อย่าไปฟูมฟายกับสื่อ เราคนเหนือลองตรวจสอบ PM2.5 ในท้องถิ่นด้วยตนเองกันเถอะ

เชียงใหม่อากาศไม่ได้แย่ที่สุดในภาคเหนือ ยังมีพื้นที่เล็ก ๆ ที่ถูกสื่อลืม

อาจจะเปรียบได้ว่า “เชียงใหม่” นั้นก็คือ “กรุงเทพฯ” ของภาคเหนือ ที่มักจะถูกโฟกัสมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในหลาย ๆ ประเด็น รวมถึง “ประเด็นมลพิษทางอากาศ” ด้วยเช่นกัน

ฤดูกาล PM2.5 ในภาคเหนือมาถึงทีไร เรามักจะได้ยินพาดหัวข่าวที่ว่า “หมอกควัน PM2.5 เชียงใหม่สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก หรือ สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ” ซึ่งพาดหัวข่าวทำนองนี้อาจไม่เป็นความจริง

เพราะว่าแหล่งข้อมูลที่สื่อไทยมักนำมาอ้างอิงในการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาปัญหาหมอกควัน PM2.5 คือข้อมูลจากเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน IQAir ซึ่งการนำเสนอข่าวแบบนี้เป็นเพียงการดึงข้อมูล ณ ช่วงเวลาหนึ่งจากเมืองหลัก ๆ ในแต่ละประเทศมานำเสนอ (ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศนั้น ๆ ทั้งหมด) 

โดยข้อมูลจาก “รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2022 ของ IQAir” ระบุว่าเก็บข้อมูลสถานที่ 7,323 แห่งใน 131 ประเทศ จากสถานีวัดประมาณ 30,000 แห่ง โดยข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแต่ละแห่งและเซนเซอร์แต่ละตัวถูกนำไปจัดเป็นกลุ่ม “การตั้งถิ่นฐาน” ซึ่งแสดงแทนเมือง เขตชุมชน หมู่บ้าน เทศมณฑล และเทศบาลตามการกระจายตัวของประชากรและเขตการปกครองในพื้นที่ “การตั้งถิ่นฐาน”

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลในปี 2562 พบว่า IQAir มีการเก็บข้อมูลเพียง 68 พื้นที่ในประเทศไทย (ในระดับจังหวัดและอำเภอ) ซึ่งใน 68 พื้นที่นี้มีเพียง 42 พื้นที่เท่านั้นที่เก็บข้อมูลครบทั้ง 12 เดือน (ม.ค.-ธ.ค.) และใน 68 พื้นที่นี้ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัดทุกอำเภอในประเทศไทย บางจังหวัดมีแค่ข้อมูลจังหวัด เช่น กรุงเทพ นครราชสีมา เป็นต้น และหลายจังหวัดที่มีข้อมูลในระดับอำเภอ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการเก็บข้อมูลใน จ.เชียงใหม่มากที่สุด ส่วนข้อมูลจากเว็บ IQAir ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ระบุไว้เพียงว่าใช้สถานีตรวจวัดในไทย 699 แห่ง

หากลองใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ IQAir (ที่สื่อต่าง ๆ ชอบใช้เพราะมันสะดวกดี) ข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือ “เชียงใหม่ไม่ได้อากาศแย่ที่สุดในภาคเหนือ” อย่างข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2556 ที่เริ่มมีการเก็บข้อมูล PM2.5 และค่อย ๆ กระจายเครื่องวัดออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในจังหวัดเชียงใหม่เหมือนในช่วงแรก พบว่าหลายปีให้หลัง ตัวเลขค่า PM2.5 สูงสุด และจำนวนวันที่ค่า PM2.5 เกินวันมาตรฐานของพื้นที่อื่นในภาคเหนือมีความรุนแรงมากกว่าจังหวัดเชียงใหม่ ตัวอย่างเช่น

– ในปี 2562 ช่วงวิกฤตหมอกควันในเดือนมีนาคม กรมควบคุมมลพิษระบุถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ชี้ว่าอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย วิกฤตที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ

– ในปี 2563 ช่วงวิกฤตหมอกควันในเดือนมีนาคม มีรายงานข่าวว่าพื้นที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดในประเทศด้วยเช่นกัน

– ในปี 2564 ช่วงวิกฤตหมอกควันในเดือนมีนาคม  กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนใหญ่เกินค่ามาตรฐาน โดยค่ามลพิษสูงสุดตรวจวัดได้ที่ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 

– ในปี 2566 ช่วงที่ภาคเหนือของไทยเผชิญกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ปลายเดือนมีนาคม 2566 นั้น ก็พบว่าพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย วิกฤตที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน สำหรับ 9 พื้นที่ที่วิกฤตสุดอยู่ในจังหวัดเชียงราย 3 พื้นที่ แม่ฮ่องสอน 3 พื้นที่ พะเยา น่านและเชียงใหม่อีกจังหวัดละ 1 พื้นที่

แล้วพื้นที่อื่น ๆ เป็นยังไง มาลองตรวจสอบมลพิษทางอากาศในท้องถิ่นด้วยตนเองกันเถอะ

แม้ว่าจะยังไม่มีสื่อไหนให้ความสำคัญกับมลพิษทางอากาศได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ด้วยขีดจำกัดด้านการเสนอข่าวสาร ทำให้พื้นที่เล็ก ๆ แต่มีความเข้มข้นด้วยมลพิษทางอากาศตกหล่นหายไปจากหน้าสื่อ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าท้ายสุดการโทษสื่อ โทษนั่นโทษนี่ แล้วมัวแต่ฟูมฟาย ก็อาจไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก 

ทั้งนี้เราก็พอที่จะมีเครื่องมือในการตรวจวัดสถานการณ์มลพิษที่ครอบคลุมท้องถิ่นของเราอยู่บ้าง เช่น เว็บไซต์ Air4Thai และ เว็บไซต์ CMU CCDC เป็นต้น เราอาจใช้เครื่องมือเหล่านั้นช่วยในการบอกเล่าปัญหานี้ในพื้นที่ที่เราอยู่อาศัย ผ่านสื่อท้องถิ่น (อย่าง Lanner) หรือแม้แต่โซเชียลมีเดียของเราเอง ให้มันเป็น “ประเด็นในท้องถิ่นของเรา” ขึ้นมาเอง โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศวิกฤต ก็จะสามารถสร้างความตระหนักรู้ปัญหานี้ขึ้นมาได้ในพื้นที่

บทความชิ้นนี้เขียนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 โดยผู้เขียนลองตรวจสอบสถานการณ์มลพิษทางอากาศในจังหวัดพะเยา ไว้ดังนี้

รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ, เว็บไซต์, หน้าเว็บ, ซอฟต์แวร์

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ IQAir www.iqair.com (ณ เวลา 19.00 น.) พบว่าจังหวัดพะเยามีดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 124 (มีผลกระทบต่อผู้ป่วยหรือร่างกายอ่อนแอ) ความเข้มข้น PM2.5 อยู่ที่ 44.8µg/m³ (ความเข้มข้นเป็น 9 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลก)

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Air4Thai http://air4thai.pcd.go.th สถานีตรวจวัดที่สนามกีฬาจังหวัดพะเยา ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา (ณ 21.00 น.) ความเข้มข้น PM2.5 อยู่ที่ 50.78 µg/m³  (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ)

ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์ CMU CCDC www.cmuccdc.org (ณ เวลา 19.00 น.) แสดงค่าความเข้มข้น PM2.5 ไว้ 9 จุดในจังหวัดพะเยาดังนี้

จุดตรวจวัดความเข้มข้น PM2.5 (µg/m³)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.พะเยา ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา36
หน่วยป้องกันรักษาป่าที่พย.2 นาปรัง อ.ปง จ.พะเยา42
อบต.บ้านมาง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา (กอ.รมน. พะเยา)43
รพ.พะเยา ต.บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา48
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเชียงคำ อ.เชียงคำ จ.พะเยา49
รพ.จุน ต.ห้วยข้าวก่ำ อ.จุน จ.พะเยา55
สสอ. แม่ใจ จ. พะเยา60
โรงพยาบาลภูกามยาว ต.ห้วยแก้ว อ.ภูกามยาว จ.พะเยา62
รพ.ปง ต.นาปรัง อ.ปง จ.พะเยา65

แล้วท้องถิ่นที่คุณอยู่ล่ะ สถานการณ์มลพิษทางอากาศในฤดูกาล PM2.5 ปี 2567 นี้เป็นอย่างไรกันบ้าง?

ข้อมูลประกอบการเขียน

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เริ่มสนใจงานเขียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นทั้งนักเขียน นักเรียน นักดนตรี และนักรัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง