#saveชาวบ้านทับลาน เลาฟั้ง-มพน.-Land Watch ถามประชาชนอยู่ตรงไหนใน #saveทับลาน

จากกระแส #saveทับลาน กรณีการกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน ในพื้นที่ 3 จังหวัด ปราจีนบุรี นครราชสีมา และสระแก้ว ที่เปิดให้ประชาชนโหวต “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย” ต่อการยอมรับการเพิกถอนพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลานที่มีพื้นที่กว่า 265,000 ไร่ ได้สร้างข้อถกเถียงแก่ประชาชนที่มีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย รวมไปถึงนักวิชาการ นักการเมือง และภาคประชาสังคม ได้ออกมาแสดงถึงความกังวลในประเด็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่อุทยานฯ 

‘เล่าฟั้ง’ ย้ำ แยกแยะปัญหาชาวบ้านกับนายทุนออกจากกัน

วันนี้ 11 กรกฎาคม 2567 เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ผ่าน Facebook ส่วนตัว ใจความดังนี้ ต้องแยะแยกประเด็นให้ชัดเจน หากจะคัดค้านปัญหานายทุนรุกป่า ถือครอง สปก.โดยมิชอบ หรือทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ ก็พูดให้ตรงประเด็นว่าคัดค้านการยกที่ดินให้นายทุนและปราบปรามการทุจริต เรียกร้องให้ดำเนินการเฉพาะนายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นคนถือครองที่ดินกลุ่มน้อยในพื้นที่ อย่าเอาปัญหานายทุนไปเหมารวมกับชาวบ้าน แล้วบอกว่าต้องเอาที่ของชาวบ้านที่เขาอยู่มาก่อนทั้งหมดไปเป็นอุทยาน เพราะกลัวว่าเดี๋ยวนายทุนก็มาฮุบไปหมด แล้วป่าก็จะหายไปหมด  

อย่าลืมว่าพื้นที่ 2.6 แสนไร่นั้น ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่ชาวบ้านครอบครองมาก่อนประกาศเป็นอุทยานและไม่มีสภาพเป็นป่าแล้ว ปัจจุบันเป็นทั้งที่ตั้งหมู่บ้าน วัด โรงเรียน อนามัย ตลาด ทุ่งนาหรือสวน ซึ่งไม่ใช่ที่อยู่ของสัตว์ป่า มีเพียงส่วนน้อยที่ตกเป็นของนายทุนที่เอาไปทำรีสอร์ท ดังนั้น การเรียกร้องให้เอาที่ดินของชาวบ้านที่สุจริตเหล่านั้นมาเป็นของอุทยาน เป็นความคิดที่ผิดและเป็นการละเมิดสิทธิของเขา สำหรับการดำเนินการกับนายทุนก็ดำเนินการไปตามกฎหมายปกติ ขอย้ำว่าอย่าเหมารวม   

การทึกทักเอาว่าถ้าหากเพิกถอนอุทยานแล้วมอบที่ดินให้ชาวบ้าน ชาวบ้านจะเอาไปขายหมด เป็นความคิดที่ดูถูกชาวบ้าน เอาเข้าจริงๆ ผมคิดว่าคนไทยที่มีที่ดินอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะชนชั้นกลาง หลายคนก็ซื้อมาทั้งนั้น บางคนที่มีดินก็เคยขายด้วย เพียงแต่อ้างว่าตนซื้อขายถูกตามกฎหมายเท่านั้น แต่พอชาวบ้านจะขายก็กลับบอกว่าพวกนั้นโลภมาก สำหรับปัญหาการกว้านซื้อที่ดินของนายทุน มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว ก็บังคับตามกฎหมายไป หากเจ้าหน้าที่ละเลยก็เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ไป อย่าเอาปัญหาความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ไปละเมิดสิทธิของชาวบ้าน

เลาฟั้งได้แยกการดำเนินการในกรณีอุทยานทับลาน ไว้ทั้งหมด 3 ทาง ดังนี้

1.ที่ดินที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศเป็นอุทยาน ก็ต้องเพิกถอน คืนสิทธิที่เขามีแต่เดิมให้แก่เขาไป

2.ที่ดินที่ชาวบ้านอยู่หลังประกาศเป็นอุทยาน ก็ใช้วิธีการอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยาน ซึ่งเป็นแนวทางตามกฎหมายปกติ

3.ที่ดิน สปก. ที่นายทุนถือครองมิชอบ ก็ใช้อำนาจตามกฎหมาย สปก. ไปยึดคืน หรือที่ดินที่ออก นส. 3 หรือโฉนดมิชอบ ก็ยึดคืนและดำเนินคดีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและนายทุน สำหรับที่ดินรุกล้ำอุทยาน ก็ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.อุทยาน ไปตรวจยึดและรื้อถอนให้หมด 

“ปัญหาของเรื่องนายทุนฮุบที่และเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือรู้เห็นเป็นใจ ก็ว่ากันด้วยเรื่องดำเนินการกับคนทำผิด อย่าเอาไปเหมารวมกับชาวบ้านที่เขาสุจริต”

มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ชวนคิด เสียงประชาชนอยู่ตรงไหนในอุทยานฯ

มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้ทำชุดข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการเพิกถอนและการผนวกเพิ่มอุทยานแห่งชาติ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรวมไปถึงประชาชนในพื้นที่อุทยานฯ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อยู่ส่วนไหนในของกระบวนการ และถูกพิจารณาในการตัดสินใจในการประกาศอุทยานฯ มากน้อยแค่ไหน

ภาพ: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

เดิมทีในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2504 ได้ระบุถึงสาเหตุของการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ เพียงว่า ‘ส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจขออนุญาตเข้าสำรวจ ค้นคว้า ศึกษาวิจัย หรือขอเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่’ ซึ่งหากทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเห็นว่าการดำเนินการเหล่านี้มีความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะเพิกถอนพื้นที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ ให้ขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมในการเพิกถอนพื้นที่

กระบวนการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ถูกเพิ่มเข้ามาภายหลังจากการแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562 ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกพันธกรณีระหว่างประเทศด้านทรัพยากรหลายฉบับ รวมถึง ‘อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ’ (Convention on Biological Diversity) ที่ไทยได้ยื่นสัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาในปี 2546 โดยวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา คือ การรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ, การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรม และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม นำไปสู่การตราพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม (The Nagoya Protocol on Access and Benefit Sharing) ภายใต้อนุสัญญาและพิธีสารนาโงยามีการบัญญัติเกี่ยวข้องกับความรู้ตามธรรมเนียมประเพณีของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งภาคีสมาชิกจะต้องพยายามสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นกำหนดข้อตกลงร่วมกันในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรในพื้นที่

หากพิจารณาเพียงผิวเผิน เราอาจเห็นด้วยกับการปรับปรุงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับปี 2562 เพื่อเพิ่มกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่ การขยายพื้นที่ หรือการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แต่หากพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน จะพบว่าพ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับนี้ เต็มไปด้วยประเด็นที่น่ากังวลหลายประการ เช่น การเร่งรัดการประกาศใช้กฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่เพียงสองสัปดาห์ การที่นายกรัฐมนตรีไม่รับรองร่างกฎหมายอุทยานฯ ของภาคประชาชนที่เสนอเข้าไป ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ได้ ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม

ประเด็นการรับฟังความเห็นจากประชาชนที่บัญญัติเพิ่มเข้ามาใน พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับนี้ เช่น มาตรา 8 ระบุว่า การกำหนดอุทยานแห่งชาติเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา จะต้องมีแผนที่แสดงแนวเขตตามระบบสารสนเทศหรือระบบอื่นที่ใกล้เคียงกัน โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติจะต้องไม่ใช่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของบุคคลใด เว้นแต่ว่า เป็นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐ แต่จะต้องขอความเห็นจากหน่วยงานนั้นก่อน ในการกำหนดพื้นที่ ขยายเพิ่มเติม หรือเพิกถอนอุทยานแห่งชาติจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประกอบการพิจารณา มาตรา 18 ระบุว่า แผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ประกอบไปด้วยวิธีการดำเนินการแนวทางการจัดการและการกำกับการดูแลการใช้พื้นที่ กระบวนการจัดทำแผนจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชนที่เกี่ยวข้องด้วย

การรับฟังความเห็นจากประชาชนและชุมชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียนี้สอดคล้องกับอนุสัญญาและพิธีสารนาโงยาที่ให้ความสำคัญกับความรู้ตามธรรมเนียมประเพณีของชุมชนท้องถิ่น แต่การนิยาม ‘ผู้มีส่วนได้เสีย’ ที่หมายความถึง ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพื้นที่ หรือผู้อาจได้รับความเดือดร้อน ความเสียหายจากการกำหนดพื้นที่ การขยาย หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในหมู่บ้านของเขตตำบลนั้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ส่วน ‘ชุมชนที่เกี่ยวข้อง’ มีนิยามเช่นเดียวกัน เพียงระบุเพิ่มว่า อยู่ถัดออกไปจากหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ ในระยะทางไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตถึงขอบเขตของนิยามที่ค่อนข้างกว้าง โดยไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงให้ชัดเจนว่าเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ตั้งอยู่มาก่อน

ภายใต้ พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับนี้ ความเห็นจากชุมชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง นับว่าเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีหลักประกันให้เชื่อมั่นได้ว่า เสียงของประชาชนจะถูกนับว่าเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจกำหนดพื้นที่ ขยายพื้นที่ และเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ รวมถึงการที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมไม่ได้เข้าถึงและรับรู้ข้อมูลของกระบวนการดังกล่าว เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เอื้ออำนวยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังที่ควรจะเป็น ท้ายที่สุดแล้วปลายทางของการตัดสินใจนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพียงไม่กี่คน โดยที่ไม่มีสัดส่วนที่แท้จริงของประชาชนและชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกอุทยานฯประกาศทับอยู่ในสมการนี้เลย

รวมถึงการลงชื่อสนับสนุนหรือคัดค้านจากประชาชนทั่วไปในระบบออนไลน์ก็จะส่งผลต่อการพิจารณาของผู้มีอำนาจได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น หากการมีมติปรับแนวเขตจากการเดินสำรวจร่วมกันแล้วในปี 2543 จนเห็นว่าควรต้องเพิกถอนพื้นที่ทับซ้อนอุทยานฯ ออกจากที่ทำกิน แต่กลับถูกกระบวนการปั่นกระแสจนประชาชนทั่วไปร่วมกันแสดงความเห็นคัดค้าน การต่อสู้กว่า 40 ปี ของชาวบ้านอาจสูญเปล่า หากผู้มีอำนาจยืนยันจะใช้เสียงของสาธารณชนมากกว่าเสียงของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่ถูกอุทยานฯ แห่งชาติประกาศทับไปอีกยาวนาน

Land Watch THAI เผยไทม์ไลน์ ทับลานทับใครมาบ้างก่อนเป็นอุทยานฯ

ภาพ: Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน

ด้าน Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน ได้เผยไทม์ไลน์ความเป็นมา และก่อนจะมาเป็น อุทยานฯ ทับลาน พื้นที่ดังกล่าวเป็นของใครมาก่อน โดยไทม์ไลน์ข้อมูลที่ Land Watch THAI ได้รวบรวมมีดังนี้

1.การจะทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องสืบย้อนไปถึงที่มาขอความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย งั้นเรามาเริ่มกันที่จุดเริ่มต้นกันก่อน ปัญหาของเรื่องนี้มันเริ่มมาจาก แนวเขตอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นการประกาศโดยกรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) โดยการประกาศแนวเขต ไม่ได้มีการสำรวจและกันพื้นที่ชุมชนออกจากแนวเขตอุทยานฯ จึงทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานไปทับซ้อนทับกับพื้นที่ชุมชนและเขตปฏิรูปที่ดิน ที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและสหกรณ์ โดยกำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ในปี พ.ศ. 2521 ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยไปกู้เงินธนาคารโลกเพื่อมาจัดสรรที่ดิน

2.เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี พ.ศ. 2524 นี้ยังซ้อนทับกับพื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 และชุมชนที่รัฐโดยฝ่ายความมั่นคง อพยพชุมชนที่อยู่กระจัดกระจาย ให้มารวมกันและจัดตั้งหมู่บ้าน ภายใต้ชื่อชุมชน “ไทยสามัคคี” ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่อุทยานฯ ประกาศทับลงไป

3.ยังมีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ดำเนินการโครงการของรัฐเพื่อความมั่นคงตามมติคณะรัฐมนตรี คือ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (พมพ.) และโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฏรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐเอง สะท้อนให้เห็นว่า สภาพของพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีสภาพพื้นที่เป็น ป่าไม้ แล้ว

4.พ.ศ. 2533 กอ.รมน.ภาค 2 ได้เสนอให้กรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) แก้ไขปรับปรุงแนวเขต โดยมีข้อเสนอให้ปรับปรุงแนวเขต โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ 22 เมษายน 2540 ยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยด้วยการปรับปรุงแนวเขต ซึ่งกระบวนการปรับปรุงแนวเขตนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชุมชน ในพื้นที่และองค์กรปกครงอส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการสำรวจรังวัดและจัดทำแผนที่ ฝังหลักแนวเขตอุทยานร่วมกันเป็นเส้นแนวเขตใหม่ ในปี พ.ศ. 2543 ตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

5.พ.ศ. 2545 เกิดการปฏิรูประบบราชการ และจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขึ้นมาเป็นหน่วยงานใหม่ ซึ่งกรมอุทยานได้แบ่งกลุ่มและแนวทางในการแก้ไขปัญหาออกเป็น 3 แนวทางอย่างชัดเจน คือ

กลุ่มที่ 1 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี และอ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 58,582 ไร่

กลุ่มที่ 2 พื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฏรผู้ยากไร้ (คจก.) อ.เสิงสาง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และอ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 59,183 ไร่ สภาพเป็นพื้นที่ที่กินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเต็มพื้นที่เห็นควรให้ดำเนินการตามมติ ครม.ตามมติ ค.ร.ม. 30 มิถุนายน พ.ศ.2541

กลุ่มที่ 3 กลุ่ม 3 ราษฎรที่อยู่อาศัย/ทำกินในเขตอุทยานฯ ทับลาน และปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 เนื้อที่ 152,072 ไร่

6.ข้อสังเกต ของแนวทางการแก้ไขปัญหา คือทางหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง กรมอุทยาน ส.ป.ก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาออกมาอย่างชัดเจน เห็นได้จากในปี พ.ศ.2548 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช โดยได้มีหนังสือยืนยันต่อศูนย์มรดกโลก องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ว่าจะมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานอย่างแน่นอน โดยกันพื้นที่ส่วนที่เป็นชุมชนและป่าเสื่อมโทรมออกและผนวกพื้นที่ส่วนที่เป็นป่าสมบูรณ์เข้ามา โดยมีแนวเขตและเนื้อที่สอดคล้องกับเส้นแนวเขตปี พ.ศ. 2543

7. เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี พ.ศ. 2543 จึงไม่ใช่เส้นที่เกิดขึ้นจากการขีดเขตแผนที่ในห้องปฏิบัติงานของส่วนกลาง แต่เป็นเส้นที่เกิดจากการตรวจสอบร่วมกันในพื้นที่จริง มีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ มีขั้นตอนทางกฎหมายและคำสั่งของทางราชการรองรับ เพียงแต่ยังไม่เกิดผลใช้บังคับในทางกฎหมายอันเนื่องมาจากการขาดความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลและการขาดความจริงจังในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

8. แต่ไม่รู้ด้วยกระแสแบบไหน จึงทำให้รายละเอียดของปัญหากรณีทับลานถูกนำเสนอเพียงแค่ภาพของกลุ่มนายทุนได้ประโยชน์จากการกำหนดเส้นแนวเขตร่วมกันนี้ ภาพของผืนป่าที่ถูก ใช้คำว่า“เฉือนออกไป” จึงเป็นการบิดเบือน บดบังข้อเท็จจริงของภาพที่คนในพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยมาแต่เดิมเหล่านี้

9. ศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ตั้งข้อสังเกตุว่ากรณี #saveทับลาน อุทยานแห่งชาติหลายแห่ง ซึ่งจัดตั้งโดยไม่เคยสนใจที่จะสำรวจและกันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนออกก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่า สนใจแต่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากเข้าไว้ แต่ไม่สนสี่สนแปดว่า ป่าที่จัดตั้งขึ้นนั้นไปแย่งที่ทำกินของใครเขามาบ้าง กลายเป็นชนวนความขัดแย้ง เผชิญหน้าระหว่างรัฐกับชุมชนเรื้อรังมานานหลายทศวรรษ อุทยานแห่งชาติทับลาน ก็เช่นกัน

10. การใช้วาทกรรม “ผืนป่าที่ถูกเฉือน” ของกลุ่มอนุรักษ์บางกลุ่ม จึงเป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปั่นกระแสเขียวตกขอบในหมู่ชนชั้นกลางอย่างจงใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผืนดินทำกินของชาวบ้านต่างหากที่ถูกเฉือนไปเซ่นป่าอนุรักษ์มานานหลายสิบปี อุทยานประกาศปี 2524 ชาวบ้านบางกลุ่มอยู่กันมาตั้งแต่ก่อนปี 2515 ด้วยซ้ำไป แบบนี้ไม่เรียกว่าอุทยานบุกรุกที่ชาวบ้าน จะให้เรียกว่าอะไร การใช้ข้ออ้างเรื่องกลัวกลุ่มทุนจะมาฮุบเพิ่มจึงเป็นข้ออ้างแบบเหมาเข่ง ดังนั้น จึงไม่ควรเพิกถอนป่าที่ไปแย่งชาวบ้านเขามา และคืนสิทธิให้กับเจ้าของที่ดินที่อยู่มาก่อน

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง