เรื่องและภาพ: องอาจ เดชา
เมื่อปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียง 8 เล่มต่อปี จากนั้นในปี 2567 ผลสำรวจโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมการอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 113 นาที หรือเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน แม้ว่าสถิติการอ่านหนังสือของคนไทยในแต่ละปีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สำหรับผู้คนในพื้นที่ห่างไกลหรือในกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ หนังสือและการอ่านก็ยังคงเป็นเรื่องไกลตัวที่ยากต่อการเข้าถึง
เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงการอ่านได้มากขึ้น ‘โยชิมิ โฮริอุจิ’ หญิงสาวชาวญี่ปุ่นพิการทางสายตา ผู้ให้ความสำคัญกับการอ่าน เลยตัดสินใจมาสร้าง ‘ห้องสมุดรังไหม’ ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จัดทำกิจกรรมคาราวานหนอนหนังสือเพื่อส่งเสริมการรักการอ่านให้กับคนเมืองพร้าว และอำเภอใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่อง นานกว่าสิบปี
โยชิมิ โฮริอุจิ (Yoshimi Horiuchi) เกิดที่เมืองโคจิ บนเกาะชิโกกุ ซึ่งอยู่ทางใต้ของญี่ปุ่น เธอมีความบกพร่องทางสายตาตั้งแต่กำเนิด แต่เพราะครอบครัวให้ความสำคัญกับการเรียน อีกทั้งสมาชิกในบ้านยังมีนิเวศน์การอ่านที่ดี สิ่งเหล่านี้เลยหล่อหลอมให้เธอหลงใหลในการเรียนและการอ่าน จนทำให้เธอกลายเป็นหนอนหนังสือตัวยงในที่สุด
“เราชอบหนังสือตั้งแต่จำความได้ แม่ ตา และอา จะอ่านนิทานวรรณกรรมเยาวชนให้เราฟัง ก็เลยชอบหนังสือตั้งแต่ตอนนั้นเลย ด้วยความที่เราตาบอดก็จะมีข้อจำกัดเรื่องการทำงานที่มากกว่าคนทั่วไป พ่อแม่ก็เลยมักจะบอกว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ และสนับสนุนเรื่องนี้มาตลอด เริ่มต้นด้วยการที่พ่อแม่กับญาติที่บ้าน เขาอ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่อายุได้ 2-3 ขวบ ถึงแม้ว่าพ่อแม่ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ว่าเขาก็อ่านหนังสือให้ฟัง เราก็เลยชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กเลยค่ะ”
โยชิมิ เล่าว่า การได้อ่านวรรณกรรมตั้งแต่เด็กทำให้เธอมีความสุขไปกับการได้ใช้ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ พอได้มาเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทย ก็รู้สึกชอบ และอยากทำอะไรที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยบ้าง
“เราชอบอ่านหนังสือมากๆ แล้วก็แปลกใจว่า ทำไมประเทศไทยคนถึงอ่านหนังสือกันน้อยมาก ห้องสมุดก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ มันมีน้อยมาก เวลาจะอ่านหนังสือก็ต้องเดินทางไปไกลๆ ก็เลยอยากจัดตั้งห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ รวมไปถึงพี่น้องคนพิการที่อยู่ในเขตชนบทของประเทศไทย”
คนไทยอย่างน้อย 1.1 ล้านคนเป็นผู้พิการ และร้อยละ 77 ของพวกเขาอาศัยอยู่ในชนบทของประเทศไทย เมื่ออุปสรรคใหญ่ของการเข้าถึงการอ่านคือความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โยชิมิเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะช่วยส่งเสริมการอ่านให้ทุกคนได้มีโอกาสในการอ่านที่เท่าเทียมกัน จึงเป็นการจุดประเด็นในการทำห้องสมุดเคลื่อนที่ขึ้นมา
“เราอยากทํางานด้านสังคม เพราะว่าเราเป็นคนพิการ และมักมีคนคอยเข้ามาช่วยเหลือเราตลอด เราเป็นฝ่ายรับความช่วยเหลือเป็นหลัก พอโตขึ้น เราก็อยากจะช่วยเหลือคนอื่นบ้าง พอกลับมาเมืองไทยเราเลยอยากสร้างห้องสมุดในเมืองไทย เพราะคนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ แต่เราชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ก็เลยอยากเป็นส่วนผลักดันให้คนชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน เลยตัดสินใจทำห้องสมุดขึ้นมา”
โยชิมิ บอกว่า เธอได้เริ่มทำกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ในกรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก เพราะก่อนหน้านั้นเธอเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีสังคมอยู่ที่นั่น ต่อมาเธอรู้สึกว่าอยากทํางานที่ต่างจังหวัดมากกว่า เพราะมองว่าคนกรุงเทพฯ ก็มีโอกาสมากกว่าที่อื่นอยู่แล้ว เลยตัดสินใจมาทำห้องสมุดรังไหมที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่แทน
“เรามีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์คนหนึ่งที่ทํามูลนิธิอุ่นใจ อยู่ที่อําเภอพร้าว ท่านทํางานด้านพัฒนาสังคม และชุมชน แกก็เลยแนะนํามาว่าเมืองพร้าวน่าอยู่นะ คนที่เข้าไม่ถึงหนังสือก็เยอะ แล้วก็มีพี่น้องชาติพันธุ์ มีผู้พิการที่ไม่ค่อยได้เข้าถึงหนังสือก็เยอะ เลยตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่อำเภอพร้าว จากสมาคมคาราวานหนอนหนังสือ (ARC) ก็กลายเป็นมูลนิธิหนอนหนังสือ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา”
โยชิมิเล่าว่า การทำห้องสมุดในยุคนี้จะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและวิถีชุมชน เลยเน้นการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเสริมสร้างจินตนาการ และส่งเสริมการอ่านให้ผู้คนในเมืองพร้าว รวมทั้งอำเภอใกล้เคียงอย่าง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
สมถวิล บุญเติง บรรณารักษ์ห้องสมุดรังไหม เล่าว่า นอกจากจะเปิดให้บริการภายในห้องสมุดรังไหมแล้ว ยังมีกิจกรรมนำหนังสือใส่ถุงผ้าไปเยี่ยมเยือนให้กับผู้พิการ และคนชราที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ โดยในแต่ละเดือนจะมีการนำหนังสือจำนวน 5 เล่มใส่ถุงผ้าไปเยี่ยมพวกเขาคนละหนึ่งถุงต่อเดือน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องมานานหลายปี
“กิจกรรมนี้ ได้ผลตอบรับจากสมาชิกที่ไปเยี่ยมค่อนข้างดีมาก อย่างผู้พิการที่นั่งวีลแชร์ก็สามารถหยิบหนังสือมาเปิดอ่านได้ทุกเวลาที่สะดวก คนป่วยก็ได้อ่านหนังสือสุขภาพที่ช่วยส่งเสริมการดูแลตัวเองที่บ้านได้ ทำให้คนชราได้ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านได้คลายเหงา และยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กๆ ด้วยหนังสือภาพและหนังสือสัมผัสต่างๆ ได้เป็นอย่างดี”
นอกจากการพาหนังสือไปให้ผู้พิการและคนชราแล้ว การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในกลุ่มเด็กๆ ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ห้องสมุดรังไหมให้ความสำคัญเช่นกัน แพรพรรณ ตันติ๊บ ผู้ประสานงานกิจกรรมคาราวานหนอนหนังสือ มูลนิธิหนอนหนังสือ เล่าให้ฟังว่า ได้ส่งเสริมการอ่านผ่านการทำ ‘คาราวานหนอนหนังสือ’ หรือห้องสมุดเคลื่อนที่ที่คัดสรรหนังสือที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัยไปใส่ไว้บนรถ และขับไปจอดตามจุดต่างๆ ในอำเภอพร้าว โดยแบ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 4 ศูนย์ และโรงเรียนอีก 3 โรงเรียน โดยในหนึ่งเดือนจะนำรถห้องสมุดเคลื่อนที่ไปหาเด็กๆ 1-2 ครั้ง
“หลักๆ คือไปอ่านหนังสือนิทานให้เด็กๆ ฟัง ให้เด็กๆ ได้เลือกอ่านหนังสือที่มีในรถ บางครั้งจะมีกิจกรรมเสริมที่สอดคล้องกับเนื้อหานิทานที่นำไปเล่า จะเป็นการประดิษฐ์บ้าง วาดรูประบายสีบ้าง ตามโอกาส เวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมประมาณ 1 ชั่วโมง – 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งการจัดกิจกรรมนี้ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี เด็กๆ ตื่นเต้นที่จะได้ขึ้นรถหนังสือเพื่อไปเลือกหนังสือ แล้วก็ตั้งใจฟังนิทานที่อ่านให้ฟัง”
พิชชาพา เดชา ผู้ประสานงาน มูลนิธิหนอนหนังสือ ที่เพิ่งทำโครงการฅนเผ่าเล่านิทาน บอกว่า ‘ฅนเผ่าเล่านิทาน’ เป็นโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิหนอนหนังสือกับเมจิก liberry ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่นำหนังสือนิทานของไทยมาเล่าเป็นภาษาชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเจ้าของภาษานั้น เช่นภาษาปกากะญอ ภาษาไทใหญ่ ภาษาอาข่า ภาษาคำเมือง เป็นต้น แล้วทำคลิปวีดีโอเผยแพร่ในช่อง YouTube
“เราคัดเลือกหนังสือนิทานที่คิดว่าน่าสนใจจากหลายสำนักพิมพ์ ซึ่งแต่ละสำนักพิมพ์ก็ยินดีให้เรานำนิทานมาใช้ได้ คลิปจะมีทั้งหมด 12 เรื่องค่ะ ตอนนี้ยังเผยแพร่อยู่ในช่อง YouTube ชื่อว่า ฅนเผ่าเล่านิทาน ยังสามารถเข้าไปติดตามรับชมได้นะคะ”
พิชชาพา บอกอีกว่า มูลนิธิหนอนหนังสือ ยังได้ทำกิจกรรม ‘โครงการเล่มเดียวในโลก’ เป็นการเข้าไปทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้เด็กในโรงเรียน และส่งเสริมการใช้ภาษาท้องถิ่นของตนเอง โดยมีโรงเรียนที่ร่วมโครงการในอำเภอพร้าว 2 โรงเรียน คือโรงเรียนแม่ปาคีกับโรงเรียนบ้านโป่ง และในอำเภอเชียงดาวอีก 2 โรงเรียน คือโรงเรียนวัดจอมคีรีและโรงเรียนบ้านแม่ป๋าม
“กิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่ แนะนำหนังสือนิทาน เล่านิทาน ให้เด็กๆ ได้ฝึกแต่งนิทาน วาดภาพประกอบ จนกระทั่งเย็บเล่มด้วยตนเอง โดยเราจะทำ workshop มีวิทยากรมาให้ความรู้กับเด็กๆ ในแต่ละขั้นตอนด้วย ซึ่งโครงการนี้เราทำ 3 ไตรมาส ตอนนี้อยู่ไตรมาสที่ 3 แล้วเป็นขั้นตอนการวาดภาพประกอบและเย็บเล่มซึ่งเราก็ลุ้นมากว่าผลงานของเด็กๆ จะออกมาเป็นแบบไหน แต่เท่าที่สังเกตเราได้เห็นพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์โลกจินตนาการของเด็กๆ ที่ถูกเปิดออกผ่านเนื้อเรื่องนิทาน และตัวละครที่วาดออกมา เท่านี้เราก็รู้สึกตื่นเต้นแล้วก็ดีใจมากแล้วค่ะ”
นอกจากนั้น มูลนิธิหนอนหนังสือ ยังได้สร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกล ได้แก่ศูนย์การเรียนรู้บ้านอมยิ้ม สำหรับเด็กชาติพันธุ์ลีซู ที่บ้านแม่แวนน้อย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์การเรียนรู้บ้านพระอาทิตย์ สำหรับเด็กอาข่าและลีซู ที่บ้านอาข่าสิบหลัง ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
วันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 นี้ มูลนิธิหนอนหนังสือ ก็ได้นำรถห้องสมุดเคลื่อนที่ ไปจอดบริการเด็กๆ ได้ใช้บริการ และร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ที่เทศบาลตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่กันอีกด้วย
แน่นอนว่าทุกกิจกรรมที่ทางมูลนิธิหนอนหนังสือกำลังทำอยู่นี้ ก็เพื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมให้เด็กๆ เยาวชน ในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ รวมไปถึงกลุ่มผู้พิการ และคนชราที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ และการอ่าน ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เหมือนกับที่ โยชิมิ โฮรุจิ ได้บอกย้ำกับเราเอาไว้ว่า การอ่านหนังสือนั้นเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจ เปลี่ยนแปลงสังคมและเปลี่ยนโลกได้
และหากท่านใดสนใจร่วมสนับสนุนหรือสมทบทุนเพื่อกิจกรรมส่งเสริมรักการอ่าน ของห้องสมุดรังไหม สามารถติดต่อได้ที่เพจ Rang Mai Library (ห้องสมุดรังไหม) หรือติดต่อโดยตรงที่ คุณโยชิมิ โฮริอุจิ หมายเลขโทรศัพท์ 083-5427283
'องอาจ เดชา' หรือรู้จักในนามปากกา 'ภู เชียงดาว' เกิดและเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขาเคยเป็นครูดอยตามแนวชายแดน จากประสบการณ์ทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ ทำให้เขานำมาสื่อสาร เป็นบทกวี เรื่องสั้น ความเรียง สารคดี เผยแพร่ตามนิตยสารต่างๆ เขาเคยเป็นคอลัมน์นิสต์ใน พลเมืองเหนือรายสัปดาห์, เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, ผู้ไถ่, ประชาไท, สานแสงอรุณ ฯลฯ มาช่วงเวลาหนึ่ง . เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ในยุคก่อตั้ง ปี 2547 และในราวปี 2550 ได้ตัดสินใจลาออกงานประจำ กลับมาทำ "ม่อนภูผาแดง : ฟาร์มเล็กๆ ที่เชียงดาว" เขาเคยเป็น บ.ก.วารสารผู้ไถ่ ได้ช่วงเวลาหนึ่งก่อนวารสารปิดตัวลง, ปัจจุบัน เขายังคงเดินทางและเขียนงานต่อไป เป็นฟรีแลนซ์ให้ ประชาไท และคอลัมนิสต์ใน Lanner