เรียบเรียง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ
การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเสวนาในวาระครบรอบ 50 ปี ขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 “ย้อนรำลึกประวัติศาสตร์การต่อสู้กึ่งศตวรรษ เดือนตุลา และการเมืองเรื่องของความทรงจำ” ร่วมบรรยายโดย ดิน บัวแดง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จีรวรรณ โสดาวัฒน์ อดีตกลุ่มมังกรน้อย ลูกหลานชาวนาที่เคลื่อนไหวในนามสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร มาลินี คุ้มสุภา และอาจารย์ ดร วันพัฒน์ ยังมีวิทยา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยลัยเชียงใหม่
ดิน บัวแดง กล่าวว่า หัวข้อนี้เป็นการชวนคุยเกิดประเด็นที่คิดค้นขึ้นมา เป็นความคิดระหว่างที่ตนทำวิทยานิพนธ์ ที่ศึกษาประเด็นเกี่ยวกับทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมกับเหตุการณ์นี้
“ผมได้ค้นคว้าและอ่านบันทึกต่าง ๆ ระหว่างการค้นคว้า ผมก็มีโอกาสเข้าร่วมงานรำลึกทหารผ่านศึกที่จัดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งห่างกับเหตุการณ์เดือนตุลาเพียงหนึ่งเดือน จึงเป็นประเด็นที่ชวนคิดว่ามีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกันระหว่างเหตุการณ์ทั้งสองแบบนี้ ซึ่งเป็นการชวนคุยมากกว่าความทรงจำคนเดือนตุลา กับทหารผ่านศึกว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร”
โดยสามารถแบ่งออกเป็นสามประเด็น
ประเด็นแรก ความทรงจำคืออะไร ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นถึงทฤษฎีเกี่ยวกับความทรงจำ ช่วงหลัง ธงชัย วินิจจะกูล ได้รีวิว Concept เกี่ยวกับความทรงจำไว้ในหนังสือ ‘Moments of Silence’ ว่ามีข้อถกเถียงกับความทรงจำอย่างไรบ้าง ประวัติศาสตร์กับความทรงจำ ในฐานะการศึกษาประวัติศาสตร์คืออะไร กล่าวอย่างรวบรัดคือ ความทรงจำคือมุมมองจากอดีตที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างอดีตกับปัจจุบัน หรืออีกความหมายหนึ่งคือ การนำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน ในแง่นี้ความทรงจำจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าไม่ถูกนำมาใช้ในปัจจุบัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือใครเป็นผู้สร้างความทรงจำที่ครอบงำสังคม อย่าง อนุสาวรีย์ บันทึกต่างๆ รวมไปถึงงานศิลปะ
กล่าวโดยรวมความทรงจำนั้นมี 2 แบบ แบบแรก Collective Memory หรือ ‘ความทรงจำร่วม’ คือความทรงจำสาธารณะ ที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม สิ่งที่นักประวัติศาสตร์สนใจที่จะศึกษาคือความทรงจำร่วมเกิดขึ้นมาได้อย่างไร กับแบบที่สองคือ Traumatic Memory หรือ ‘ความทรงจำแบบเจ็บปวด’ เป็นความทรงจำที่เจ็บปวดสำหรับสังคม ช่วงศตวรรษที่ 20 โลกเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงค่อนข้างมาก เราจะจัดการความทรงจำอย่างไร วิธีการศึกษาคือการศึกษาเกี่ยวกับพิธีการรำลึกต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้ตายในสงคราม
ทฤษฎีเกี่ยวกับความทรงจำร่วมคาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อย่างไร Pierre Nora เสนอว่าความทรงจำกับประวัติศาสตร์นั้นไม่เหมือนกัน สิ่งที่ประวัติศาสตร์ต้องการคือสร้างความทรงจำขึ้นมาชุดหนึ่ง ที่มิใช่ความทรงจำแบบปัจเจก Maurice Halbwach ผู้ที่ถือว่าเป็นบิดาของความทรงจำศึกษา เสนอคล้ายกันคือ ประวัติศาสตร์คือศึกษาคนที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาต้องตายไปหมด ต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่ต้องเข้าไปศึกษาสิ่งนั้นๆ นั่นคือภารกิจของนักประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของทั้งสองคนนี้ก็ถูกวิพากษ์โดยนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาความทรงจำในเวลาต่อมา
กลุ่มที่ศึกษาความทรงจำมีคำถามที่สำคัญคือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับอดีตช่วงไหนที่ครอบงำเรื่องเล่าชุดอื่นๆ และเรื่องไหนไม่ถูกเล่า? เรื่องเล่าเหล่านั้นถูกผลิตขึ้นจากบริบทการเมือง สังคม แบบไหน? ความทรงจำมีเป้าหมายอะไร? และรับใช้อะไร? เป็นคำถามหลักของกลุ่มที่ศึกษาความทรงจำ
ประเด็นที่สอง การศึกษาความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ธงชัย วินิจจะกูล ได้เขียนหนังสือเรื่อง Moments of Silence งานชิ้นนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เนื่องจากเป็นงานที่จริงจังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มิได้ต้องการให้เป็นเรื่องส่วนตัวแต่อย่างใด แต่ธงชัย ก็มิได้ปฏิเสธว่าสามารถแยกขาดจากกันได้ ซึ่งเป็นการเขียนหนังสือเกี่ยวกับตนเองแต่ขยายออกไปมากกว่านั้น เขาเสนอว่า 6 ตุลาฯ มันมิได้จบด้วยตัวของมันเอง ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นจากชนชั้นนำ ประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับวิกฤติ ร.ศ.112 ได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดี แม้ว่างานเขียนเกี่ยวกับการเสียดินแดนและการปฏิรูปการปกครองแบบเทศาภิบาลถูกสร้างขึ้นภายหลังเหตุการณ์นี้ไปมากแต่เป็นไปได้มากกว่าวิกฤติการณ์โดยตัวของมันเองและความทรงจำต่อเหตุการณ์นั้นได้ช่วยผลิตอดีตชนิดใหม่ขึ้นมา
ประวัติศาสตร์ในแง่นี้จึงเป็นความทรงจำส่วนตัวของผู้เขียน และเป็นความทรงจำของชนชั้นนำ ประวัติศาสตร์กับความทรงจำในสังคมไทยมันผสมผสานกัน ธงชัย เสนอว่าความเงียบของ 6 ตุลาฯ มันบอกอะไรหลายอย่างกับเรา อาทิ บอกเรื่องความขัดแย้งในอดีต บอกเรื่องความยุติธรรม และ 6 ตุลาฯ ที่ผ่านมาถูกกำหนดวิธีการจำ กล่าวคืออะไรควรจำ และอะไรไม่ควรจำ
Moments of Silence มี 3 ข้อเสนอ คือ 1.ความมั่นคง สังคมไทยถูกครอบงำกับอำนาจนิยมอยู่ตลอดเวลา 6 ตุลาฯ คือความขัดแย้งเรื่องความมั่นคง 2.ชาตินิยม โดยเฉพาะราชาชาตินิยม ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ขัดกับ 6 ตุลาฯ 3.พุทธศาสนา วิธีการจดจำที่มันขัดแย้ง กล่าวคือวิธีการแบบให้อภัย ทั้งสามข้อนี้จึงเป็นสิ่งที่เราคิดกับเหตุการณ์ความรุนแรง ธงชัยได้วิเคราะห์ต่อไปว่าหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ล่มสลายลงช่วงปี พ.ศ.2525 ความทรงจำแบบ 6 ตุลาฯ กลายมาเป็นความทรงจำแบบสูญเสีย ตกลงพวกเขาเหล่านั้นเสียสละไปทำไม ซึ่งมีความคล้ายกับทหารผ่านศึกอย่างเยอรมันที่พ่ายแพ้สงครามช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเราจะจัดการกับการพ่ายแพ้ยังไง
บทกลอน และบทวิเคราะห์ของ เกษียร เตชะพีระ ได้วิเคราะห์การจำสองแบบ ระหว่างธงชัย วินิจจะกูล กับ สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล แบบแรก ความทรงจำแบบคูณร่วมน้อยของธงชัย วินิจจะกูล เป็นความทรงจำที่ให้ผู้คนมาจำเหตุการณ์นี้กันเยอะๆ เนื่องจากคนเหล่านี้ตายเพื่ออุดมคติ จึงควรค่าแก่การชื่มชม วิธีคิดแบบที่หนึ่งถูกวิพากษ์โดย สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล แบบที่สองจึงเสนอว่า ควรเป็นความทรงจำที่หารร่วมมาก เป็นความทรงจำในสิ่งที่ถูกต้องที่สุด แม้จะจดจำเพียงหนึ่งคนก็ไม่เป็นไร กล่าวคือ คนเสียชีวิตในคนเดือนตุลาฯ เป็นผู้ที่เสียสละในฐานะที่เป็นสังคมนิยม แต่เกษีตร เตชะพีระ เสนอว่าคนที่เสียชีวิตในเดือนตุลาฯ เป็นนักชาตินิยม สมศักดิ์ ยังเสนอต่อไปอีกว่าอย่านำเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์อื่น อาทิ เหตุการณ์พฤษภา 35 เหตุการณ์ล้อมปราบเสื้อแดงปี 53 ข้อเสนอของ สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล คือ 6 ตุลามันเป็นประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ความทรงจำ มันเป็นบริบทเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นและมันจบไปแล้วในฐานะที่เป็นนักประวัติศาสตร์
ประเด็นที่สาม ความสนใจของผมเกี่ยวกับทหารผ่านศึก กลุ่มทหารผ่านศึกชวนให้คิดกับ 6 ตุลาฯ อย่างไร ผมแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรก อัตลักษณ์ของทหารผ่านศึกได้แสดงออกผ่านพิธีรำลึกทหารผ่านศึกจัดขึ้นทุกปีในวันที่ 11 พฤศจิกายน ส่วนที่สอง กลุ่มทหารผ่านศึกมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐและต่อรองกับรัฐเสมอ รัฐต้องชดใช้อะไรกับการสูญเสียของพวกเขา สิ่งที่น่าสนใจคือ เหล่าทหารผ่านศึกมิได้พูดถึงประสบการณ์ของตนตอนไปรบ แต่มีสำนึกที่เพื่อนเสียไป หน้าที่ของผู้รอดชีวิตคือแบกรับกับกลุ่มเพื่อนที่เสียไป จึงคล้ายกับความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ซึ่งต้องเรียกร้องให้ไม่เกิดสงคราม และเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก
สุดท้าย ดิน บัวแดง อยากชวนคิดทั้งสองเรื่องนี้ หากลองคิดดูแล้วสังคมไทยคือสังคมที่ผ่านศึกค่อนข้างบ่อย อย่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเย็น เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ปัญหาสามจังหวัดในภาคใต้
“เราอยู่ในสงครามตลอดเวลา เรามีทหารผ่านศึกในฐานะองค์ประกอบอยู่ค่อนข้างมาก คนเดือนตุลา คนเสื้อแดง ก็คิดในทำนองเดียวกัน ที่ได้ผ่านศึกสงครามมา และมีภารกิจทางประวัติศาสตร์บางอย่าง อาทิ Never Again ทำยังไงไม่ให้เกิดขึ้นอีก,บางอย่างก็ต้องมี Again โดยเฉพาะทหาร พร้อมต่อสู้เพราะมีอุดมการณ์ ,ศาสนา บางคนที่เข้าสู่ศาสนา ,Unforgetting ภาวะอยากลืมกลับจำ การเปรียบเทียบกับทหารผ่านศึกกับ 6 ตุลาฯ มันจะช่วยให้เราเข้าใจเหตุการณ์เดือนตุลาใหม่ได้อย่างไร แม้ทั้งสองแบบนี้จะไม่เหมือนในตัวของมันเองในเชิงความหมาย แต่เราจะเข้าใจ 6 ตุลาฯใหม่ได้ไหม ซึ่งผมก็ยังไม่มีคำตอบ”
เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน