ทศพล ทรรศนพรรณ: ทฤษฎี “ยุทธศาสตร์” ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเชิงยุทธศาสตร์ 

เรียบเรียง: วิชชากร นวลฝั้น

สรุปเนื้อหาการบรรยาย “หนึ่งทศวรรษรัฐประหาร” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ทศพล ทรรศนพรรณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่วันที่ 22 พฤษภาคม 2567

ทศพล เกริ่นสมมติว่าตนเป็นเสนาธิการทหาร จะใช้ยุทศาสตร์อะไรยึดครองประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยใช้กรอบในการวิเคราะห์เรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเชิงยุทธศาสตร์ ว่าเขา (ในบทความนี้ “เขา” หมายถึงคณะรัฐประหาร) หยิบยื่นหรือสร้างวัฒนธรรมอะไรขึ้นมา เพื่อครองอำนาจรัฐในสังคมไทย ซึ่งจะอธิบายสามส่วน

ส่วนแรก เงื่อนไขหรือบริบท ก่อนจะเกิดเหตุการณ์เมื่อ 22 พฤษภา 2557 ตอนนั้นสภาพสังคมเป็นอย่างไร และส่วนนี้จะกลับมาตอบในส่วนท้ายว่า 10 ปีนี้เขาทำสำเร็จหรือไม่ ซึ่งจะพูดใน 5 หัวข้อย่อยคือ 1.ประชาชน 2.สังคม 3.วัฒนธรรม 4.การเมือง 5.จริยธรรม

ส่วนที่สอง คือ การเตรียมตัวก่อนทำสงคราม มี 6 ปัจจัยที่จะใช้ ได้แก่ 1.การเตรียมพร้อมทางเศรษฐกิจและการลำเลียง 2.การจัดตั้ง 3.การบริหารจัดการทางการทหาร 4.ข้อมูลและข่าวกรอง 5.ทฤษฎีและหลักการในการปฏิบัติ 6.เทคโนโลยีที่ใช้งาน

ส่วนที่สาม คือ การยุทธวิธีที่ใช้ออกรบ จะมีอยู่ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.ปฏิบัติการทางทหารเขารบยังไง 2.การบังคับบัญชาเขาทำอย่างไร 3.เรื่องภูมิศาสตร์พื้นที่ 4.แรงเสียดทานและโอกาสความสำเร็จ 5.มองว่าใครเป็นผู้ต่อสู้ 6.เวลา

เงื่อนไข บริบท

ทศพล อธิบายว่า เงื่อนไขหรือบริบทในหัวข้อของประชาชน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาอ้างว่าความเป็นปัจเจกส่วนบุคคลตามหลักมนุษยชนชักจูงให้ประชาชนเกิดความคิดที่จะรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิและแสดงออก และนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย ความคิดดังกล่าวทำให้มีการชุมนุมต่อเนื่องและความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น แสดงว่าเขามองสังคมโดยไม่เชื่อเรื่องจิตวิญญาณของปัจเจกหรือกลุ่มคนในสังคมที่อยากจะแสดงเจตจำนงของตัวเองผ่านการเมือง ซึ่งเขาอาจจะติดกรอบบางอย่างที่เหลือค้างจากสังคมไทยที่กองทัพหรือฝ่ายความมั่นคงคุ้นชิน

ถัดมาคือเรื่องสังคม เขามองว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ แต่ว่าในหลาย ๆ ทฤษฎีมองว่าความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความหลากหลาย สำคัญที่สุดคือการหาวิธีจัดการความขัดแย้ง เพราะเขาไม่ต้องการการจัดการความความขัดแย้งแบบต่อรองได้ แต่เป็นการจัดการความขัดแย้งแบบสงบราบคาบ และรูปแบบการจัดการไม่ใช่ทางเดียว แต่เป็นหลายทางที่ควบคุมได้

เรื่องวัฒนธรรมทางการเมือง ในช่วง 10 ปีที่แล้ว มีความกังวลมาในวัฒนธรรมมวลชน คนกระจัดกระจายตามระบบทุนนิยมที่ทำให้คนเข้าสู่ระบบตลาด แต่มันสามารถรวมกันได้ด้วยระบบขับเคลื่อนทางการเมืองบางอย่าง อย่างที่เราเห็นสีเสื้อต่าง ๆ วัฒนธรรมในชาติแบบนี้ไม่ตรงตามความต้องการของเขา เมื่อก่อนวัฒนธรรมย่อยจะอยู่ภายใต้วัฒนธรรมใหญ่ แต่ตอนนี้วัฒนธรรมย่อยได้เข้ามาท้าทายวัฒนธรรมราชาชาตินิยม

เรื่องทางการเมือง เห็นการเติบโตของพลเมืองในการแสดงเจตจำนงในการตัดสินใจ ซึ่งเติบโตขึ้นทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และมากกว่านั้นยังมีเรื่องกระบวนการสร้างความชอบธรรม ซึ่งชนชั้นนำไทยคิดว่าการสร้างความชอบธรรมเป็นเทคโนโลยีระดับสูงในการให้ข้อมูลให้ความรู้ การสร้างคำอธิบายเพื่อมารองรับการกระทำต่าง ๆ กลายเป็นว่าประชาชนทำได้มากขึ้น มีปัญหาชนหรือคนที่อยู่นอกเครือข่ายชนชั้นนำสร้างสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้น จึงกลายเป็นแรงกดดันในการกำหนดทิศทางของรัฐหรือราชอาณาจักร

ประเด็นสุดท้ายเรื่องจริยธรรม เวลาจะทำสงครามไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้ มันมีกรอบจริยธรรมบางอย่าง เขามองเรื่องการอยู่ร่วมกันในราชอาณาจักรไทย แต่มันเป็นราชอาณาจักรไทยภายใต้บริบทโลก เพราะประเทศไทยอยู่ภายใต้กลไกสหประชาชาติหรือประชาคมโลก ล่าสุดแม้จะมีการกระทำอุกอาจอย่างการอุ้มแต่ไม่ได้หาย เมื่อปล่อยตัวมาก็ต้องให้เซ็นว่าไม่มีการซ้อมทรมาน ซึ่งมากสุดเขาทำได้แค่นี้ แต่จะอุ้มหายหรือซ้อมทรมานฆ่าไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขจริยธรรมเหล่านี้ควบคุมเขาอยู่

ยุทธปัจจัย

ทศพล อธิบายว่าพอทำสงครามไปแล้ว ยุทธปัจจัยทางเศรษฐกิจจะต้องมีการขับเคลื่อบางอย่างที่ทำให้ดำเนินไปได้ ทศพลมองว่าเรื่องเศรษฐกิจและการลำเลียงทรัพยากร เมื่อมองจากปี 2535 และมองจากปี 2549 จะเห็นว่าปี 2535 จะเป็นช่วงขาลงของกองทัพหรือฝ่ายความมั่นคง แต่เขามีการสะสมกองทัพหรือกำลังพล จนเมื่อปี 2549 ได้งบประมาณและยุทธปัจจัยทั้งหลายกลับมา ทำให้เกิดความพร้อมขึ้น และเส้นทางการลำเลียงที่ทำให้เราสงสัยว่าทำไมเขาทำสำเร็จ เพราะสิ่งที่เราไม่เคยทำสำเร็จคือย้ายค่ายทหาร ย้ายทหารหรืออาวุธทั้งหลายออกนอกพื้นที่สำคัญ เรามีกองทัพอยู่กลางเมือง และทฤษฎีทางการทหารคือถ้าคุณเห็นว่าคุณจะโจมตีใคร คุณชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว แต่ถ้าคุณอยากชนะทั้งหมดคุณต้องเอากระสุนไปกระแทกคู่ต่อสู้ให้ได้ ซึ่งเขาเตรียมความพร้อมและวางแผนไว้ก่อนแล้ว และสิ่งที่ประเทศไทยยังทำไม่สำเร็จคือการขนมวลชนจากพื้นที่ห่างไกลเข้าไปต่อต้านเขา

การจัดตั้งหรือการวางแผนป้องกันคือ การใช้ระบบแบบ Bureaucratic ที่จะพูดเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผล และมีการทำงานแบบ Single Command รวมศูนย์ทุกอย่าง สั่งการแบบ Top Down ลงมา และเขามั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำมีประสิทธิภาพเหนือองค์กรอื่น อีกทั้งยังส่งออกวิธีการจัดการองค์กรแบบนี้ไปยังองค์กรในประเทศ และที่น่าเศร้าใจที่สุดคือการส่งให้องค์กรที่มีสิทธิเสรีภาพที่สุดอย่างมหาวิทยาลัย ในการวัดประสิทธิภาพ การประเมิน หรือการทำแผนจนกลายเป็นขึ้นมา

การบริหารจัดการทางการทหาร ทศพลได้ยกตัวอย่างเรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร จะเห็นได้ว่าไม่เคยทำสำเร็จ เพราะวิธีของเขาคือต้องเปลี่ยนทรัพยากรของสังคมให้กลายเป็นทรัพยากรของฝ่ายความมั่นคง แรงงานที่อยู่ในระบบตลาดก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นแรงงานในค่ายทหาร อีกทั้งงบประมาณที่กำหนดมาก็ต้องแบ่งให้เขาเอาไปซื้อยุทโธปกรณ์ทางการทหาร

เรื่องข้อมูลและข่าวกรอง ปรัชญาของเรื่องนี้คือความสามารถในการจัดการเรื่องเซอร์ไพรส์ คือการสร้างระบบข้อมูลและพัฒนาระบบเทคโนโลยี โดยจัดซื้อจัดจ้างและล็อกเป้าผู้คนและพื้นที่ที่ต้องการ เพื่อหาศัตรูและเข้าไปทำลาย

ทฤษฎีและหลักการ เขาจะต้องแปลงความคิดและยุทธศาสตร์ให้กลายเป็นการปฏิบัติ เวลาจะให้คนไปรบหรือตายแทนตัวเอง การชักจูงด้วยเหตุผลนั้นทำได้ยากมาก แต่หากใช้การสร้างอารมณ์ความรู้สึก หรืออารมณ์ร่วมกับสิ่งนั้นเพื่อทำให้คนรู้สึกว่าต้องออกมาปกป้องชาติ เพื่อไม่ให้ชาติถูกคุกคามจากการจัดตั้งหรือจากรัฐบาลต่างชาติ เพื่อแนวโน้มที่ว่าหากเขาจะทำอะไรบางอย่างที่มันผิดกฎหมายหรือไม่ถูกต้องในสายตาโลก แต่มันมีเหตุผลทางอารมณ์ร่วมที่พาให้ทำได้

ปัจจัยสุดท้ายในส่วนนี้คือเทคโนโลยี คือมีการติดอาวุธเพิ่มขึ้นในการสอดส่อง อย่างเช่น IO(Information Operation) ที่แม้จะมีจำนวนมากแต่ไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้เกิดรอยรั่วและขายหน้า อีกทั้งทำให้สังคมปั่นป่วนจนควบคุมไม่ได้

ยุทธวิธี

ทศพล ได้อธิบายแบ่งเป็นหัวข้อย่อย ดังนี้

1.ปฏิบัติการทางทหารเขาจะใช้การอุ้มฆ่าหรือซ้อมทรมานตรง ๆ ไม่ได้ เพราะมีกรอบจริยธรรมคอยดูเขาอยู่ แต่สิ่งที่สามารถใช้กำลังได้ตรง ๆ คือนิติสงคราม

2.การบัญชาการอาจเป็นการกล่าวอ้างว่าถูกสั่งมา แต่ยังมีการบัญชามาจากการเมือง ซึ่งทหารเป็นแกนนำในการปกป้องราชอาณาจักร

3.พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เขาได้ยึดพื้นที่ทาง cyberspace ซึ่งเป็นสงครามหลักในช่วง 10 ปีมานี้ มีการออก พรบ. คอมพิวเตอร์ และแก้กฎหมายอีกหลายครั้ง

4.แรงเสียดทานมีมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นและการเปลี่ยนผ่านอำนาจในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา

5.คู่ต่อสู้ของฝ่ายความมั่นคงจะต้องเป็นคนที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงเสียเปรียบ

6.เวลาในฝั่งประชาธิปไตยชอบมองว่าเวลาอยู่ข้างเรา แต่ความจริงแล้วเวลาไม่ได้มีแบบเดียว ฝ่ายความมั่นคงสามารถขโมยเวลาเราได้ เช่น การเปลี่ยนโครงสร้าง การกู้ยืม การถือครองทรัพย์สิน ระบบการผูกขาด ทำให้คนจำนวนมากเป็นหนี้และต้องทำงานใช้หนี้มากขึ้น และสุดท้ายคือเวลาทางการเมืองที่ทำให้คนมองว่าทำไปก็ไม่สำเร็จหรอก เจ็บตัวเสียเปล่า ๆ “หรือนำไปขังคุก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง