เรียบเรียง : ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ
“ประวัติศาสตร์ช่างโหดร้ายต่อชาวไร่ชาวนาอย่างเหลือเกินนั้น ช่างเป็นความจริงแม้ในปัจจุบัน เพราะพวกเขามักจะไม่ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทในการสร้างสรรค์ทางประวัติศาสตร์เลย…”
ประโยคข้างต้นมาจากบทความเรื่อง อ่านอานันท์ ที่เขียนโดยอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ในวารสารสังคมศาสตร์ปีที่ 20 หน้า 126 ที่กำลังกล่าวถึงบทวิจารณ์หนังสือด้วยปัญญาแห่งความรัก ที่อานันท์เป็นผู้กล่าว โดยประเด็นข้างต้นสอดคล้องกับไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) ที่บรรยากาศของการทำวิทยานิพนธ์ของเธอที่ศึกษาขบวนการชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือเมื่อ 21 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2546) ว่าอยู่ในบรรยากาศของความเงียบ
“วันหนึ่งต้องไปค้นเอกสารตามมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งเคยเป็นวิทยาลัยครูในที่ต่างๆ ของเชียงใหม่ พยายามบรรยาย ให้บรรณารักษ์ฟังเกี่ยวกับข้อข้อการศึกษา แต่บรรณารักษ์กลับตอบว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่เชียงใหม่”
การที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่จะกล่าวว่าบรรณารักษ์ไม่ดี แต่เป็นการจะชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของชาวนาชาวไร่มันเป็นความเงียบจริงๆ และเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดโดยรัฐแต่ในปัจจุบัน มีความสนใจที่กว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งมีการรำลึกในทุกปี และมีการทำสารคดีและหนังสือ สะท้อนถึงประวัติศาสตร์นิพนธ์กำลังเปลี่ยนและเปิดกว้างมากขึ้น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมานี้ เวทีเสวนาเส้นทางชาวนาไทย จากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ถึงขบวนการทางสังคมร่วมสมัย : การเปลี่ยนแปลงและการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ชนชั้นชาวนา? ก็ยังชวนรำลึกถึงการต่อสู้และขยายมุมมองต่อประเด็นเรื่องชาวนาชาวไร่
รื้อความหมายของ “ชาวนา” และสร้างนิยามของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่
สมชัย ภัทรธนานันท์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ชวนอภิปรายถึงความหมายของคำว่า “ชาวนา” ในประวัติศาสตร์มีความหมายหลายแบบ ชาวนาในอังกฤษและฝรั่งเศสยุคก่อน หมายถึง คนทำงานในภาคเกษตร แรงงาน สามัญชนคนธรรมดาและยังหมายถึง โง่เขลา หยาบคาย และบัดสบ ในศวรรษที่ 13 ชาวนาในเยอรมันนอกจากหมายถึงเกษตรกร ยังหมายถึง ปีศาจ อาชญากร และขโมย/โจร ความหมายของชาวนาในอดีตของประเทศยุโรปจึงมักเป็นด้านลบ
ส่วนในสังคมไทย ความหมายของชาวนาในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ คนบ้านนอก โง่เขลา และมืดมน ชาวนายังถูกกล่าวหาว่าเป็นบ่อเกิดของปัญหาหลายอย่างในสังคม และความหมายของชาวนาที่ร่วมสมัยที่ในสังคมไทยคือ ควายแดง และที่ขยายออกไปกว้างกว่านั้นคือคนชนบท โง่ จน เจ็บ ชาวนาไทยจึงถูกนิยามไว้ 5 ด้านคือ ด้านที่หนึ่ง ขี้เกียจ ด้านที่สอง เป็นเจ้าของที่ดินแต่ทำให้ที่ดินไม่เกิดประโยชน์ ด้านที่สาม ควบคุมตัวเองไม่ได้มักมีลูกหลายคน ด้านที่สี่ ไม่สามารถเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบได้ ด้านสุดท้าย ขัดขวางการใช้ประโยชน์จากที่ดินของพวกนายทุนในด้านการพัฒนา
หลังจากรื้อความหมายของชาวนา ชาวนาชาวไร่ในอดีตก็มีการต่อสู้ในการถูกกดขี่ สิ่งที่การต่อสู้ของขบวนการชาวนาชาวไร่สะท้อนถึงคือ “ความสัมพันธ์ของกฎหมายในเชิงพื้นที่ของการต่อสู้ในประเทศไทย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ชนชั้นนำยังครองอยู่ และกฎหมายเองก็เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำศักดินาอยู่”
ไทเรลล์ กล่าว แต่การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่เองนั้นเป็นเรื่องที่ควรนิยามใหม่
นิยามใหม่ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เสนอโดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า เราต้องกลับไปทบทวนความหมายทางประวัติศาสตร์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ใหม่ เพราะความเป็นจริงแล้ว การเคลื่อนไหวในแต่ละภูมิภาคมันมีมิติที่ซ้อนกันอยู่ จุดร่วมกันคืออยู่บนฐานของทรัพยากร แต่ที่ซ้อนกันคือขบวนการชาวนาชาวไร่ทั้งหมดต่อสู้ในนามของสิทธิพลเมือง
ดังนั้นหากเราคิดถึงสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในสองด้านที่เชื่อมต่อกันแบบนี้ เราถึงขยับตัวได้ นอกจากจะต่อสู้ในเพื่อชีวิตของชาวไร่ชาวนาแล้ว พี่น้องชาวนาชาวไร่ของเราก็ได้สถาปนาสิทธิพลเมืองในรัฐที่ไม่เคยยอมรับสิทธิพลเมืองแก่ชาวนาชาวไร่ สิทธิพลเมืองของชาวไร่ชาวนาเป็นสิ่งที่สำคัญ การชุมนุมของพี่น้องชาวนาชาวไร่ไปร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐตกใจมากที่สุดก็คือการที่ชาวนาชาวไร่ประกาศเผาบัตรประชาชนเป็นเรื่องใหญ่มาก
การเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในมิติที่ซ้อนทับกันนี้ บังเอิญรัฐไทยฉลาดเพราะเลือกการกำจัดโดยใช้กรอบคอมมิวนิสต์มิติเดียวที่จะกำจัดขบวนการชาวนาชาวไร่ และยังใช้แนวคิดแบบไทยๆ คือใช้ระบบอุปถัมภ์ที่เอื้อมตัวลงไปช่วยชาวบ้าน การจัดการของรัฐไทยลักษณะนี้มันจึงมีส่วนในการทำลายสิทธิพลเมืองไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงนี้จึงนำมาสู่การเคลื่อนไหวในช่วงหลังต่อไป
หลังจากขบวนการชาวนาชาวไร่ก็มีการเกิดขึ้นของเคลื่อข่ายเกษตรกร ซึ่งเคลื่อนไหวตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 ในขณะเดียวกันถูกนำไปผูกติดกับวัฒนธรรมชุมชนที่กลายเป็นฐานของการเคลื่อนไหว จนตอนหลังในทศวรรษที่ 2530-2540 จึงเคลื่อนมาในระดับของการเมืองมากขึ้น อย่างในกลุ่มสมัชชาคนจน และเริ่มขยับเข้ามาเป็นสิทธิพลเมืองมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม เครือข่ายเกษตรกรและทุกกลุ่มเริ่มทำให้การเมืองกลับมา หากเราเริ่มคิดว่ามันเป็นการต่อสู้เรื่องสิทธิพลเมืองควบคู่กัน เราจะตอบปัญหาเรื่องของชาวนาชาวไร่ได้ ด้านหนึ่งชาวนาชาวไร่มีความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบตลาดขยายตัวมากขึ้น การขยายปลูกพืชพรรณมีมากขึ้น การผลิตเพื่อการบริโภคลดลง การทำงานนอกภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น การเคลื่อนย้ายกลายเป็นเรื่องปกติ ระบบเศรษฐกิจเคลื่อนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น การแตกตัวทางชนชั้นสูงมากขึ้น ความเท่าเทียมลดลง
จินตนาการในชุมชนมันไม่ได้สลายความเป็นชนชั้นในชุมชน สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมที่เคยไปกำกับการกระทำของผู้คนมันลดลงไป สำนึกแบบปัจเจกชนมีมากแต่มันไม่มีสำนึกที่เชื่อมต่อระหว่างปัจเจกชนกับชุมชน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ เราจำเป็นที่จะต้องนิยามกันใหม่เราจึงต้องคิดว่าชาวนาชาวไร่จึงต้องคำนึงถึงสองมิติที่กล่าวมา และในปัจจุบันอำนาจการต่อรองมันลดลง
พี่น้องถูกทำให้เป็นอณูที่ล่องลอยไปโดยที่ไม่มีสายใยยึดมั่น
สิทธิพลเมืองกลายเป็นสิทธิของปัจเจกชนหากเป็นแบบนี้คุณจะถูกกดทับนี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การสนับสนุนของทุนจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นและจะดึงพี่น้องเข้าสู่ระบบตลาดแน่นกว่าเดิม ด้วยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เราต้องคิดถึงการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เป็นการต่อสู้เชิงสิทธิพลเมืองที่เป็นสิทธิพลเมืองรวมหมู่ ในปัจจุบันเราต้องทำให้สิทธิพลเมืองเข้าไปอยู่ในการเคลื่อนไหวทุกมิติและต้องเชื่อมต่อกันทุกเครือข่าย
ประวัติศาสตร์นิพนธ์การต่อสู้ที่ต้องช่วยกันสร้าง
“ความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์ ที่จริงคิดว่าสิ่งนี้เป็นแค่เพียงการเริ่มต้น ยังมีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้อีกหลายบทหลายเล่มที่ยังไม่ได้เขียน” ไทเรลล์ กล่าว
เธอจึงเสนอประเด็นในศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้คือ บทบาทในการต่อสู้ของครูประชาบาลที่มีบทบาทสำคัญระหว่างภาคส่วนต่างๆ รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) บทบาทของกรรมกรในภาคเหนือ และบทบาทของฝ่ายซ้ายในกลุ่มต่างๆ เรื่องเหล่านี้ยังคงรอนักศึกษาให้ได้มาศึกษากัน
ประภาส ปิ่นตบแต่ง เสนอว่า หากเราพูดถึงขบวนการชาวนาชาวไร่หน่อเชื้อที่สำคัญที่นำมาสู่ผลสะเทือนในช่วงต่อมาคือการเคลื่อนไหวของคนเล็กคนน้อยในช่วงเริ่มต้น ช่วงทศวรรษที่ 2500 โดยเฉพาะภาคอีสาน การมีพื้นที่ที่ต่างกันการเคลื่อนไหวจะมีความคล้ายกัน แต่อยู่ประเด็นในเชิงพื้นที่เท่านั้นที่ต่างกัน
“ปัญหาของชาวนาชาวไร่ของภาคเหนือคือเรื่องที่ดิน ส่วนปัญหาของภาคอีสานนั้นคือเรื่องน้ำ ดังนั้นการต่อสู้ของภาคเหนือและภาคอีสานจึงมีความแตกต่างกัน ภาคเหนือต่อสู้กับกฎหมายส่วนภาคอีสานต่อสู้กับโครงการของรัฐ” มาลินี คุ้มสุภา กล่าว
สมชัย เสนอถึงประวัติศาสตร์ส่วนที่ยังไม่ค่อยมีการศึกษา นั่นคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน (Politics Of Everyday life) ซึ่งเป็นการต่อสู้ของชาวนาในรูปแบบที่ไม่เห็นเด่นชัด ในชีวิตของชาวนาเผชิญกับปัญหาต่างๆ พวกเขาต่อรองกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
ตัวอย่างการต่อสู้ของไทบ้าน อย่างเรื่องที่ทำกินเขาไม่ได้มีการรวมตัว แต่เขามีการต่อสู้อย่างไรเพื่อให้พวกเขาอยู่ต่อไปได้ ประเด็นเหล่านี้คือน่าสนใจและน่าศึกษา หากคนไหนคนใจเรื่องการต่อสู้ของชาวนา มองผ่านประเด็นนี้จะเห็นมิติใหม่ ในการต่อสู้ในภาคอีสานของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มีส่วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสหพันธ์นักศึกษาเสรี อย่างกรณีหนองบัวบาน จังหวัดอุดรธานีที่รัฐพยายามจะสร้างเขื่อนห้วยหลวง เพื่อเก็บน้ำให้กับค่ายรามสูรที่ทหารอเมริกันอาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น (ทศวรรษที่ 2510) จะส่งผลกระทบต่อนาชาวของชาวบ้านจากน้ำท่วม กรณีหนองบัวแดงก็มีการสร้างเขื่อนเหมือนกัน และกรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเงินผันของรัฐบาลคึกฤทธิ์
ไทเรลล์ เสริมว่า หากดูประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของชาวนาชาวไร่และการใช้ความรุนแรงของรัฐ ไม่ได้มองว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่มองว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อต้านอำนาจอยุติธรรม
การเขียนประวัติศาสตร์ของชาวนาชาวไร่เพิ่งเริ่มต้น เราควรพยายามค้นคว้าและหาหลักฐานการต่อสู้ของประชาชนให้กว้างขวางมากขึ้น และต้องทำให้เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ อันนี้คือสิ่งที่เราต้องทำอย่างจริงจัง
หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เรียบเรียงจาก เวทีเสวนาเส้นทางชาวนาไทย จากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ถึงขบวนการทางสังคมร่วมสมัย : การเปลี่ยนแปลงและการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ชนชั้นชาวนา? โดย ศาสตราจารย์ ดร.ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตกแต่ง สมาชิกวุฒิสภา รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ประธานโครงการเส้นทางชาวนาไทย ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.มาลินี คุ้มสุภา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานเส้นทางชาวนาไทย: รำลึก 50 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย วันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่
อ้างอิงหนังสือ
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. อ่านอานันท์. วารสารสังคมศาสตร์. ปีที่ 20 ฉบับที่ 2/2551.
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...