บทบาทนักพัฒนาภาคเหนือ ภายใต้รัฐบาลใหม่

10 เมษายน 2567 เวลา 09.00-12.30 น. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เปิดเวทีวิชาการสาธารณะ “บทบาทนักพัฒนา (ภาคเหนือ) : ภายใต้สถานการณ์รัฐบาลใหม่” ณ ห้องประชุมชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภายในงานมีการกล่าววัตถุประสงค์ในการจัดงานเสวนา โดย  ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ กรรมการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และมีผู้ร่วมเสวนา “สถานการณ์ทางนโยบายรัฐบาลเพื่อไทย : คนจนจะอยู่อย่างไร” ดังนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พลากร วงศ์กองแก้ว ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ดำเนินการโดย คุณสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และปิดท้ายโดยการนำเสนอมุมมอง “ภาคเหนือกับความเปลี่ยนแปลง” โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center 

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ได้เสนอว่า หลังปี 2540 มีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทุกอย่างเข้าสู่ระบบตลาด การดำเนินวิถีชีวิตเน้นกำไรแบบปัจเจกทำให้วัฒนธรรมชุมชนสลายเป็นอย่างมาก ทั้งพื้นที่ในเมืองและกลุ่มชาติพันธ์ เกิดเป็นข้ามของชุมชนมากยิ่งขึ้นแต่ไม่ใช่ชุมชนเดิมที่มีอยู่ อาทิ ชุมชนกาแฟ 

อรรถจักร์ เล่าต่อว่าการเข้าสู่ระบบตลาดของพี่น้องชนบทที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของเมืองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น ในช่วง 20 ปี ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดผลักคนทั่วไปให้กลายเป็นคนชายขอบ ประชาชนในชนบทมีภาวะหนี้สิน ส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ได้เพราะมีการส่งลูกหลานเข้ามาเป็นแรงงานในเมือง ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์หรือคนทั่วไปเองก็ตาม ทั้งการเปลี่ยนแปลงทั้งในเมืองและชนบทกำลังทำให้สำนึกทางปัจเจกชนในสังคมลดลง แม้มีสำนึกทางปัจเจกชนแต่ไม่มีสำนึกทางปัจเจกชนของสังคม คนไม่เหลือพันธะใด ๆ นอกจากตัวเองกับกลุ่มของคนนั้น ๆ สิ่งเหล่านี้กระทบไปยังมิติครอบครัว ‘ครอบครัวไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย’ ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคม และสังคมไทยไม่ได้สร้างระบบวัฒนธรรมที่จะเป็นภูมิคุ้มกันใด ๆ ได้ 

อรรถจักร์ เสนอว่า ในฐานะนักพัฒนาควรจะมียุทธศาสตร์คือ ‘การปลดเปลืองพันธนาการและสร้างความเท่าเทียม’ ซึ่งมียุทธวิธีทั้งหมด 3 ข้อ คือ 1.ปลดพันธการหนี้ ปลดพันธนาการระบบการผลิตและการตลาด คืนสมบัติชุมชนให้แก่ชุมชน 2.เพิ่มสำนึกผู้ประกอบการที่สัมพันธ์กับชุมชน ไม่ปล่อยให้มีการกอบโกยในฐานของนิเวศน์วัฒนธรรม 3.สร้างความเท่าเทียม ทำให้เกิดหลังผิงทางกฎหมาย หลังผิงทางการเมือง หลังผิงทางชุมชนและสังคม

ด้าน พลากร วงศ์กองแก้ว ได้เสริมประเด็นเรื่องเศรษฐกิจชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปตามการตลาดการค้าที่เข้ามาในพื้นที่ชุมชน อาทิ พื้นที่ยาเสพติดเปลี่ยนเป็นพื้นที่ตลาดกาแฟ พลากร ได้ตั้งคำถามต่อว่า ในภูมิทัศน์การเมืองแบบใหม่การเคลื่อนไปของขบวนการนักพัฒนาควรจะไปในทิศทางไหน ยังจะเคลื่อนไปในทิศทางเดิมหรือไม่ หรือจะปรับเปลี่ยนรูปแบบในการเคลื่อนไหว ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิการสมัคร สว. 

พลากร วงศ์กองแก้ว

พลากรยังเสนออีกว่าหรือในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังบีบให้นักพัฒนารวมไปถึงพรรคการเมืองต้องทำผลงานที่เป็นรูปธรรมอะไรสักอย่าง ซึ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็บีบคั้นเราอีก พรรคการเมืองหลายพรรคพูดถึงการกระจายอำนาจ แต่ภาคประชาชนเรายังไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้มากพอ หากเกิดเหตุการณ์ในวันข้างหน้าว่า การกระจายอำนาจจะเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในการกำหนดสังคมแล้วเราในฐานะนักพัฒนาจะเอาประเด็นไหนไปเชื่อมโยงกับการกระจายอำนาจได้

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ชี้ให้เห็นถึงการเมืองภาพใหญ่ที่รัฐบาลปัจจุบันนั้นสืบทอดมาจากรัฐบาลทหาร ภายใต้รัฐธรรมนูญ 60 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดที่สร้างความเสี่ยงใหม่ที่เข้มข้นมากขึ้นที่สร้างผลกระทบกับคนจนในชนบท อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่สืบเนื่องจากมาถึงรัฐบาลปัจจุบันอย่าง แลนบริจด์ ประภาสกล่าวว่า ความเสี่ยงใหม่ในรัฐบาลปัจจุบันที่สืบทอดมารัฐบาลทหารมานั้นคือเรื่องของที่ดินในเขตป่า การบริหารจัดการป่าไม้ที่ดิน ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น คือสถานการณ์ที่นักพัฒนาต้องเผชิญในปัจจุบัน

ประภาส ปิ่นตบแต่ง

ประภาศ ได้เสริมประเด็นเรื่องการจัดการความล้มเหลวที่พูดถึงไม่ได้ อาทิ คนจนในพื้นที่ราบ อาทิ นโยบายรับประกันพืชผลที่ใช้งบกว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี, โคก หนอง นา ที่ใช้งบประมาณไปกว่า 8 พันล้านบาท กองทุนหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2544-2557 ที่มีงบประมาณถึง 1.6 แสนล้านบาท ประภาศได้ตั้งประเด็นปัญหาหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรือทำอย่างเข้าใจ คือการเข้าถึงของโครงการหรือนโยบายส่วนใหญ่เหล่านี้กระจายไปถึงใคร การกระจายทรัพยากร หรือ โครงการต่าง ๆ และยังกระจุกตัวอยู่ เกษตรกรที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบเข้มข้นก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้

ประภาศยังเสนออีกว่าในฐานะนักพัฒนาเราควรจะมองว่างบประมาณเหล่านี้ไปถึงใคร ไม่ควรมองแค่เรื่องเกษตรยั่งยืนหรือแค่เกษตรอินทรีย์ นโยบายที่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์มันสะท้อนความล้มเหลวที่ตั้งคำถามต่อไปถึงเรื่องความยั่งยืนของด้านเกษตรกรรมในประเทศไทย

ประยงค์ ดอกลำใย กล่าวว่า 30 ปีที่ผ่านมาการทำงานชุมชนหลายอย่างเปลี่ยนไปมาก ในอดีตการเข้าไปในชุมชนหรือท้องถิ่นง่ายมากขึ้น แต่ในปัจจุบันการทำงานกับชุมชนเป็นสิ่งที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาคือมีเขตอิทธิพลของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีอำนาจครอบคลุมในหลายพื้นที่อาทิ สส.เขต รวมไปถึง อปท.หลายพื้นที่ อิทธิพลของบ้านใหญ่หลังปี 62 ได้กลับมาอิทธิพลเหมือนเดิมซึ่งสืบเนื่องมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน 

ประยงค์ ดอกลำใย

ประยงค์ยังกล่าวอีกว่า นโยบายปัจจุบันที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลทหารทำลายความเข้มแข็งของชุมชนเน้นความพึ่งพิงอำนาจรัฐมากขึ้น ที่ผูกโยกกับอำนาจรัฐรวมศูนย์ทำให้การเข้าไปทำงานกับชุมชนมีความยากมากขึ้น เช่น การขอใช้สถานที่ของท้องที่ท้องถิ่น ที่มีเขตอิทธิพลต่าง ๆ ในพื้นที่ ถ้ามีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมืองก็อาจจะไม่สะดวกให้ใช้สถานที่ รัฐบาลปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักให้เกิดการพึ่งพาแบบปัจเจกมากขึ้น อาทิ ในพื้นที่อุทยานฯ ใครที่สามารถเข้าถึงเจ้าหน้าที่อุทยานได้ ก็จะได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น คนที่รวมตัวกันหรือคนที่ทำงานกับภาคประชาสังคมก็จะต้องเผชิญกับความยากในการหากิน 

ประยง เสนอว่า คนที่ทำงานกับชุมชน นักพัฒนา รวมไปถึงคนที่ทำงานในเชิงการเมืองรัฐสภา ต้องมีความเป็นเอกภาพ เนื่องจากปัจจุบันในหลาย ๆ เรื่องยังขาดจุดรวมในการเคลื่อนไหวและยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้การเคลื่อนไหวไปได้ยาก อาทิ การเข้าสมัครไปเป็น สว. ก็แตกออกเป็นหลายสาย 

สุมิตรชัย หัตถสาร กล่าวว่า การพัฒนาของรัฐในโครงการระดับใหญ่ ๆ เกิดขึ้นเยอะมากช่วงสงครามเย็น เข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในชนบทอย่างชัดเจน แต่ในช่วง 20 ปีให้หลังทุนผูกขาดเข้าไปวิถีชีวิตของชุมชน ภายใต้ ‘เศรษฐกิจพอเพียงภายใต้ทุนผูกขาด’ ที่มีกลุ่มทุนผูกขาดอยู่เบื้องหลัง อาทิ การเกิดขึ้นของฝุ่นควัน PM2.5 ข้ามแดน ก็เกิดจากการเผาของทุนผูกขาด ซึ่งคนจนก็ได้รับผลกระทบจากสมการนี้ สุมิตรชัย ยังเสนออีกว่า ในรัฐบาล คสช.-ปัจจุบัน ที่มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีครอบงำอยู่มีฐานคิดคือเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมต่าง ๆ ที่ลงไปในชุมชนจะเกิดจากฐานนี้ 

สุมิตรชัย หัตถสาร

“กรณีพี่น้องชาติพันธุ์ เขาถูกแย่งยึดที่ดินมานาน จากระบบเกษตรแบบเดิมถูกแย่งยึดที่ดิน เขาถูกบังคับให้อยู่ไม่ได้ ทำไร่หมุนเวียนเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องจำยอมทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ บางพื้นที่ต้องปรับจากการทำไร่หมุนเวียนเป็นการทำนาราบ หมายความว่า การแย่งยึดที่ดินหน้าหมู่จากกระบวนการหลายสิ่งหลายอย่างของรัฐ” สุมิตรชัย กล่าว

สุมิตรชัย ได้กล่าวถึง นโยบาย BCG ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ คาร์บอนเครดิต และการแบ่งพื้นที่ตามชั้นคุณลุ่มน้ำ 1-5 ที่อยู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการออกแบบโครงสร้างเหล่านี้เกิดมาจากทุนผูกขาดเป็นคนออกแบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนจนที่อยู่ภายใต้สมการเหล่านี้ทั้งนั้น คนรุ่นใหม่ในชุมชนชนบทต้องออกจากพื้นที่เพื่อเข้ามารับจ้างในโรงงานนอกพื้นที่ เพราะสภาพบ้านเกิดไม่สามารถอยู่ได้ ไม่สามารถไต่ระดับทางชนชั้นได้  Covid -19 คนรุ่นใหม่หลายคนหลุดจากระบบการศึกษา คนจนกำลังเผชิญสถานการณ์เหล่านี้อยู่

สุมิตรชัย ได้ตั้งคำถามถึงบทบาทของนักพัฒนาที่ยังใช้ได้อยู่ไหม ยกตัวอย่างมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ที่ในอดีตนั้นผลิตนักพัฒนาออกมานั้นได้หายไปเกือบ 20 ปี เปลี่ยนเป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน วิธีคิดจึงเปลี่ยนไปคนรุ่นใหม่รวมไปถึง NGOs รุ่นใหม่มองถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ความเชื่อความคิดรวมถึงอุดมการณ์เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างการเข้าไปเป็น สว. คือส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ 

ช่วงสุดท้าย เดชรัต สุขกำเนิด นำเสนอมุมมอง “ภาคเหนือกับความเปลี่ยนแปลง” เดชรัต เสนอปัญหา 3 ข้อที่นักพัฒนาต้องให้ความสำคัญ วิกฤตหนี้สิน วิกฤตภูมิอากาศ วิกฤตต้นทุนและรายได้ ดังนี้

1.ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในไทย  ประเทศไทยมีประชากรภาคเกษตรอยู่จำนวนมาก แต่กลับพบว่าโครงสร้างประชากรกว่า 30% ของเกษตรกรอยู่ในช่วงผู้สูงอายุ ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเชิงรายได้ก็มีรายได้ลดลงในช่วงปี 2566-2567 พืชหลายตัวในระบบตลาดที่มีมูลค่าสูงก็ลดลง ครัวเรือนเกษตรกรในภาคเหนือที่เป็นหนี้สินน้อยกว่าภาคอีสานเล็กน้อย แต่อัตรามูลค่าหนี้สินที่เพิ่มขึ้นภายใน 8 ปี ตั้งแต่ 2556-2564 เติบโตค่อนข้างรวดเร็วกว่าภาคอีสานกว่า 50,000 บาทต่อครัวเรือน ถ้าเทียบหนี้สินกับรายได้ จะมีหนี้สินประมาณ 8.5 – 15.5 เท่าของรายได้ ซึ่งถือว่าสูงมาก ซึ่งเหนือก็สูงกว่าอีสาน หากพูดง่าย ๆว่า รายได้ 100% ในหนึ่งเดือนสามารถใช้ได้ 10 วัน จาก 30 วัน

2.วิกฤตภูมิอากาศ : เกษตรกรมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หากไปดูข้อมูลปริมาณน้ำฝน พบว่ามีปริมาณลดลงในทุกปีฝนจะมาช้า เกิดภาวะฝนแล้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดความแล้งซ้ำซากในภาคเหนือ 10 ปี เกิดภัยแล้ง 6 ครั้ง ซึ่งถือว่าสูงมากหากดูข้อมูลจังหวัดที่ฝนแล้ง หนี้ก็จะสูงตาม

3.วิกฤตต้นทุน-รายได้ : ต้นทุนการผลิตข้าวหากเทียบกับประเทศคู่แข่งในการค้าข้าว ไทยเป็นประเทศเดียวที่ขาดทุน จากเวียดนาม อินเดีย เมียนมาร์ เมื่อกลับมาดูภายในประเทศไทยว่ามีการสนับสนุนเกษตรกร ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินจากธกส. โครงสร้างการเลี้ยงหมู ในระยะเวลา 10 ปี จำนวนผู้เลี้ยงรายย่อยลดลงมากจาก 52% เป็น 16% รวมไปถึงราคาหมูพุ่งสูงในช่วงที่มีโรคระบาด และราคาลดลงต่อมา รวมไปถึงต้นทุนในการเลี้ยงหมูที่มีราคาพุ่งสูงขึ้น 20-35%

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง