สำรวจความเป็นไปได้ของ “รายได้พื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข” หรือ UBI ผ่านภาพยนตร์ Free Lunch Society แด่โลกแห่งอนาคตที่ความมั่งคั่งเป็นของส่วนรวม

“นี่คือศตวรรษที่ 24 300 ปีที่ผ่านมาหลายอย่างเปลี่ยนไป ผู้คนไม่หมกมุ่นกับการสะสมสิ่งของแล้ว เราสละแล้วซึ่งความกระหาย ความต้องการใฝ่หาการได้ครอบครอง มนุษย์เราพัฒนามาไกลจากยุคแรกเริ่ม”
“มันไม่เคยเป็นเรื่องการครอบครอง มันเป็นเรื่องของอำนาจ!”
ฉากเปิดเรื่องราวของภาพยนตร์สารคดี Free Lunch Society ภาพยนตร์สารคดีที่จะนำเราเข้าไปสำรวจโลกของความเป็นไปได้ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้

Universal Basic Income หรือ UBI เป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจการเมืองที่มุ่งกระจาย “รายได้พื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข” หรือหากจะใช้คำง่ายๆ ก็คือการที่เราทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจน จะได้รับเงินหรือรายได้มาแบบฟรีๆ โดยไม่มีเงื่อนไขใดกำหนด เพราะในสังคมปัจจุบัน การมีรายได้มักจะผูกติดกับงาน การทำงานจะนำมาซึ่งรายได้ จนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่แนวคิด UBI มีหลักการพื้นฐานคือ การแยกเอา “รายได้” และ “งาน” ออกจากกัน เราจะได้รับรายได้ขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และเราสามารถเลือกที่จะทำงานอย่างมีคุณค่าได้

ฟังๆ แล้ว แนวคิดนี้อาจจะดูดีราวกับเพ้อฝัน หรือเราอาจจะเกิดความคิดสงสัยขึ้นมาว่า “เฮ้ย ถ้าได้เงินมาใช้ โดยไม่ต้องทำงาน แบบนี้คนก็จะขี้เกียจกันหมดล่ะสิ !?” มองในแง่นี้ แนวคิด UBI ก็คงจะคล้ายกับแนวคิดรัฐสวัสดิการที่มักจะโดนตั้งคำถามอยู่เสมอๆ ว่า “แล้วคนจะขี้เกียจไหม?” ขณะที่มีข้อโต้แย้งหรือข้อยืนยันมากมายบอกกับเราว่าการมีรัฐสวัสดิการยิ่งทำให้คนทำงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะช่วยลดแรงกดดัน ภาวการณ์ตึงเครียด หรือเกิดความรู้สึกที่มั่นคงและมีเสถียรภาพในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่เราจะต้องเริ่มคิดถึงการจินตนาการถึงสังคมรูปแบบใหม่ๆ ผ่านการนำเสนอเรื่องราวของภาพยนตร์ Free Lunch Society โดยที่โรนัลด์ เรแกน เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีหรอก อาหารกลางวันฟรี” คำว่า Free Lunch Society จึงล้อเลียนไปกับคำๆ นี้ เพื่อทำให้เห็นว่า อาหารกลางวันฟรี เป็นไปได้

สารคดีเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่รัฐอะแลสกา ภายหลังการค้นพบน้ำมัน อะแลสกามีรายได้มหาศาลจากอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน รายได้มหาศาลนี้ทำให้ประชาชนเริ่มคิดว่าจะจัดการกับมันอย่างไร จนสุดท้ายได้เกิดเป็นโครงการ “กองทุนถาวรอะแลสกา” ที่บริษัทน้ำมันจะกระจายรายได้คืนให้กับประชากรชาวอะแลสกา ในปี ค.ศ.2014 จำนวนเงินปันผลประจำปีที่มอบให้กับประชากรที่ลงทะเบียน มีจำนวนตัวเลขอยู่ที่ 1,884 ดอลลาร์สหรัฐ และบางปีได้ถึง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ แม้จะมีมุกตลกจากการ์ตูนซิมป์สันที่แซวว่า “รัฐอะแลสกา เราจ่ายให้คนละหนึ่งพันดอลลาร์ เพื่ออนุญาตให้บริษัทน้ำมัน ปู้ยี่ปู้ยำธรรมชาติสวยงามของรัฐเราได้” แต่ประชากรในรัฐอะแลสกาก็มองว่า “บริษัทน้ำมันมาใช้ทรัพยากรของเรา ผมเลยคิดว่าก็ดีนะ ที่ชาวอะแลสกาได้อะไรคืนบ้าง” ในประเทศแคนาดา เคยมีการโครงการทางสังคมช่วงปี 1974-1978 ที่เรียกว่า “โครงการมินคัม” โดยโครงการนี้ใช้การเก็บข้อมูลสมาชิกในครอบครัวและคำนวณตัวเลขที่จำเป็นต้องใช้ มีการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการ เธอบอกว่าทุกคนชอบโครงการนี้ แต่ขณะเดียวกัน โครงการนี้กลับถูกยกเลิกไปเฉยๆ นอกจากนั้นยังมีการทดลองแบบนี้ในหลายๆ ที่ เริ่มขึ้นในรัฐนิวเจอร์ซีย์ในทศวรรษ 1960 ตามมาด้วยการทดลองอีก 3 ครั้ง ครั้งใหญ่ที่สุดในซีแอตเทิลและเดนเวอร์ จนกระทั่งเงียบหายไป

แต่โครงการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในตอนแรก ภาพยนตร์ย้อนเรากลับไปในการเมืองสหรัฐอเมริกา ช่วงทศวรรษ 1960 เกิดข้อถกเถียงถึงประเด็นเรื่องรายได้พื้นฐาน มาร์ติน ลูเทอร์ คิงส์ เคยกล่าวไว้ว่า “ตอนนี้ผมคิดว่าหนึ่งในทางออกคือ การมีหลักประกันรายได้รายปี หลักประกันรายได้ขั้นต่ำ สำหรับทุกคน ทุกครอบครัวในประเทศนี้” ไปพร้อมๆ กับการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง ขณะที่มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์สายอนุรักษ์นิยมยังกล่าวถึง ภาษีเงินได้แบบติดลบ เพื่อช่วยเหลือประชาชน กระแสการพูดถึงประเด็นนี้ส่งผลต่อสังคมอเมริกา ในช่วงเวลานั้น จนถึงปี ค.ศ.1967 ประธานาธิบดีลินดอน บี จอห์นสัน แต่งตั้งคณะกรรมาธิการระดับสูง ซึ่งประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์ ตัวแทนสหภาพแรงงานและผู้นำธุรกิจ และได้มีการแนะนำให้ใช้นโยบาย “รายได้พื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข” ในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในยุคของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เคยใช้แผนช่วยเหลือครอบครัวแทนระบบสวัสดิการ แต่การต่อสู้เพื่อรายได้พื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข ก็ถูกยกเลิกไป พร้อมๆ กับการขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของ โรนัลด์ เรแกน ในปี ค.ศ.1980 ซึ่งเป็นปีที่โลกของเราเริ่มเดินทางเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่

แนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ได้เปลี่ยนให้การกระจายรายได้จากบนลงล่าง กลายเป็นการทำให้รายได้ทั้งหมด ไหลจากข้างล่างขึ้นสู่บน รายได้กลับเป็นสิ่งที่กระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นบน ขณะที่ความเหลื่อมล้ำขยายตัวสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ชนชั้นล่างจนลงเรื่อยๆ ส่วนชนชั้นกลางก็ไม่ได้ยกลำดับชั้นไปมากขึ้น ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างก็ขยันลงแรงและเล่นตามกติกา ทว่านโยบายทางเศรษฐกิจแบบนี้กลับทำให้คนต้องวนอยู่ที่เดิม ในขณะที่ความมั่งคั่งทั้งหมดกลายเป็นของคน 1% มีคำที่กล่าวว่าสงครามทางชนชั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ขณะนี้ชนชั้นที่ได้รับชัยชนะคือชนชั้นที่อยู่บนยอดพีระมิด ภาพยนตร์ตอนหนึ่งบอกเล่าว่า “ความลับดำมืด ที่ทำให้เราไม่มีหลักประกันรายได้ก็คือ พวกอภิสิทธิ์ชน พวกเขาดูแคลนคนทั่วไปอย่างรุนแรง พวกเขาเชื่อว่าตัวเองรู้ดีกว่าและพวกเขาช่วยเหลือได้ และคนขับรถบรรทุกหรือกรรมกรทั้งหลาย ก็มักจะทำแต่เรื่องโง่เง่า ถ้าคุณแค่ยื่นเงินให้เขา” เหล่าคนรวยกลัวว่า ตนเองจะสูญเสียอำนาจ เพราะอำนาจของมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจนี้ ขึ้นอยู่กับว่าใครมีความมั่งคั่งสูงกว่ากัน การเกิดขึ้นของแนวคิด UBI จึงมาพร้อมกับการตั้งคำถามพื้นฐานที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ว่า “ส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจ จะถูกจัดสรรแก่ใครและอย่างไร” และถ้ามีคำถามว่า “เราจะนำเงินเยอะๆ ที่สามารถแจกให้ทุกคนแบบนี้ได้ มาจากไหน?” ก็ต้องตอบว่าเราต้องนำมาจากคนที่แย่งชิงความมั่งคั่งของส่วนรวมนี้ไป หรือเราอาจจะใช้คำว่า “Make the rich pay!”

หลังจากพาเราไปค้นพบกับสาเหตุของปัญหา สารคดีเรื่องนี้ก็ได้เริ่มฉายภาพการต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในหลากหลายที่ เช่น บริษัทวอลมาร์ต บริษัทใหญ่ขนาดใหญ่ที่ทายาท 6 คน มีทรัพย์สินเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรอเมริกัน ในขณะที่พนักงานวอลมาร์ตต้องออกมาต่อสู้เรียกร้อง เพราะพวกเขาทำงานโดยได้รับค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการที่ไม่เพียงพอ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีห้องปฏิบัติการรายได้พื้นฐาน ที่ทำแคมเปญเกี่ยวกับ UBI ด้วยการเทเหรียญลงจากรถบรรทุกที่หน้าอาคารของรัฐบาลเท่ากับจำนวนประชากรในสวิตเซอร์แลนด์ และยื่นรายชื่อ 126,000 รายชื่อ เพื่อลงคะแนนเสียงประชามติ ส่วนประเทศนามิเบีย อาจจะเป็นประเทศแรกที่จะใช้นโยบาย “รายพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข” ดังนั้น UBI จึงไม่ใช่สิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องรวมตัวกันต่อสู้และเรียกร้องให้ได้มาซึ่งอิสรภาพในชีวิตของพวกเรา

ประเด็นสุดท้ายในสารคดีเรื่องนี้ ได้กล่าวถึงอนาคตที่กำลังมาถึงแล้วในขณะนี้ นั่นคือการให้เครื่องจักรและหุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ สารคดีได้ฉายภาพของปัญญาประดิษฐ์ที่เล่นเกมส์ตอบคำถามชนะ หรือการสร้างรถยนต์ไร้คนขับที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนถึงหุ่นยนต์ที่สามารถก่อสร้างหรือกระทั่งทำงานที่ต้องใช้ความคิดแทนมนุษย์ได้ แต่การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ไปอย่างก้าวกระโดด อาจทำให้เกิดจำนวนคนตกงานอย่างมากมายอย่างมหาศาล แนวคิด UBI จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกในการแก้ไขปัญหานี้ ดังที่นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์กล่าวไว้ว่า “ครับ ในแง่ที่คุณไม่จำเป็นต้องทำงาน ก็ยังได้รับรายได้พื้นฐาน นั่นเป็นหนึ่งในแนวคิด และคุณทำงานเพราะคุณชอบงาน ไม่ใช่เพราะมันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต” การคิดถึงโลกที่เราไม่จำเป็นต้องทำงานอย่างหนัก เพียงเพราะต้องดิ้นรนหาเงินมาใช้จ่ายดูแลชีวิตของเรา อาจจะกลายเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือมันอาจเกิดขึ้นแล้วในหลายสถานที่ทั่วโลก

ภาพยนตร์สารคดี Free Lunch Society จึงได้พาเราเข้าไปสำรวจความเป็นไปได้อีกรูปแบบที่อยู่นอกเหนือจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในปัจจุบัน ทั้งแนวคิด “รายพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข” หรือ UBI ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ สถานที่ทั่วโลก หรือการย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์และความเป็นมา ปัญหาของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ จนถึงการต่อสู้เรียกร้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อรองรับกับโลกอนาคตที่เราทุกๆ คน จะได้เป็นเจ้าของโลกใบนี้ร่วมกัน โลกที่เราจะสามารถมีอิสระในชีวิตได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเราจะต้องอดตาย หรือจะต้องทำงานเพื่อหาเงินไปทั้งชีวิต เพราะงานอาจไม่ใช่สิ่งที่มีความหมายกับเราอีกต่อไป แต่การมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะได้แสวงหาความหมายของมันร่วมไปกับผู้คนอีกมากมายต่างหาก คือสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด ในการเกิดมาเป็นมนุษย์

THIS LAND IS YOUR LAND

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง