“ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ย้ายมากี่คนก็ย้ายมาเพื่อเกษียณ” คำบอกเล่าจากบุคคลรอบข้างที่ชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกได้ว่ามีบทบาทสำคัญสูงสุด กอปรกับสถานะ “พ่อเมือง” ที่สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ภายในจังหวัด สถานะข้าราชการระดับสูงที่มาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินภายในจังหวัดภายใต้แนวคิดการควบรวมอำนาจกลับสู่ศูนย์กลาง
“ผู้ว่าราชการจังหวัด” คือข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง มีความรับผิดชอบต่อการปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในสังกัดราชการบริหารส่วนภูมิภาคและกำกับการปฏิบัติงานของราชการส่วนท้องถิ่นในสังกัด รับคำสั่งจากรัฐบาลมาปฏิบัติภายในพื้นที่ บริหารราชการตามกฎหมาย ระเบียบแผนของทางราชการและแผนพัฒนาจังหวัด เสนองบประมาณต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจจัดทำรายงานหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การหรือรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล บรรจุ แต่งตั้ง ลงโทษข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยจังหวัดลำปาง ผ่านการมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้ว มากถึงจำนวน 46 คน (ภายใต้ระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 – ปัจจุบัน) de Lampang ชวนสำรวจบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในห้วงเวลาหนึ่งทศวรรษให้หลัง (พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2566) ว่าช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษ ลำปางมีจุดใดที่น่าสนใจจากการดำเนินงานของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ระยะเวลาหนึ่งทศวรรษ หาใช่ระยะเวลาที่ยาวนานไม่ ข้อมูลจากทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พบว่ามีจำนวนมากถึง 7 คนด้วยกัน เริ่มต้นจาก คุณธานินทร์ สุภาแสน, คุณสามารถ ลอยฟ้า, คุณสุวัฒน์ พรมสุวรรณ, คุณทรงพล สวาสดิ์ธรรม, คุณณรงศักดิ์ โอสถธนากร, คุณสิทธิชัย จินดาหลวง และปัจจุบัน คุณชัชวลย์ ฉายะบุตร ซึ่งกำลังจะครบรอบการเกษียณอายุราชการในปี 2567 นี้
กรณีคุณธานินทร์ สุภาแสน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 – 30 กันยายน พ.ศ. 2558 อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การเข้ามารับตำแหน่งพร้อมกับวิสัยทัศน์ที่ว่า “อย่าไปโหยหาอดีตอันรุ่งโรจน์ อยู่กับปัจจุบัน และไปสู่อนาคตร่วมกัน ทำให้จังหวัดลำปาง เป็นนครแห่งความสุขและสุจริต” พร้อมทั้งการวางยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง “สุขเศรษฐกิจมั่งคั่ง, สุขคุณภาพชีวิตดียั่งยืน, สุขชีวิตปลอดภัยมั่นคง, สุขทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดี” ทั้งยังมีการออกแบบจังหวัดลำปางในปี 2563 ไว้ว่า “นครลำปางจะเป็นเมืองที่มีศักยภาพ เป็นศูนย์กลางการลงทุนของภาคเหนือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะโตขึ้นแบบก้าวกระโดด” สำหรับคุณธานินทร์ สุภาแสน เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นตำแหน่งสุดท้าย
กรณีคุณสามารถ ลอยฟ้า ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 – 30 กันยายน พ.ศ. 2559 อยู่ภายใต้รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติอย่างสมบูรณ์ กรณีของคุณสามารถ ลอยฟ้า เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและนายอำเภอของจังหวัดลำปางมาก่อน สำหรับคุณสามารถ ลอยฟ้า เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นตำแหน่งสุดท้าย
กรณีคุณสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 30 กันยายน พ.ศ. 2560 เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นตำแหน่งสุดท้าย
ต่อมาภาคประชาชนจึงมีการเรียกร้องให้เลือกบุคคลมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มีอายุราชการคงเหลือมากกว่า 1 ปี เพราะตั้งแต่ พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2560 จังหวัดลำปางมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้วทั้งหมด 10 คน ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด คือ 2 ปี (คุณธานินทร์ สุภาแสน) ขณะที่ระยะเวลาสั้นที่สุด จำนวน 5 เดือน (คุณอมรพันธุ์ นิมานันท์) ซึ่งมีมากถึง 6 คนที่เกษียณในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง จนทำให้ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ในขณะนั้น สะท้อนความเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ล้านนาโพสต์ ฉบับที่ 1128 ว่า “การเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางบ่อย ทำให้เกิดการทำงานที่ไม่ต่อเนื่อง ด้วยระบบราชการ การเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเรื่องยาก แต่ควรมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด โดยได้รับความเห็นชอบทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ใช้แผนนี้เป็นแนวทางการพัฒนา ทำให้เกิดความต่อเนื่อง” ส่วนภาคประชาชนในนามผู้ขับเคลื่อนการล่ารายชื่อชาวลำปางไม่เอาผู้ว่าเกษียณ “แต่ละท่านเป็นคนดีคนเก่ง แต่มาอยู่ไม่นานก็ต้องย้ายหรือเกษียณอายุราชการไป งานที่ท่านทำไว้ก็ไม่ได้รับการสานต่อเท่าที่ควร ผู้ว่าท่านใหม่ที่ย้ายมาต้องมาศึกษางานใหม่ กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็กินเวลาไปครึ่งปี งานที่จะต่อเนื่องก็ชะงักไป กลายเป็นไม่ต่อเนื่องอีก” เสียงสะท้อนจากภาคประชาชน ส่งผลให้การโยกย้ายครั้งต่อมามีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางที่มีอายุราชการ 2 ปี อีกครั้ง
กรณีคุณทรงพล สวาสดิ์ธรรม ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 – 30 กันยายน พ.ศ. 2562 มาพร้อมกับสโลแกน “ลำปางปลายทางฝัน” ให้ลำปางเป็นจุดหมายปลายทาง ไม่ใช่เมืองที่ขับรถผ่าน ชูเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ร่วมกับประเพณวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ไม่ดัดแปลงเพื่อการท่องเที่ยว สำหรับคุณทรงพล สวาสดิ์ธรรม เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นตำแหน่งสุดท้าย
กรณีคุณณรงศักดิ์ โอสถธนากร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 – 30 กันยายน พ.ศ. 2564 หรือที่รู้จักกันในนาม “ผู้ว่าฯ หมูป่า” สำหรับการพัฒนาจังหวัดลำปางผ่านมิติของการทำงานในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มีการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 เฟส ประกอบด้วย เรื่องที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน เรื่องการพัฒนาเชิงพื้นที่ และแผนระยะยาวผ่านการวางยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง 20 ปี รวมทั้งการวางแผนการท่องเที่ยวเชิง CSR : Corporate Social Responsibility รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานเกี่ยวกับกองทุนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะถึงความโปร่งใสในฐานะแหล่งทรัพยากรสำคัญของจังหวัดลำปาง สำหรับคุณณรงศักดิ์ โอสถธนากร ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีต่อ
กรณีคุณสิทธิชัย จินดาหลวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 – 30 กันยายน พ.ศ. 2565 เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางในช่วงที่คุณณรงศักดิ์ โอสถธนากร เป็นผู้ว่าฯ มุมมองของคุณสิทธิชัย ในฐานะของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เคยให้สัมภาษณ์ต่อ อปท.นิวส์ เชิญเป็นแขก ว่า “ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการบูรณาการทั้งสิ้น… ลำปางเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือ เพราะเป็นจังหวัดที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดอื่นในภาคเหนืออย่างสะดวกสบาย ส่งผลให้ลำปางเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ เป็นเมืองเก่าแก่ มีทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่น มีถ่านหินลิกไนต์เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นศูนย์กลางการกระจายไฟฟ้า ส่วนแร่ธาตุที่เป็นหินปูน SCG ได้สัมปทานทำหินปูนเพื่อทำปูนซิเมนต์แล้ว ยังมีดินขาวสำหรับเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำเซรามิก… ลำปาง ถูกวางหมุดให้เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการและศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ เพราะ ลำปางเป็นประตูการค้า… มีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด เป็นระยะเวลากลาง แผนแม่บท 5 ปี (พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2570) ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคการศึกษา ประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน” สำหรับคุณสิทธิชัย จินดาหลวง เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นตำแหน่งสุดท้าย
กรณีคุณชัชวาลย์ ฉายะบุตร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน หากมองในมิติเรื่องของการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดลำปาง พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2570 มีการทบทวนแผนดังกล่าวผ่านการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ “ลำปาง เมืองแห่งการเรียนรู้ เชื่อมโยง สร้างสรรค์ น่าอยู่ ยั่งยืน” เป็น “ลำปาง เมืองแห่งความสุข 2 มิติ” เชื่อมโยงความเป็นเมืองเก่าไปสู่การเเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมกับการวางประเด็นการพัฒนา 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยเพื่อสังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน, ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขับเคลื่นอเศรษฐกิจของจังหวัด, ยกระดับหัตถอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม บนพื้นฐานของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์, การพัฒนาเกษตรเชิงคุณภาพ เกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี, การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สำหรับคุณชวาลย์ ฉายะบุตร หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จะเกษียณในตำแหน่งผู้ว่่าราชการจังหวัดลำปางภายในปี 2576 นี้ เช่นกัน
การโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นอำนาจของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยการเสนอผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามข้อเสนอของปลัดกระทรวงมหาดไทย มิได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนแต่อย่างใด บทความเรื่อง “ผู้ว่าฯ มีไว้ทำไม : ได้ดีก็จากไป ใกล้เกษียณก็เวียนมา” ผ่านเว็บไซต์ The101. โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ กล่าวว่า “ปัจจัยจริง ๆ เป็นเรื่องของความเป็นพวกพ้องสถาบันเดียวกันและความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางการเมือง”
“ในแต่ละจังหวัดยังมีส่วนราชการซึ่งกระทรวง กรม ได้แต่งตั้งขึ้นให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวง กรมนั้น ๆ … แต่ละจังหวัดก็ยังมีหน่วยงานราชการส่วนกลางเข้าไปตั้งอยู่ ซึ่งขึ้นตรงต่อส่วนกลาง.. ผู้ว่าฯ ทำได้เพียงประสานขอความร่วมมือ แต่ทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เพราะผู้ว่าฯ ไม่สามารถให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการเหล่านี้ได้เหมือนอย่างข้าราชการในส่วนภูมิภาคในจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องของขั้นเงินเดือน”
บทความเรื่อง “การรวมศูนย์อำนาจมีเหตุผลเดียวกัน คือ ให้ ชนชั้นนำอยู่รอดได้” ผ่านเว็บไซต์ The momentum โดย ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวว่า “หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระบบรัฐราชการรวมศูนย์กลับใหญ่โตขึ้น กว้างขวางสยายปีกกว้างขวางขึ้นเรื่อย ๆ เพราะ เป็นอำนาจเดียวที่ส่วนกลาง อันมีรัฐบาลเผด็จการเป็นผู้กุมบังเหียน สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้เต็มปากเต็มคำ… เมืองนอกเขามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีการเลือกนายกเทศมนตรี ก็มาเลย สำหรับ กทม. ไม่มีใครเรียกร้อง แต่กระทรวงมหาดไทยจัดการเองในปี 2518 เพื่อให้ดูดี ขณะที่พัทยาเมื่อโตเร็วมาก ปี 2521 กระทรวงมหาดไทยก็จัดบ้าง อยากให้เป็นเขตปกครองพิเศษแบบเมืองนอก พอเลือกตั้งแล้วกระทรวงครอบหมด นายอำเภอ ผู้ว่าฯ คุมเมืองพัทยา หมดเลย”
De Lampang จึงถอดบทเรียน หนึ่งทศวรรษของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2566 พบว่า มีจำนวนผู้ว่าราชการมากถึง 7 คน และมีจำนวนมากถึง 6 ที่เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มีเพียงกรณีของคุณณรงศักดิ์ โอสถธนากร เท่านั้นที่ได้ย้ายไปยังจังหวัดอื่น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของการเป็นผู้ว่าฯ ใกล้เกษียณที่ย้ายมาอยู่จังหวัดลำปางเพื่อเกษียณอายุราชการอย่างแท้จริง แม้ว่าแต่ละยุคของผู้ว่าฯ จะมีความตั้งใจต่อการพัฒนาจังหวัดลำปางมากเพียงใด แต่เงื่อนไขของระยะเวลานั้น ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาการทำงานที่ยาวนาน ยังไม่รวมถึงโอกาสการพัฒนาที่มาจากรัฐบาลกลาง ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาจังหวัด
วิทยานิพนธ์เรื่องแนวทางในการกำหนดหลักเกณ์การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนระดับสูง โดยพีระศิลป์ เพิ่มสุวรรณ์ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า ระบุไว้ว่า “ศาลปกครองสูงสุดตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งแต่งตั้ง 2 ประการ คือ ผู้ใช้อำนาจได้ดำเนินการออกคำสั่งโดยถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งหากปรากฎว่ามีการกระทำโดยไม่สุจริต การเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม หรือมิได้มีหลักเกณฑ์ใดเป็นการช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้สมัครรายหนึ่งรายใด การออกคำสั่งดังกล่าวย่อมชอบโดยกฎหมาย, ผู้มีอำนาจออกคำสั่งแต่งตั้งได้ใช้ดุลยพินิจถูกต้องเหมาะสมและชอบโดยกฎหมายหรือไม่ หากการออกคำสั่งแต่งตั้งเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ ไม่มีเหตุผลที่เป็นจริงและสมเหตุสมผลรองรับไม่สอดคล้องตามระบบคุณธรรมและเจตนารมย์ของกฎหมายเกี่ยวกับการย้าย การแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
หากประมวลผลข้อมูลทั้งหมด หลายปัญหาใหญ่ ๆ ของจังหวัดลำปาง เช่น การจัดการกองทุนรอบโรงไฟฟ้าฯ , ฝุ่น PM2.5, การจัดการเรื่องน้ำแล้ง – อุทกภัย, แนวทางการพัฒนาพื้นที่ในมิติทางด้านเศรษฐกิจ, ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน พื้นที่อพยพจากโรงไฟฟ้า พื้นที่ทับป่า ป่าทับที่, ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ – เอกชน – ประชาชน หรือการติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จากการมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง บางกรณีมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาจังหวัด แต่การดำเนินการล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน ในความเป็นจริง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ที่มาจากประชาชนในพื้นที่ หรือ “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” ที่มาจากประชาชนอยู่แล้ว ให้เป็นส่วนสำคัญของการบริหารราชการในจังหวัด ทดแทนผู้มีอำนาจที่ส่งมาจากส่วนกลาง สู่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น คืนอำนาจในการกำหนดอนาคต กำหนดการพัฒนาจากประชาชนด้วยตนเอง หรืออย่างน้อยที่สุดก่อนที่จะมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น บทบาทของผู้ว่าฯ ควรจะต้องมีการปฏิบัติตนเอง มิใช่เป็นเพียงประธานคณะกรรมการ ประธานเปิดงาน ประธานการประชุม อีกต่อไป
อ้างอิง
- ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัด
- คนลำปางอึ้ง! เจอฤทธิ์ทิ้งทวนก่อนเกษียณ-ยกที่สโมสร ขรก.ให้เอกชนเช่า 30 ปี 3 ล้านเศษ
- ผู้ว่าฯมาแป๊บๆ ลำปางสะดุด บริหารขาดตอน อดีต ส.ว.ขานรับ เอกชนชี้ทางออก
- ลำปางปลายทางฝัน
- ผู้ว่าฯ ลำปาง เริ่มปฏิบัติหน้าที่วันแรก ประชุมมอบนโยบายแก่ส่วนราชการ
- สิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง “ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการการบูรณาการทั้งสิ้น”
- แผนพัฒนาจังหวัดลำปาง พ.ศ. 2566 – 2570 (ฉบับทบทวน) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
- ผู้ว่าฯ มีไว้ทำไม: ได้ดีก็จากไป ใกล้เกษียณก็เวียนมา
- http://www.personnel.moi.go.th/recruitment/2564/2.JDผวจ..pdf
- แนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนระดับสูง
ห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากบทบาทการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองสู่การเป็นผู้ค้นคว้าพัฒนาการของเมือง ชวนตั้งคำถามจากเรื่องราวปกติที่พบเจอ สู่การค้นหาคำตอบของสิ่งนั้น พร้อมกับการค้นพบใหม่ของเรื่องราวที่หลายคนยังไม่เคยรับรู้ บทบาท “นักชวนสงสัย” ฝั่งรากมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเจริญเติบโตขึ้นความเป็นนักชวนสงสัย จึงได้ขยายกลายเป็น “นักค้นหาเรื่องราว” ที่พร้อมจะท้าทายทุกเรื่องด้วยความจริง