เปิดจำนวนร้านกัญชาภาคเหนือ กว่า 856 ร้าน เตรียมปิดกิจการ หลังรัฐเร่งกำหนดกัญชาเป็นยาเสพติด 

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

ภาพ: ปุณญาพร รักเจริญ

ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้มีการเร่งเดินหน้าผลักดันกำหนดให้ กัญชา-กัญชง เป็นยาเสพติด ประเภทที่ 5 และให้ใช้ในเชิงการแพทย์และการศึกษาเท่านั้น และไม่ให้ใช้ในเชิงสันทนาการ เป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ที่หาเสียงก่อนการเลือกตั้งช่วงปี 2562-2566 ซึ่งได้มีประชาชนส่วนหนึ่งเห็นด้วย เนื่องจากหลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดในปี 2565 ได้มีผู้ใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งร้านกัญชาที่เปิดจำหน่ายในเชิงสันทนาการนั้นยังไม่เห็นกระบวนการในการเยียวยาจากรัฐบาล รวมไปถึงมาตรการในการรองรับต่อร้านจำหน่ายกัญชาเหล่านี้

โดยกระบวนการนำ กัญชา-กัญชง จะกลับเข้าสู่หมวดยาเสพติดทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 มกราคม 2568 ภายหลังการผลักดันของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในขณะที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ในปี 2564 แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังค้างอยู่ในสภาเนื่องจากความเห็นต่างกันในรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่แล้วในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 อนุทินกลับมีการเซ็นอนุมัติประกาศกระทรวง ให้กัญชาออกจากบัญชียาเสพติด โดยไม่มีมาตราการรองรับใด ๆ ส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศทางกัญชา จนทำให้เกิดร้านจำหน่ายกัญชาผุดขึ้นมากมายมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Weed.th ระบุว่ามีร้านจำหน่ายกัญชาเพื่อสันทนาการกว่า 8,312 ร้าน โดยในกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีร้านจำหน่ายกัญชามากที่สุดในไทยกว่า 2,223 ร้าน ทั้งนี้ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีร้านจำหน่ายกัญชาเพื่อสันทนาการกว่า 856 ร้าน แบ่งเป็นรายจังหวัดได้ดังนี้

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินไว้เมื่อปี 2565 อุตสาหกรรมกัญชานั้นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำมีมูลค่า 28,055 ล้านบาท และในปี 2567 จะมีมูลค่าคาดการณ์ ไว้สูงถึง 36,525 ล้านบาท

โดย วันที่ 11 มิถุนายน 2567 เครือข่ายเยาวชน ‘ไม่นะกัญชาและยาเสพติด’ (Youth Network Against Cannabis: YNAC) นำโดย ยศกร ขุนภักดี

ได้นำรายชื่อ 200,000 รายชื่อ ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เศรษฐาทวีสิน ให้มีการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง 

และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ได้มีการพิจารณาวาระ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณะสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. … กำหนดให้กัญชาและกัญชงเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ในที่ประชุมมีเสียงข้างมาก ‘เห็นชอบ’ ให้นำกัญชากลับสู่ยาเสพติดประเภทที่ 5 และใช้ในทางการแพทย์และการศึกษา แต่ไม่เห็นด้วยในการใช้สันทนาการ และเสียงส่วนน้อยที่กังวลว่าหากมีการคุมเข้มจนเกินไปจะเกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งประกาศดังกล่าวจะเป็นการเพิ่ม กัญชา กัญชง ในส่วนช่อดอกและสารสกัดที่มีค่า THC มากกว่าร้อยละ 0.2 ให้เป็นยาเสพติด ยกเว้นกิ่ง ก้าน ราก ใบ เมล็ด 

โดยมีการคัดค้านของประชาชน ที่รวมตัวกันในนาม เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย นำโดย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล โดยมีการรวมตัวกันบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ที่ออกมาเรียกร้อง ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน 2 ฝ่ายเพื่อศึกษาวิจัยประโยชน์และโทษของกัญชา เพื่อพิจารณาสถานะของกัญชาว่าควรควบคุมรูปแบบใด

ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนได้เข้าไปพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน ได้ความว่า ประชาชนที่ออกมาคัดค้านนั้นต้องการให้กัญชากลับไปใช้ในการสันทนาการ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ซึ่ง สมศักดิ์ กล่าวว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีการประชาพิจารณ์และประชาชนก็สนับสนุนให้นำกลับไปเป็นยาเสพติด แต่ยังคงใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้

ล่าสุด วันนี้ (10 กรกฎาคม 2567) พรรคภูมิใจไทย ได้แถลงจุดยืน นำโดยแนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรคภูมิใจไทย และ สส.พรรคภูมิใจไทย แถลงว่ามีความกังวลหากนำกัญชากลับเข้าไปเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 อีกครั้ง หลังเสนอให้มีการปลดล็อคในปี 2565 เกรงว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเนื่องจากประชาชนมีการลงทุนไปแล้วมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

ทั้งนี้วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 กลุ่มผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตกว่า 100 ชีวิต ได้รวมตัวกันคัดค้านการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง เนื่องจากการที่รัฐบาลเดินหน้านำกัญชากลับไปสู่ยาเสพติดนั้นในฐานะกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกัญชาจะส่งผลกระทบต่อรายได้ การจ้างงาน รวมไปถึงก่อให้เกิดการว่างงานตามมาอีกด้วย

นี่เป็นข้อท้าทายของรัฐบาลในการเดินหน้าอย่างเต็มกำลังในการเร่งผลักดันให้กัญชากลับเข้าไปสู่ ยาเสพติด ประเภทที่ 5 โดยไร้การมาตรการรองรับจากรัฐบาล เนื่องจากผลกระทบนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องสุขภาพ แต่ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจที่เหล่าผู้ประกอบการรวมไปถึงลูกจ้างในร้านขายกัญชาจะต้องแบกรับโดยไร้การเยียวยา…

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง