เวียงหนองหล่มกำลังล่ม เมื่อเมกะโปรเจกต์กลืนกินนิเวศ

ภาพ: ธวัชชัย ดวงนภา

‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’ เป็นระบบนิเวศที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะพืชหรือสัตว์ เป็นแหล่งผลิตสำคัญในห่วงโซ่อาหาร และช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ การขยายพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำเสื่อมโทรม และมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอย่างชัดเจนในประเทศไทยคือ ‘เวียงหนองหล่ม’ พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศ ซึ่งเคยมีเนื้อที่กว่า 20,000 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตติดต่อของสามตำบลในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ ตำบลจันจว้าและตำบลจันจว้าใต้ อำเภอแม่จัน และตำบลท่าข้าวเปลือก อำเภอเชียงแสน พื้นที่แห่งนี้ไม่เพียงเป็นแหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ หากยังเป็นศูนย์รวมของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเลี้ยงควายตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนหลากหลายกลุ่มเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพทำให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ หรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site)

เวียงหนองหล่ม มีตำนานเล่าขานว่าเคยเป็นที่ตั้งของเมืองโยนกนาคพันธุ์ ก่อนที่จะถูกพญานาคถล่มจนเมืองจมลงในหนองน้ำ เนื่องจากความพิโรธที่ชาวบ้านจับปลาไหลเผือกยักษ์ ลูกชายของพญานาคมาแบ่งกันกิน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าอาจเกิดจากแผ่นดินไหวใหญ่จากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จันที่พาดผ่านพื้นที่นี้ จนกลายเป็นจุดกำเนิดของพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ทั้งคนและสัตว์สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างยาวนาน หลายร้อยปีที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบัน เวียงหนองหล่มกลับต้องเผชิญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่เข้ามาทำลายและบั่นทอนคุณค่าทางระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้อย่างน่าเป็นห่วง

อะไรบ้างที่เข้ามา ‘ เปลี่ยน’ เวียงหนองหล่ม

การลดลงของพื้นที่จากการบุกรุกที่ดิน – เวียงหนองหล่มเคยมีพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ แต่จากการบุกรุกและครอบครองที่ดินโดยมิชอบ ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทและคดีฟ้องร้องกับเอกชนหลายราย แม้จะมีบางรายยอมคืนพื้นที่สาธารณะกว่า 93 ไร่ แต่หลายรายยังคงต่อสู้คดีอย่างยืดเยื้อ ทำให้ปัจจุบันเวียงหนองหล่มเหลือพื้นที่เพียงประมาณ 15,000 ไร่เท่านั้น ทนงศักดิ์ ทองแสน นายกเทศมนตรีตำบลจันจว้า เปิดเผยว่า ปัญหาการบุกรุกที่ดินนั้นเกิดขึ้นสะสมมานานจากการที่แนวเขตพื้นที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้พื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังมีคดีความกับเอกชนอยู่อีก 3–4 ราย จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์ เพราะชาวบ้านกว่า 90% ในพื้นที่ยังคงพึ่งพิงระบบนิเวศของเวียงหนองหล่มในการดำรงชีพ ทั้งในด้านการเกษตร เลี้ยงควาย และทำประมงพื้นบ้าน 

โครงการพัฒนาเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล – รายงานการศึกษาโครงการเบื้องต้น โครงการแก้มลิงเวียงหนองหล่ม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ระบุว่า เวียงหนองหล่มมีสภาพปัญหาคือ พื้นที่ตื้นเขิน มีตะกอนตกจม และมีวัชพืชปกคลุมมาก ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงมีแนวทางแก้ไขปัญหา คือ การขุดลอกรอบเวียง ก่อคันกั้นน้ำ ขุดลอกหนองและร่องน้ำเดิม ปรับปรุงภูมิทัศน์และศูนย์เรียนรู้ปางควาย 

กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักเวียงหนองหล่ม จำนวน 6 กิจกรรม ได้แก่ 1) ขุดลอกตะกอนดินในพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ 2) สร้างอาคารระบายน้ำ 2 แห่ง 3) ก่อสร้างฝายทดน้ำพร้อมระบบส่งน้ำยาว 11 กิโลเมตร 4) ขุดลอกลำน้ำแม่ลัว ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร 5) ก่อสร้างอาคารอัดน้ำกลางคลองและอาคารประกอบ 6) สร้างอาคารท่อลอดถนนจำนวน 7 แห่ง โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งหมด 4 ปี (พ.ศ. 2565 – 2568) ซึ่งในปี 2565 มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% ของแผนพัฒนา

นอกจากนั้นยังมีมติและข้อสั่งการของประธานในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่ระบุถึงแผนงานพัฒนาเวียงหนองหล่มและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 3,000 ล้านบาท ต่อมามีการจัดทำร่างแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย ในช่วงปี 2566 – 2570 โดยร่างแผนดังกล่าวได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม กนช. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุมการพัฒนาทั้งหมด 5 ด้าน รวม 65 โครงการ ได้แก่ การบริหารจัดการพื้นที่ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการท่องเที่ยวและโบราณคดี รวมถึงการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,880.85 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ตลอดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนโดยรอบในช่วงที่ผ่านมา กลับพบว่าเป็นการ ‘ถูกหลอก’ ให้เข้าร่วม โดยขาดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมที่แท้จริงจากภาคประชาชน

“เราอ่านรายละเอียดตอนแรกบอกว่าเขาจะทำโครงการขุดเป็นแอ่งน้ำ ก่อนหน้านี้มีแบบขุดลอกเดิมที่จะขุดกว้างสักประมาณ ๑๐๐ – ๒๐๐ เมตร แต่ทีนี้สถานการณ์พลิก เขาไปออกแบบโครงการใหม่โดยชาวบ้านไม่รู้เรื่อง แล้วตอนทำประชาคมส่วนมากก็เป็นแค่คนแก่เข้าร่วมไปทำประชาคมกันในวัด คนแก่ฟังไม่รู้เรื่องก็ไปยกมือให้เขาทำในตำบล นี่คือโดนหลอกกันหมด” นี่คือเสียงจากคนในพื้นที่

อนุรักษ์แบบใดให้แย่กว่าเดิม?

โครงการพัฒนาของรัฐได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่อย่างรุนแรง การลดลงของแหล่งอาหารทำให้ควายที่ชาวบ้านเลี้ยงต้องประสบกับปัญหาผอมแห้งจากการอดอยาก ส่วนกุ้ง หอย ปู ปลา ที่เคยหาได้ก็หายไป ชาวบ้านที่เคยอาศัยแหล่งทรัพยากรในพื้นที่ต้องออกไปทำงานรับจ้างข้างนอกเพื่อหาเลี้ยงชีพ 

ในมุมมองของรัฐบาล โครงการพัฒนาและแผนต่างๆ เหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นการพัฒนาเพื่อ ‘การอนุรักษ์’ แต่สำหรับคนในพื้นที่กลับมองว่า โครงการเหล่านี้เป็นการ ‘ทำลาย’ ระบบนิเวศของเวียงหนองหล่ม ทำให้สภาพพื้นที่ย่ำแย่ลง เพราะสิ่งก่อสร้างและการดำเนินงานต่างๆ ได้เปลี่ยนผืนดินชุ่มน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหญ้าและพืชพรรณนานาชนิด ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญ ให้กลายเป็นเพียงอ่างเก็บน้ำคอนกรีตที่นอกจากประโยชน์ในการกักเก็บน้ำแล้ว ก็ไม่ได้สร้างประโยชน์อื่นใด ต่อระบบนิเวศหรือชุมชนในพื้นที่เลย

อนุรักษ์ต้นอั้น-สานต่อวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ของคนท้องถิ่น

ภาพต้นอั้น จาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้คนท้องถิ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และหน่วยงานในพื้นที่ ต่างพยายามหาวิธีอนุรักษ์พื้นที่เวียงหนองหล่มอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันการบุกรุกเพิ่มเติม 

รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง นักวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เล่าว่า ปัจจุบันในพื้นที่ ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีการจัดทำพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นอั้น ซึ่งเป็นป่าชายเลนน้ำจืด  โดยจัดพิธี “ฟื้นใจเวียงหนองด้วยศรัทธา สืบชะตาป่าต้นอั้น” และประกาศให้เวียงหนองหล่มมีสถานะบุคคลทางวัฒนธรรมที่ชุมชนต้องร่วมกันปกป้อง

นอกจากนี้ยังได้สร้างความเชื่อมโยงการส่วนร่วมของคนในพื้นที่เพื่อการส่งเสริมด้านวัฒนธรรมและความยั่งยืน ผ่านโครงการ “เชื่อม รัด มัด ร้อย เรียนรู้วัฒนธรรม ปกป้องธรรมชาติ พื้นที่เขตเมืองเก่าเชียงแสน” ภายใต้แนวคิด เชื่อม-มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้, รัด-การปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม, มัด-รวมวัตถุประสงค์ผ่านความคิด งานวิจัย การทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับนักวิชาการ และ ร้อย-เรียงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน

อย่างไรก็ตาม โครงการอนุรักษ์ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดทำขึ้นร่วมกับคนในพื้นที่ เป็นการดำเนินการบนพื้นฐานของความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศอย่างแท้จริง  แตกต่างจากมุมมองของรัฐ ที่มองแค่ประโยชน์เพียงไม่กี่ด้านจากการพัฒนา และแม้จะพอมีแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่อยู่บ้าง แต่รูปแบบการฟื้นฟูนั้นก็ไม่ได้ตอบโจทย์กับระบบนิเวศแห่งนี้ได้อย่างแท้จริง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong