เรื่องและภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว
ในยุคที่ศิลปะร่วมสมัยเติบโตควบคู่ไปกับวัฒนธรรมท้องถิ่น Art Toy กลายเป็นพื้นที่ใหม่ของศิลปินรุ่นใหม่ในการเล่าเรื่องรากเหง้าของตนเองผ่านรูปแบบที่ร่วมสมัย หนึ่งในนั้นคือ ปลื้ม-อิทธิพัทธ์ รักวงศ์วริศ ศิลปินรุ่นใหม่ที่เราอาจจะยังไม่คุ้นชื่อเขานักจากอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ปลุกปั้น “ล้านนา คอลเลกชั่น” ที่ผสมผสานศิลปะล้านนาเข้ากับงานปั้นแฮนด์เมดได้อย่างมีเอกลักษณ
เขาเริ่มต้นเส้นทางสายศิลปะจากสาขาเซรามิก วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ซึ่งรุ่นนั้นมีนักศึกษาเข้าเรียนเพียง 15 คน โดยเพื่อนร่วมรุ่นย้ายไปเรียนในสาขาอื่น มีเพียงเขาคนเดียวที่เรียนจนจบครบลูป ปลื้มเลือกเรียนเซรามิกตั้งแต่ต้นเพราะรู้ตัวดีว่าอยากทำประติมากรรม แม้จะวาดไม่เก่ง แต่ก็เชื่อมั่นว่าสองมือนี้จะพาเขาไปถึงจุดที่ต้องการได้ จนต่อยอดมาเป็นงานประติมากรรม และค้นพบพื้นที่ใหม่ของตัวเองในโลกของ Art Toy ที่ทั้งคงอัตลักษณ์ล้านนาและสื่อสารกับคนร่วมสมัยได้อย่างน่าประทับใจ
ปลื้มบอกว่า “งานของผมมันมีความเปราะบาง ซึ่งผมว่ามันคือเสน่ห์ของศิลปะ” และคำนี้พี่ชายเขา (ศิววงศ์ รักวงศ์วริศ) เคยพูดไว้ว่า “ศิลปะมักจะมีความเปราะบางอยู่เสมอ มันไม่คงทนตลอดไปหรอก” แต่ความเปราะบางนั้นเอง คือสิ่งที่ทำให้งานของเขามีชีวิต และมีคุณค่าต่อผู้คนที่ได้สัมผัส
ปลื้มไม่เพียงเป็นคนทำงานศิลปะ แต่เขาคือผู้เล่าเรื่องล้านนาด้วยมือของตัวเอง ทีละชิ้น ทีละตัว และทีละลมหายใจ บทสัมภาษณ์นี้ คือการเปิดโลกของ “ล้านนา คอลเลกชั่น” ผ่านมุมมองของคนที่เชื่อว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แค่ให้ใครสักคนหยุดดู หยิบจับ หรือรู้สึกกับมัน ก็เพียงพอแล้ว
ตอนเรียนเซรามิกที่อาชีวะ เขาสอนอะไรบ้าง ได้เริ่มทำงานปฏิมากรรมเลยไหม?
ตอนแรกเขายังไม่ได้สอนปฎิมากรรม 2 ปีแรกต้องเรียนเนื้อหาพื้นฐานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น จาน ถ้วย แก้ว โอ่ง หม้อ เป็นการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม แต่ใจผมคืออยากทำปฏิมากรรม แต่ผมไม่ถนัดเรื่องวาดเลย เลยมาเรียนเซรามิกก่อน เพราะอย่างน้อยมันก็ได้ปั้นถือว่าได้ฝึกมือไปในตัว
พอปีสุดท้ายของ ปวช. หลังจากอาจารย์สอนพื้นฐานของภาชนะใน 2 ปีแรกเสร็จ พอเหลือผมคนเดียว อาจารย์ก็เปิดโอกาสให้ทำงานปฏิมากรรมเต็มที่เลย งานแรกที่ทำคือเท้ายักษ์ ที่อยู่หน้าวัดป่าดาราภิรมย์ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นยักษ์ทวารบาล ต่อมาก็เริ่มปั้นพญานาคตอนนั้นปั้นเหมือนงูเขียวเลย (ฮ่า) และเริ่มทดลองปั้นตัวการ์ตูน อาจารย์ก็เห็นว่าเราชอบปั้นเลยเริ่มให้โจทย์ อย่างเขาเห็นตัวการ์ตูนตัวนี้น่าสนใจก็ให้เราลองปั้นดู ตอนนั้นเราปั้นจะเป็นหัวกลมๆ คล้ายตัวไม่ขีด ที่จะเอามาเชื่อมกับงานเซรามิก เช่น ถ้วย แก้ว ที่วางสบู่ เพราะหัวใจคือการใช้สอยหรือที่เรียกว่า “ประติมากรรมที่ใช้ได้จริง”
งานจบของผมคือ “โคมไฟพญานาค” ขนาดครึ่งตัว ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากพญานาคที่วัดอุปคุต เป็นการผสมผสานระหว่างประโยชน์ใช้สอยและศิลปะที่ผมรัก โดยได้อาจารย์พุทธา แก้วพิทักษ์ จากสาขาทัศนศิลป์ มาช่วยออกแบบงานร่วมกันกับอาจารย์ นราชิต คุณยศ จากสาขาที่ผมเรียนอยู่
พอเรียนมา 3 ปี ก็ทำให้ผมรู้ว่า “นี่แหละ ทางของเรา” ที่อยากทำไปตลอดชีวิต แล้วก็ได้วิชาเซรามิกติดตัวไปด้วย เลยเลือกเรียนต่อมหา’ลัย ในสาขาปฏิมากรรม ที่ตีนดอย (เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา)
สนุกไหมพอไปเรียนประติมากรรม
มันค่อนข้างยากอยู่เพราะผมวาดไม่เก่ง เพราะมันต้องมีสเก็ตงานก่อนถึงจะขึ้นงานได้ ซึ่งของผมเน้นปั้นมาตลอดตั้งแต่ ปวช. พอต้องวาดไปด้วย มันเลยต้องฝึกเพิ่มเยอะมาก ช่วงเรียนหลักๆ ก็จะเน้นปั้นกายวิภาคมนุษย์ กายวิภาคสัตว์ แล้วก็หุ่นโรมัน ซึ่งมันยากตรงที่เราดูแบบและสัดส่วนไม่เป็น
ซึ่งตอนอยู่มหาวิทยาลัยผมแทบไม่ได้แตะงานเซรามิกเลยครับ หันมาโฟกัสประติมากรรมเต็มตัวเลย ซึ่งตอนนั้นถ้าจะกลับไปทำเซรามิกก็ทำได้นะ แต่มันติดปัญหาเรื่องพื้นที่ในการปั้นในการทำงาน เพราะเราไม่มีเตาเผาต้องไปใช้ของคนอื่น ซึ่งมันลำบาก แล้วเวลาขนไปเผา เพราะดินที่ยังไม่เผามันเปราะเสียหายง่าย เลยเปลี่ยนมาใช้วัสดุอย่างเรซิ่นแทน หันมาหล่อเรซิ่น
ตอนโปรเจกต์จบปริญญาตรี ผมทำ “พญาลวง” ครับ เริ่มตั้งแต่ศึกษาที่มาว่าพญาลวงมาจากไหนและมาอยู่ในศิลปะล้านนาได้ยังไง ก็สืบสาวจนได้ความว่าล้านนาก็รับวัฒนธรรมมาหลายทางทั้งจากลาว พม่า อินเดีย จีน ศิลปะไทยส่วนใหญ่ก็มาจากอินเดียกับเพื่อนบ้านนั่นแหละ ซึ่งตอนแรกก็ตั้งใจจะทำ “สัตว์ล้านนา” นั่นแหละ แต่ยังไม่ได้มาในรูปแบบ Art Toy นะ แต่เป็นการปั้นแบบจริงจังเลย ผมทำทั้งหมด 4 ตัว ตัวละ 2 เมตรใหญ่มาก ปัจจุบันก็ยังอยู่ครบทุกตัวแต่ไม่มีที่เก็บนะ ตอนนี้เอาไปทิ้งไว้บ้านยาย (ฮา)
พญาลวงทั้ง 4 ตัว มีที่มาในการปั้นต่างกันทั้ง 4 ตัว เริ่มจากตัวแรกได้แรงบันดาลใจจากจีน ตัวต่อมาก็ลาว พม่า และตัวสุดท้ายเป็นสัตว์ผสม ที่เอาความรู้ที่ผมสืบค้นมารวมกัน เช่น อย่างตัวมอม ที่เป็นการผสมของแมว จิ้งจก กิ้งก่า เกล็ดปลา ผมก็เลยออกแบบใหม่ขึ้นมา แล้วตั้งชื่อว่าพญาลวง
พญาลวง 4 ตัวนี่ถือว่าเป็นงานที่ภูมิใจที่สุดงานหนึ่งเลยครับ แต่ก็ยังไม่เคยออกสื่อที่ไหนนะ เพราะแสดงจบก็คือจบเลย ตอนนั้นจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ ที่อำเภอแม่ออนนู้นไกลมาก วันเปิดงานคนที่มางานส่วนใหญ่ก็มีแต่ครอบครัวของเพื่อน แต่คนรู้จักผมไม่มีใครมาเลยเพราะมันไกลจริงๆ (ฮา) แต่ตัวงานก็ถือว่าขโมยซีนอยู่นะ เพราะวางไว้กลางห้องใหญ่ 2 เมตร ใครเดินมาก็ต้องเห็น
หลังจากเรียนปริญญาตรี จบผมก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ตอนนี้กำลังเรียนสาขาพุทธศิลป์ ที่เลือกเรียนเพราะพี่ชายเรียนปริญญาเอกอยู่ที่นั่น แล้วแม่ก็อยากให้เรียนต่อด้วย แต่ตอนนั้นเรามีสองทางเลือก คือจะทำงานเลย หรือเรียนต่อ ซึ่งช่วงนั้นก็ตรงกับเกณฑ์ทหารพอดี เลยวางแผนไว้ว่าถ้าจับได้ใบแดงก็จะไปทำงาน แต่สุดท้ายจับได้ใบดำ ก็เลยตัดสินใจเรียนต่อทันที
แล้วทำไมถึงมาทำ Art Toy
ไอเดียจริง ๆ มันเริ่มมาตั้งแต่ตอนทำโปรเจกต์ตอนมหาวิทยาลัยเลยครับ เพราะช่วงนั้นเริ่มหันมาใช้วัสดุอย่างเรซิ่นแทนปูนปั้น เนื่องจากพังยากกว่า แล้วพอได้ลองใช้เรซิ่น มันก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันเวิร์กนะ ก็เลยต่อยอดมาเป็นงาน Art Toy
จุดเริ่มต้นเลยก็คือ ผมสงสัยว่าทำไมพุทธศาสนาที่อยู่ในชีวิตประจำวันของสังคมไทยถึงไม่มีโมเดล? แต่สิ่งที่อยู่ในวัดอย่างพระพุทธรูปองค์เล็กๆ หรือสัตว์ล้านนาตัวเล็กๆ สำหรับผมนะ ผมว่ามันคือ Art Toy สมัยโบราณ
ถ้าย้อนไปในยุคที่ช่างฝีมือยังไม่เยอะ เขาก็ปั้นจากจินตนาการกันทั้งนั้นอย่าง ช้าง ม้า วัว ควาย อะไรแบบนั้น มันคือศิลปะบริสุทธิ์ที่ยังไม่ได้ผ่านการขัดเกลา มันเลยมีทั้งแบบที่ทำง่ายๆ โล้นๆ ไม่มีดีเทล กับอีกแบบที่ทำแบบวิจิตรงดงามไปเลย
