จากกรณีที่เกิดขึ้นที่มีการพูดถึงเป็นวงกว้างในชุมชนดนตรีจังหวัดเชียงใหม่ในประเด็นที่มีการฉกฉวยไอเดียของงาน High HO Chiang Mai เทศกาลดนตรีต้องการให้เชียงใหม่เป็นไฮตลอดทั้งปีโดยมีการพูดถึงงานมหกรรม HOP Chiangmai Art and Music Festival ที่จัดขึ้นโดย ททท.สำนักงานเชียงใหม่ – TAT Chiang Mai ที่จะมีการจัดงานในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
ที่ล่าสุดมีการประกาศบอยคอตงาน HOP Chiangmai Art and Music Festival จากผู้คนแวดวงดนตรี อาทิ Paul Swann ผู้จัดการวง Solitude Is Bliss และผู้ก่อตั้ง Pollinate Records โดย Paul เผยว่า ททท. ขโมยแนวคิดของ ชา-สุพิชา เทศดรุณ จากกลุ่ม Chiang Mai Original ที่จัดเทศกาลดนตรีที่จะช่วยเหลือนักดนตรีและ Music venue รวมถึงผู้ประกอบการในท้องถิ่นในช่วงโลว์ซีซั่น
รายชื่อศิลปินงาน High HO Chiangmai
ทั้งนี้ Paul ยังเผยอีกว่า สุพิชาได้ส่งใบสมัครขอรับการสนับสนุน 500,000 บาท แต่ไม่ได้รับการตอบรับ และยังทราบว่ามีทีมอื่นที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก ททท. ถึง 30,000,000 บาท ในการจัดมหกรรมดนตรีในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน รวมไปถึงมหกรรมดังกล่าวยังให้เงินแก่ศิลปินท้องถิ่นที่เข้าร่วมเล่นในงานเพียง วงละ 4,000 บาท แต่กลับจ่ายเรทราคาปกติแก่ศิลปินจากกรุงเทพฯ ซึ่งตรงกับที่ สุเมธ ยอดแก้ว ผู้บริหารค่ายเพลง Minimal Record โพสต์ว่าศิลปินค่ายของตนได้รับค่าจ้างในงาน เพียง 4,000 บาท
นอกจากนี้ Paul ยังเชิญชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงดนตรีบอยคอตงานมหกรรมดังกล่าวพร้อมกันนี้ยังมีอีกหลายคนที่ออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็น เช่น สิโมนา มีสายญาติ หุ้นส่วนร้าน Thapae East ที่แสดงจุดยืนไม่สนับสนุน รวมถึง เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล สมาชิกวง Solitude is Bliss และศิลปินเดี่ยวในนาม View From the Bus Tour กับจุดยืนบอยคอตเช่นกัน
การฉกฉวยไอเดียในกรณีนี้ ยังมีการตั้งคำถามกับงบประมาณกว่า 30 ล้านบาทที่ยังดูคลุมเครือ ในขณะที่งานดังกล่าวต้องการจะสนับสนุนดนตรีในท้องถิ่นแต่หากมาดูวิธีการจัดงานหรือรูปแบบการจัดงานนั้นคับคล้ายคับคลาว่าเป็นวิธีคิดจากส่วนกลาง
เปิดที่มา HOP มหกรรมดนตรีกระตุ้นการเดินท่องเที่ยวเชียงใหม่
งานมหกรรม HOP Chiangmai Art and Music Festival มีกำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 20-29 กันยายน 2567 มีศิลปินเข้าร่วม 500 ชีวิต และ 70 วงที่ร่วมแสดงในทั้งหมด 3 เวที 3 สไตล์ ได้แก่ 1.Pop Stage ที่มีการแสดงดนตรีกระแสหลักระดับประเทศทุกแนวเพลง อาทิ บุรินทร์, ตู่ ภพธร, เจนนิเฟอร์ คิ้ม, คาราบาว, The Toys, นุนิว, Season Five และ Mean 2.Classic Stage ศิลปินต้นตำรับเชียงใหม่ อาทิ ลานนา คัมมินส์, Yented, ไม้เมือง 3.Hopping Stage เวทีรถบัสเคลื่อนที่ที่เดินทางไปหลายพื้นที่ อาทิ เขียนไขและวานิช, Whal and Dolph, สมปอง, และ Thanakon โดยจัดแสดงทั้งหมด 3 ที่ ได้แก่ ลานท่าแพและไนท์บาซ่า, ขัวเหล็กและหอพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
โดยมหกรรม HOP อยู่ภายใต้โครงการ ‘มหกรรมเสน่ห์ไทย’ เป็นโครงการของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ต้องการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเดือนกันยายน 2567 ผ่านการจัด Event Marketing ครอบคลุมทั้งด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ และวัฒนธรรมของประเทศไทยหลากหลายรูปแบบนำเสนอผ่านนวัตกรรมความสร้างสรรค์ ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติไปยังภูมิภาคต่าง ๆ นำไปสู่การขยายวันพักและเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้แก่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยรวมถึง 2 โครงการของ ททท. วงเงินงบประมาณจำนวน 433 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน (Quick Win) ส่งเสริมการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยโครงการ มหกรรมเสน่ห์ไทย ก็อยู่ในแผนดังกล่าว
ทั้งนี้งานที่อยู่ภายใต้ ‘มหกรรมเสน่ห์ไทย’ มีทั้งหมด 5 งาน ได้แก่ 1.งาน HOP Chiangmai Art and Music Festival จังหวัดเชียงใหม่ 2.งานเสน่ห์เมืองนคร : Khanom Mindfulness Territory จังหวัดนครศรีธรรมราช 3.กิจกรรมมหกรรมสายน้ำแห่งกาญจน์เวลา (The River of Time) จังหวัดกาญจนบุรี 4.งานเสน่ห์อีสานม่วนซื่น ณ ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และ 5.เทศกาลดนตรี Chonburi International Music Festival in the Rain จังหวัดชลบุรี
จากการสืบค้นจากประกาศการจัดซื้อจัดจ้างของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) งบประมาณในการจัด มหกรรมเสน่ห์ไทย ทั้งหมด 5 กิจกรรม จะใช้งบประมาณกว่า 177,980,000 บาท และหากมาดูที่งานมหกรรม HOP Chiangmai Art and Music Festival มีการประกาศแผนจัดซื้อจัดจ้างในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ในราคา 31,199,300 บาท และมีการประกาศราคากลางแบบเฉพาะเจาะจง ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ในราคา 31,000,000 บาท ก่อนจะมีการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาจ้างจัดงาน ในวันที่ 4 กันยายน 2567 โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ บริษัท ม้อบสะเตอร์ จำกัด โดยเสนอราคา เป็นเงินทั้งสิ้น 30,980,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ประเด็นดังกล่าวที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่ากลุ่มคนดนตรีและประชาชนในพื้นที่ที่เป็นผู้เสียภาษีรวมไปถึงเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียได้รับประโยชน์จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มากน้อยเพียงใด และการเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบงบประมาณของรัฐ รวมไปถึงจะมีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณางบประมาณท้องถิ่นได้จริงหรือไม่ เพราะสุดท้ายงบประมาณก็ตกไปยังองค์กรส่วนกลางอย่าง ททท.ในการจัดการอยู่ดี
หากย้อนดูมหกรรมเสน่ห์ไทยที่เน้นการ “กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว” ที่ส่อยห้อยอยู่ในวัตถุประสงค์นั้นอาจจะเป็นแค่คำที่มีไว้เพียงวัดจำนวนคนและฐานเศรษฐกิจของเชียงใหม่เพียงเท่านั้น หากมามองงบประมาณที่ถูกจัดสรรนั้นจะเห็นว่าไม่เคยตกถึงคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่่นหรือหากตกก็ได้รับเพียงน้อยนิดเห็นได้จากที่มีศิลปินท้องถิ่นได้รับเงินเพียง 4,000 บาทต่อ 1 วง จากงบประมาณถึง 30 ล้านบาท
***หากลองคิดดูเล่น ๆ 4,000 บาท ที่เป็นงบสำหรับศิลปินในท้องถิ่น หากนำมาหารกับ 30,000,000 บาท (30,000,000*4,000) จะพบว่าสามารถจ้างงานศิลปินท้องถิ่นได้ถึง 7,500 วง ซึ่งสามารถจัดงาน ซึ่งหากนับตามวงที่เล่นในงาน HOP สามารถนับคร่าว ๆ ได้วันละ 15 วง (เนื่องจากจำนวนวงที่เล่นต่อวันไม่เท่ากัน) จะสามารถเล่นวงท้องถิ่นในเรทราคา 4,000 วันละ 15 วง ได้ทั้งหมด 500 วัน (นี่เป็นการคำนวนที่ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ)
การที่มีศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ มี Engagement เยอะอาจจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้มารับชมได้ก็จริง แต่หากย้อนดูศิลปินท้องถิ่นที่ต้องดิ้นรนเพื่อหาพื้นที่ในการแสดงผลงานและเงินในการเลี้ยงชีพกลับไม่มีการสนับสนุนของรัฐเท่าที่ควร ต้องแสวงหาทรัพยากรในการพัฒนาไอเดียด้วยตนเอง อาทิ My Home Town Project ที่มุ่งให้เห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มีการระดมทุนให้ศิลปินสามารถใช้ชีวิตในท้องถิ่นของตนได้อย่างมีคุณภาพ
คำตอบของปัญหานี้อาจจะต้องมองไปถึงการจัดการงบประมาณที่มาจากหน่วยงานส่วนกลาง การกระจายอำนาจในการจัดการอาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ เพื่อให้ท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดและเข้าใจถึงเงื่อนไขของมิติของเมือง ๆ หนึ่งในการจัดการปัญหารวมไปถึงการจัดกิจกรรมที่ยึดโยงกับศิลปินในท้องที่นั้นอาจจะเป็นส่วนช่วยให้รัฐกับประชาชนนั้นไม่ห่างกันไปมากกว่านี้
“การทำงานของรัฐในปัจจุบันเป็นการทำงานแบบ Top down เราจัดสรรมาอย่างงี้ให้คุณก็ดูไป แต่จริง ๆ ถ้าบอกว่าอยากให้มี Soft Power มีพลังจากตัวเมือง แปลว่าคุณต้องทำ Bottom Up เราก็ต้องมาคุยกับคนที่อยู่ข้างล่างว่าทำอะไรอยู่ เราจะเอาอะไรมาขาย เพื่อดึงคนข้างนอกมาเที่ยว ถ้าจะทำเรื่องท่องเที่ยวจริงก็ต้องทำให้เมืองมันเจ๋งเพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่อื่นจริง ๆ เพื่อมาดูที่นี่ เพื่อดูว่าตรงนี้มันมีอะไรดีบ้าง ไม่ใช่เป็นไอเดียที่มาจากกรุงเทพฯ” สุวิชา ให้สัมภาษณ์ใน Lanner Joy “ไฮโฮะเชียงใหม่” ฤดูนี้บ่มีเหงา ดนตรีจะเปลี่ยนเมือง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...