ชำนาญ จันทร์เรือง: การก่อตั้งกับการทำลายการปกครองท้องถิ่นไทย

เรียบเรียง: วิชชากร นวลฝั้น

สรุปเนื้อหาการบรรยาย “หนึ่งทศวรรษรัฐประหาร” โดย ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2567

ชำนาญ เกริ่นว่าจะพูดถึงการปกครองท้องถิ่นแบบจริง ๆ ที่ไม่ใช่ถูกยัดเยียดและถูกทำให้เข้าใจผิดว่าสิ่งนี้คือการปกครองท้องถิ่น เพราะการปกครองท้องถิ่นต้องเข้าองค์ประกอบที่เป็นนิติบุคคล แยกอิสระจากราชการส่วนกลาง มีสิทธิและอำนาจตามนิติกรรมและสัญญา เป็นเจ้าของถือกรรมสิทธิ์ มีเจ้าหน้าที่ มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือมีการเลือกตั้ง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง

ชำนาญ อธิบายว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 ซึ่งไม่ใช่ตามวันท้องถิ่นไทยที่เริ่มเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2478 อย่างที่หลายคนเข้าใจ สุขาภิบาลในช่วงแรกประกอบด้วย ผู้ว่าราชการ นายอำเภอ กรรมการอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ไม่มีการเลือกตั้ง ชำนาญจึงไม่นับว่าเป็นการปกครองท้องถิ่น แม้จะมีนักวิชาการหลายสำนักที่พยายามอ้างว่านี่คือการปกครองท้องถิ่น และก็มีการเข้าใจความหมายของคำบางคำผิด เช่น Decentralization แปลว่ายุติการรวมศูนย์ ซึ่งไม่ได้แปลว่าการกระจายอำนาจ

ชำนาญ อธิบายเสริมว่ารูปแบบการปกครอง 3 แบบมีมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2475 ซึ่งถูกเขียนโดย ปรีดี พนมยงค์ ในตำราวิชาการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.2474 ปรีดี พนมยงค์ อธิบายว่าระบบการปกครองนั้นมีอยู่ 3 แบบคือ 1.Centralisation ระบบการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่รัฐบาลกลาง 2.Deconcentration การแยกอำนาจจากรัฐบาลกลางไปสู่ภูมิภาคแต่ยังอาศัยงบประมาณจากส่วนกลาง และ 3.Decentralisation การแยกอำนาจตั้งแต่ราษฎรในท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้งและใช้อำนาจเองได้เลย โดยมีกระบวนการแบบนิติบุคคล ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ปรีดีได้สอนไว้ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2475 ประเทศที่ใช้ในแบบที่ 3 นี้ในขณะนั้นได้แก่ เบลเยียม ฮอลแลนด์ อิตาลี สเปน และประเทศแทบสแกนดิเนเวีย

การเริ่มการปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย เริ่มต้นจากพระราชบัญญัติราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2476 คือแบ่งออกมาเป็น 3 ส่วน คือ 1.ราชการส่วนกลาง 2.ราชการส่วนภูมิภาค 3.ราชการส่วนท้องถิ่น ในช่วงแรกราชการส่วนท้องถิ่นใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ไปก่อนในขณะนั้น พอมีเทศบาลขึ้นได้มี พ.ร.บ. จัดระเบียบเทศบาลได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และยังตั้งสภาจังหวัดขึ้นมา โดยให้มีจังหวัดละ 1 สภา สมาชิกในสภามาจากการเลือกตั้งในอำเภอ อำเภอละ 1 คน การตั้งเทศบาลในครั้งแรก ปรีดี พนมยงค์ มีความมุ่งหวังว่าให้ทุกตำบลกลายเป็นเทศบาลให้ได้ แต่ตั้งได้เพียง 117 แห่ง แต่ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตั้ง พ.ร.บ. สุขาภิบาลปี พ.ศ.2495 และได้มีการตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2499 ต่อมาในปี พ.ศ.2514 ได้มีการยุบรวมกรุงเทพกับธนบุรีกลายเป็นกรุงเทพมหานคร และมีการออก พ.ร.บ. กรุงเทพมหานครใหม่ในปี พ.ศ.2518 ทำให้ได้ผู้ว่าคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง จนในที่สุดรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ได้มีการยกเลิกสุขาภิบาลทั้งหมดและกลายเป็นเทศบาลโดยอัตโนมัติทั้งหมด แม้จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบการปกครองส่วนท้องถิ่น

การเกิดขึ้นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2557 มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในปี 2560 ซึ่งมีคำสั่งให้ทุกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหยุดการทำหน้าที่และแต่งตั้งคนใหม่เข้าไปทำหน้าที่แทน แต่ประชาชนไม่เอาด้วย จึงเกิดการเรียกร้องให้เอาคนเก่ากลับมาทำหน้าที่ นอกจากนี้แล้ว คสช. ยังแก้กฎหมายการจัดตั้ง เมื่อปี 2562 เช่น แก้อายุการสมัครเลือกตั้งนายกท้องถิ่นต้องมากกว่า 35 ปี แก้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งให้นายอำเภอหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ เพิ่มอำนาจให้นายอำเภอสามารถกำกับดูแลเทศบาลเมืองได้

ชำนาญ กล่าวปิดท้ายว่าล่าสุด มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.2565 ออกมาเพื่อต้านกระแสการเลือกตั้งผู้ว่า อีกทั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีข่าวว่าจะเปลี่ยนชื่อเป็นเป็นกรมท้องถิ่น ชำนาญยังฝากไว้ว่า อย่างไรก็แล้วตาม จะผลักเข็มนาฬิกาให้ย้อนถอยกลับไปยังไงก็ตาม สุดท้ายเวลาก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอยู่ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง