แกไม่รอดแน่คนเหนือ เปิดข้อมูลคนภาคเหนือเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดมากที่สุดในประเทศ และอีกหลายเรื่องไม่น่ารอด

(ภาพ: สิ้นฝุ่น สูญศักดิ์)

“เสียทั้งพ่อ แม่และเพื่อน แม่ก็เป็นมะเร็งปอด ต่อมาก็เป็นพ่อในเดือนสิงหาคม เสียเพื่อนไปเมื่อตอนต้นปีนี้เอง 3 คน เป็นคนที่รักทั้งนั้นเลย มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก คือถ้าใครไม่เจอด้วยตัวเองไม่เข้าใจความรู้สึก เพราะว่าอาการของคนที่เป็นโรคมะเร็งปอด ถ้าเคยมีญาติจะรู้เลยว่ามันทรมานขนาดไหน”


(ภาพ: สิ้นฝุ่น สูญศักดิ์)

ผศ.ดร.วนารักษ์ ไซพันธ์แก้ว เหยื่อควันพิษภาคเหนือที่ต้องสังเวยชีวิตคนที่รักถึง 3 คนให้กับวิกฤตฝุ่นควัน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของ Lanner ว่า ตนได้เสียทั้งพ่อ แม่ และเพื่อนรักของเธอให้กับโรคทางเดินหายใจที่มาจากมลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่ โดยพ่อของตนในวัย 83 ปีต้องเสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคถุงลมโป่งพอง อีกทั้งยังพบก้อนในปอดในช่วงต้นเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้แม่ของตนก็เพิ่งเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดเช่นกัน และก็เสียเพื่อนไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากปัญหามลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่ ตนจึงอยากเรียกร้องให้รัฐเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้จริงจังมากกว่านี้

เชื่อว่าพวกเราหลายคนคงจะพูดถึงปัญหาของฝุ่น PM2.5 กันอยู่ทุกวัน เนื่องด้วยค่าฝุ่นที่พุ่งขึ้นในทุกวัน เว็บไซต์ iQAir ยังคงรายงานอันดับเมืองที่มีค่าฝุ่นมากที่สุดในโลกก็ยังคงเป็นจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และอีกหลายพื่นที่ในภาคเหนือของประเทศไทย คำถามที่มักจะพ่วงมาพร้อม ๆ กับเรื่องนี้ก็คือการหาตัวการของคนผิดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตนี้

ฝุ่น PM2.5 ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร และไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า สาเหตุที่ทำให้เกิดก็เริ่มจากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันจากการเผา ควันบุหรี่ หรือกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม ถ้าในอากาศมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่สูง เราก็จะสามารถมองเห็นได้โดยมีลักษณะเป็นหมอกควันปกคลุมรอบบริเวณ เช่น ในกรณีของอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยปกติเราจะสามารถมองเห็นดอยสุเทพได้อย่างชัดเจน แต่การมีอยู่ของฝุ่น PM2.5 ที่สูงจึงทำให้เราไม่สามารถมองเห็น หรืออาจจะเห็นแบบเลือนลาง โดยที่ฝุ่น PM2.5 สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ส่งผลให้อาการของผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรือทำให้คนปกติป่วยเป็นหอบหืดได้เช่นเดียวกัน หากเราสูดดมเอาฝุ่นและมลพิษเข้าสู่ร่างกาย สะสมเป็นเวลานาน ๆ อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ หรือแม้กระทั่งการตกตะกอนภายในหลอดเลือด ที่นำไปสู่อาการหัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะและวายเฉียบพลัน แม้แต่ในสมองเอง PM2.5 ก็ส่งผลให้เกิดอาการความดันโลหิตสูง เสี่ยงเกิดลิ่มเลือดในสมอง หลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัวจนทำให้เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก และอาจนำไปสู่ของอัมพฤกษ์อัมพาตได้

ภาพ: โรงพยาบาลนครพิงค์

นี่อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่เกิดจากจากสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น แต่ถ้ามองไปให้ลึกกลับพบข้อมูลที่น่าสนใจจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุขว่าในปี 2563 นั้นภาคเหนือมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่นๆของประเทศ หรือประมาณ 31.4 ราย ต่อแสนประชากร ขณะที่อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยทั่วประเทศเท่ากับ 22.6 รายต่อแสนประชากร

โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 เพจเฟซบุ๊ก WEVO สื่ออาสา ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติมะเร็งปอด ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และภาคเหนือ อ้างอิงงานศึกษา ของ รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง หัวหน้าหน่วยวิชามะเร็งวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพศชายในทะเบียนมะเร็งของจ.เชียงใหม่ 14,299 ราย ขณะที่ ผู้ป่วยมะเร็งปอดเพศหญิง 5,664 ราย เมื่อพิจารณาอัตราการป่วยด้วยมะเร็งปอดภาพรวมของประเทศไทย ผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งปอด ร้อยละ 9.3 เพศหญิง ร้อยละ 20.6 สำหรับ ข้อมูลผู้ป่วยในเชียงใหม่ ผู้ชาย ร้อยละ 22.3 ผู้หญิง ร้อยละ 29.6, จ.ลำปาง ผู้ชาย ร้อยละ 27.6 ผู้หญิง ร้อยละ 53 ส่วนที่ จ.สงขลา ผู้ชาย ร้อยละ 4.9 ผู้หญิง ร้อยละ 13.5


(ภาพ: สิ้นฝุ่น สูญศักดิ์)

และข่าวร้ายอีกข่าวก็คือเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส. 1/2566 คดี หมายเลขแดงที่ ส. 1/2566 ในคดีที่มีผู้ยื่นฟ้องขอให้นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้สภาพบรรยากาศในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 ไม่เกินมาตรฐานตามที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด แต่วินิจฉัยแล้วว่าสถานการณ์มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนเกินมาตรฐาน ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงต่อเนื่องระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2566 ตามฟ้อง ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ออกคำสั่งตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ พิพากษายกฟ้อง

นี่จึงไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่การอัพ Social Media ว่าวันนี้ค่าฝุ่นมีปริมาณเท่าไหร่ หรือที่บ้านมีเครื่องฟอกอากาศกี่ตัว แต่มันคือเรื่องของเราทุกคน ก่อนที่เราจะต้องตายเพราะปัญหานี้อาจทรมานผ่อนส่ง

ไม่รอดแน่ แนวโน้มฝุ่นละออง 2566

8 พฤศจิกายน 2565 วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้คาดการณ์สถานการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองในปี 2566 ไว้ว่าอาจมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และสำหรับภาคเหนือ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคงจะหนีไม่พ้นปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากการที่จุดความร้อนลดลงไปกว่า 80%

ด้วยเหตุนี้เองการควบคุมกิจกรรมการเผาต่าง ๆ จึงเพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงตามธรรมชาติในพื้นที่ป่า รวมไปถึงการกระจายความรู้ความเข้าใจแก่คนในพื้นที่เกี่ยวกับการกำจัดขยะโดยไม่ใช้วิธีเผาผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบของการเผา การแปรรูปเชื้อเพลิงเพื่อลดกิจกรรมการเผา รวมไปถึงการควบคุมปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของประเทศ ผ่านการส่งเอกสารไปยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในการขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลประเทศต่าง ๆ


(ภาพ: PR Chiangmai)

แม้ว่ารัฐจะคาดการณ์เอาไว้แบบนั้นแต่เมื่อคาดว่าจะเกิดสถานการณ์แบบนี้แล้ว กลับไม่สามารถดำเนินการเพื่อยับยั้งวิกฤตนี้ได้อย่างทันท่วงที ซ้ำในหลายภาคส่วนยังคงชี้ไปที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ดังที่ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนประจำสัปดาห์เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำว่าความไม่เข้าใจปัญหาของผู้มีอำนาจในการจัดการปัญหาและวิกฤตนี้

ฝุ่นข้ามพรมแดนฟรี อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์รวย ประชาชนตาย

จากผลวิเคราะห์ทางดาวเทียมในช่วงเวลา 20 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2545 – 2565 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอิทธิพลของนโยบายรัฐ โดย กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำขึ้นเพื่อสืบค้นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่เชื่อมโยงกัน ระหว่างมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า พบว่า “การพัฒนารูปแบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา รวมถึงนโยบายสร้างแรงจูงใจอื่น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญ



ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์กลายเป็นรูปแบบการพัฒนา ที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาและการขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ นี่เองนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผืนป่า เพื่อเป็นที่เพาะปลูกข้าวโพด และการสูญเสียพื้นที่ป่าไปก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดมลพิษทางอากาศ กลายเป็นวิกฤตที่คุกคามทั้งสภาพแวดล้อมของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน อีกทั้งยังกลายเป็นมลพิษข้ามแดมปกคลุมลุ่มแม่น้ำโขงด้วย ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผิน นี่คงเป็นผลกระทบที่มาจากการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ แต่นั่นก็คงเป็นการกล่าวโทษที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร เพราะส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรครั้งนี้ก็มาจากการบริโภคของคนในสังคม อุตสาหกรรมอาหาร รวมไปถึงนโยบายการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

การขยายพื้นที่เพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ซึ่งครอบคลุมถึงภาคเหนือตอนบนของไทย, รัฐฉาน (เมียนมาร์), ภาคเหนือของ สปป.ลาว ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาได้กลายเป็นศูนย์กลางของประเด็นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ที่เป็นผลพวงจากการทําลายพื้นที่ป่าเพื่อขยายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการส่งออก (commodity-driven deforestation) รวมถึงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ในช่วงปี 2558-2563 พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ําโขงถูกทําลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยครึ่งหนึ่งของพื้นที่อยู่ในเขตภาคเหนือของสปป.ลาว

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากรในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายอาหาร ผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ WTO ในโควตา ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 (3 เดือน) ในอัตราภาษีร้อยละ 0 ปริมาณข้าวโพดไม่เกิน 6 แสนตัน หรือร้อยละ 50 ของความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ

ดังนั้น กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร จึงได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ในโควตา ประเภทพิกัด 1005.90.99 รหัสย่อย 71 และจะมีผลบังคับใช้นับจากวันถัดจากวันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565


(ภาพ: กรีนพีซ)

เห็นได้ชัดเจนว่าการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเหลือร้อยละ 0 สําหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อรองรับการขยายพื้นที่การเพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญาการปลูกข้าวโพดผ่านการยกเว้นภาษีนําเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นเอื้อประโยชน์ให้ อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเติบโตภายใต้กฎหมายและนโยบายที่สนับสนุนโดยภาครัฐอย่างสอดคล้องกันไป

โดยในแต่ละปีปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านมายังไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมียนมาและสปป.ลาวนั้น คาดว่ามีจำนวนมากถึงกว่าร้อยละ 95 ต่อปี โดยข้อมูลที่เผยแพร่โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยเปิดเผยข้อมูลถึงการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาและสปป.ลาว ว่า เพียงเฉพาะครึ่งแรกของปี 2564 (เดือนมค.-กค.) มีการนำเข้าจากเมียนมาร้อยละ 98.25 หรือ 1,717,570,110 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 384,595,449 ดอลลาร์สหรัฐ  และจากสปป.ลาว ร้อยละ 0.51 หรือ 14,091,660 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 1,996,463 ดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2564 ทำรายได้จากการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวม 256,785,062 บาท จากการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งสิ้น 26,479,000 กิโลกรัม (ข้อมูล: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) โดยตัวเลขดังกล่าวนี้ยังไม่รวมถึงการที่นำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาเพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมไก่ ที่ทำให้ไทยอยู่ในอันดับสี่ของผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของโลก ทว่ารายได้และผลประโยชน์มหาศาลเช่นนี้ กลับต้องแลกมาด้วยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนไทยและคนในภูมิภาค

นี่ถือเป็นกำไลที่มีมูลค่ามหาศาลที่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมได้รับเป็นค่าตอบแทน แต่ค่าตอบแทนของประชาชนคือลมหายใจที่พ่วงฝุ่นพิษมาด้วย

ไม่รอดแน่เมื่อ พ.ร.บ.อากาศสะอาด รัฐบาลประยุทธ์ปัดแล้วปัดอีก

ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด โดยมีทั้งทั้ง 5 ฉบับด้วยกันคือ


(ภาพ: iLaw)

1. ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ….  เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย เมื่อ 9 กรกฎาคม 2563 เนื้อหาสาระสำคัญคือ การจัดการสภาพแวดล้อมและอากาศสะอาด สิทธิในการได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย การใช้สิทธิในการทางศาลในการคุ้มครองหรือปกป้องตัวเอง และการฟ้องร้องต่อคนที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย รวมไปถึงการปรับปรุงมาตรการและโครงการให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทุก ๆ 2-3 ปี
2.ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….  เสนอโดยภาคประชาชน ประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ สมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 12,000 คน และนำรายชื่อมาส่งมอบต่อสภาเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563


(ภาพ: iLaw)

3.ร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….  เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่การจัดทำฐานข้อมูลด้านมลพิษซึ่งเป็นต้นตอของปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลมลพิษและแก้ไขปัญหาดังกล่าว


(ภาพ: iLaw)

4.ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….  โดยเครื่อข่ายอากาศสะอาด โดยมุ่งไปที่กลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีภูมิต้านทานและความทนทานในการรับปริมาณสารมลพิษได้ต่ำกว่าบุคคลทั่วไป เช่น เด็ก ผู้มีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยทางเดินหายใจ ผู้ทำงานกลางแจ้ง ที่อยู่ในพื้นที่มลภาวะสูงจะต้องได้รับสิทธิ์การเข้าถึงการดูแลรักษาในโรงพยาบาลรับโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยรัฐ ต้องให้ข้อมูลด้านที่มาของปัญหาคุณภาพอากาศแก่ประชาชน

5.ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ เดือนธันวาคม 2564 เนื้อหาสาระสำคัญคือ การกำหนดเขตมลภาวะทางอากาศ โดยหกพบว่าท้องที่ใดมลภาวะทางอากาศที่มีแนวโน้มร้ายแรงมีผลกระทบต่อร่างกาย และก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการมลพิษทางอากาศ มีอำนาจในกระกาศพระราชกิจจานุเบกษาเพื่อกำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นพื้นที่มลพิษทางอากาศ  แม้จะมีความพยายามในการผลักดันขนาดไหน แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลประยุทธ์กลับไม่ตอบสนองและปัดตกไปทั้งหมด 3 ฉบับ นั่นคือของพ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับพรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล และฉบับประชาชน มีที่ผ่านเพียง 2 ฉบับเท่านั้น เนื่องจากทั้ง 3 ฉบับมีความขัดแย้งกับ พ.ร.บ.การเงินฯ พร้อมกับการดองพ.ร.บ.อากาศสะอาด และไม่พูดถึงอีก อาจตัดสินได้อย่างง่ายว่ารัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจเป็นฆาตกรในการสังหารหมู่ประชาชนในครั้งนี้ก็เป็นได้


(ภาพ: BIOTHAI)

เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา มูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ได้เผยแพร่ข้อมูลนักการเมืองและรัฐมนตรีที่ต้องแสดงความรับผิดชอบและแก้ปัญหาฝุ่นพิษที่เป็นสาเหตุความเจ็บป่วยของประชาชนกว่า 2 ล้านคนนับตั้งแต่มกราคม 2666 โดยมีทั้งหมด 5 คนด้วยกันคือ

1.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นคนคอยกำกับดูแลรัฐมนตรี รับผิดชอบนโยบายเศรษฐกิจ ภัยพิบัติสาธารณะ และภาพรวมการบริหารประเทศ พร้อมทั้งนั่งหัวโต๊ะในการประชุมเพื่อ แสดงความเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ หรือกำหนดเงื่อนไขในการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

2.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะกรรมการอาหาร ผู้จัดทำคำประกาศกระทรวง ขอให้ครม.เห็นชอบเพื่อให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

3.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแลหน่วยงานด้านมาตรฐานสินเค้าเกษตร มีหน้าที่สั่งการให้การนำเข้าข้าวโพดต้องใช้ GAP เป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อแสดงที่มาว่าไม่ได้มาจากพื้นที่เผาไหม้

4.วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รับผิดชอบหลักแก้ปัญหาฝุ่นพิษ แต่ไม่เคยชี้เป้าแสดงหลักฐานฝุ่นพิษ ข้ามพรมแดน จากข้อมูลที่มีอย่างเพียงพอทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนมาตรการห้ามนำเข้าถ้ามาจากพื้นที่เผาไหม้

5.อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่ดูแลสุขภาพของประชาชน แต่ไม่มีข้อเสนอหรือท่าที่จะจัดการกับปัญหา

แกไม่รอดแน่ คืนปอดให้ประชาชน

มาถึงตรงนี้แล้ว เราอาจจะยังถึงขั้นที่พบกับทางออกหรือข้อเสนอที่สามารถแก้ไขวิกฤตนี้ได้อย่างทันท่วงที แต่อย่าลืมว่าโครงสร้างอำนาจของรัฐในช่วงที่ผ่านมาคือตัวการสำคัญที่ทำให้ปัญหา PM2.5 ยังคงอยู่


(ภาพ: Enlaw)

โดยเครือข่ายประชาชนภาคเหนือจึงได้ร่วมกัน #ฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง, พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีการปฏิบัติการตามกฎหมายและนโยบายที่ได้มีการจัดทำไว้เพื่อลดทอนความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ โดยจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ วันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น.

หวังว่าศาลปกครองจะรับฟ้อง ก่อนที่คนเหนือจะไม่รอด

อ้างอิง:

  • เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรพันธสัญญาในเขตภาคเหนือของไทย – Greenpeace Thailand
  • รัฐต้องเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 และการทำลายป่า – Greenpeace Thailand-สำรวจสี่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษ-อากาศสะอาด แก้ปัญหา PM 2.5 – iLaw
  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์: การลงทุนข้ามพรมแดนและมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน – Greenpeace Thailand
  • สำรวจสี่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษ-อากาศสะอาด แก้ปัญหา PM 2.5 – iLaw
พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง