เรื่อง: พิชญ์สินี ชัยทวีธรรม
รายงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 7 มี.ค.2566 ทางเว็บไซต์ ประชาไท
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซุกอะไรไว้ใต้หมอน
ซุกไว้ใต้หมอน ของ เพชรนิล สุขจันทร์ นักศึกษาคณะศิลปกรรมปี 3 เทอม 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัยได้จัดแสดงงานที่มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 และโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตน ในวันที่ 25 ม.ค.ทีผ่านมา พร้อมคำอธิบายงาน
“เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน” ความขัดแย้งกันของความหมายในสโลแกนสำคัญ ในโลกทุนนิยมที่จุฬาฯเองไม่ได้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง แต่จุฬาฯรับใช้ผู้มีอำนาจและนายทุน โดยเฉพาะผู้บริหาร ในขณะที่นิสิต ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของตัวนิสิตเองและมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เรื่องการรื้อถอนโรงภาพยนต์สกาล่า สิทธิการชุมนุมในรั้วมหาลัยไม่ใช่เรื่องผิด การไล่ที่ชุมชนสามย่าน รวมถึงการรื้อถอนประเพณีที่ล้าหลังอย่างการอัญเชิญพระเกี้ยว ซึ่งทุกๆอย่างเป็นสิ่งที่จุฬาฯไม่ยอมอนุมัติ เพิกเฉยและมักผิดคำสัญญาที่ให้ไว้ เพราะมันขึ้นอยู่กับผู้อยู่เบื้องหลังที่อาจจะไม่ใช่นิสิต แต่คือผู้ที่มีอำนาจ
#เกียรติภูมิจุฬาฯคือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน
#ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียน
สามารถติชมกันได้เหมือนเดิมนิ้นเป็นมือใหม่หัด installed
และรูปภาพผลงานดังกล่าวได้รับคอมเม้นท์จากโซเชี่ยลมีเดียจำนวนมาก ทั้งบวกและลบ โดยในมุมนั้นมองว่าเป็นการทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียเกียติหรือไม่ จนทางมหาวิทยาลัยต้องออกแถลงการณ์เพื่อขอโทษต่อสังคม รวมทั้ง ‘กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์’ เข้าแจ้งความกับ สน.ปทุมวัน โดยอ้างว่าเป็นการด้อยคุณค่าและเสื่อมเสียเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่โพสต์รูปผลงานพระเกี้ยวอาหารหมาของเพชรนิล จะเขียนรายละเอียดงานดังกล่าวไว้แล้วก็ตาม
กลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์แจ้ง 112 เหตุ เป็นการด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์
เฟซบุ๊กเพจ ‘ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน’ (ปภส.) โพสต์เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่ากลุ่มตนเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่สน.ปทุมวันและยืนยันว่า งานของเพชรนิลเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงนำไปสู่การแจ้งความโดยมี ตัวแทนภาคีกลุ่มราชภักดี ซึ่งเป็นกลุ่มเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ดำเนินการแจ้งความเพชรนิล
อย่างไรก็ตามในรายการข่าว ‘เจาะข่าวร้อน’ ออกอากาศผ่านช่องยูทูบ ‘TOP News’ เมื่อ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา อุดร แสงอรุณ ผู้ดำเนินรายการ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวของนิสิตชั้นปีที่ 2 จากการตีความของนักกฎหมายเบื้องต้นอาจไม่เข้าข่ายมาตรา 112 แต่ยังมองว่าเป็นการด้อยค่าตราสัญลักษณ์ พระเกี้ยว ของจุฬาฯ
ที่มาของงาน
ในโอกาสนี้จึงได้สัมภาษณ์ เพชรนิล เจ้าของผลงานที่เป็นประเด็นดังกล่าว เพื่อเข้าใจที่มาของงานศิลปะนี้ ซึ่งเธอเล่าว่า เป็นวิชาเรียนจากปี 3 เทอม 1 Advance Creative ซึ่งเปิดอิสระให้ทำงานอะไรก็ได้ ซึ่งจะมีหัวข้อกำหนดให้ ซึ่งเทอม 2 ต้องหัวข้อไม่ซ้ำ เทคนิคที่เปิดกว้างมากกว่าก็เดิม หัวข้อรอบนี้คือคำว่า Head (หัว) ซึ่งจะทำงานออกมาแบบไหนก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับหัว เช่น จะเอาสีจุ่มหัวตัวเองก็ทำได้ ประติมากรรมที่เกี่ยวกับหัว จะเป็นเทคนิคแบบไหนก็ได้ไม่จำกัด โดยมีเวลาจำกัด 1 สัปดาห์ ซึ่งพระเกี้ยว เป็นเครื่องหัว ก็ยังอยู่ในหัวข้อที่วิชาเรียนกำหนดมา แม้จะมีเวลาที่จำกัดก็ตาม
“ตอนนั้นนึกถึงความเชื่อ ชายเป็นใหญ่ อย่าง ชฎา มงกุฎ นึกถึงอำนาจทางเพศที่มีอยู่ในสังคม โดยเฉพาะเพศชายที่สามารถสั่งให้ผู้หญิงทำอะไรตามใจตัวเองได้ แต่มันแพงเกินไป เลยเปลี่ยนเป็นงานที่สื่อถึงอำนาจและอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น เลยออกมาเป็นพระเกี้ยว ก็เป็นของที่อยู่ในราคาที่เราจ่ายไหวด้วย” เจ้าของผลงาน ‘ซุกไว้ใต้หมอน’ กล่าว
ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นพระเกี้ยว เพราะสอดคล้องกับชีวิตของ เพชรนิล ที่เรียนอยู่ที่จุฬา เลยใช้รัดเกล้า และอุปกรณ์อื่นๆ จากสำเพ็ง ส่วนชิ้นที่เป็นผ้า ก็ตัดเย็บขึ้นเองจากผ้า และที่สำคัญอยู่ใกล้ชิดกับชีวิตของศิลปิน
เพชรนิล เล่าถึงขั้นตอนการเตรียมงานชิ้นนี้และแนวคิดก่อนที่จะออกมาเป็นผลงาน ซุกไว้ใต้หมอน โดยเพชรนิลเองก็ใช้เงินที่ได้จากที่บ้านในการซื้อของมาทำผลงานชิ้นนี้จากสำเพ็ง
สัญญาที่ไม่เคยได้รับการตอบรับ
“สัญญาของทางมหาวิทยาลัยที่ได้ให้ไว้กับนักศึกษา เช่น เอกสารที่หมอนทับอยู่ภายใต้หมอนที่จัดแสดงงาน จนล้นออกมา เพราะมีเรื่องที่ทางนิสิตยื่นไปมากมาย แต่ไม่มีอะไรตอบกลับหรือดำเนินการใดๆจากทางมหาวิทยาลัย และในฐานะนิสิตของทางมหาวิทยาลัยไม่ได้เข้าถึงผู้บริหารของทางมหาวิทยาลัยได้โดยง่าย” เพชรนิล กล่าว และเล่าถึงปัญหาอย่างหนึ่งที่ประสบด้วยตัวเองในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือ คณะศิลปกรรม จุฬา ขาดพื้นที่ในการจัดแสดงงาน และพื้นที่เรียนรู้สำหรับนักศึกษาคณะนี้ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปัญหามากมายที่เคยถูกร้องเรียนจากทางนักศึกษา และไม่ได้รับการตอบรับหรืออธิบายคำตอบให้แก่นักศึกษา จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทางมหาวิทยาลัยซุกไว้ใต้หมอน และไม่ได้มีการอธิบายใดๆจากทางมหาวิทยาลัย
นิสิตก็คือประชาชนที่มหาวิทยาลัยต้องรับฟังปัญหา และดำเนินการ
เจ้าของผลงาน ‘ซุกไว้ใต้หมอน’ อธิบายสัญลักษณ์อื่นๆ อย่าง ‘อาหารหมา’ หมายถึง การที่จุฬาไม่รับใช้ประชาชน ก็คือนักศึกษา เช่น การที่มหาวิทยาลัย ไม่ตอบรับและไม่มีการอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกร้องจากนักศึกษา แต่กลับรับใช้นายทุน โดยการอนุญาตให้เกิดการใช้ประโยชน์ของนายทุน นั่นเท่ากับว่ามหาวิทยาลัยเลือกผลประโยชน์ มากกวา่ความต้องกาารของนักศึกษา อาหารหมาจึงนำมาแทนผลประโยชน์ที่ทางมหาลัยเลือกรับใช้นายทุน เหมือนเป็นรางวัลจากนายทุนมามอบให้กับทางมหาวิทยาลัยแทน
เพชรนิลอธิบายถึงมาหารสุนัขที่นำมาจัดแสดงงานว่า อาหารสุนัขที่นำมาจัดแสดงบนชิ้นงานนี้หมายถึงผลประโยชน์ที่ทางมหาวิทยาลัยได้รับจากนายทุนที่มาร่วมลงทุนกับทางมหาวิทยาลัย ในขณะที่คำร้องเรียนจากนักศึกษา ไร้ซึ่งเสียงตอบกลับและไม่มีการติดต่อ ชี้แจงความคืบหน้าใดๆ กับเรื่องที่นักศึกษาร้องเรียน จึงเหมือนกับว่ามหาวิทยาลัยให้ความสนใจไปที่ผลประโยชน์จากนายทุน และหลงลืมหน้าที่ในการดูแลนักศึกษา จึงไม่ต่างจากสุนัขที่รอรับใช้และได้รางวัลจากเจ้าของ
บันได ในวันที่ส่งงาน ผลงานชิ้นนี้เป็น installatione art ซึ่งพื้นที่จัดแสดงงานในตึกคณะมีพื้นที่ไม่เพียงพอและไม่เอื้ออำนวยต่อการแสดงผลงานชิ้นนี้ และชิ้นงานนี้สื่อสารถึงการใช้พื้นที่สาธารณะที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถจัดหาให้นิสิตได้ ศิลปินจึงใช้บันไดแท้งค์น้ำของตึกเรียนของคณะตัวเองจัดแสดงงาน เพื่อสื่อสารถึงระบบชนชั้น โดยมีผลประโยชน์อยู่สูงกว่าจุฬา อาหารหมาจึงถูกจัดวางให้อยู่ขั้นบันไดขั้นสูงกว่าพระเกี้ยวแทนซึ่งยังมีปัญหาของจุฬาที่มากมายกว่าแค่ตัวอย่าง 5 แผ่น ที่ถูกซุกไว้ใต้หมอนพระเกี้ยวอีกด้วยซ้ำ
เพชรนิลเล่าว่า หลังจัดแสดงงานก็ทำความสะอาดพื้นที่จัดแสดงด้วยตัวเอง ไม่ได้รบกวนแม่บ้านแต่อย่างใด เพราะเป็นการรับผิดชอบการใช้พื้นที่ของทางมหาวิยาลัย โดยไม่ต้องรบกวนคนอื่นเพิ่ม
สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยแรงด่า
“สังคมไทยขับเคลื่อนด้วยแรงด่า เพราะงานด้านบวกไม่ได้รับกระแสนิยม สังคมขับเคลื่อนด้วยการด่า งานที่สื่อถึงปัญหา จึงได้รับความนิยมมากกว่างานด้านบวก” เพชรนิล กล่าว พร้อมสะท้อนถึงความนิยมในผลงานชิ้นนี้ว่าได้รับแรงสนใจมากกว่าที่นำเสนอด้านสวยงามของสังคม เพราะในปัจจุบัน เรามองเห็นปัญหาได้ง่าย และใกล้ตัวมากขึ้น แต่ปัญหาในสังคมทุกวันนี้คือ เรามองเห็นปัญหา แต่ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้รับการแก้ไข จึงไม่แปลกที่จะมีคนสนใจงานชิ้นนี้มาก
“คิดว่างานชิ้นนี้น่าจะแมส คนเห็นเยอะและคงมีผลกลับมาที่ตัวเองแน่นอน แต่ก็คิดว่างานนี้คือการนำเสนอความจริง จึงไม่ลบโพสต์และเป็นการยืนยันความจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ให้เสรีภาพในการนำเสนอ และเป็นห่วงสภาพจิตใจของศิลปิน เพราะหลังงานนี้นำเสนอในโลกออนไลน์ได้มีคนเข้ามาคอมเม้นท์มากกว่า” เจ้าของผลงาน ‘ซุกไว้ใต้หมอน’ กล่าว
การคุกคามศิลปิน
เพชรนิล เล่าถึงการเริ่มถูกคุกคามว่า ตนสังเกตุว่าเริ่มมีคอมเม้นท์ประหลาด เรื่องราวส่วนตัวเริ่มเป็นที่พูดถึงในคอมเม้นท์ออนไลน์อย่างน่าสงสัย ประมาณวันที่ 27 ม.ค. 2566
เธอ อธิบายถึงเหตุการณ์ในโซเชี่ยลออนไลน์ว่า มีคนเข้ามาคอมเม้นท์ที่รูปภาพผลงานของตน ซึ่งตอนแรกก็เป็นการแสดงความคิดเห็นทั่วไป ทั้งพอใจและไม่พอใจ
ภายหลังวันที่ 27 ม.ค.เพชรนิลได้สังเกตุว่า คอมเม้นท์ที่เข้ามาในผลงานของตน เริ่มพูดถึงเรื่องส่วนตัวของตนมากขึ้น จริงบ้าง เท็จบ้าง แต่ก็เริ่มแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น
โดย 2 วันต่อมา (29 ม.ค.66) มีรุ่นพี่ทำงานศิลปะการเมืองและอาจารย์มหาวิทยาลัยเดียวกัน ได้แคปข้อความจากไลน์กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยที่คุยถึงผลงานของตนเอง โดยบิดเบือนว่านิสิตถูกชักใย ไม่ได้ทำงานด้วยตนเอง และยังมีข้อความเล่าถึงเรื่องส่วนตัว เช่น โรคประจำตัว ได้ถูกพูดออกไป
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เพชรนิลรู้ว่าเรื่องราวส่วนตัวได้หลุดไปในโซเชี่ยล เผยแพร่สู่คนอื่น จนเกิดข้อความคอมเม้นท์ประหลาดที่พูดถึงเรื่องส่วนตัวของศิลปิน
ไม่มีใครไว้ใจได้
เมื่อมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่บาดลึกอยู่ในใจ
เพชรนิล กล่าวต่อว่า การที่ตนป่วยเป็นซึมเศร้า ส่วนหนึ่งก็คือคณะของเรา เมื่อปีที่แล้วมีอาจารย์ที่เป็นคนสอนในคณะตนลวนลามทางเพศ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้ตนไม่อยากลงเรียนสาขาภาพพิมพ์ แม้ตนจะชอบงานภาพพิมพ์มากก็ตาม เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะต้องเจออาจารย์คนนี้ อาจารย์ลวนลามนักศึกษามานานกว่า 10 ปี และมีรุ่นพี่โตกว่าตน 10 ปีก็เล่าให้ฟังว่าโดนลวนลามโดยอาจารย์คนนี้ มันกลายเป็นอีกเรื่องที่ซุกไว้ใต้หมอนมานานแล้วเช่นกัน
“รู้สึกว่าเป็นปัญหานึงที่ซุกไว้ใต้หมอน ทุกปีจะต้องมีนักศึกษาซักคนที่โดนอาจารย์คนนี้ลวนลาม ตอนนั้นตัวสั่นตลอด ร้องไห้เวลากลับบ้าน” เจ้าของผลงาน ‘ซุกไว้ใต้หมอน’ กล่าว โดยตนเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว หลังเกิดการลวนลามจากอาจารย์ในวิชาภาพพิมพ์ เมื่อตอนที่ตนเป็นนักศึกษาปีที่ 2 ซึ่งตนเองก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพจิตเอง โดยที่อาจารย์ที่ล่วงละเมิดเพชรนิลนั้น ก็ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนในวิชาภาพพิมพ์เช่นเดิม
เพชรนิล ยืนยันว่านี่ก็คืออีกหนึ่งปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่เรื่องนี้ได้โดนจัดการคณบดีไปแล้ว แต่เราที่เป็นคนแจ้งก็ไม่ได้รับข้อมูลหรือการสื่อสารอะไรกลับมาจากคณะ ว่าเขาจัดการอย่างไร และไม่มีอะไรมั่นใจที่จะทำให้เรารู้ว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดปัญหากับนักศึกษาคนอื่นๆ อีก
แม้เวลาจะผ่านมา 1 ปี แต่เพชรนิลในฐานะที่เป็นนักศึกษาและผู้ที่ถูกกระทำจากอาจารย์ในคณะของตนก็ยังไม่ได้รับความคืบหน้าหรือคำตอบจากทางมหาวิทยาลัยที่สามารถรับรองได้ว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับนักศึกษาคนไหนอีก
แถลงการณ์ขอโทษจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“อาจารย์ถามว่าต้องแถลงการณ์โดยมีเราไปร่วมขอโทษด้วยตนเองไหมนะ ซึ่งเราก็ปฏิเสธ เพราะงานที่เรานำเสนอไม่ได้มีอะไรผิด” เพชรนิลเล่าและยืนยันต่อผลงานของตนวาเป็นการนำเสนอความจริงที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยของตน ซึ่งการพูดถึงปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด จึงปฏิเสธการร่วมขอโทษสังคมในแถลงการณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“อาจารย์ถามว่าทำไมถึงทำแบบนี้ คำตอบเราก็คือ เราคือนิสิต คนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆก็คือเรา เราพูดได้เต็มปาก ณ ปัจจุบันเราสัมผัสความรู้สึกและเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยกับทางมหาวิทยาลัย มันก็ถูกต้องแล้วที่เราจะพูด”
“ทำไมในขณะที่เราเป็นนิสิตอยู่ทำไมเราต้องทนไปจนถึงช่วงเรียนจบแล้วค่อยมาพูด ในเมื่อตอนนี้เราก็อยู่กับปัญหา” เพชรนิล กล่าว
อัษฎางค์ ยมนาคและ ‘ความศิวิไลซ์ในการแสดงออกทางการเมืองด้วยศิลปะ’
ต่อประเด็นผลงานของเพชรนิล นอกจากการแจ้งความดังที่รายงานข้างต้น วันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าว Top News Online รายงานข่าวถึงการโพสต์ของ อัษฎาค์ ยมนาค ต่อผลงานนี้ โดยเป็นการแสดงความเห็นว่า ศิลปะมาคู่กับความศิวิไลซ์ ระบุไว้ว่า
จิตวิญญาณแห่งอิสระชนที่ไม่สมยอมกับรูปแบบสังคมเก่าอีกต่อไป
“ยุคสมัยใหม่ของไทยกับตะวันตกมันมีความต่างกันตรงที่ ‘ความสมัยใหม่สังคมตะวันตก’ มันมาควบคู่กับสำนึกเสรีชน อิสระชนที่ไม่สยบยอมกับรูปแบบการปกครองของสังคมแบบเก่าอีกต่อไป” ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าว พร้อมอธิบายถึงสถานการณ์ปัจจุบันสิ่งที่มันเป็นความแตกต่างศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยกับตะวันตกว่ามีที่มาที่แตกต่างกัน โดยสังคมตะวันตกเกิดยุคสมัยใหม่ของศิลปะคู่มากับการปฏิวัติ ความคิดที่มีเสรีภาพ จิตสำนึกแห่งเสรีชน และอิสระในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์จึงเกิดขึ้นมาพร้อมกันและมีผลต่องานศิลปะสมัยใหม่ที่สามารถใช้ศิลปะในการวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกอย่าง ไม่เกี่ยวข้องว่าจะเป็นสถาบันใดก็ตาม
“จึงได้เกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสกับรัสเซีย ตามมาด้วยยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การก้าวหน้าในด้านความเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ปัจเจกชนขยายศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ทลายข้อจำกัดของยุคสมัยลงได้” ทัศนัย กล่าว
“ในขณะที่สังคมไทย ศิลปะสมัยใหม่ในไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตาม แม้จะเกิดการปฏิวัติ พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร ขึ้นก็ตาม แต่จิตสำนึกของผู้คนเรื่องอิสระภาพ และประชาธิปไตย มีนัยยะความสำคัญอย่างไรต่อพวกเขา โดยเฉพาะศิลปะสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับเสรีภาพและประชาธิปไตย ผู้คนยิ่งไม่เข้าใจ”
อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มช. อธิบายถึงรากฐานของเสรีภาพในงานศิลปะว่า ในยุคสมัยหลังการปฏิวัติพ.ศ.2475 ศิลปินที่ได้ศึกษาศาสตร์และศิลป์ตั้งแต่สมัยของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปกรณ์และส่งต่อวิทยาการของศิลปะให้แก่นักศึกษาในสมัยนั้น ศิลปินที่ได้ศึกษาในยุคสมัยนั้นกลับไม่ได้ส่งต่อรากฐานของคำว่าเจตจำนงค์เสรีภาพและประชาธิปไตยในงานศิลปะ เพียงส่งความคิดในการทำงานรูปแบบโมเดิร์นอาร์ตไม่ส่งต่อแนวคิด ปรัชญาศิลป์และศาสตร์ความคิดอื่นๆที่สร้างโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้นให้แก่ศิลปินรุ่นถัดไป
ทัศนัยเรียกว่า ‘การไม่ทำหน้าหน้าที่ของศิลปิน’ ทำให้แวดวงการทำงานศิลปะสมัยใหม่ในไทยจึงยังติดอยู่ในกรอบของการทำงานเพื่อให้ศิลปะทำหน้าที่เพียงงานตกแต่งผู้มีอำนาจ ไม่วิพากษ์วิจารณ์และยังสร้างศิลปะที่เป็นเครื่องประดับให้รัฐไทย หรือทำงานศิลปะเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ แต่ไม่ได้คำนึงถึงจิตวิญญาณความเป็นเสรีภาพในสังคมและไม่พูดถึงประชาธิปไตย งานศิลปะในไทยจึงไม่ก้าวหน้าตามยุคสมัย
“ศิลปะสมัยใหม่ในไทยไม่ทำหน้าที่ในการเชิดชูอิสระชน ไม่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของการค้นหาความรู้ใหม่ ไม่ทำหน้าที่ของการกรุยทางให้สังคมแห่งเสรีภาพ” อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มช. กล่าว
ศิลปะกิจกรรมทางสังคมแบบหนึ่งที่มันทำหน้าในการสะท้อนเสรีภาพในยุคสมัยนั้น
“สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือศิลปินสละทิ้งเสรีภาพของตัวเองไปเอาใจเจ้านาย เอาใจคนที่มีอำนาจไม่น่าอับอาย เกิดกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเช่นนั้น เพราะการที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ห้างร้าน สถาบันการเงินหรือสถาบันใดก็ตามที่เป็นผู้สนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยมและประเพณีนิยม แล้วการที่เราไปวิพากษ์วิจารณ์เขา เท่ากับเป็นการสร้างความไม่มั่นคงให้ตัวเอง ซึ่งผมมองว่ามันเป็นความย้อนแย้งในตัวเอง” อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มช. กล่าวพร้อมเล่าถึงบทบาทของศิลปะในไทยว่า ละทิ้งเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งศิลปะควรทำหน้าที่อย่างมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ นำพาสังคมไปสู่แนวคิดใหม่ๆ นำพาสังคมไปสู่ความยุติธรรม เพราะศิลปะคือการทลายข้อจำกัดของสิ่งที่เป็นอิสระภาพ
พระเกี้ยวจะไม่เป็นปัญหา หากแก้ ม.112
“สิ่งที่เขามองเห็นคือผลงานชิ้นนี้จะเป็นสัญลักกษณ์อะไรก็ตามคือการสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ เป็นการปรามาสกษัตริย์ คำถามคือกษัตริย์อยู่ตรงไหนในสังคมไทย” ทัศนัย กล่าว
ตามความเห็นของอาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มช. เล่าถึงสถาบัน เมื่อเป็นสถาบันทางสังคมต้องวิจารณ์ได้เพราะสถาบันนั้นเกี่ยวข้องกับผู้คน สังคม เมื่อเป็นเช่นนั้นสถาบันต่างๆต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่เว้นแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะนั่นก็คือหนึ่งในสถาบันเช่นกัน
ทัศนัยอธิบายเพิ่มเติมว่า ช่วงหลังสมัยใหม่ ตั้งทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา เรียกว่า institution critic หรือการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันได้กลายเป็นประเพณีและวัฒนธรรมใหม่ของศิลปะร่วมสมัย
สถาบันทุกสถาบันเป็นเป้าในการวิพากษ์วิจารณ์ของศิลปิน เช่นสถาบันศิลปะ สถาบันทางการเงิน สถาบันทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม อาจารย์ทัศนัยอธิบายเพิ่มเติมว่า การมีสถาบันในสังคมนั้น มาพร้อมกับโครงสร้างบัญญัติและการลงทัณฑ์ ลงโทษ รวมถึงการสอดส่อง จับตาเพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในโครงสร้างของระเบียบตามที่สถาบันต่างๆต้องการ และมนุษย์ทุกคนไม่กล้าละเมิด พร้อมที่จะสำนึกผิด ไม่กล้ามีอิสระภาพ ไม่กล้าที่จะถามตัวเองว่ามีความต้องการสิ่งใด งานศิลปะจึงได้เกิดวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่างๆผ่านงานศิลปะขึ้นมา
“เพราะฉะนั้นในการสร้างงานศิลปะที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบัน อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นเรื่องปกติ และควรทำความเข้าใจว่านี่คือยุคของประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่ศิลปะมีหน้าบทบาทหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม” ทัศนัย กล่าว
ถ้าพระเกี้ยวไม่เชื่อมโยงสถาบันกษัตริย์
“ปัญหาที่จริงๆมันคือมาตรา 112ในตัวเอง มันจึงนำมาสู่ประเด็นในการฟ้องร้อง ตรงนี้ ลองเป็น มช.ทำล้อเลียนรูปช้างโดยใช้ช้างที่เป็นโลโก้มหาวิทยาลัยสิ มันจะไม่ถูกโยงไปม.112 เพราะเราเป็นช้าง” อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มช. กล่าว และเล่าถึงการที่สถาบันมีโลโก้ที่แตกต่างกัน โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพระเกี้ยวเป็นรูปสัญลักษณ์มหาวิทยาลัย จึงทำให้มีความยึดโยงกับสถาบัน สามารถสร้างความเชื่อมโยงไปสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ แต่อำนาจที่ล้นเกินของมาตรา 112 ทำให้มีผู้ประสงค์แจ้งความกับเพชรนิล สุขจันทร์ได้เข้าแจ้งความด้วยมาตรา 112 แม้ภายหลังจะสน.ปทุมวันจะไม่รับฟ้องก็ตาม แต่ก็ยังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์งานศิลป์ พระเกี้ยวอาหารหมา ว่ายังคงเป็นเรื่องดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์
ซึ่งศิลปะได้ทำหน้าเป็นเครื่องมือวิจารณ์ทุกสถาบันทางสังคมในไทยจริง และหากมีงานศิลปะที่วิพากษ์สถาบันกษัตริย์ตรงๆจริง มาตรา 112 ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งของกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตัวสถาบันกษัตริย์ และเป็นการถดถอยของวงการศิลปะไทยที่ยังคงตองรักษาศีลธรรม ความดีงาม และไม่สามารถแตะต้อง วิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นในสังคมได้ กฎหมายไทยจึงขัดต่อเสรีภาพและขัดขวางไม่ให้ศิลปินได้ทำหน้าวิพากย์วิจารณ์ แม้แต่เรื่องสถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์ เพียงเพราะมีโลโก้พระเกี้ยวก็กลายเป็นความอ่อนไหว และมีคนบางส่วนของสังคมไม่ยอมรับการวิจรณ์และเชื่อมโยงไปสู่ มาตรา 112 ได้ทันที”
ทัศนัยให้ข้อเสนอต่อปัญหาดังนี้
- มาตรากฎหมาย 112 มันมีปัญหาในตัวมัน ด้วยอำนาจที่ล้นเกินของมาตรานี้ จึงทำให้ทุกอย่างดูเกี่ยวข้องไปกับสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดเวลา
- การวิพากษ์สถาบันต่างๆ มันคือวัฒนธรรมของศิลปะยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นบทบาทของศิลปินและเป็นหน้าที่ของศิลปะสมัยใหม่
“มันจึงเป็นหน้าที่ศิลปินที่ต้องทลายเรื่องพวกนี้ เรามีอารยะอยู่เพราะมนุษย์ท้าทายตัวเอง ท้าทายความคิดมันจึงก้าวหน้า มันจึงเป็นมนุษย์” ทัศนัย กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ |