เรื่อง: ศิลปะ เดชากุล
เรื่องราวของคนที่ไม่เข้ากับโลก
“เฉิ่ม” (Midnight My Love, 2005) หนังไทยที่สะท้อนถึงความเหงา ความโดดเดี่ยว และความไม่เข้ากันกับโลกสมัยใหม่ ขณะเดียวกัน มันก็เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายผู้ยึดมั่นในอดีต กับหญิงสาวผู้ดิ้นรนอยู่ในโลกปัจจุบัน เฉิ่มเป็นหนังที่ไม่ได้พูดถึงเพียงเรื่องความรัก หากยังเปิดพื้นที่ให้เสียงของผู้คนที่ไม่เคยมีใครตั้งใจฟัง หนังเรื่องนี้กำกับโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี เล่าเรื่องผ่านโลกของ “สมบัติ” ชายกลางคนที่มีอาชีพขับแท็กซี่กะกลางคืน เขาใช้ชีวิตเรียบง่าย ยึดมั่นในระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ต่อความเชื่อดั้งเดิม และจมอยู่กับโลกของอดีตที่ไม่มีใครใส่ใจ ในขณะโลกหมุนเร็วขึ้น เหวี่ยงเวลาไม่ให้หยุดพัก อดีตถูกแทนที่ด้วยความทันสมัย สมบัติคือคนที่ไม่ยอมให้ความเปลี่ยนแปลงกัดกิน เขาปฏิเสธระเบียบของโลกใหม่ ไม่ใช่เพราะความดื้อดึง แต่เขายังผูกพันกับคุณค่าบางอย่างที่ปัจจุบันหลงลืม เฉิ่มจึงไม่ใช่แค่เรื่องของชายผู้โดดเดี่ยวเท่านั้น แต่เป็นบทกวีของผู้คนที่ไม่สามารถปรับตัวบนความเปลี่ยนแปลงของโลก ใต้เสียงสะท้อนเงียบงันในเมืองใหญ่ (กรุงเทพฯ) เมืองนี้
คงเดชยังคงเจนจัดในการแปรเปลี่ยนเรื่องของคนธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องเล่าที่เปล่งประกาย ได้อย่างงดงาม เขาไม่มองโลกผ่านสายตาแบบ “ผู้ชนะ” แต่เลือกมองผ่านสายตาของ “ผู้ที่ถูกลืม” สำหรับเฉิ่ม เขาไม่ได้ตั้งใจให้สมบัติกลายเป็นตัวตลกของโลก แต่กลับทำให้เขากลายเป็นตัวแทนของศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ยังมีหัวใจอ่อนโยน แม้จะอยู่ในโลกที่ไม่หลงเหลือพื้นที่ให้แบบนั้นแล้วก็ตาม ผลงานของคงเดชมักเกี่ยวข้องกับการตั้งคำถามเชิงปรัชญาโดยไม่ใช้ถ้อยคำยากซับซ้อน เขาตั้งคำถามว่า “ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ ใครกันแน่ที่ยังควรค่าแก่การจดจำ?” และ “คนที่ไม่เปลี่ยนแปลงเพื่อโลก ควรถูกตัดสินว่าเชย หรือซื่อสัตย์ต่อตัวเอง?” คำถามเช่นนี้ปรากฏอยู่ทั่วทั้งเรื่องผ่านการแสดงของสมบัติ โดยไม่จำเป็นต้องพูดออกมาตรงๆ
การเดินทางของชายผู้ติดกับดักอดีต
สายตาและวิถีชีวิตของสมบัติดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบ เรียบง่าย และไม่เร่งรีบ เขาใช้ชีวิตในแบบแผนประจำวันที่มั่นคง ฟังเพลงลูกกรุงผ่านคลื่นวิทยุ ว.พท. เอ.เอ็ม. (สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมการพลังงานทหาร) กับเสียงของผู้จัดรายการ “คุณอาธรรมรงค์” เป็นเพื่อนประจำของชีวิต ทว่าเสียงที่สมบัติผูกพันและรับฟังทุกวันนั้น กลับไม่ใช่เสียงที่ยังตอบสนองเขาได้จริง รายการของคุณอาธรรมรงค์เป็นเพียงเทปบันทึกเสียง ไม่ใช่รายการสด ไม่มีใครโต้ตอบ ไม่มีใครฟังเขาจริงๆ เสียงที่เขายึดถือเป็นเพื่อน จึงเป็นเพียงเสียงจากอดีตที่ยังคงวนซ้ำอยู่ในปัจจุบัน เป็นบทสนทนาที่พูดได้เพียงฝ่ายเดียว และไม่มีวันได้รับคำตอบ ขณะเดียวกัน เขายึดมั่นในมารยาทการพูดจา สวมใส่ยูนิฟอร์มโซเฟอร์แท็กซี่สีฟ้าอย่างภูมิใจ ราวกับมันเป็นสัญลักษณ์ที่ยืนยันความมั่นคงในตนเอง พร้อมกันนั้น กิจวัตรของสมบัติยังรวมถึงการไปฟังเพลงลีลาศที่ชมรมลีลาศนิรันด์ก่อนเริ่มทำงานในช่วงเย็น และปิดท้ายด้วยมื้ออาหารประจำอย่างต้มเลือดหมู สิ่งเหล่านี้คือร่องรอยของโลกเก่า ที่เขาตั้งใจรักษาไว้ท่ามกลางโลกที่ผู้คนเร่งรีบและหันหลังให้ความทรงจำ
คืนหนึ่ง สมบัติได้พบกับลูกค้าผู้หญิงคนหนึ่ง “นวล” หญิงสาวผู้ทำงานใน “อาบ อบ นวด” เธอขึ้นมานั่งบนรถพร้อมกับขอให้เขาเปิดเพลงที่กำลังฟังให้ “ดังขึ้นอีกหน่อย” เสียงเพลงลูกกรุงที่แผ่วเบาในพื้นหลังกลับกลายเป็นสิ่งปลอบประโลมในความเปลี่ยวเหงาของหญิงสาวผู้ใช้ชีวิตในยามค่ำคืน แม้นวลจะไม่ใช่คนที่เติบโตมากับเพลงลูกกรุงหรือวัฒนธรรมแบบสมบัติ แต่เธอกลับมองเห็นความอบอุ่นในความนิ่งสงบของเขา ความสัมพันธ์ระหว่างคนแปลกหน้าจึงค่อยๆ ก่อตัวเป็นความเข้าใจ ความเอื้ออาทร และความรู้สึกร่วมบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องพูดออกมาตรงๆ
การเดินทางของสมบัติจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการขับรถรับส่งผู้โดยสาร หากแต่เป็นการเดินทางภายในใจของเขาเอง ที่ค่อยๆ คลี่คลายออกสู่โลกใบใหม่ อย่างลังเล สับสน และเงียบงัน หนังดำเนินเรื่องอย่างเชื่องช้า ไม่เร่งเร้า หากเปี่ยมด้วยรายละเอียดแฝงเร้นในทุกจังหวะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางภาพ แสงที่ไม่ประดิษฐ์ หรือจังหวะที่เปิดพื้นที่ให้ตัวละครได้ “นิ่ง” และ “ฟัง”
หนึ่งในฉากที่สะท้อนจังหวะแบบนั้นได้ชัดเจน คือฉากที่สมบัติและนวลนั่งฟังเพลงลูกกรุงร่วมกันในสถานที่แห่งหนึ่ีง หลังจากนวลตัดสินใจไม่ไปทำงานอาบอบนวดในคืนนั้น เพลง “ปองใจรัก” แทรกเสียงอย่างอ่อนโยนในฉาก ด้วยท่อนที่ว่า
“โอ้ความรักเอย สุดชื่นสุดเชย สุดจะเฉลยรำพัน
รักเจ้าเฝ้าแต่ฝัน ผูกพัน รักพี่กระสันคอยหา
พี่คอยน้องคอย ต่างคนต่างคอย แต่บุญเราน้อยหนักหนา”
ท่ามกลางเสียงเพลงและความเงียบงันของคำพูด ฉากนั้นกลับสื่อสารได้อย่างเปี่ยมพลัง มันคือช่วงเวลาที่ตัวละครต่างเปิดเผยความเปราะบางโดยไม่จำเป็นต้องเอื้อนเอ่ย ความนิ่งของกล้อง แสงไฟสลัว และเสียงเพลงเก่า ๆ คือสิ่งที่พาผู้ชมเข้าไปสัมผัสความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ซึ่งอาจจะลึกยิ่งกว่าคำใดจะเอื้อนเอ่ย โลกภายนอกอาจยังคงดำเนินไป แต่ภายในสถานที่แห่งนั้น การนิ่งเงียบกลายเป็นบทสนทนาที่แท้จริงระหว่างสองคนที่ต่าง “คอย” อย่างไม่มีคำสัญญา
ลูกกรุงที่เป็นมากกว่าเพลง
เพลงลูกกรุงในเฉิ่มไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเป็นเสียงประกอบฉาก หากแต่เป็นโลกภายในของสมบัติ เป็นโลกที่เขายึดมั่นและต้องการธำรงรักษาไว้ ท่ามกลางยุคสมัยที่ผู้คนหันหลังให้ความรู้สึกอ่อนไหวแบบที่เพลงลูกกรุงนำเสนอ เพลงเหล่านี้เป็นตัวแทนของความอ่อนโยน ความละเอียดอ่อน และความรักที่เคยดำรงอยู่ในอดีต เป็นเสียงสะท้อนของยุคสมัยที่การบอกรักไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมา หากใช้ท่วงทำนองเป็นภาษากลางของหัวใจ
เพลงลูกกรุงถือกำเนิดขึ้นราวช่วงทศวรรษ 2490–2500 โดยผสมผสานอิทธิพลของดนตรีตะวันตกเข้ากับลีลาการประพันธ์แบบไทยๆ ทั้งในด้านทำนอง คำร้อง และการขับร้อง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมองว่าเพลงลูกกรุงคือกระบอกเสียงของ “ความทันสมัยแบบไทย” ที่ยังไม่ละทิ้งรากเหง้าวัฒนธรรมดั้งเดิม
คุณค่าของเพลงลูกกรุงอยู่ที่ภาษาที่สละสลวย เนื้อร้องที่ใช้ถ้อยคำเปรียบเปรยอย่างงดงาม ถ่ายทอดเรื่องราวของความรัก ความทุกข์ ความหวัง และชะตาชีวิตในรูปแบบที่ละเมียดละไม พร้อมทั้งอาศัยเครื่องสาย เครื่องเป่า และการเรียบเรียงที่ประณีต กลายเป็นงานศิลปะที่ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่รู้เบื่อ
ในหนัง เพลงลูกกรุงทำหน้าที่มากกว่าการสร้างบรรยากาศ มันคือ “บ้าน” ที่สมบัติใช้เป็นที่พักใจ เสียงร้องที่อบอุ่นละมุน ท่วงทำนองที่อ่อนหวาน ละเอียดอ่อน ล้วนเป็นเสียงสะท้อนของยุคสมัยที่เขายังคงยึดมั่น เป็นบทเพลงที่ไม่เพียงปลอบประโลมใจ หากยังหล่อเลี้ยงความทรงจำและตัวตนของเขาไว้ท่ามกลางโลกที่ผันผ่านไปอย่างไร้เยื่อใย
ยิ่งไปกว่านั้น เสียงเพลงเหล่านี้ไม่เพียงทำหน้าที่เยียวยาสมบัติ หากยังปลุกเร้าความทรงจำในใจผู้ชม ให้หวนคิดถึงช่วงเวลาที่ผู้คนยังมองตาเพื่อสื่อสาร ฟังเพลงเพื่อซึมซับอารมณ์ และใช้ดนตรีเป็นภาษาของความรู้สึก
เพลงลูกกรุงจึงไม่ได้เป็นเพียงเพลงประกอบ หากเป็นการเล่าชีวิตของสมบัติผ่านท่วงทำนองและถ้อยคำ ทุกบทเพลงในเรื่องล้วนถูกเลือกสรรมาอย่างตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นเพลง “ฉันยังคอย” หรือ “ปองใจรัก” ที่ขับร้องโดยนักร้องแห่งยุค สุนทราภรณ์ และมัณฑนา ตามลำดับ เพลงเหล่านี้ไม่เพียงให้กลิ่นอายของยุคสมัย แต่ยังช่วยให้เราเข้าใจ “หัวใจ” ของชายผู้ไม่เคยละทิ้งศรัทธาต่อชีวิต ความอ่อนโยน และความรัก เพลงจึงเป็นทั้งที่พักใจ เป็นสายใยโยงอดีตกับปัจจุบัน และเป็นเครื่องเตือนใจว่า “เขาเคยเป็นใคร” และ “เคยอยู่ในโลกแบบใด” มาก่อน
เสียงในภาพยนตร์จึงเงียบอย่างมีนัยยะ ชวนให้ผู้ชมตีความ เสียงของเมืองในยามค่ำคืน เสียงลมหายใจ เสียงเครื่องยนต์ กลายเป็นฉากหลังที่ตอกย้ำความว่างเปล่าซึ่งแวดล้อมสมบัติ และทำให้เราเห็นว่า เสียงในใจของเขานั้น ดังกว่าเสียงใดๆ ในโลกภายนอก
ความรัก ความเหงา โลกไม่ใช่ของเรา
เฉิ่มชวนให้ตีความหลากหลาย เมื่อมองจากระยะใกล้ เฉิ่มอาจดูเป็นหนังรักธรรมดา แต่หากขยับถอยออกมา เราจะเห็นว่า มันคือหนังรักระหว่างชายหญิงที่มีความต่างกันอย่างสุดขั้ว มันคือหนังที่พูดถึงความเหงา ความเปลี่ยวเปล่า และการแสวงหาความหมายในโลกที่เปลี่ยนไป สมบัติอาจเป็นตัวแทนของ
“อดีต” ที่ยังพยายามดิ้นรนอยู่ในปัจจุบัน ส่วนนวลคือ “ความเป็นจริง” ที่สมบัติต้องเผชิญ ในโลกของสมบัติ ทุกอย่างมีแบบแผน มีหลัก มีเหตุผลที่ชัดเจน แต่ในทางตรงกันข้าม โลกของนวลไม่มีอะไรแน่นอน เธอทำงานเป็นหมอนวดในอาบ อบ นวด ที่แวดล้อมไปด้วยความไม่มั่นคง ทั้งในแง่ของสถานะทางสังคม รายได้ และความสัมพันธ์ส่วนตัว นวลย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เธอต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยว การตัดสินจากสังคม และอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ทุกวันคือการเอาตัวรอด การประคับประคองชีวิตท่ามกลางความเปราะบาง ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสมบัติจึงเปรียบเสมือนการพบกันของโลกสองใบ โลกหนึ่งที่กำลังจะสิ้นสุด กับอีกโลกที่ยังไม่ชัดเจนว่ามีที่ให้ใครเลยหรือไม่ ความรักในเฉิ่มจึงไม่หวือหวา ไม่เร่าร้อน แต่มันคือความรักที่นิ่ง ลึก และเปราะบาง ความรักที่ไม่กล้าเรียกร้อง ความรักที่เต็มไปด้วยคำถาม มากกว่าคำตอบ มันคือความรักของคนที่ไม่แน่ใจว่ามีสิทธิจะรักได้จริงๆ หรือไม่
หนึ่งในฉากที่เผยให้เห็นความรู้สึกนั้นอย่างชัดเจน คือช่วงเวลาที่สมบัติ ขณะขับรถในยามดึก ก่อนเวลานัดรับนวลตามปกติ เขากลับถูกชายแปลกหน้าปล้นและทำร้ายร่างกาย จนไม่สามารถไปรับเธอได้ตามที่เคยเป็น การหายไปอย่างไม่มีคำอธิบายของสมบัติ ไม่ใช่เพราะเขาเลือกจะหายไป แต่เพราะโลกภายนอกที่โหดร้ายได้กระชากเขาออกจากเส้นทางเดิม ขณะเดียวกัน นวลก็ยังคงรอ รอให้เขามารับ เหมือนทุกคืนที่ผ่านมา เธออาจไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่การรอคอยนั้นเต็มไปด้วยความหมาย มันคือการรอของคนที่แม้จะอยู่ในโลกที่ไม่แน่นอน แต่ยังเลือกจะหวังในสิ่งที่เปราะบางที่สุด ความรักจากคนธรรมดาๆ ที่ไม่เคยสัญญาอะไรเลย
เมื่อโครงสร้างสังคมไม่เผื่อพื้นที่ให้ความเปราะบาง
เฉิ่มวิพากษ์สังคมไทยอย่างเงียบงัน ตั้งคำถามกับมาตรฐานความเป็นมนุษย์ ความคาดหวังต่อมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องเข้มแข็ง ต้องเป็นผู้นำครอบครัว ห้ามอ่อนแอ แต่สมบัติกลับเป็นมนุษย์ที่ซื่อตรงอ่อนโยน และเปราะบาง เขาไม่ได้ปกป้องใครด้วยกำลัง แต่ปกป้องคนที่เขารักด้วยความมั่นคงทางใจ ในอีกด้านหนึ่ง เหตุผลที่สมบัติเป็นเช่นนั้น อาจสืบเนื่องจากอดีตอันเจ็บปวด ความผิดที่เขาเคยก่อ และพยายามลืมมันไป ขณะเดียวกัน ในฉากหนึ่งของหนัง ที่สมบัติ ส่งจดหมายถึง“คุณอาธรรมรงค์” ผู้จัดรายการวิทยุ ที่กล่าวว่า
“ผมเคยคิดว่าจะหยุดตัวเอง ไม่เอาอย่างงี้อีกแล้ว แต่ตอนนี้ ดูเหมือนว่า เหมือนผมจะต้องกลับสู่โลกแห่งความจริงแล้วครับ เพราะผมพบว่า ตัวผมเองก็ไม่สามารถเป็นคนดี ทำแต่สิ่งดีงามได้ตลอดเวลา”
ถ้อยคำเรียบง่ายนี้แฝงไว้ด้วยความปวดร้าวของคนที่พยายามเป็น “คนดี” ในโลกที่ไม่เปิดพื้นที่ให้ความผิดพลาด ยิ่งไปกว่านั้น การส่งจดหมายถึงผู้จัดรายการวิทยุ ไม่ใช่เพียงการสื่อสาร แต่คือความพยายามของสมบัติในการบอกเล่าความเจ็บปวดบางอย่าง ที่เขาไม่เคยพูดกับใครมาก่อน
นอกจากความเป็นปัจเจกแล้ว หนังยังเผยให้เห็นโครงสร้างของสังคมที่กดทับชีวิตของผู้คน ผ่านภาพของความเหลื่อมล้ำที่ฝังลึก หนึ่งในฉากที่น่าสะเทือนใจคือ ฉากที่ชายผู้ป่าวประกาศตนว่าเป็น “คนดี” ของสังคม กลับพยายามข่มขืนสมบัติเองอย่างหน้าตาเฉย ฉากนี้ชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งในสังคมไทย ที่ “คุณธรรม” ถูกใช้เป็นหน้ากากบังความรุนแรงและการใช้อำนาจ
ไม่เพียงเท่านั้น หนังยังพาเราไปพบกับชีวิตของคนขับแท็กซี่เพื่อนสมบัติ ที่เป็นหนี้นอกระบบเพราะถูกหลอกให้ลงทุนในธุรกิจขายตรง จนกลายเป็นเหยื่อของการตามล่าเอาชีวิต หรือแม้แต่นวล พนักงานนวดผู้บอบช้ำจากอาชีพและสายตาของผู้คนที่มองเธออย่างแปลกแยก นวลไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่คือภาพสะท้อนของแรงงานหญิงในเมือง ที่ต้องยืนอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยอนุญาตให้มีศักดิ์ศรีโดยสมบูรณ์ ทุกคนล้วนมีตัวตน แต่กลับไม่มีที่ยืน ไม่มีใครรออยู่ที่ปลายทางของวัน ผู้คนเช่นนี้มีอยู่ทั่วเมือง แต่กลับไม่มีใครอยากมองเห็น ตัวละครภายในหนังจึงไม่เพียงเป็น “บุคคล” แต่ยังเป็น “ภาพแทน” ของผู้คนที่ค่อย ๆ ถูกกลืนหายไปในระบบสังคมทีละน้อย พวกเขาไม่ใช่เหยื่ออย่างสมบูรณ์ แต่ก็ไม่อาจนับเป็นผู้รอดอย่างแท้จริง
บทกวีของคนที่ถูกลืม
เฉิ่ม ไม่ได้เร่งรีบในการเล่าเรื่อง แต่มันกลับเร่งให้เราหยุดคิด ทบทวนว่า “ความเป็นมนุษย์” แท้จริงแล้วคืออะไร หนังเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ไม่อาจสื่อด้วยถ้อยคำ มันทำให้เราหัวเราะเบาๆ กับความเฉิ่มของสมบัติ อบอุ่นไปกับความรักที่เรียบง่ายของเขา และตั้งคำถามอย่างแผ่วลึกกับตัวเองว่า ในโลกที่หมุนเร็วเช่นนี้ เรายังเป็นตัวเราอยู่หรือเปล่า?
หรือในบางครั้ง เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้… และโลกนี้ก็ไม่เคยเป็นของเรา
เฉิ่ม คือหนังที่ดูเหมือนจะเงียบ แต่กลับเปล่งเสียงให้กับผู้คนที่ไม่เคยมีใครได้ยิน มันไม่ได้ตะโกน แต่มันพูดด้วยความเงียบที่หนักแน่นที่สุด ด้วยจังหวะที่นิ่ง ด้วยภาพที่ซื่อ และด้วยหัวใจที่ไม่ละทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
สมบัติอาจเป็นเพียงชายขับแท็กซี่ธรรมดาในกรุงเทพฯ ที่ไม่มีใครจดจำ แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เราได้หันกลับมารับฟังเสียงของผู้คนที่ไม่เคยมีพื้นที่พูด ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีเสียง แต่เพราะสังคมไม่เคยตั้งใจจะฟัง

ศิลปะ เดชากุล
นักเรียนรัฐศาสตร์ และผู้จัดการ Crackers Books ผู้หลงใหลในศิลปะ ภาพยนต์ และบทเพลง