อัยการเชียงใหม่ฟ้อง 112 อานนท์และเพนกวิน เงินประกัน 450,000 บาท พร้อมเงื่อนไข

9 มกราคม 2566

ภาพ : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

อัยการเชียงใหม่ยื่นฟ้องคดี ม.112 อานนท์และเพนกวิน รวม 3 คดี สองคดีแรกเป็นกรณีที่อานนท์และเพนกวินปราศัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ณ ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ส่วนคดีสุดท้ายที่ถูกอดีตการ์ด กปปส. แจ้งกล่าวหาที่ สภ.สันทราย เหตุโพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา กรณีการนำพระแก้วมรกตไปขายในสมัยร.7 และความจำเป็นในการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยศาลเชียงใหม่ให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสองใน 3 คดี วางหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 450,000 บาท โดยกองทุนราษฎรประสงค์ได้เข้าไปช่วยเหลือในส่วนนี้

ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า อัยการจังหวัดเชียงใหม่ยื่นฟ้อง อานนท์ นำภา และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในคดี ม.112 รวม 3 คดี ก่อนที่ศาลจะให้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีด้วยหลักทรัพย์คดีละ 1.5 แสนบาท กำหนดเงื่อนไข “ห้ามไม่ให้จำเลยกระทำการอันมีลักษณะเช่นเดียวกับการกระทำที่ถูกฟ้องเป็นคดีนี้”

สำหรับคดีที่เพนกวินและอานนท์ถูกฟ้องแบ่งออกเป็น 3 สำนวนคดีด้วยกัน คดีที่หนึ่งและสองเป็นกรณีที่อานนท์และเพนกวินถูกกล่าวหาจากการร่วมขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563

ส่วนสำนวนที่สาม เป็นคดีเฉพาะของเพนกวิน ในกรณีที่เขาถูก เจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ดกลุ่ม กปปส. ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สภ.สันทราย จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2563 เนื้อหาเกี่ยวกับการนำพระแก้วมรกตไปขายในสมัยรัชกาลที่ 7 และความจำเป็นในการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

เวลา 10.15 น. หลังเพนกวินและอานนท์ พร้อมด้วยทนายความเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งคู่ได้ถูกนำตัวส่งให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยถูกนำตัวไปควบคุมไว้ภายในห้องขังของศาลเพื่อรอการประกันตัว ต่อมาเวลาประมาณ 11.45 น. ศาลได้นำตัวทั้งสองขึ้นห้องพิจารณาคดีที่ 3 เพื่ออ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟังพร้อมกับสอบถามคำให้การจำเลย

สำหรับคำฟ้องสองคดีแรก อานนท์และเพนกวินถูกกล่าวหาจากการร่วมขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พนักงานอัยการบรรยายฟ้องคล้ายคลึงกันแตกต่างกันเฉพาะในส่วนถ้อยคำที่ปราศรัยโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 จำเลยได้ทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการใช้ไมโครโฟนพูดผ่านเครื่องเสียงท่ามกลางประชาชนที่มาร่วมชุมนุมและรับฟังการปราศรัยจำนวนหลายร้อยคน

เพนกวินได้ปราศรัยเรื่องเงินประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ บางช่วงมีถ้อยคำกล่าวปราศรัยถึงองค์พระมหากษัตริย์ว่า “..เมื่อสิ้นธันวาคมเมื่อจบธันวาไปแล้ว GDP ประเทศไทยจะอยู่ที่ติดลบ 11 เปอร์เซ็นต์…เท่ากับว่าคนไทยจะจนลงอย่างมหาศาล…ด้านเศรษฐกิจนั้นเมื่อมาพิจารณางบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นคนเพียงครอบครัวเดียว จากปี 61 ถึงงบปีนี้ปี 64 เพิ่มขึ้นมา 50 เปอร์เซ็น นั่นคือรวบขึ้นครึ่งหนึ่ง แล้วผมขอถามว่า การที่เขารวยขึ้นนั้นเขารวยจากเงินของใคร” เป็นต้น

โจทก์อ้างว่าข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยทำให้ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุม เข้าใจและสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันที่เข้าไปควบคุมและแทรกแซงการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล

ส่วนอานนท์ได้ปราศรัยเรื่องทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ บางช่วงมีถ้อยคำกล่าวปราศรัยถึงองค์พระมหากษัตริย์ว่า “ปัจจุบันเนี่ย ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้มีการขยายพระราชอำนาจไปมากเกินกว่าที่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้อนุญาตไว้..” เป็นต้น

ข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยทำให้ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุม เข้าใจและสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันที่ได้ขยายพระราชอำนาจเปลี่ยนแปลงการบริหารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยเอาทรัพย์สินของแผ่นดินมาเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในการตัดสินใจจำหน่าย จ่าย แจก ซึ่งเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของแผ่นดินเป็นของพระองค์เพียงพระองค์เดียว

คำปราศรัยของทั้งสองเป็นความเท็จและเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทเบื้องสูง และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทยและจะละเมิดมิได้ โดยประการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ภาพ : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ส่วนคดีที่สาม เพนกวินถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการนำพระแก้วมรกตไปขายในสมัยรัชกาลที่ 7 พนักงานอัยการได้บรรยายคำฟ้องโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2563 จำเลยได้ใช้เฟสบุ๊กชื่อว่า “เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” โพสต์ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ข้อความว่า “ในสมัยรัชการที่ 7 เมื่อพระองค์สละราชสมบัติไปก็พยายาม จะเอาพระแก้วมรกต(ซึ่งเป็นสมบัติชาติ) ไปขาย และถ้าเราไม่แก้ พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เหตุการณ์นี้ก็อาจจะเกิดขึ้นถ้ารัชกาลที่ 10 สละราชสมบัติ” ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น

ความจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มิได้เป็นไปตามที่จำเลยกล่าวใส่ความแต่อย่างใด โดยข้อความซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จดังกล่าว บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ทำให้ผู้ได้รับทราบข้อความดังกล่าวเกิดความรู้สึกว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ไม่รักษาสมบัติของชาติหรือประชาชน กลับจะนำเอาพระแก้วมรกตซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยในชาติไปขายตามอำเภอใจ อันอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทเบื้องสูง และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทยและจะละเมิดมิได้

จำเลยมีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นหรือประชาชนโดยทั่วไปที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้ว มีความรู้สึกดูถูก ดูหมิ่น เกลียดชัง โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ตอนท้ายคำฟ้องของทั้งสามคดี พนักงานอัยการได้บรรยายคดีที่ทั้งพริษฐ์และอานนท์ถูกกล่าวหากว่า 10 คดีเพื่อให้ศาลใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลด้วย อีกทั้งระบุว่าหากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานอัยการขอคัดค้านการปล่อยตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เกรงว่าจำเลยจะหลบหนีและไปก่อคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ซ้ำอีก

ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองหลังได้รับทราบฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี โดยเสนอวงเงินประกันจำนวน 150,000 บาทต่อคน ต่อคดี

จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.15 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสองคนในทั้งสามคดี รวมวางหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 450,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

ศาลยังกำหนดเงื่อนไขหนึ่งประการคือ “ห้ามไม่ให้จำเลยกระทำการอันมีลักษณะเช่นเดียวกับการกระทำที่ถูกฟ้องเป็นคดีนี้” พร้อมกับกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจำเลยในวันที่ 2 ก.พ. 2566 เวลา 13.30 น. และนัดพร้อม-ตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 ก.พ. 2566 เวลา 9.00 น. ต่อไป

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง