11 มิถุนายน ถือเป็นวันคล้ายวันเกิดของนักบุญแห่งล้านนา ครูบาเจ้าศรีวิชัย หรือ ‘ครูบาศรีวิชัย’ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เป็นทั้งคุณูปการแก่ภาคเหนือ และประวัติศาสตร์แรงศรัทธาและการร่วมแรงร่วมใจกันของประชาชน โดย Lanner ขอบอกเล่าประวัติของครูบาศรีวิชัย เพื่อไม่หลงลืมไปว่า ประวัติศาสตร์ของประชาชนที่ไม่ถูกกดทับโดยประวัติศาสตร์จากส่วนกลาง ยังคงมีชีวิต
จากข้อมูลในหนังสือ สารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ของ สิงฆะ วรรณสัย ได้ระบุข้อมูลชีวิตชั้นต้นของ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ไว้ว่า ท่านเกิดในปีขาล เดือน 9 เหนือ หรือเดือน 7 ของภาคกลาง ตรงกับวันขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ. 1240 เวลาพลบค่ำ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2421 ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน ในปัจจุบันคือ ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
เมื่อครั้งอายุ 17 ปี นายเฟือนได้เข้าสู่เส้นทางธรรม บวชเป็นเณรที่วัดบ้านปาง ร่ำเรียนวิชาต่าง ๆ กับครูบาขัตติยะ เมื่อสามเณรอินตาเฟือนมีอายุย่าง 21 ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระที่วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน ได้รับฉายานามว่า “สิริวิชโยภิกขุ” หรือ “พระศรีวิชัย”
บทบาทในทางพุทธศาสนาและความเชื่อท้องถิ่น ครูบาศรีวิชัยท่านมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดกว่าพระสงฆ์ทั่วไป เช่น การฉันอาหารมื้อเดียวและเว้นการฉันเนื้อสัตว์ ให้ความสำคัญกับการถือสันโดษและศีลวินัย สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะเด่นที่ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อตัวครูบาศรีวิชัย ซึ่งสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องการกำเนิดตนบุญหรือพญาธรรมิกราช ที่เชื่อกันว่าจะลงมาช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนา
ด้วยจริยวัตรอันเคร่งครัดของครูบาศรีวิชัย ทำให้เกิดแรงศรัทธาแก่เหล่าพุทธศาสนิกชน กระทั่งรวบรวมเหล่าพุทธศาสนิกชนทำการสร้างทางเดินขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นผลสำเร็จ โดยเริ่มสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2478 โดยครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่ “นั่งหนัก” เป็นประธานระดมทุนทรัพย์และพลังของผู้มีจิตศรัทธา ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจของการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพนั้น ไม่มีการใช้งบประมาณจากภาครัฐเลย แต่อุดมไปด้วยแรงศรัทธาของประชาชนแทบทั้งสิ้น
ตลอดการก่อสร้างครูบาศรีวิชัยนั้น ได้หน้าที่ “นั่งหนัก” เป็นประธานระดมทุนทรัพย์และรับไทยทานที่บริเวณหน้าวัดศรีโสภา โดยมีประชาชนมาขอเป็นอาสา หรือร่วมเป็นเจ้าภาพในการทำทาง รวมกว่า 118,304 คน โดยใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลา 5 เดือน 22 วัน แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ ก็ทำให้ครูบาศรีวิชัย ถูกควบคุมมากักและสอบสวนไว้ที่กรุงเทพฯ ในปี 2478 เป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี พร้อมกับกล่าวหาว่าไม่ยอมปรองดองกับคณะสงฆ์ โดยมีข้อกล่าวหาว่า 1.จัดอุปสมบทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะ 2.ตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เอง 3.ออกใบสุทธิและหนังสือตราตั้งคณะตนเอง 4.ก่อสร้างบูรณะโดยไม่ขออนุญาตกรมศิลป์ ไม่อนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิม 5.ยุยงให้พระสงฆ์ออกจากการปกครองของรัฐ
นอกจากที่ท่านจะสร้างทางขึ้นดอยสุเทพแล้ว ครูบาศรีวิชัยยังได้จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับล้านนาไทย รวมทั้งการสร้าง และบูรณวัดต่างๆ หลายวัด ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ทรงศีล จนได้รับขนานนามว่า “พระครูบาศีลธรรมเจ้า”
นอกจากบทบาททางศาสนา ครูบาศรีวิชัยยังมีบทบาทในทางการเมืองด้วย แรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อครูบาศรีวิชัยจำนวนมาก เกิดเป็นแรงสั่นสะเทือนของอำนาจรัฐ ที่พยายามผนวกอาณาจักรล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และคณะสงฆ์กลาง ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 โดยกำหนดให้พระสงฆ์ฝ่ายปกครองต้องได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง เปลี่ยนโครงสร้างการปกครองสงฆ์ท้องถิ่นใหม่ พระอุปัชฌาย์ที่สามารถบวชให้กับผู้คนได้ต้องแต่งตั้งจากส่วนกลาง นั่นทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นอุปัชฌาย์เถื่อนในทันที เพราะสยามเองก็ว่าด้วยบารมีของท่านจะทำให้เกิดการซ่องสุมผู้คน ตั้งตนเป็นผีบุญต่อสู้กับอำนาจรัฐเช่นที่เกิดในพื้นที่อีสาน และด้วยลักษณะของการเป็นตนบุญของครูบาศรีวิชัย จึงทำให้ท่านถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลสยาม จนต้องอธิกรณ์ข้อกล่าวหาว่า อ้างตนเป็นผู้วิเศษด้วยมนต์คาถา พยายามตั้งตนเป็นผีบุญ ซ่องสุมผู้คน และไม่ยอมปรองดองกับคณะสงฆ์
ด้วยคุณูปการที่โดดเด่นของครูบาศรีวิชัยในอดีต ทำให้ท่านเป็นตัวแทนพลังทางสังคมของวัฒนธรรมล้านนาในการต่อรองอำนาจรัฐ และกลายเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญทางพุทธศาสนาแบบล้านนา สู่การเป็นตัวอย่างให้พระสงฆ์ในปัจจุบันที่พยายามปฏิบัติตามภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัย
ปี พ.ศ. 2445 มีการออก พรบ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 ซึ่งมีการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นแบบแผนเดียวกันทั้งประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ในพระธรรมวินัยให้พระภิกษุสงฆ์ ได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้สำหรับการครองสมณะเพศ ทำให้การปกครองคณะสงฆ์เปลี่ยนจากการปกครองกันเองในแต่ละเมือง กลายมาเป็นคณะปกครองจากส่วนกลางในกรุงเทพฯ เข้ามาปกครองคณะสงฆ์ตามเมืองต่างๆ ในภูมิภาค
การกระทบกระทั่งกับเจ้าคณะปกครองของ ครูบาศรีวิชัย มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ครูบาศรีวิชัย ได้ทำการอุปัชฌาย์ลูกศิษย์โดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เนื่องจากคณะสงฆ์ได้วางระเบียบเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการลักลอบบวชเพื่อหนีความผิดอาญา และเพื่อควบคุมการปกครองคณะสงฆ์ให้อยู่ในความดูแลที่ทั่วถึง โดยมีการกำหนดให้การแต่งตั้งอุปัชฌาย์นั้น อยู่ในอำนาจของเจ้าคณะปกครอง และต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าคณะปกครองชั้นผู้ใหญ่
เจ้าหน้าที่มาเชิญครูบาศรีวิชัยไปกักบริเวณที่วัดเจ้าคณะแขวง 4 วัน แล้วส่งต่อให้เจ้าคณะจังหวัดสอบสวน แต่สุดท้ายไม่ปรากฏว่าเข้าความผิดสถานใด
ต่อมาไม่นานครูบาศรีวิชัยถูกเรียกไปสอบสวนอีก จากสาเหตุที่ พระครูมหาอินทร์ เจ้าคณะแขวงลี้ ได้มีหนังสือเรียกให้ครูบาศรีวิชัยและพระลูกวัดไปประชุมเพื่อรับทราบระเบียบกฎหมายใหม่ เมื่อครูบาศรีวิชัยไม่ได้ไปร่วมประชุม บรรดาพระลูกวัดจึงไม่ไปประชุมด้วย เจ้าคณะแขวงจึงให้เชิญครูบาศรีวิชัย ไปพบเจ้าคณะจังหวัดเพื่อสอบสวน และลงโทษกักบริเวณ 23 วัน แต่หลังจากนั้นครูบาศรีวิชัยก็ยังไม่เข้าร่วมประชุมตามคำเชิญอีก จึงถูกเจ้าคณะจังหวัดลำพูนลงโทษกักบริเวณอีกเป็นเวลา 1 ปี และมีการเรียกประชุมพระครูผู้ใหญ่ในจังหวัด ให้ปลดครูบาศรีวิชัยจากตำแหน่งหมวดวัด ไม่ให้เป็นอุปัชฌาย์ และให้กักบริเวณเพิ่มอีก 1 ปี
หลังจากพ้นอธิกรณ์แล้ว ปรากฏว่าเหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างกระแสศรัทธาในหมู่ชาวบ้านเพิ่มขึ้น และเกิดเรื่องเล่าลือถึงปาฏิหาริย์ต่างๆ จนทำให้เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้ตั้งข้อกล่าวหาว่า ครูบาศรีวิชัย ซ่องสุมกำลังคนตั้งตนเป็นผีบุญ โดยแอบอ้างเวทย์มนต์ เจ้าคณะแขวงจึงขอให้เจ้าคณะจังหวัดสั่งลงโทษครูบาศรีวิชัย โดยการขับออกจากจังหวัดลำพูนภายใน 15 วัน แต่เนื่องจากครูบาศรีวิชัยยกข้อต่อสู้ว่า ตนทำผิดพระวินัยหรือผิดกฎหมายข้อใดบ้าง ปรากฏว่าเจ้าคณะจังหวัดให้คำตอบไม่ได้ เรื่องในครั้งนี้ก็จึงยุติลงเงียบๆ
ต่อมา เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้านครลำพูน ได้เรียกครูบาศรีวิชัยและพระลูกวัดเข้ามาในเมือง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากพากันไปต้อนรับการเข้าเมืองของคณะครูบาศรีวิชัยและพระลูกวัด ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้อุปราชมณฑลพายัพเกรงว่าจะเกิดเรื่องบานปลาย จึงเชิญครูบาศรีวิชัยไปเชียงใหม่ โดยให้ไปอยู่กับรองเจ้าคณะเมือง วัดปากกล้วย (ศรีดอนไชย) แต่หลังจากนั้นครูบาศรีวิชัย กลับต้องอธิกรณ์ใน 8 ข้อหา คือ
1.ตั้งตัวเป็นอุปัชฌายะ บวชพระเณรโดยไม่มีใบอนุญาต
2.ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของพระครูมหารัตนากร เจ้าคณะแขวงลี้
3.เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรเรียกประชุมสงฆ์ท้องที่อำเภอลี้ เพื่อแจ้งระเบียบคณะสงฆ์และระเบียบราชการ แต่พระศรีวิชัยไม่ยอมไป
4.ทางราชการให้วัดทั้งหลายตีฆ้องกลองในพิธีบรมราชาภิเษก แต่พระศรีวิชัยไม่ทำ
5.เจ้าคณะสงฆ์ลี้เห็นว่า วัดอื่นขัดขืนคำสั่งคณะปกครองเอาอย่างพระศรีวิชัย เจ้าคณะจังหวัดจึงได้ว่ากล่าวตักเตือน แต่พระศรีวิชัยยังประพฤติเหมือนเดิม
6.เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรขอสำรวจสำมะโนครัว แต่พระศรีวิชัยไม่ยอมให้สำรวจ
7.เจ้าคณะแขวงลี้นัดประชุมพระอธิการวัดต่างๆ แต่ไม่มีใครมาประชุม เพราะเอาอย่างพระศรีวิชัย
8.ลือกันว่าพระศรีวิชัยมีคุณวิเศษเวทย์มนต์
จากข้อกล่าวหาเหล่านี้ ครูบาศรีวิชัยจึงถูกส่งตัวมาไต่สวนที่กรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2463 แต่มีวินิจฉัยว่าการที่ครูบาศรีวิชัยถูกตั้งข้อกล่าวหาเหล่านี้ เป็นเพราะความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งเมื่อดูตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีน้ำหนักพอที่จะเอาความผิดได้ จึงกลายเป็นการหาความผิดในทางคณะสงฆ์แทน ซึ่งมีวินิจฉัยว่า ครูบาศรีวิชัยมีความรู้ในทางพระธรรมวินัยยังไม่ค่อยดี การทำความผิดในครั้งนี้ เกิดจากความไม่รู้ ไม่ใช่เพราะดื้อดึง จึงไม่ทรงเอาผิด และทรงเห็นว่าอธิกรณ์ต่างๆ ทั้ง 8 ข้อนี้ มีจุดมุ่งหมายในทางการเมืองมากกว่า
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพียง 3 ปี ได้เกิดเหตุการณ์ที่พระสงฆ์จำนวนมากในเชียงใหม่ขอไปขึ้นตรงกับครูบาศรีวิชัย โดยขอออกจากเจ้าคณะปกครองของตน ทำให้เกิดความขัดแย้งของคณะสงฆ์ในเชียงใหม่ขึ้น จนทางรัฐบาลเห็นว่า ครูบาศรีวิชัยไม่เพียงแต่สร้างปัญหาให้กับคณะสงฆ์ หากแต่เป็นภัยต่อความมั่นคงอีกด้วย
นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น จึงได้ควบคุมตัวครูบาศรีวิชัยมาไว้ที่กรุงเทพฯ และกักบริเวณไว้ที่วัดเบญจมบพิตร ทำให้ประชาชนในเชียงใหม่เกิดความไม่พอใจ และกดดันให้หลวงศรีประกาศ ส.ส.เชียงใหม่ ยื่นเรื่องให้คณะรัฐมนตรีปล่อยตัวครูบาศรีวิชัย โดยเสนอว่าให้ครูบาศรีวิชัยลงนามรับรองว่าจะเชื่อฟังและไม่ขัดขืนคณะสงฆ์ ซึ่งกว่าที่คณะรัฐมนตรีจะยอมรับเงื่อนไข ครูบาศรีวิชัยก็ถูกกักบริเวณอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรเป็นเวลาปีกว่า
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในคณะสงฆ์ของเชียงใหม่ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้ถูกคณะสงฆ์จ้องจับผิดอยู่ โดยที่ชนชั้นนำในเชียงใหม่ที่ศรัทธาครูบาศรีวิชัย ก็ไม่อาจช่วยเหลือท่านได้ ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ที่มาของอมตะวาจาของครูบาศรีวิชัยที่ว่า
‘ถ้าน้ำแม่ปิงไม่ไหลย้อนขึ้นเหนือ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจักไม่ขอมาเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก’
ครูบาศรีวิชัย มรณภาพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ 60 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
สามารถติดตามข้อมูลของครูบาศรีวิชัย ประวัติศาสตร์ประชาชนที่ไม่ถูกส่วนกลางกดทับเพิ่มเติมได้ที่ เล่าขวัญ Podcast By Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...