กมธฯ ภาคประชาชนห่วง ร่าง พ.ร.บ.กลุ่มชาติพันธุ์ฯ แม้ผ่าน สว. แต่ยังเสี่ยงถูกลดทอนสิทธิในขั้นต่อไป

ภายหลังวุฒิสภามีมติรับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … วาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 122 ต่อ 1 เสียง (งดออกเสียง 8 และไม่ลงคะแนน 2) จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 133 เสียง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา พชร คำชำนาญ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในสัดส่วนภาคประชาชน ได้ให้สัมภาษณ์ว่าแม้ร่างกฎหมายจะผ่าน แต่เบื้องหลังของกระบวนการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เต็มไปด้วยอุปสรรคจากความไม่เข้าใจของฝ่ายการเมือง

พชร เปิดเผยว่า ในฐานะที่ทำหน้าที่กรรมาธิการตั้งแต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังอยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจนถึงปัจจุบันที่เป็นการประชุมวุฒิสภา ความเหมือนที่เห็นชัดเจนคือ “ผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจต่อประเด็นของกลุ่มคนชายขอบน้อยมาก”

พชรระบุว่า ภายหลังที่ร่าง พ.ร.บ. นี้เข้าสู่การอภิปรายในสภาใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในกรรมาธิการ กลับเจอการแสดงความเห็นที่รุนแรงและแสดงถึงถ่อยคำเหยียดหยาม

“บางคนแสดงความเห็นอย่างเหยียดหยามพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ใช้ถ้อยคำที่ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่คนกลุ่มนี้ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้ ไม่ต่างจากในฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่แสดงออกอย่างรุนแรงเช่นกัน”

ในฝั่งของสมาชิกวุฒิสภา พชร กล่าวว่าหลายคนพูดถึงพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ราวกับเป็น “คนนอก” ที่มาอาศัยอยู่และใช้ทรัพยากรของชาติ ซ้ำยังพยายามโยงกลุ่มชาติพันธุ์เข้ากับประเด็น “ความมั่นคง” และ “ต่างด้าว” โดยเสนอให้มีการเพิ่มคำว่า “ชาวไทย” เข้าไปในนิยามสิทธิ ทั้งที่กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากยังไม่มีแม้แต่สัญชาติ

“การพูดแบบนี้เป็นการมองจากความเข้าใจผิดและอคติ ไม่ได้มองเห็นว่าคนกลุ่มนี้มีชีวิตอยู่กับป่ามาตลอด ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และดูแลดีกว่ารัฐเสียอีก บางคนก็พูดจากมุมของนักอนุรักษ์กระแสหลักที่ไม่เคยเห็นหัวชาวบ้าน”

พชร ยังกล่าวถึงการอภิปรายในการประชุมวุฒิสภาว่า มีการพูดในลักษณะดูถูกชนเผ่าพื้นเมืองในที่ประชุมซึ่งถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ เป็นการผลิตซ้ำความคิดเหยียดกลุ่มชาติพันธุ์ไปสู่สังคมวงกว้าง และทำให้ภาพลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ยังคงถูกมองว่าเป็น “ผู้รุกรานป่าไม้” หรือ “ด้อยพัฒนา”

“ฝ่ายการเมืองทั้ง สส. และ สว. ในสภาชุดนี้ คุณภาพต่ำมาก ถ้าเป็นเรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ใช่เรื่องของกลุ่มทุนหรือผลประโยชน์”

พชร ชี้ว่า ความไม่เข้าใจของวุฒิสมาชิกไม่ได้จบแค่ในห้องประชุมรัฐสภา แต่ยังส่งผลกระทบใน 3 มิติหลัก ได้แก่

1.ต้องทำงานหนักขึ้นในการอธิบาย
ในชั้นกรรมาธิการฯ โดยเฉพาะชั้น สว. การผลักดันเนื้อหาต้องเผชิญกับความยากลำบากมาก เพราะ สว. หลายคนไม่ได้พิจารณากฎหมายจากข้อมูล แต่เข้ามาพร้อมชุดความเชื่อว่า “กลุ่มชาติพันธุ์เป็นภัยความมั่นคง” หรือ “เป็นต่างด้าว” เช่น การเสนอเพิ่มคำว่า “ชาวไทย” ลงไปในนิยาม เพื่อกันกลุ่มเหล่านี้ออกจากขอบเขตของสิทธิ

“ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าเขามองกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกรอบของความกลัวและอคติ ทั้งที่ในความจริง ไม่มีใครเป็น ‘ไทยแท้’ และสิ่งที่เราร้องขอไม่ใช่สิทธิพิเศษ แต่คือความเป็นธรรม”

2.เนื้อหากฎหมายบิดเบือนจากหลักสิทธิมนุษยชน
ความหวาดระแวงและความเข้าใจผิดนำไปสู่การต่อรองในสาระของร่างกฎหมาย ทำให้ต้องยอมสูญเสียหลักการสำคัญหลายประการ เช่น คำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ถูกตัดออกอย่างถาวร ทั้งที่เป็นคำที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก

อีกตัวอย่างคือ “สิทธิในการมีส่วนร่วม” ของชุมชน กลับถูกตีกรอบเหลือเพียง “สิทธิในการให้ความเห็น” ซึ่งหมายความว่า หากมีโครงการเหมืองหรือพัฒนาอื่นๆ ในพื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์สามารถให้ความเห็นได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถคัดค้านหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจริงได้

3.สังคมรับสารผิดๆ ผ่านการอภิปราย
การอภิปรายในสภาซึ่งถ่ายทอดสดทั่วประเทศ เป็นการผลิตซ้ำภาพจำของสังคมที่มองกลุ่มชาติพันธุ์ว่า “ล้าหลัง เป็นตัวปัญหา และทำลายป่า” ทั้งที่ความจริงตรงกันข้าม คนอยู่กับป่ามีระบบการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน

“นี่คือความเสียหายระยะยาว เพราะการพูดในสภามีอิทธิพลต่อการรับรู้ของสาธารณชนมาก คนที่ไม่มีข้อมูลก็จะคล้อยตามความเชื่อผิดๆ เหล่านี้ ซึ่งตอกย้ำการเลือกปฏิบัติ”

พชรยังแสดงถึงความน่ากังวลว่า แม้ร่าง พ.ร.บ. จะผ่านวุฒิสภาแล้ว แต่ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการแก้ไขในชั้น สว. ร่างต้องถูกส่งกลับไปให้ สส. พิจารณาอีกครั้ง หากเห็นชอบก็สามารถประกาศใช้ได้ทันที แต่หากมีความเห็นต่าง อาจต้องตั้ง “กรรมาธิการร่วม” ซึ่งเป็นขั้นตอนที่น่าเป็นห่วง

“เราไม่มั่นใจเลยว่าจะมีตัวแทนภาคประชาชนได้เข้าไปร่วมใน กมธ. ร่วม ถ้าปรับในหมวดสิทธิมนุษยชนเมื่อไร มันอาจหลุดหลักการคุ้มครองไปเลยก็ได้ เพราะฝ่ายการเมืองบางกลุ่มแสดงออกชัดเจนว่าต้องการแก้ไขทุกมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิ โดยเฉพาะมาตรา 5 ถึง 9 ซึ่งเป็นหัวใจของกฎหมายฉบับนี้”

แม้สถานการณ์เป็นเช่นนี้แต่พชรยังย้ำว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังพอมีบทบัญญัติบางส่วนที่สามารถใช้เป็นหลักในการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ได้ พร้อมเรียกร้องให้ สส. เห็นชอบกับร่างที่ผ่านจาก สว. เพื่อให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

พชรกล่าวถึงประเด็นที่ถูกอภิปรายในสภาว่า หลายคนยังมองความพยายามของกลุ่มชาติพันธุ์ในการยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานว่าเป็น “การขออภิสิทธิ์” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดร้ายแรง และเกิดจากการมองจากประสบการณ์ของคนที่ไม่เคยถูกกดทับ

“คนที่พูดแบบนั้นคือคนที่มีชีวิตดีมาตั้งแต่เกิด มีที่ดิน มีสัญชาติ มีสิทธิสวัสดิการ ไม่เคยต้องอยู่ในสภาพ ‘ผิดกฎหมาย’ ทั้งที่อยู่ในบ้านตัวเอง แต่พวกเขากลับมองว่าการที่กลุ่มชาติพันธุ์ขอความเป็นธรรม คือการเรียกร้องอภิสิทธิ์ ทั้งที่ในความจริง…สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องคือสิทธิที่ควรมีตั้งแต่แรก”

พชร ยังได้ระบุอีกว่าสิทธิที่ในปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ยัง “ไม่มี” ได้แก่ สิทธิในที่ดิน คนจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ของตนเองแบบผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารสิทธิ ถูกคุกคามและไล่รื้อ สิทธิในวัฒนธรรม ไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์ได้อย่างเต็มที่ การสืบทอดวัฒนธรรมถูกขัดขวาง สิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐ ขาดโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา หรือสวัสดิการ สิทธิในการตัดสินใจ มีสิทธิให้ความเห็นแต่ไม่มีสิทธิร่วมตัดสินใจเรื่องทรัพยากรหรือโครงการที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของตน ถูกกระทบก่อนใคร โครงการรัฐมักเริ่มในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยที่พวกเขาไม่สามารถร้องเรียนได้ไม่มีสัญชาติไทย บางคนแม้เกิดและใช้ชีวิตในไทยทั้งชีวิต แต่ยังไม่มีสถานะทางกฎหมาย

“ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ ‘อภิสิทธิ์’ แต่มันคือการเรียกร้องให้ได้รับ ‘สิทธิ’ เท่ากับที่คนไทยคนอื่นพึงมีเท่านั้น”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong