เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง
ปฐมบทก่อนการเข้าสู่ล้านนาของมิชชันนารีชาวอเมริกัน
‘วัฒนธรรมตะวันตก’ เป็นสิ่งที่ถูกรับเข้ามาในประเทศไทย เพื่อประกอบการสร้างความเป็นไทยหรือ ‘สยามสมัยใหม่’ นับตั้งแต่ที่สยามได้เข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยการรับเอาวัฒนธรรม ความรู้ และอัตลักษณ์บางประการของชาวตะวันตกมาปรับใช้ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเข้ากับระบบทุนนิยมโลก ซึ่งได้รับจากการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงช่วงปลายรัชกาลที่ 4 และการเปลี่ยนแปลงในมิติด้านสังคมวัฒนธรรมในช่วงรัชกาลที่ 5
กระแสพัดพาสังคมไทยให้กลายเป็นตะวันตก หรือ “Westernization” เกิดขึ้นจากการพยายามเข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับสยามของชาติมหาอำนาจในทวีปยุโรป หลายประเทศ ในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่นั่นไม่ใช่กับ สหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเน้นด้าน ‘ภารกิจทางด้านศาสนา’ เป็นสำคัญ
คณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาผ่านการก่อตั้ง ‘มิชชั่นสยาม’ ในไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2390 มีการขยายงานไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยเน้นพันธกิจหลัก 3 ประการ คือ การประกาศศาสนา การแพทย์ และการศึกษา ทำให้มิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่เข้ามาในประเทศไทย เข้ามาพร้อมกับโลกทัศน์ซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมและศาสนาของตนเอง ภายใต้หลักการที่ว่า แนวคิดและอุดมการณ์ที่เป็นหัวใจของคริสต์ศาสนาได้พัฒนามาจากรากฐานของความเป็นสมัยใหม่
ดังนั้น ‘ความเป็นมิชชันนารีอเมริกัน’ จึงหมายถึง การเป็นคนของพระเจ้าควบคู่ไปกับการเป็นผู้แทนของความทันสมัยแบบอเมริกัน ที่นำความทันสมัยไปเผยแพร่เพื่อสร้างคนที่อ่านออกเขียนได้ ขจัดความโง่เขลางมงายออกไป แล้วสร้างความรู้ และความจริงของคริสต์ศาสนาขึ้นมาแทน
เพื่อให้ภารกิจประสบผลอย่างทั่วถึง คณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนเลยได้ขยายการเผยแพร่ศาสนาออกมานอกกรุงเทพฯ ในปีพ.ศ. 2404 ด้วยการตั้งสถานีมิชชัน (station) ที่เพชรบุรี โดยมิชชันนารีชุดแรกที่ปฏิบัติพันธกิจที่สถานีมิชชันนี้คือ ครอบครัวของศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี และครอบครัวของศาสนาจารย์ซามูเอล แมคฟาร์แลนด์
การปฏิบัติงานที่เพชรบุรี และการทำงานกับเชลยศึกชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นทาสหลวงที่เพชรบุรี ทำให้ดาเนียล แมคกิลวารี ได้เห็นว่า ชาวลาวที่เพชรบุรีเป็นเชื้อสายเดียวกันกับชาวลาวเหนือในล้านนา ที่แม้ว่าล้านนาจะเป็นเมืองประเทศราชของสยาม แต่ก็ยังมีวิถีการดำรงชีวิตในแบบของตัวเอง มีวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา มีสิทธิในการปกครองตนเอง และแข็งขืนต่อการครอบงำของวัฒนธรรมสยาม อีกทั้งยังเห็นอีกว่า ชาวลาวนั้นมีความเชื่อเรื่องผีหรืออำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับความเชื่อของคริสต์ศาสนา ที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าอันเป็นสิ่งสูงสุด มากกว่าพุทธศาสนาที่ชาวสยามส่วนใหญ่นับถือ
ด้วยเหตุนี้ ดาเนียล แมคกิลวารี จึงมีความตั้งใจที่จะขึ้นไปเผยแพร่คริสต์ศาสนา ในถิ่นกำเนิดของชาวลาว หากแต่ลาวในที่นี้ไม่ได้หมายถึงลาวล้านช้างที่อยู่เฉียงเหนือไปในทิศอีสาน แต่เป็นลาวล้านนาที่อยู่เฉียงออกไปในทิศพายัพนั่นเอง
แมคกิลวารี กับการย่างเท้าก้าวเข้ามาของศาสนาคริสต์ในล้านนาเชียงใหม่
“ดาเนียล แมคกิลวารี” หรือ “พ่อครูหลวง” เป็นมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนชาวอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ในพระนครเชียงใหม่ เขาได้สมรสกับ โซเฟีย แมคกิลวารี (โซเฟีย รอยส์ บรัดเลย์) ผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาของสตรีในล้านนา ที่เป็นลูกสาวของหมอบรัดเลย์ผู้เป็นบิดาแห่งการพิมพ์และการแพทย์แผนใหม่ ผู้นำวัคซีนรักษาไข้ทรพิษฝีดาษมาเผยแพร่ให้แก่ชาวสยาม สามีภรรยาแมคกิลวารี ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขยายนิกายโปรเตสแตนต์สู่ดินแดนล้านนา ซึ่งมีสถานะเป็นหัวเมืองของอาณาจักรสยาม แต่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของเชื้อพระวงศ์ทางเหนือ ซึ่งมีอำนาจสิทธิขาดภายในอาณาจักรของตนเอง
ในช่วงปีพ.ศ. 2406 ดาเนียล แมคกิลวารี และโจนาธัน วิลสัน ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยามให้สามารถเดินทางขึ้นไปสำรวจพื้นที่เชียงใหม่เพื่อทำการประกาศพระกิตติคุณ ทว่าการเดินทางมาเยือนเชียงใหม่ในครั้งแรกของพวกเขา กลับไม่ได้พบเจอกับ “พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์” เนื่องจากพระองค์ได้ทรงเสด็จลงไปยังกรุงเทพฯ เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแก่ราชสำนักสยาม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังได้รับการต้อนรับจาก “เจ้าอุบลวรรณา” พระธิดาองค์เล็กของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัวบรัดเลย์และแมคกิลวารี มาตั้งแต่ที่เคยเสด็จลงไปยังกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี โดยในระหว่างที่เขาอยู่ที่นครเชียงใหม่ ก็ได้รับความสนใจจากเพื่อนชาวต่างชาติที่แวะเวียนมาเยี่ยมเขายังที่พำนักอยู่บ่อยๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ดาเนียล แมคกิลวารี และคณะนั้นเชื่อว่าการเผยแพร่ศาสนาในหัวเมืองล้านนาจะสามารถเกิดขึ้น และเป็นไปได้โดยสะดวกอย่างแน่นอน
ต่อมาในปีพ.ศ. 2410 ดาเนียล แมคกิลวารี พร้อมด้วยภรรยา ได้เดินทางขึ้นมาที่เมืองเชียงใหม่ โดยพักอาศัยในศาลาพักชั่วคราวที่ “ศาลาย่าแสงคำมา” บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ซึ่งอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมที่ชาวเมืองส่วนใหญ่ใช้เดินทาง ทำให้ชาวเชียงใหม่ได้เห็นความเป็นอยู่ของมิชชันนารี และได้สัมผัสกับความเป็นโลกตะวันตก ทั้งด้านความเป็นอยู่ ข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์สำหรับสอนความรู้สมัยใหม่ ไปจนถึงยารักษาโรคของตะวันตก
การเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในล้านนาของดาเนียล แมคกิลวารี ทำให้มิชชันนารีอเมริกัน ถือเป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยในล้านนา ซึ่งมิชชันนารีเหล่านี้ ล้วนมีสถานะเป็นคนในบังคับชาติมหาอำนาจตะวันตก ทำให้พวกเขามีฐานะแตกต่างจากประชาชนทั่วไป เนื่องจากได้รับความคุ้มครองโดยสนธิสัญญาในข้อที่ว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไม่ต้องขึ้นศาลไทย ทำให้ไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของข้าราชการไทย อีกทั้งการมีความรู้ ความสามารถ และการครอบครองเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็เป็นอีกสิ่งทำให้เหล่ามิชชันนารีได้รับการยอมรับทั้งจากเจ้านาย และข้าราชการไทยในล้านนา
การมีบทบาทและอำนาจของมิชชันนารีในล้านนา
แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของมิชชันนารีคือการเผยแพร่ศาสนา แต่ในขณะเดียวกัน มิชชันนารีก็ได้เข้ามาแทรกแซงการบริหารราชการภายในของเหล่าบรรดาเจ้านาย เพราะต้องการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปกครองของเจ้านาย จนเรียกได้ว่า “มิชชันนารีมีความใกล้ชิดกับชาวบ้านและเข้าถึงจิตใจชาวบ้านมากกว่าข้าราชการ” เพราะเมื่อชาวบ้าน โดยเฉพาะคนที่เป็นคริสเตียนเจอเรื่องเดือดร้อนหรือถูกเอาเปรียบจากเจ้านาย ก็มักจะหันไปขอความช่วยเหลือจากมิชชันนารี เพราะมิชชันนารีนั้นถือเป็นที่เกรงใจของเจ้านาย และข้าราชการสยาม
มิชชันนารีสามารถช่วยได้ตั้งแต่ปัญหาเล็กๆ อย่างการที่บริวารของเจ้าหลวง ลวนลามผู้หญิง หรือปัญหาที่ชาวบ้านลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำปิง ไปจนถึงปัญหาใหญ่ เช่น “กรณีเจ้าหอหน้าขัดขวางการแต่งงานของหนุ่มสาวคริสเตียน” ในปีพ.ศ. 2421 ที่เป็นความขัดแย้งทางขนบประเพณีระหว่างมิชชันนารีกับผู้มีอำนาจปกครองในเมืองเชียงใหม่ โดยเจ้ามูลนายได้อ้างประเพณีความเชื่อเรื่องผีท้องถิ่น และไม่ยอมให้มีการจัดงานแต่งงานจนกว่าจะมีการเสียผี แต่ฝ่ายมิชชันนารีก็ไม่ยอมเพราะถือว่าเป็นพิธีทางคริสต์ศาสนา
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มิชชันนารีได้เขียนหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอให้มีเสรีภาพทางศาสนา และก็ได้รับพระบรมราชานุญาต จนต่อมาในปีพ.ศ. 2421 รัฐบาลสยามก็ได้ประกาศ “พระบรมราชโองการเสรีภาพทางศาสนา” (Edict of Toleration) ที่เป็นการอนุญาตให้ชาวเมืองเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง มีเสรีภาพในการนับถือศาสนานับแต่นั้นมา ทำให้เห็นว่าในบางกรณีมิชชันนารีเองก็ได้แสวงหาผลประโยชน์จากความขัดแย้งระหว่างข้าราชการสยามกับเจ้านายสยาม ผ่านการเล่นเกมการเมืองโดยใช้ความเป็นคนต่างชาติที่มีอิทธิพลของมิชชันนารีมาข่มขู่หรือลดอำนาจของเจ้านาย จนสร้างผลกระทบให้กับอำนาจการปกครองของเจ้านายอย่างเห็นได้ชัด
มิชชันนารียังได้มีส่วนในการสร้างชนชั้นกลางในสังคมแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ด้วยการให้การศึกษา และการอบรมแบบสมัยใหม่ ทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนอาชีพจากชาวนาหรือแรงงานมาเป็นพนักงานบริษัท ครู หมอ และพยาบาล นอกจากนั้น มิชชันนารีก็ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับข้าราชการสยาม และคอยให้การสนับสนุนนโยบายปฏิรูปการปกครองของสยาม ด้วยการช่วยควบคุมให้ชาวบ้านที่เป็นคริสเตียนปฏิบัติตามนโยบายเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น การที่ข้าหลวงได้มาขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกาศใช้ระบบภาษีค่าแรงแทนเกณฑ์ และขอให้มิชชันนารีได้อธิบายให้ชาวคริสเตียนทราบและนำเงินมาเสียภาษี เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้านอื่นๆ ตามบันทึกของศาสนาจารย์ ฮิวจ์ เทย์เลอร์ มิชชันนารีอเมริกันในจังหวัดลำปาง
อย่างไรก็ตาม การที่ชาวพื้นเมืองนั้นเปลี่ยนศาสนาไปเป็นคริสเตียน ก็จำเป็นที่จะต้องละทิ้งความเชื่อ และจารีตปฏิบัติของสังคมล้านนาไปด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้พวกเขาถูกมองว่าต่อต้านขัดขืนระบบอำนาจของพระเจ้ากาวิโลรส จนนำไปสู่การประหารชีวิตชาวคริสเตียน 2 คน ในเดือนกันยายน ปีพ.ศ. 2412 ที่แม้ว่ามิชชันนารีจะอ้างการคุ้มครองชาวอเมริกันและคนในบังคับ ตามสนธิสัญญาแฮริสที่ได้ทำกับสยามไว้เมื่อ พ.ศ. 2399 ก็ไม่เป็นผล
ต่อมาในเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. 2413 เมื่อเจ้ากาวิโลรสถึงแก่พิราลัย และเจ้าอุปราชอินทวิชยานนท์ขึ้นครองบัลลังก์เจ้าหลวงเชียงใหม่ สถานการณ์ดังกล่าวก็ได้ผ่อนคลายลง เพราะพระองค์มีความเป็นมิตรกับมิชชันนารีอเมริกัน พันธกิจของมิชชันนารีในล้านนาจึงได้เริ่มต้นอีกครั้ง และมีคนพื้นเมืองหันมารับเชื่อคริสต์ศาสนาเพิ่มขึ้น
บทสรุป
มิชชันนารี มีบทบาทและความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัยแบบชาติตะวันตก โดยที่การเข้ามาของมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ในสยามส่วนใหญ่มักจะเป็นมิชชันนารีที่เดินทางมาจากอเมริกา ซึ่งกิจกรรมของพวกเขามักจะเป็นสิ่งที่แยกออกจากจุดประสงค์ทางการเมืองและการค้าของชาติ
ในภายหลังเมื่อการเผยแพร่ศาสนาไม่สามารถใช้การสนับสนุนจากอำนาจทางการเมืองได้เหมือนในอดีต อีกทั้งการไปเผยแพร่ศาสนาในพื้นที่ที่มีคนนับถือศาสนาพุทธอยู่ก่อนแล้วมักจะเป็นไปได้ยาก เพราะพวกเขาอาจไม่เห็นถึงความสำคัญของคริสต์ศาสนา วิธีการที่เหล่ามิชชันนารีใช้ในการเผยแพร่ศาสนา จึงต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากันกับวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น โดยหันมาใช้วัฒนธรรม และอารยะธรรมตะวันตก เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาแทน ไม่ว่าจะเป็นการสอนวิชาความรู้สมัยใหม่ การสร้างโรงเรียน โรงพิมพ์ หรือโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการทำภารกิจในลักษณะที่เอาการบริการสังคม มาช่วยในการชักนำผู้คนให้มาเรียนรู้ และรับเชื่อในศาสนาคริสต์
ด้วยเหตุนี้ การรับรู้ที่ชาวสยามมีต่อมิชชันนารี จึงถูกจดจำเป็นภาพลักษณ์ที่ถือว่าเป็น “หมอ” อันเนื่องมาจากความพยายามเผยแพร่ศาสนา โดยใช้ผลผลิตที่มากับวิทยาการตะวันตก อย่างยารักษาโรค ควบคู่ไปกับการสอนหนังสือ และแจกใบปลิวคำสอนทางศาสนา มิชชันนารีโปรเตสแตนต์ จึงเป็นทั้งหมอรักษาโรค และหมอศาสนาในเวลาเดียวกัน สิ่งเหล่านี้มีบทบาสำคัญอย่างมากในการพัฒนาสังคมของสยามในเวลานั้นให้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น
นอกจากภารกิจในด้านสาธารณสุขแล้ว การบริการสังคมในด้านการศึกษาก็เป็นอีกภารกิจที่มิชชันนารีให้ความสำคัญ เนื่องจากพื้นฐานทางความคิดของศาสนาคริสต์โดยเฉพาะนิกายโปรเตสแตนต์ ถือว่าการจะเข้าถึงความจริงสูงสุดทางศาสนาคือการอ่าน และศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิลโดยตรง นั่นหมายถึงว่า การที่คริสต์ชนจะสามารถรู้จักกับพระเจ้าได้นั้น จะต้องรู้หนังสือ และคนที่เปลี่ยนศาสนาแต่ไม่ได้อ่านพระคัมภีร์ ก็เท่ากับว่ายังไม่ได้มีความเชื่ออย่างแท้จริง นั่นทำให้พื้นที่ที่คนทั่วไปไม่รู้หนังสือถือเป็นอุปสรรคต่อการรับเชื่อในศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก จึงนำไปสู่การพยายามเพิ่มขีดความสามารถให้กับคนในท้องถิ่น ด้วยการใช้การศึกษาเป็นสถาบันในการอบรม และฝึกฝนคนในท้องถิ่นให้อ่านออกเขียนได้ เพื่อเป็นการเตรียมศักยภาพของคนในท้องถิ่นให้พร้อมต่อการถ่ายทอดหรือเผยแพร่ความเชื่อ และคำสอนของศาสนาคริสต์ต่อไป
ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า