถึงทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ
IMF คาดการณ์เศรษฐกิจลาวจะเติบโต 4.1% ในปี 2024 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากจีนในการปรับโครงสร้างหนี้ และแผนการขายสินทรัพย์ให้บริษัทพลังงานของไทยที่อาจไม่เป็นไปตามแผน หลังผู้บริหารบริษัทถูกกล่าวหาว่าทุจริต ซึ่งอาจส่งผลให้ GDP ของลาวลดลง 2%
ที่มา: The Diplomat Magazine, 19/11/2024
6 นักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตจากสุราปนเปื้อนที่หลวงพระบาง ผู้ประกอบการหวั่นกระทบท่องเที่ยวลาว
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2024 เกิดเหตุสลดเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 ราย ประกอบด้วยหญิงสาวชาวออสเตรเลีย 2 ราย หญิงชาวอังกฤษ 1 ราย หญิงชาวเดนมาร์ก 2 ราย และชายชาวอเมริกัน 1 ราย เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คาดว่ามีเมทานอลปนเปื้อนที่เมืองวังเวียง ประเทศลาว ขณะที่อีกกว่า 12 รายได้รับผลกระทบและเจ็บป่วย
นายบุญจัน มาลาวง นายกเทศมนตรีเมืองวังเวียง กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้เร่งตรวจสอบร้านอาหารและสถานบันเทิงในพื้นที่ พร้อมสั่งปิดโรงแรม Nana Backpackers Hostel ชั่วคราว และควบคุมตัวผู้จัดการชาวเวียดนามไว้สอบสวน ด้านผู้ประกอบการในพื้นที่ระบุว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวลดลงและระมัดระวังการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น
องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders ) เปิดเผยว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอลปนเปื้อนทั่วโลกกว่า 1,200 ราย เสียชีวิต 394 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย ล่าสุดสถานทูตหลายประเทศได้ออกคำเตือนให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลาว
ลาวรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.3 ล้านคนช่วง 10 เดือนแรกปี 2024 ไทยยืนหนึ่ง
กระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวลาว เปิดเผยว่า ลาวต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.3 ล้านคนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยนักท่องเที่ยวชาวไทย เวียดนาม และจีน เดินทางเยือนลาวมากที่สุดในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค.
สำนักข่าว Xinhua รายงานว่า รัฐบาลลาวได้ประกาศนโยบายฟรีวีซ่าและขยายระยะเวลาพำนักสำหรับนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงแคมเปญปีท่องเที่ยวลาว “Visit Laos Year 2024” ภายใต้แคมเปญนี้ บรรดาหน่วยงานและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวได้ปรับปรุงบริการของโรงแรม เกสต์เฮาส์ และร้านอาหาร ตลอดจนเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้มาเยือน
สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว กล่าวในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 8 ของสภานิติบัญญัติชุดที่ 9 ของสภาแห่งชาติลาว โดยระบุว่า ในปี 2025 รัฐบาลลาวจะส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ตลอดจนร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วนของสังคม โดยมุ่งเน้นเป็นพิเศษไปที่การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 28/11/2024
กัมพูชา
ศาลกัมพูชาตัดสินจำคุกชายพิการ 18 เดือน ข้อหาปลุกปั่น หลังโพสต์เฟซบุ๊กต้องการผู้นำคนใหม่
ศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก Phon Yuth วัย 40 ปี ชายพิการนั่งรถเข็น 18 เดือน ในข้อหาปลุกปั่น หลังโพสต์ข้อความวิจารณ์บนเฟซบุ๊กโดยเนื้อหาที่เขาโพสต์ประกอบด้วย การวิจารณ์กรณีชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาโดยไม่มีเอกสาร, การกล่าวถึงนักธุรกิจชาวกัมพูชาที่ถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงประชาชน, การพาดพิงถึงประธานวุฒิสภาฮุน เซน หลังจากที่เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน ส.ค. 2023 เพื่อส่งต่อตำแหน่งให้บุตรชายคือฮุน มาเนต และการเขียนข้อความว่า “ผมต้องการผู้นำคนใหม่” เมื่อต้นปีนี้
Phon Yuth ถูกจับกุมเมื่อเดือน มี.ค. 2024 และถูกคุมขังที่จังหวัดตาแก้วโดยไม่ได้รับการพิจารณาคดีจนถึงเดือน พ.ย. 2024 ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกจำคุก 5 เดือนในปี 2019 ด้วยข้อหาปลุกปั่นและดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ หลังวิจารณ์รัฐบาลและเรียกร้องให้อดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ลาออก
องค์กรสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลว่า การตัดสินลงโทษครั้งนี้จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในกัมพูชา
หญิงกัมพูชาเหยื่อค้ามนุษย์ถูกบังคับแต่งงานในจีน เผยชีวิต 7 ปีเยี่ยงทาส
หญิงชาวกัมพูชาวัย 35 ปี รายหนึ่ง เปิดเผยกับ RFA ว่าเธอถูกล่อลวงไปทำงานที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2016 แต่กลับถูกบังคับให้แต่งงานกับชายจีนที่หูหนวก โดยแม่สามีบังคับให้เธอทำงานหนักวันละ 13-16 ชั่วโมง พร้อมทำงานบ้าน และถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ
แม้เธอจะมีบุตรชายกับสามี แต่แม่สามีก็กีดกันไม่ให้เธอเลี้ยงดูลูก จนกระทั่งเธอแอบเก็บเงินซื้อโทรศัพท์มือถือและขอความช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดีย จนสถานกงสุลกัมพูชาเข้าช่วยเหลือ และสามารถเดินทางกลับบ้านได้เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2024 หลังตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์นาน 7 ปี
องค์กรสิทธิมนุษยชน Adhoc รายงานว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 มีหญิงกัมพูชาถูกค้ามนุษย์ไปจีนอย่างน้อย 29 ราย โดย 28 รายถูกบังคับแต่งงานกับชายจีน ขณะที่ในปี 2023 สามารถช่วยเหลือหญิงกัมพูชาจากการค้ามนุษย์ในจีนได้ 28 ราย
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลกัมพูชาจะพยายามเจรจากับจีนเรื่องการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ แต่ทางการจีนยืนยันว่าเป็นเพียงการแต่งงานโดยสมัครใจ และมองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเพียง “ข้อพิพาทภายในครอบครัว” เท่านั้น
ไทยส่งตัวนักเคลื่อนไหวกัมพูชา 6 ราย กลับประเทศ-ถูกตั้งข้อหากบฏ
ทางการกัมพูชาตั้งข้อหากบฏต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 6 ราย หลังถูกส่งตัวกลับจากประเทศไทย โดยทั้งหมดเป็นสมาชิกหรือผู้สนับสนุนพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ที่ถูกยุบไปเมื่อปี 2017
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กัมพูชาระบุว่า ผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ประกอบด้วย Pen Chan Sangkream, Hong An, Mean Chanthon, Yin Chanthou, Soeung Khunthea และ Vorn Chanratchana ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ 3 แห่ง ตามหมายจับของศาลกรุงพนมเปญ
ทั้งนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวหลบหนีเข้าไทยตั้งแต่ปี 2022 ก่อนถูกจับกุมในจังหวัดปทุมธานีเมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2024 องค์กรสิทธิมนุษยชนวิจารณ์รัฐบาลไทยที่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศ โดยระบุว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่ทางการไทยยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายคนเข้าเมือง
กัมพูชาเตรียมออกกฎหมายใหม่ จัดกลุ่มฝ่ายค้านเป็น “ผู้ก่อการร้าย”
โฆษกพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) เผยกฎหมายใหม่ที่จะกำหนดให้นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านเป็น “ผู้ก่อการร้าย” อาจมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ หลังฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและประธานพรรค CPP ตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะมีกฎหมายดังกล่าว
การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกิจกรรมต่อเนื่องของกลุ่มฝ่ายค้านในต่างประเทศ รวมถึงการยกประเด็นเรื่องอธิปไตยเหนือเกาะกูด ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างกัมพูชาและไทย และรายงานความพยายามจัดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2024 โดยมีเป้าหมายล้มล้างรัฐบาล
ด้านผู้อำนวยการปฏิบัติการองค์กรสิทธิมนุษยชน LICADHO ระบุว่า กัมพูชามีกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายอยู่แล้ว และควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเน้นย้ำว่าการร่างกฎหมายใหม่ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสากลที่กัมพูชายอมรับ
ที่มา: The Phnom Penh Post, 28/11/2024
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...