พอได้โจทย์ประมาณนี้เลยอยากจะเผยแพร่และสืบสานวัฒนธรรมล้านนาลงไปใน Art Toy แต่คำถามมันคือจะทำยังไงให้ไม่ดูเล่นเกินไปและก็ไม่จริงจังเกินไป? เพื่อให้คนทั่วไปที่ไม่ได้อินกับศิลปะก็สามารถชื่นชม หรือซื้อไปสะสมได้แบบไม่รู้สึกผิด เพราะถ้ามันดูเป็นพระพุทธรูปจริงจังเกินไป คนอาจจะไม่กล้าซื้อ
ตอนนั้นผมยังไม่ได้คิดถึงคำว่า Art Toy เลยด้วยซ้ำ คิดแค่ว่าอยากทำของยังไงให้คนที่นับถือศาสนาพุทธหรือคนที่นับถือศาสนาอื่น สามารถซื้อไปได้โดยไม่รู้สึกผิดต่อตัวเองหรือต่อความเชื่อของเขา พอหันกลับมามอง Art Toy ที่คนทั่วไปเขาก็ซื้อสะสมกันได้อยู่แล้ว อย่างพวกโมเดลพระญี่ปุ่นที่ทำเป็นท่าทางตลกๆ บางคนก็มองว่าน่ารัก แต่กับบางคนก็มองว่าลบหลู่ ซึ่งตรงนี้มันค่อนข้างละเอียดอ่อน เราเลยรู้สึกว่าถ้าจะทำต้องคิดให้รอบคอบต้องระวังเรื่องพวกนี้ด้วย
ตอนนั้นเลยเริ่มทำตัวแรกออกมาเป็น พระพุทธเจ้าน้อย โดยยึดหลักไว้ว่า ต้องให้ครบ 32 ลักษณะมหาบุรุษตามพระไตรปิฎก ห้ามขาด ห้ามเกิน ตอนนั้นทำออกมาแค่ตัวเดียวเป็นก๊อปปี้ แล้วลองปล่อยออกไปให้คนรู้จักลองดูให้เขาฟีดแบค เราบอกว่าเราจะตั้งราคาไว้ที่องค์ละ 700 บาท ซึ่งคนรู้จักเราก็บอกว่ารู้สึกแพง ตอนนั้นฟังก็แอบน้อยใจอยู่นิดๆ นะ
“ไม่ใช่น้อยใจเรื่องราคาหรอก แต่น้อยใจที่คนมองว่ามันแพง ทั้งๆ ที่สำหรับเรา เราว่ามันไม่แพงเลย แต่ก็เข้าใจได้นะ เพราะคนกลุ่มนั้นเขาอาจยังไม่คุ้นกับการสะสมอะไรแบบนี้”
ก็เลยต่อยอดมาเป็นล้านนา คอลเลกชัน
พอทำพระพุทธเจ้าน้อยออกมา หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้แสดงงานครั้งแรก เป็นนิทรรศการแบบ Duo กับพี่ชาย ที่ร้านกาแฟ Twenty mar ที่ย่านสามกษัตริย์ ตอนนั้นเจ้าของร้านให้ใช้พื้นที่ฟรี เลยเป็นโจทย์ให้เราว่าถ้ามีพระพุทธเจ้าน้อยแล้วควรต่อยอดยังไงดี? เลยมองย้อนกลับไปวัดในล้านนา มันยังมีสัตว์ในตำนานอีกเยอะมาก ซึ่งถือว่าเป็นจุดให้เรานั้นได้ต่อยอดงานเป็น “ล้านนา คอลเลกชัน” อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ครับ
ตัวแรกที่เริ่มทำคือ แบร์ 4 หู 5 ตา ที่จริงๆ มันก็คือแมง 4 หู 5 ตานั่นแหละ แต่ผมใส่ความขี้เล่นลงไปเปลี่ยนชื่อเป็น แบร์ (Bear) ให้ดูสนุกๆ ตลกๆ หน่อย เป็นหมี โดยแบร์ 4 หู 5 ตา นั้นเป็นสัตว์ในตำนานล้านนาที่เชื่อว่าเป็นสิ่งนำโชคเนื่องจากกินถ่านไฟแล้วถ่ายออกมาเป็นทองคำ ทั้งนี้ทางพุทธศาสนายังให้ความหมาย 4 หู 5 ตา หมายถึง หลักพรหมวิหาร 4 และ ศีล 5 ข้อ การกินถ่านไฟและขับถ่ายเป็นทองหมายถึง การอดกลั้นต่อกิเลสนั้นส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ในการสร้างสรรค์ผลงานประกอบกับความเชื่อในเรื่องโชคลางจึงใช้ท่าทางการกวักเป็นสัญลักษณ์โดยมีความหมาย ความเชื่อ เดียวกับนางกวักที่เชื่อว่าสามารถเรียกทรัพย์สินเงิน ทองให้โชคด้านการค้า
ตัวต่อมาคือ หงส์ ซึ่งมักจะอยู่ตามยอดวิหารในล้านนา แต่ในสถาปัตยกรรมล้านนามักพบนก ที่มักประดับตกแต่งตามซุ้มหลังคา หรือ ซุ้มประตูโขง ในพระพุทธศาสนาชาวล้านนาเชื่อว่าหงส์เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ และเชื่อว่าหงส์จะนำพระธรรมมาสู่ที่แห่งนั้น
อีกตัวที่ยอดฮิตก็คือตัวพญานาคที่มีทุกๆ ในสถาปัตยกรรมทั่วไทย ลักษณะเป็นงูใหญ่มีหงอน มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ด้วยเป็นผู้ปกป้องพระพุทธเจ้าให้พ้นจากลม ฝนตามเรื่องราวในพุทธประวัติ จึงเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรกและนิยมปั้นพญานาคประดับราวบันไดวิหาร หรือใช้เป็นลวดลายประดับศาสนาสถานต่างๆ ด้วยความเชื่อที่ว่าสามารถปกปักรักษาศาสนสถานนั้นๆ ทั้งนี้ยังถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของน้ำและความอุดมสมบูรณ์
ส่วนพระพุทธเจ้าน้อย ผมก็ทำออกมาทั้งหมด 2 ปาง ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ตอนเรียนปริญญาโทของผม เรื่องแท่นวัชรอาสน์ คือแท่นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้แก่ ปางสมาธิ ที่เป็นภาพพระพุทธเจ้านั่งสมาธิภาวนา และปางมารวิชัย คือภาพพระพุทธเจ้าทำมือเป็นสัญลักษณ์โดยมือเบื้องขวาคลายลงมาอยู่บริเวณหน้าแข้งทำปลายนิ้วจรดพื้นดิน ตามพุทธประวัติการทำปลายนิ้วจรดพื้นดินเพื่อบอกเป็นนัยว่าพื้นดินนี้คือพยานในการบำเพ็ญความดีของพุทธเจ้า ในชื่อ “Buddha Buddha Buddha” ตอนแรกตั้งใจจะทำแค่ปางเดียว แต่อาจารย์ถามกลับมาว่าสรุปตอนตรัสรู้ พระพุทธเจ้าอยู่ในปางสมาธิ หรือมารวิชัยกันแน่? ผมก็ตัดปัญหาเลยครับ ทำทั้ง 2 ปางไปเลย
นอกจากผลงานที่จัดแสดงที่ร้านกาแฟ Twenty mar แล้ว ล้านนา คอลเลคชั่นของปลื้ม ยังมีตัวละครในตำนานล้านนาอีกหลายชิ้น ดังนี้
สิงห์ ซึ่งการทำรูปสิงห์ให้เป็นผู้เฝ้าศาสนสถานนี้ ตามความเชื่อของอินเดียโบราณมีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ศรีศากยมุนีขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีสิงห์เป็นรูปสัญลักษณ์ จึงถูกนำมาใช้ประดับตกแต่งงานพุทธศิลป์เกือบทุกส่วน รวมไปถึงการใช้สิงห์เฝ้าดูแลหน้าวัดเสมือนทวารบาล แต่ตำนานของชาวพม่าซึ่งมีอิทธิพลต่อชาวล้านนาในช่วงระยะเวลากว่าสองศตวรรษ มีการผูกเรื่องให้พระธิดาของพระราชาองค์หนึ่งหายไปในป่า แล้วถูกนางสิงห์เลี้ยงดูเหมือนลูกอยู่หลายปี จนพระราชาตามมาพบแล้วพรากพระธิดาจากนางสิงห์มา นางสิงห์กรีดร้องโหยหวนและกลั้นใจตายเพราะไม่สามารถข้ามแม่น้ำติดตามพระธิดาได้ เป็นเหตุให้พระราชาสร้างอนุสาวรีย์นางสิงห์ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นการขอขมา จึงเรียกว่า “สิงห์ไถ่บาป”
ตัวมอม เป็นสัตว์ในตำนาน เป็นพาหนะของเทพปัชชุนนะเทวบุตร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝนในคติล้านนา ตัวมอมมีรูปร่างคล้ายแมวผสมสิงโต ดังนั้นบุคลิกของมอม จึงดูเหมือนจะน่ากลัวแต่บางครั้งก็ดูขี้เล่น มอม เป็นสัตว์พาหนะของปัชชุนนเทวบุตร เทพแห่งฝน จึงใช้มอม ในการขอฝนต่อปัชชุนนเทวบุตร โดยการ “แห่มอม”
แมงโต เป็นสัตว์ป่าหิมพานต์ มีสัตว์สี่เท้า บางตัวมีขนยาวปุกปุย บางตัวไม่มีขน ส่วนหัวบางแห่งมีลักษณะคล้ายเลียงผา บางตัวมีหัวคล้ายมังกร เฉพาะที่ปากมีการออกแบบให้ขยับและคาบสิ่งของได้ โดยมีเรื่องราวในสมัยพุทธกาล หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรม โปรดพุทธมารดา และทรงจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระพุทธองค์เสด็จลงสู่โลกมนุษย์ในวันเทโวโรหนะ ครั้งนั้นบรรดาสัตว์ทั้งหลายในป่าหิมพานต์ได้พากันไปเฝ้ารับเสด็จ และแต่ละตัวต่างก็แสดงความลิงโลดดีใจ ในการเสด็จกลับของพระพุทธ เมื่อมนุษย์ไปเห็นเข้าก็จดจำมาจำลองเป็นการแสดงเต้นโต ซึ่งเป็นการแสดงของชาวไทใหญ่
พญาลวง เป็นสัตว์ในตำนานตัวหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในศิลปกรรมล้านนา และมักถูกเข้าใจว่าเป็นพญานาค แต่หากดูรายละเอียดแล้วจะพบว่า มีความแตกต่างกันตรงที่พญาลวงนั้นจะมีลักษณะคล้ายมังกรและพญานาครวมกัน และเชื่อกันว่าคำว่า “ลวง” มาจากคำว่า “เล้ง” ที่แปลว่า “มังกร”จะมีสี่ขาอย่างมังกร มีหู มีปีก และมีเขา ซึ่งสันนิษฐานว่า “พญาลวง” รับรูปแบบมาจากศิลปกรรมของจีน โดยมีความหมายถึง พลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่ และเพศชาย อีกทั้งในยามค่ำคืนที่มองเห็นฟ้าแลบบนท้องฟ้า มองดูแล้วมีความงดงามอย่างมาก ชาวล้านนามักเรียกขานความงามจากปรากฎการณ์นี้ว่า “ลวงเล่นฝ้า”
ดูสนุกมาก มันเปิดโอกาสให้คนรู้จักเรามากขึ้นไหม
คนเริ่มรู้จักมากขึ้นครับ ส่วนใหญ่รู้จักผ่านงานที่จัดแสดง แล้วก็จาก Exhibition ที่จัดในร้านกาแฟ Twenty mar ซึ่งคนที่อุดหนุนส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน แล้วก็มีอยู่ชิ้นนึงที่ผมดีใจมากคือผลงานได้ไปอยู่ฝรั่งเศส คือ แบร์ 4 หู 5 ตา ตอนนั้นคนฝรั่งเศสเขาไปดูงานแล้วก็ติดต่อผ่านทางร้านกาแฟ เพราะอยากได้ ป้ายอธิบายผลงาน (ใบ Lebel) เพื่อยืนยันว่าเป็นผลงานของศิลปินจริงๆ (ใบ Lebel คือเอกสารที่อธิบายชิ้นงานศิลปะแต่ละชิ้น ซึ่งจะบอกข้อมูลของผลงานเบื้องต้น เช่น ชื่อผลงาน ชื่อศิลปิน ปีผลิต แนวคิด)
ตอนนั้นผมรู้สึกดีใจมาก เพราะมันทำให้รู้ว่างานของเรามันไปไกลกว่าที่คิด แล้วมันก็ยิ่งย้ำว่า งานเรามีคุณค่าในเชิงศิลปะจริงๆ รวมถึงได้เผยแพร่วัฒนธรรมล้านนาไปในตัวด้วย
แล้วพอเอาล้านนามาพัฒนาในงาน Art Toy มันยากหรือง่ายยังไงบ้าง
ผมว่าความยากมันอยู่ที่รูปแบบ คือเรานำของเดิมที่มีอยู่แล้วมาตีความใหม่ แต่มันต้องเคารพของเดิมด้วย อย่างสัตว์แต่ละตัวมันมีลักษณะเฉพาะของมันอยู่แล้ว อัตลักษณ์เหล่านี้แหละที่ต้องเก็บไว้ให้ได้ในงาน Art Toy เราไม่ได้เปลี่ยนเนื้อใน แค่เปลี่ยนเปลือกให้เข้ากับยุคสมัย ให้มันดูร่วมสมัยขึ้น ดูน่ารักขึ้น เห็นแล้วรู้สึกอยากหยิบ อยากตั้ง อยากเก็บไว้ และแน่นอนว่า ผลงานทุกชิ้นจะมีความเป็นตัวตนของผมมันก็แทรกอยู่ในงานทุกชิ้น เพราะผมเป็นคนขี้เล่น ขี้กวน งานมันเลยออกมาแบบนั้น
ซึ่งปัจจุบันกระแส Art Toy มาแรงมาก คนก็หันมาทำกันเยอะซึ่งส่วนมากเขาจะใช้การปั้นผ่านเครื่องพิมพ์ 3D แต่ของผมเป็นงาน ผมเลือกปั้นต้นแบบด้วยมือหมด เป็นแฮนด์เมด 100% ต่อให้ทำ 700 ตัว ก็ปั้นมือทีละตัว ทุกชิ้นจึงไม่เหมือนกันเลย สี รายละเอียด พื้นผิว ไม่ซ้ำ อย่างตัวแบร์ 4 หู 5 ตา ผมจะปั้นเล็บเองทุกตัวเลย ตรงไหนที่ผมตั้งใจจะใส่ดีเทล ก็จะเว้นไว้ แล้วค่อยมาปั้นเสริมทีหลัง
แน่นอนว่ามันก็มีข้อเสียตรงที่อาจจะไม่แข็งแรงเท่าของที่ปั้นจากโรงงาน หรือที่ใช้ เครื่องพิมพ์ 3D ซึ่งงานของผมมันมีความเปราะบาง ซึ่งผมว่ามันคือเสน่ห์ของศิลปะ คำนี้พี่ชายผมพูดไว้ว่า “ศิลปะมักจะมีความเปราะบางอยู่เสมอ” มันไม่คงทนตลอดไปหรอก
อีกอย่างคือ ไม่มีชิ้นไหนที่ลวดลายซ้ำกันเลย สมมุติว่าหล่อออกมา 10 ตัว ดีเทล สี ผิว งาน ทุกอย่างจะไม่เหมือนกันเลย แต่ถ้าใครอยากได้พิเศษจริง ๆ แบบสั่งทำเฉพาะ เช่น อยากให้เขียนชื่อ หรือใส่ข้อความลงไปในตัวงาน ผมก็ทำให้ได้ครับ เพราะมันเป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมดอยู่แล้ว
แต่ถ้าชิ้นงานเสียหาย ผมก็ซ่อมให้ได้ครับ เพราะทำเองทุกชิ้น ถ้ามีอะไรที่พังหรืออยากแก้เพิ่ม ก็ส่งกลับมาได้เลย
ไหนลองนิยาม “ล้านนา คอลเลกชัน” ให้ฟังอีกสักหน่อย
สำหรับผม มันเชื่อมโยงกับสังคมและโลกในแบบที่ล้านนาคือ “คนกับสถานที่” นี่แหละ ถ้ามองในภาพกว้างก็คือภาคเหนือตอนบน และคนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นก็คือชาวล้านนา มันไม่ใช่แค่ศิลปะอย่างเดียว แต่เป็น “วิถีชีวิต” ที่ถึงจะย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ หรือที่ไหนก็ตาม แต่กิจกรรมที่ดำเนินในทุกๆ วัน ยังคงเป็นวิถีเดิมอยู่ เพราะถิ่นกำเนิดเราคือล้านนา มันฝังอยู่ในตัวอยู่แล้ว
ส่วนสิ่งที่เชื่อมโยงกับโลกก็คือ “ศิลปะกับวัฒนธรรม” แม้คนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเรา เขาก็สามารถ “ดู” วิถีชีวิตของเราได้ หรือ “เสพ” ศิลปะของเราได้ ผ่านชิ้นงานที่เราออกแบบและสร้างขึ้นมา
ทำ Art Toy หรืองานปฏิมากรรม อยู่ได้ไหมในเชียงใหม่
ผมว่ามันอยู่ได้นะแต่มันก็ต้องกัดฟันกันไป เพราะมันไม่ได้ขายได้ตลอด ถ้ายึดแค่งานศิลปะอย่างเดียว ยังไงก็ไม่พอ ต้องมีอย่างอื่นทำควบคู่ด้วย แต่ถ้าวันหนึ่งติดลมบนแล้วก็อยู่ได้แน่นอน เพราะต้นทุนวัสดุ อุปกรณ์ทุกอย่างมันก็มีราคา ถึงจะไม่เยอะมาก แต่รายได้จากงานศิลปะก็ไม่แน่นอน ส่วนตัวผมไม่ได้หวังให้มันบูมหรือเป็นกระแสอะไร แค่อยากให้คนได้เห็นงาน ได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันมีอยู่
ส่วนแผนในอนาคต ตอนนี้กำลังจะทำเซตใหม่เป็น “สัตว์จีน” เพราะล้านนาเราไม่ได้มีแค่วัฒนธรรมของตัวเองแบบบริสุทธิ์ แต่มันผสมมาจากหลายวัฒนธรรม ตอนนี้ทำ “มังกรจีน” อยู่ เหลือเก็บรายละเอียด อีกตัวคือ “สิงโตจีน” ที่เห็นในขบวนเชิดสิงโต คนไทยบางคนเรียกว่า “หมาเชาเชา” ตัวที่ลิ้นดำ ๆ นั่นแหละ แต่จริง ๆ ถ้าเป็นในรูปแบบของปฏิมากรรม เขาจะเรียกว่าสิงโต
ฝากผลงานหน่อยมีอะไรให้ได้ติดตามอีกบ้าง
ตอนนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทอยู่ ยังไม่มีแผนจัดแสดงเร็วๆ นี้ แต่สามารถติดตามงานของผมได้ใน IG ชื่อ ai_ait19 เป็นบัญชีที่ใช้โพสต์งานศิลปะอย่างเดียว ส่วนใหญ่ที่ลงก็เป็นงานในล้านนา คอลเลกชั่น รวมถึงงานเก่าตั้งแต่สมัยเรียนอาชีวะด้วย (แต่พวกงานเก่ายังไม่ได้ขายนะครับ ลงไว้ให้ชมเฉย ๆ) ถ้าใครสนใจอยากได้ ต้องติดต่อผ่านอาจารย์ที่อาชีวะ เพราะงานยังเก็บอยู่ที่นั่น

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