ชาวสะเมิง ค้านอุทยานออบขานทับที่ชุมชน กระทบวิถีชีวิต ซ้ำเติมปัญหาปากท้อง

10 มิถุนายน 2567 รวมพล พานิกร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่เข้าร่วมเวทีระดับพื้นที่ในชุมชนบ้านแม่สาบ ม.1 และชุมชนบ้านทรายมูล ม.5 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชี้แจงแนวเขตและกระบวนการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) โดยมีขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมแลกเปลี่ยนและสังเกตการณ์ โดยทั้ง 2 หมู่บ้านมีมติเอกฉันท์คัดค้านการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับพื้นที่จัดการทรัพยากรของชุมชน และได้ยื่นหนังสือต่อหัวหน้าอุทยานฯ ตลอดจนองค์การปกครองส่วนท้องที่และท้องถิ่น

การลงพื้นที่จัดประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ส่วนจัดการต้นน้ำห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 จนเกิดเป็นเวทีระดับอำเภอในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 และได้หารือเพื่อนัดหมายลงพื้นที่ร่วมกัน โดยกระบวนการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานนั้นเริ่มต้นเมื่อปี 2532 แต่ไม่สามารถประกาศได้เนื่องจากชุมชนบางส่วนคัดค้าน กังวลผลกระทบ ปัจจุบันมีพื้นที่เตรียมการประกาศทั้งสิ้น เนื้อที่ 141,756.26 ไร่ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในระดับอำเภอไปแล้ว 18 ตุลาคม 2566 ไปแล้ว จนผ่านที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ แต่ยังมีประชาชนอีก 2 หมู่บ้านที่ยังคัดค้านเนื่องจากยังมีพื้นที่ทับซ้อนกับชุมชน

เวลา 06.30 น. คณะของอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) ได้ลงพื้นที่บ้านแม่สาบ และเริ่มชี้แจงกระบวนการตลอดจนแนวเขตการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานที่มีเนื้อที่ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนประมาณ 2,039 ไร่ โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ซึ่งชาวบ้านได้เริ่มแสดงความคิดเห็นถึงทั้งกระบวนการการเตรียมการประกาศที่ผ่านมา และข้อกังวลตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนซึ่งมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งยาวนานกว่า 400 ปี โดยยืนยันว่าชาวบ้านมีวิถีการหากินในพื้นที่ป่า และหากประกาศอุทยานฯ ทับจะซ้ำเติมปัญหาปากท้อง

“อุทยานฯ ทุกท่านมีเงินเดือนกิน มีค่าตอบแทน จะไปซื้ออะไรกินที่ไหนก็ได้ แต่พี่น้องประชาชนเราไม่มีค่าตอบแทน เราต้องหากินกับป่า เราไม่ได้มาบุกรุก มาตัดไม้ทำลายป่า บ้านแม่สาบเรานี้มีพื้นที่ทำกินแค่ไม่กี่ไร่ ทำนา ทำข้าวกินยังชีพ ส่วนหนึ่งก็ต้องมาหากินของป่า มาเอาปลาจากอ่างเก็บน้ำมากิน เอาเห็ด เอาหน่อไม้ เอาพืชผักในป่า แล้วคิดดูว่าพอภัยแล้งมาเราขาดแคลนน้ำในไร่ในสวน ภัยแล้งซ้ำเติมเราทุกปีๆ แล้วอุทยานฯ ยังจะมาเอาไปเป็นอุทยานฯ อีก มาซ้ำเติมพี่น้องปกระชาชนบ้านแม่สาบ แล้วจะให้ประชาชนเอาอะไรมาอยู่มากิน ผมขอให้ยุติโครงการอุทยานฯ นี้ ขอให้อุทยานฯ ถอยในพื้นที่นี้ทั้งหมด ไปเอาที่อื่น” สมัคร สาธุเม ชาวบ้านแม่สาบ ม.1 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ด้าน วิศรุต ศรีจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ตนเข้าใจว่าป่าเป็นของทุกคน เป็นของคนทั้งประเทศ แต่ชาวบ้านเป็นคนรักษา หัวหน้าพยายามบอกว่านี่คือพื้นที่ป่าของรัฐ แต่ชาวบ้านอยู่มาแล้ว หลายร้อยปี สรุปคือชาวบ้านอยู่มาก่อน ส่วนที่บอกว่าเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อุมดมสมบูรณ์ แล้วถ้าต้นน้ำมันจะหาย มันหายไปนานแล้ว แต่เพราะชาวบ้านยังดูแลรักษาจึงยังมีต้นน้ำอยู่ ส่วนเรื่องกฎหมายมาตรา 65 ภายใต้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เรื่องการเก็บหาของป่า ชุมชนนี้ไม้สามารถเข้าเงื่อนไขไม่ได้ รวมถึงการสำรวจแนวเขตที่มีกระบวนการลักลั่น ขาดความจริงใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ

“เรื่องการเดินสำรวจแนวเขต พี่น้องให้ความร่วมมือกับอุทยานฯ มาตลอด สิ่งที่เขาไปเดินสำรวจแนวเขต เขาอยากยืนยันตัวเองว่าขอให้กันออก ไม่ใช่สำรวจเพื่อขอให้ประกาศอุทยานฯ ปัญหาคืออุทยานฯ ไม่เอาข้อมูลมาประชาคม มาคืนชาวบ้าน ถ้าเราไม่ไปยื่นหนังสือ เวทีวันนี้จะไม่เกิดขึ้น เราไปเห็นแผนที่ทีเดียวที่อำเภอวันที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขั้นสุดท้าย หมายความว่าอุทยานฯ ไม่จริงใจกับชาวบ้านแต่แรก คือตอนนี้กฎหมายมันมีปัญหา ทางนโยบายต้องแก้อีกยาว หัวหน้ายืนยันแล้วว่าหัวหน้าไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่มีหน้าที่รับฟังความเห็นของชาวบ้านแล้วไปรายงานนโยบาย” วิศรุตกล่าว

รวมพล พานิกร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) ย้ำว่า ข้อกังวลของชาวบ้านยังเป็นเพียงข้อกังวล และกฎหมายอุทยานฯ ฉบับใหม่ได้เปิดช่องให้ชาวบ้านสามารถอยู่กับป่าได้แล้ว รวมถึงจำเป็นจะต้องเข้ามาจัดการดูแลป่าต้นน้ำ เพราะเป็นป่าของคนทั้งประเทศ

“เงินเดือนคือภาษีประชาชนที่จ้างผมมาดูแลป่าของประชาชนทุกคน ป่าที่ท่านชี้คือป่าของกรมป่าไม้ ไม่ใช่ที่ของเรา มันเป็นที่ของประเทศไทย ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน ถ้าเป็นที่ของพี่น้องมันก็เป็นโฉนดไปแล้ว เราต้องเข้าใจหลักกฎหมาย ส่วนเรื่องเป็นพื้นที่ต้นน้ำนั้น ก็เพราะมันเป็นต้นน้ำลำธารมันจึงต้องมีอุทยานฯ มาช่วยควบคุมพื้นที่เพื่อดูแลให้มากขึ้น พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ควรจะเป็นพื้นที่ป่าของทุกคน พอเป็นอุทยานฯ เคยใช้แบบไหน ก็ใช้ได้แบบเดิม ถ้าจะโดนจับก็โดนตั้งแต่เป็นพื้นที่เตรียมการแล้ว เพราะเรามีอำนาจ แต่เราไม่ทำ” หัวหน้าอุทยานฯ กล่าว

ต่อมาเวลา 09.30 น. ได้มีการจัดประชุมที่ชุมชนบ้านทรายมูล ม.5 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 150 คน ซึ่งชาวบ้านได้สะท้อนความกังวลใจต่อแนวเขตการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานว่าใกล้กับพื้นที่หัวไร่ปลายนามากเกินไป มีป้ายแนวเขตอุทยานฯ มาติดอยู่แถบหัวไร่ปลายนาของชุมชน เป็นปัญหาว่าแนวเขตที่เดินสำรวจร่วมกันกับชาวบ้านนั้นไม่ตรงกับแนวเขตที่อุทยานฯ ต้องการเตรียมการประกาศ ไม่สามารถพัฒนาถนนและแนวกันไฟได้ และใช้น้ำอุปโภค บริโภค จากพื้นที่ต้นน้ำที่ชุมชนดูแลมาอย่างยาวนานได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่าสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าได้ไม่เกิน 20 ปี

ด้านหัวหน้าอุทยานฯ ได้ย้ำอีกครั้งว่า กฎหมายใหม่ให้ชาวบ้านอยู่กับป่าได้แล้ว ส่วนเรื่องความกังวลว่าเราจะอยู่ได้แค่ 20 ปีนั้น อย่าเพิ่งไปคิด เพราะไม่มีกฎหมายอะไรที่บอกว่าหมด 20 ปี แล้วจะเอาพี่น้องออก นอกจากนั้นเรื่องพื้นที่ต้นน้ำบ้านเรานั้นมันมีคุณค่า เราอยากเก็บไว้ ถ้าเป็นอุทยานฯ เราจะได้ช่วยกันดูแล แผนการใช้ประโยชน์จากป่านั้นก็จะกำหนดให้ใครทำอะไรตรงไหนได้บ้างอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดตั้งอุทยานฯ อะไร อยากให้ไปกังวลเรื่องป่าของทรายมูลมากกว่า ที่ผ่านมาไฟป่ารุนแรงขนาดไหนเรารู้ดี ให้ไปดูแลตรงนั้นดีกว่า

ท้ายที่สุด ในช่วงท้ายของเวทีประชุมทั้ง 2 หมู่บ้าน ชาวบ้านได้ทำประชาคมโดยการยกมือ และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าชาวบ้านผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดของทั้ง 2 หมู่บ้าน ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการประกาศอุทยานฯ ทับพื้นที่ชุมชน และได้ยื่นหนังสือยืนยันข้อเรียกร้องข้อกันพื้นที่การเตรียมการประกาศอุทยานฯ ออกจากพื้นที่ชุมชนทันที

“เรายืนยันว่าเราไม่ได้คัดค้านการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน แต่เรายืนยันให้กันพื้นที่การเตรียมการประกาศอุทยานฯ ออกก่อน เพื่อปกป้องสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ได้รับการสืบทอดส่งต่อมาจากบรรพชนเพื่อคนรุ่นเราและลูกหลาน เพื่อให้เรายังสามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างปรกติสุข” หนังสือระบุ

ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานฯ รับว่าตนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะกันพื้นที่ออกได้หรือไม่ จึงจะรับทุกข้อห่วงกังวลและข้อเรียกร้องไปนำเรียนฝ่ายนโยบายต่อไปว่าจะตัดสินใจอย่างไร โดยพีมูฟก็ได้ย้ำในเวทีเช่นกันว่าจะมีการไปติดตามความคืบหน้ากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อไป

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง