ก๊อนเก๊าเล่าล้านนา : ศิลปินแห่งชาติ/ศิลปินแห่ง(ล่อง)น่าน: จาก “ไชยลังกา เครือเสน” สู่ “คำผาย นุปิง” เล่าเรื่องซอเมืองน่านและอัตลักษณ์ความเป็นน่าน

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

น่าจะหลายกรรมหลายวาระแล้ว ที่ผู้เขียนมักนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเพลงพื้นบ้านล้านนาและศิลปินเพลงล้านนาผ่านช่องพื้นที่เว็ปไซต์ Lanner แห่งนี้ แต่อย่าเพิ่งเบื่อหรือ “อิ่มหน่ายก้ายจัง” กันเลยนะท่านทั้งหลาย    กับข้อเขียนมีภาษาวก ๆ วน ๆ ทั้งยังปะปนด้วยคำขยายซ้อนขยายตามสไตล์ของผู้เขียนที่ก็พยายามแล้วพยายามอีกที่จะลดระดับลีลาเรื่องภาษาเพื่อสร้างบทสนทนาไปสู่ผู้อ่านแบบ “ชกตรงเป้า เข้าถึงใจ” ได้ซักวันหนึ่ง ซึ่งครั้งครานี้ ก๊อนเก๊าเล่าล้านนา ขออนุญาตนำพาคุณผู้อ่านและผู้ติดตามข้ามเทือกเขาผีปันน้ำไปสู่พื้นที่ “ล้านนาตะวันออก” โดยหมุดหมายปลายทางการก๊อนเก๊าเล่าเรื่องก็มีความเกี่ยวเนื่องกับ “เมืองน่าน” หรือจังหวัดน่านในปัจจุบันที่จะนำเสนอผ่านประเด็น “ซอล่องน่าน” ผ่านเรื่องราวของสองครูช่างซอแห่งเมืองน่านผู้ล่วงลับอย่าง พ่อครูไชยลังกา เครือเสน และ พ่อครูคำผาย นุปิง ซึ่งทั้งมีฐานะเป็นทั้งศิลปินแห่งชาติและแห่งลุ่มน้ำน่าน

เมื่อพิจารณารายละเอียดของ “ซอพื้นเมือง” ในแต่ละท้องถิ่นซึ่งล้วนมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป “ซอล่องน่าน” ก็เป็นซอพื้นเมืองในอีกตระกูลเพลงขับร้องปฏิพาทย์อันได้รับความนิยมในจังหวัดกลุ่มอนุภูมิภาควัฒนธรรม “ล้านนาตะวันออก” (แพร่ น่าน พะเยา ลำปางและเชียงราย) ซึ่งมีองค์ประกอบและลักษณะที่ต่างออกไปจากซอเชียงใหม่ทั้งในเรื่องการใช้ทำนองหลัก-ทำนองรองในการขับร้อง เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง ตลอดจนเนื้อหา ถ้อยคำและสำเนียง ความต่างที่ว่ายังสะท้อนผ่านคำพูดของผู้คนในวงการซอที่ว่า คนเจียงใหม่อู้จ๊า ซอโวย คนเมืองน่าน อู้โวย ซอจ๊า(คนเชียงใหม่หรือช่างซอเชียงใหม่พูดช้าและขับซอเร็ว ส่วนคนเมืองน่านพูดเร็วแต่เวลาขับซอจะช้า) ซึ่งจะจริงแท้แค่ไหนก็ลองไปหาฟังคนแถว ๆ นั้นพูดคุยหรือด่ากันก็คงพอช่วยให้พวกเรา ๆ ท่าน ๆ นั้นเข้าใจได้บ้าง

ส่วนคำว่า “ซอล่องน่าน” หรือคำว่า “ล่องน่าน” ในบริบทของเมืองน่าน ถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์หรือถ้อยคำที่ติดหูติดปาก ทั้งยังเป็นสิ่งซึ่งบ่งชี้เฉพาะถึงอัตลักษณ์ “เมืองน่าน” หรือ “ความเป็นจังหวัดน่าน” มากกว่าที่จะผูกโยงกับอัตลักษณ์ “เมืองเหนือหรือภาคเหนือ” ตลอดจนความเป็น “ล้านนา” โดยรวมทั้งหมด มากไปกว่านั้น คำว่าล่องน่านยังเป็นชื่อที่มีความหมายในทางวัฒนธรรมซึ่งพร้อมจะถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นสินค้าท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีซึ่งมีปรากฏให้เห็นอย่างชื่อของ “ร้านกาแฟชื่อดัง” และ “ยี่ห้อของสุราชุมชน” ในแง่มุมที่ว่านี้อย่างน้อยก็เป็นการสะท้อนว่าเพลงพื้นบ้านอย่าง “ซอล่องน่าน” หรือคำว่า “ล่องน่าน” ที่ปรากฏเป็นคำนำหน้าคำอื่น ๆ ทั้งคำว่า ฟ้อนล่องน่าน กลองล่องน่าน เป็นต้นนั้นได้ทำหน้าที่ผูกร้อยโยงใยให้อัตลักษณ์พื้นถิ่นจากส่วนเสี้ยวอื่น ๆ ที่มีความแตกต่างกันมาประกอบสร้างความเป็นน่านร่วมกันขึ้นมาแล้วก็ถูกนำเสนอผ่าน “ของดีเมืองน่าน” หรือ “เอกลักษณ์ของเมืองน่าน” ที่ยังไงก็ขายได้ ทั้งในฐานะเมืองมรดกโลกหรือเที่ยวท่องเที่ยวที่ผู้คนมีความต้องการใช้ชีวิตอย่างชิว ๆ ในรูปแบบน่านเนิบ ๆ ที่แม้ฉากหลังทางประวัติศาสตร์ของ “เมืองน่าน” หรือ “จังหวัดน่าน” ในจินตนาการของใครหลาย ๆ คนเองว่าเป็นดินแดนที่มีภาพลักษณ์เกี่ยวกับความเป็น “เมืองปิด” อันเนื่องมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงใหญ่สลับซับซ้อนและครั้งหนึ่ง “เมืองน่าน” ก็ยังเคยเป็นพื้นที่สีแดงในการเฝ้าระวังการซ่องสุมของกลุ่มคนที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในระดับประเทศที่ต่อมาราวทศวรรษที่ 2540 ภาพความเป็น “เมืองปิด” ของเมืองน่าน ได้รับการเน้นย้ำและจัดวางความหมายใหม่ให้กลายเป็นอัตลักษณ์ที่ตอบโจทย์ในกระบวนการส่งเสริมในทางการท่องเที่ยวเป็นล่ำเป็นสันเช่นเดียวกับกรณีอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนหรืออำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ตลอดจนการผลักดันให้เป็นเมืองคู่แฝดเพื่อเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกเคียงคู่กับเมืองหลวงพระบางในสปป.ลาว

ผู้เขียนยังจะชักเชิญชวนให้ผู้อ่านหวนกลับมาที่ประเด็นซอล่องน่านอยู่นะครับ ว่าเอาเข้าจริงแล้วนั้น  “ซอล่องน่าน” ได้ปรากฏสู่สายตาและความรับรู้ของมหาชนคนไทยทั่วไปมากขึ้นก็นับจากการนำซอล่องน่านไปร่วมจัดแสดงในคอนเสิร์ต “จรัล มโนเพ็ชร ม่านไหมในหมอก ครั้งที่ 2” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2533 งานดังกล่าวนี้ขับเคลื่อนศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่อย่างจรัล มโนเพ็ชร โดยมีจุดประสงค์ในการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นพื้นบ้านล้านนาในแต่ละจังหวัดภาคเหนือตอนบนมาแสดงให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในงานครั้งนี้ซึ่งการแสดงที่มาจากจังหวัดน่านนั้นก็นำโดย “พ่อครูคำผาย นุปิง” และแม่ครูกุหลาบ ศรีทะแก้วหรือชื่อการแสดงซอว่า “สมพร หนองแดง” แม้เนื้อหาสาระของการซอที่ถ่ายทอดออกไปจากสองศิลปินรุ่นใหญ่แห่งเมืองน่านนั้น อาจจะยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนักในความรับรู้ของผู้ฟังต่างถิ่น หากแต่ลีลาการ “ฟ้อนแอ่น” กลับเรียกเสียงปรบมือได้อย่างมากมายจากเหล่าบรรดาผู้มารับชมวันนั้นที่มีต่อช่างซอล่องน่าน แน่นอนว่าสร้างความอึ้งและทำให้รู้สึก “ทึ่ง”และตื่นตาตื่นใจที่ได้พบเห็นนาฏลีลาที่แปลกและแหวกแนวจะเป็นกายกรรมหรือก็เกือบใช่นั่นเอง

ฟ้อนแอ่น หรือ ฟ้อนแง้น

แม้จะไม่มีการปรากฏชัดของหลักฐานการกำเนิดขึ้นของ “ซอล่องน่าน” ผ่านคำอธิบายในทางวิชาการอย่างชัดเจน ที่มาของซอล่องน่านยังคงมีไว้ในฐานะข้อสันนิษฐานและคำบอกเล่าจากปากต่อปากเท่านั้นทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับซอล่องน่านที่เชื่อมโยงกับตำนานการอพยพย้ายเทครัวลงมาจากเมืองวรนครหรือเมืองปัวเพื่อลงมาสร้างเมืองน่านบริเวณภูเพียงแช่แห้งในสมัยพญาก๋านเมืองและขุนนุ่นขุนฟองผู้เป็นราชบุตร แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในชุดคำบอกเล่าเคล้าปนนิทานเท่านั้น ขณะที่บันทึกการเดินทางของเฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ นักสำรวจและเจ้ากรมเหมืองแร่สมัยรัชกาลที่ 5  ซึ่งได้เดินทางเข้ามาสำรวจทรัพยากรในล้านนาและลาวระหว่าง พ.ศ. 2434-2438 ยังกล่าวถึงการขับซอเข้าปี่จุมที่เมืองเวียงสาซึ่งในแง่ของบันทึกเอกสารนั้นเป็นการระบุอย่างชัดเจนว่าวัฒนธรรมการ “ขับซอ” ยังเป็นการ “ซอเข้าปี่ชุม” ยังไม่เป็น “ซอเข้าพิณ-สะล้อก๊อบ” ดังเช่นปัจจุบัน นอกจากนี้เขายังได้บันทึกโน้ตทำนองซอและเขียนช่วงเสียงของปี่จุมไว้ด้วยสะท้อน ผู้เขียนเคยตรวจสอบทานเล่มบันทึกการเดินทางดังกล่าวที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ศิลปากรก็พบว่าตัวผู้บันทึกเอามีการเขียนบันทึกเสียงของดนตรีซอเมืองน่านในช่วงนั้นไว้ในรูปแบบโน้ตสากลอันเป็นเครื่องยืนยันว่าเขานั้น น่าจะมีความรู้ทางดนตรีพอสมควรบันทึกของสมิธนี้เองที่ทำให้ทราบถึงกรอบความคิดเรื่องเสียงดนตรีล้านนาในยุคนั้น

พ่อไชยลังกา เครือเสน (คนซ้าย)

ขณะที่ข้อมูลของ “ช่างซอล่องน่าน” ของเมืองน่านยุคเก่า ๆ มีข้อมูลปรากฏในช่วงราวทศวรรษที่ 2470 เป็นต้นมา ซึ่งก็ได้จากคำบอกเล่าของช่างซอรุ่นหลัง ๆ ที่ได้ไปร่ำเรียนวิชาซอกับบุคคลเหล่านั้น ช่างซอเมืองน่านที่มีชื่อเสียงและถือว่าเป็น “รุ่นบุกเบิก” ของซอล่องน่านในสมัยนั้นก็มีหลายท่าน ได้แก่พ่อไชยลังกา เครือเสนพ่อสุข ชาวเวียงสา พ่อหน้อยกั๋น บ้านนาข่อย พ่อหนานวงศ์ บ้านพันต้น แม่ขันแก้ว บ้านเมืองจั๋ง ฯลฯ ขณะผู้มีผลงานโดดเด่นและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ตลอดจนเป็นผู้ที่มีลูกศิษย์ลูกหาที่มีชื่อเสียงแพร่หลายมาจนถึงยุคปัจจุบันคือ พ่อไชยลังกา เครือเสน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. 2447 – 2535 เป็นชาวบ้านศรีพันต้น ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ร่ำเรียนชั้นประถมต้นจากโรงเรียนสุริยานุเคราะห์ (หรือโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารในปัจจุบัน) พ่อไชยลังกาให้ความสนใจกับศิลปะการแสดงพื้นบ้านตั้งแต่สมัยเรียนจนสามารถแสดงการขับซอได้เป็นครั้งแรกขณะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ต่อมาหลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงบรรพชาเป็นสามเณรจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีพันต้น (สำเร็จการศึกษานักธรรมตรี และ เปรียญ 3 ประโยค) หลังจากลาสิกขาบทแล้วอายุ 23 ปีได้ตั้งคณะซอ “ไชยมงคล” ผลงานโลดแล่นอยู่ในช่วงกลางรัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา 

นอกจากนี้พ่อไชยลังกา จะมีความสามารถในการขับซอแล้ว  ท่านยังสามารถเล่นเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้อีก เช่น สะล้อ ปิณ ปี่ ขลุ่ย ระนาด (ป้าด) เป็นต้น และเริ่มถ่ายทอดวิชาการขับซอและดนตรีพื้นบ้านทั้งสะล้อ ปิน (ซึง) ให้ลูกศิษย์ชายหญิงและผู้สนใจจนได้รับยกย่องเป็น “พ่อครู” เป็นที่เคารพนับถือ ศรัทธาในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาและประชาชนทั่วไป ผลงานชิ้นสำคัญของพ่อไชยลังกานั่นคือการประดิษฐ์คำร้องและทำนองซอปั่นฝ้ายได้ขณะมีอายุ 34 ปี และเป็นที่ยอมรับนับถือใช้สืบมา นายไชยลังกา เครือเสน เคยชนะเลิศการประกวดดนตรีพื้นบ้านจังหวัดน่าน เมื่อปีพุทธศักราช 2527 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขาศิลปะ (ดนตรีพื้นบ้าน) ของภาคเหนือประจำปีพุทธศักราช 2530 และได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พุทธศักราช 2530 ซึ่งถือว่าเป็นศิลปินซอ “คนแรกของภาคเหนือ” ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

พ่อคำผาย นุปิง ภาพ: สหกวงเฮง แผ่นเสียงเทป

ถัดจากยุคการบุกเบิกเส้นทางของช่างซอเมืองน่านอย่างพ่อไชยลังกาแล้ว ยังมีศิลปินผู้รับช่วงสืบยุคถัดมา คือ พ่อคำผาย นุปิง ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2538 สาขาการศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน- การขับซอ) พ่อคำผายถือได้ว่าเป็นลูกศิษย์ของพ่อไชยลังกาอีกคนหนึ่งที่ได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการขับซอจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นวงกว้างและมีผลงานที่โดดเด่นตั้งแต่ทศวรรษที่ 2480 เป็นต้นมา  อาจกล่าวได้ว่าพ่อคำผายคือ ผู้ที่ถือว่า “ชุบชีวิต” ให้กับซอล่องน่านและได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลให้กับวงการซอล่องน่านทั้งยังเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลต่อรูปแบบการแสดงซอล่องน่านของภาคเหนือทั้งหมดในปัจจุบันอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นการ “ฟ้อนแง้น” ที่หลายคนเข้าใจว่ามีมาควบคู่กับซอล่องน่านแต่เดิมนั้น แท้จริงมีจุดเริ่มต้นจากวงซอของอุ๊ยคำผายเมื่อประมาณเกือบ 60 ปีที่ผ่านมานี่เอง ขณะที่ช่างซอล่องน่านส่วนใหญ่ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน ไม่ว่าจะทั้งในพื้นที่จังหวัดน่าน แพร่พะเยา เชียงราย รวมทั้งลำปาง มักมีความเกี่ยวข้องกับทั้งพ่อไชยลังกาและพ่อคำผายในฐานะศิษย์ร่วมสำนักแทบเหมือนกันทั้งสิ้น  เช่น ช่างซอล่องน่านแห่งเมืองน่านอย่างพ่ออรุณศิลป์ ดวงมูลหรือพ่ออินสน เดือนเป็ง ก็เป็นลูกศิษย์ร่วมสำนักของอุ๊ยไจย พ่อสมศักดิ์ ปินะสุ (สมศักดิ์ช่อแก้ว) เมืองแพร่หรือ พ่อจรูญ ราหุรักษ์ (ทองรุณ สันป่าก้าว) เมืองจุน หรือแม้กระทั่งช่างซอผู้หญิงอย่างแม่กุหลาบศรีทะแก้ว เมืองน่าน (สมพร หนองแดง) ก็ถือว่าเป็นลูกศิษย์พ่อคำผายคนหนึ่งด้วยเช่นกัน

ทั้งพ่อไชยลังกาและพ่อคำผาย มีความสัมพันธ์กันในลักษณะของครูและลูกศิษย์ แต่ภายใต้บริบทความเป็นเมืองน่านและศิลปะการขับขานเป็นพื้นบ้านแบบซอล่องน่านทั้งคู่ไม่ได้ถ่ายทอดหรือส่งผ่านเพียงความรู้จากผู้เป็นครูไปสู่ผู้เป็นศิษย์แต่เพียงเท่านั้น หากยังมีการถ่ายทอดสถานะความเป็นครูใหญ่ของวงการซอล่องน่านและการได้รับความยอมรับทางวัฒนธรรมในฐานะศิลปินแห่งชาติเฉกเช่นเดียวกัน[1] โดยศิลปินทั้ง 2 ท่านนี้ล้วนมีรากฐานที่เติบโตมาจากความเป็นสามัญชนคนธรรมดาที่แม้จะพำนักอาศัยในพื้นที่เมืองแต่ก็เป็นเมืองที่อยู่ในจังหวัดที่ตั้งอยู่ห่างไกลสุดขอบประเทศ แต่ความเป็นศิลปินที่ส่งผ่านระหว่างครูกับศิษย์นั่นคือ ความสามารถและพัฒนาผลงานวัฒนธรรมออกมาจนเป็นที่ยอมรับของวงการซอล่องน่าน สำหรับวงการ “ซอล่องน่าน” นั่นคือการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ในทางวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นเริ่มจากพ่อไชยลังกาที่แม้ว่าจะถึงแก่กรรมไปนานร่วมสามสิบปีแล้ว แต่ผลงานชิ้นสำคัญยังถูกกล่าวขวัญกันในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาอย่างต่อเนื่องที่ว่าพ่อไชยลังกาคือผู้ประดิษฐ์และคิดค้น ‘ทำนองซอลับแล’ หรือ ‘ลับแลง’ โดยเป็นการดัดแปลงจากทำนอง เพลงพื้นบ้านดั้งเดิมของเมืองลับแล (ในจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) เมื่อครั้งเดินทางไปแสดงซอยังพื้นที่ดังกล่าว และช่วยกันจำเอามาแล้วลองดัดแปลงเอาคำซอใส่โดยให้มีจังหวะวรรคตอนเหมือนกับซอทำนองดาดน่านที่มีอยู่แต่เดิมจนกลายมาเป็นทำนองซอหลักของการแสดงซอล่องน่านในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์คำซอใส่ทำนองเพลงปั่นฝ้ายจนกลายมาเป็นซอปั่นฝ้ายที่มีชื่อเสียงการรู้จักสร้างสรรค์คำซอบทใหม่ ๆ เรื่องใหม่ ๆ ไว้ให้ลูกศิษย์เป็นจำนวนหรือแม้แต่เอกลักษณ์ด้านการขับซอที่มักแทรกลูกเล่นลูกหยอกได้อย่างคมคายสนุกสนานรวมทั้งความมีไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ณ ขณะทำการซอจนเป็นที่ประทับใจ

ส่วนศิลปินแห่งชาติอีกท่านส่วนในยุคถัดมาคือ พ่อครูคำผาย นุปิง ผู้เป็นศิลปินซอคนสำคัญแห่งบ้านหัวนา (ตำบลท่าน้าว อำเภอภูเพียง) ตัวของพ่อคำผายถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงโดยตรงต่อวงการซอล่องน่านในปัจจุบัน และยังเป็นศิลปินที่ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติในสาขาการขับซอโดยตรง ความสามารถอันเป็นคุณลักษณะเด่นในการขับซอของพ่อคำผายนั้นมีความโดดเด่นมากมายทั้งในเรื่องของน้ำเสียงที่มีความไพเราะและเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนการมีสำนวนโวหารและปฏิภาณกวีที่มีความเป็นเลิศ แน่นอนว่าศิลปินช่างต่อก็ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้อันกว้างขวางในเรื่องต่าง ๆ จนกระทั่งสามารถขยายความจากเนื้อเนื้อหาที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยและสร้างบทขับขานบอกเล่าเรื่องราวให้แก่ผู้ฟังได้นานหลายชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีผลงานการซออย่างต่อเนื่องมานานร่วมเจ็ดสิบปีนอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการก่อให้เกิดพลวัตของรูปแบบและความหมายของซอล่องน่านจากการที่เป็นผู้รู้จักริเริ่มสร้างสรรค์เผยแพร่และพัฒนาปรับปรุงการแสดงซอมาอย่างต่อเนื่อง

และถึงแม้พ่อคำผายจะถูกรับรู้ในฐานะศิลปินซอล่องน่านที่โด่งดัง แต่พ่อคำผายกลับไม่มีความชำนาญในการเล่นดนตรีพื้นเมือง อันเนื่องจากชอบการขับซอมากกว่า ขณะเดียวกันพ่อคำผายกลับมีความสามารถในการแยกแยะเสียงของเครื่องดนตรีประกอบซอได้ว่าเสียงไหนเหมาะสมหรือเพี้ยนต่ำ-สูงอย่างไรผลงานการสร้างสรรค์ด้านการขับซอจากคณะของพ่อคำผายนั้น มีผลอย่างมากต่อการกำหนดรูปแบบการแสดงซอล่องน่านในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มการ ‘ฟ้อนแง้น’ ซึ่งพัฒนาจากการฟ้อนนั่งเพื่อคลายอิริยาบถของช่างซอแต่เดิม จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงซอล่องน่านในปัจจุบัน หรือการนำเพลงลูกทุ่งมาสอดแทรกร้องขณะทำการซอ (ซึ่งปัจจุบันยังคงพบเห็นบ้างในการแสดงซอระดับงานชุมชน) หรือแม้แต่ความสามารถในการประยุกต์เนื้อหาซอให้เข้ากับสถานการณ์งานต่าง ๆ ได้ตามบริบทและยุคสมัย ดังเช่นที่เคยนำคณะซอออกแสดงตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดน่านและภาคเหนือ โดยเป็นการร่วมปฏิบัติงานกับทางราชการด้านมวลชนสัมพันธ์และจิตวิทยาเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เมื่อประมาณสามสิบปีมาแล้ว (กิจชัย ส่องเนตร, 2547 ; 21) และหากเมื่อเทียบระหว่างบทบาทของพ่อไชยลังกากับพ่อคำผายที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในวงการซอล่องน่านแล้ว ดูเหมือนว่าพ่อคำผายจะมีอิทธิพลในการควบคุมหรือกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมากกว่า 

การที่พ่อคำผายถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการขับซอล่องน่านโดยตรงนั้นล้วนเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยและบริบททางสังคมวัฒนธรรม เพราะการสร้างสรรค์ผลงานตลอดจนการรับงานแสดงของพ่อคำผายนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมกับช่วงเวลาที่มีการตื่นตัวเรื่องกระแสท้องถิ่นนิยมตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 ถึงราวทศวรรษ 2540 ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้จึงนำไปสู่การสอดรับกันระหว่างเรื่อง “ศิลปินแห่งชาติ” อันเป็นนโยบายการยกย่องครูหรือเจ้าของภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ละแห่งที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นต่างออกไปจากศิลปินแห่งชาติในความหมายดั้งเดิมที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมไทยภาคกลางตามแนวทางของรัฐเพียงเท่านั้น ขณะเดียวกัน กระบวนการทางสังคมอันหลากหลายที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทความเป็นท้องถิ่นนิยมก็เป็นส่วนสำคัญในการผลิตซ้ำ “ซอล่องน่าน”ตลอดจนการประกอบสร้างภาพลักษณ์ “เมืองน่าน” ในช่วงเวลาดังกล่าว เงื่อนไขและบริบททางสังคมเหล่านี้มีส่วนทำให้ผลงานและนวัตกรรมสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมของพ่อคำผายได้ถูกรับช่วงชิงและนำเสนอให้เป็น “ตัวแบบ” ของซอล่องน่านไปในตัวด้วย แน่นอนว่าอาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ เกี่ยวข้องอย่างเช่นพ่อคำผายมีการออกผลงานร่วมกับบริษัทเทปจากกรุงเทพฯทั้งบริษัทสหกวงเฮงและบริษัทโซนิคที่ได้เข้ามาเจาะกลุ่มตลาดผู้ฟังเพลงพื้นบ้านในจังหวัดน่าน (ขณะเดียวกันในจังหวัดแพร่บริษัททั้ง 2 ดังกล่าวก็ผลิตผลงานให้กับคณะซอล่องน่านของสมศักดิ์ ลำดวน) ซึ่งการปรากฏตัวของศิลปินหรือศิลปะการแสดงในพื้นที่สื่อวัฒนธรรมมวลชนก็นับว่าเป็นข้อได้เปรียบในการมีชื่อเสียงของตนเองที่จะได้รับความนิยมจนนำมาซึ่งคิวงานการแสดงที่มากกว่าศิลปินคณะอื่น ๆ ในพื้นที่หรือจังหวัดเดียวกัน

ความเป็นศิลปินแห่งชาติที่แม้ว่ามีวัตถุประสงค์หลักของการให้รางวัลศิลปินแห่งชาติแก่ศิลปินผู้สร้างสรรค์และทำนุบำรุงศิลปะแขนงต่าง ๆ จะเป็นไปเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนศิลปิน ซึ่งรวมถึงการสงวนและอนุรักษ์สืบทอดศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อแผ่นดิน แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้บรรดาลูกศิษย์และคนอื่น ๆ เข้ามาให้การยกย่องและขีดเน้นให้ความสำคัญกับตัวศิลปินผู้นั้นจนกลายเป็น“สถาบัน” หนึ่ง ซึ่งรูปธรรมของปรากฏการณ์ดังกล่าวก็อย่างเช่น การขนานนามศิลปินว่า “พ่อครู”หรือ “บรมครู” ซึ่งมีนัยของการให้ความเคารพนับถือ หรือแม้แต่การยกย่องผลงานศิลปินจนมีชื่อเสียง การที่ศิลปินหลายท่านพยายามยึดโยงความสัมพันธ์กับตัว “ศิลปินแห่งชาติ” ไม่ลักษณะไหนก็ลักษณะหนึ่ง เช่น เป็นครู-ศิษย์เป็นศิษย์ร่วมสำนัก เป็นเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ซึ่งหากสิ่งเหล่านี้ได้ถูกผลิตซ้ำมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น “กรอบตัวแบบ” ของแขนงศิลปะนั้น ผลของการได้ “กรอบตัวแบบ” ดังกล่าวก็คือการมีแบบแผนของตัวศิลปะที่ง่ายต่อการกำหนดทิศทางการอนุรักษ์สืบทอด แต่ในทางกลับกันหากมีการยึดตัวแบบจนกลายเป็น “จารีต (ใหม่)” โดยเฉพาะศิลปะพื้นบ้านที่จะมีกระบวนการ ‘บรรจุ’ ความศักดิ์สิทธิ์ผ่านพิธีกรรมลงไปจนมิอาจล่วงละเมิดได้การสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่จะเกิดกับตัววัฒนธรรมนั้นก็อาจเป็นไปได้ยาก อันเนื่องมาจากการเกรงว่าเมื่อคิดหรือประยุกต์ให้ต่างออกไปแล้วจะ “ผิดทางครู” หรือไม่ให้การเคารพครู

ยากนักที่จะปฏิเสธว่าทั้ง “อัตลักษณ์ความเป็นเมืองน่าน” ก็ดี หรือ “ซอล่องน่านของเมืองน่าน” ก็ดี ล้วนมีบุคคลธรรมดาสามัญชนผู้ทรงภูมิปัญญาเข้าไปมีส่วนสร้างสรรค์ แต่งแต้มและประกอบสร้างอัตลักษณ์ดังกล่าวขึ้นมา การปรากฏตัวขึ้นของ 2 ปูชนียบุคคลสำคัญของวงการซอล่องน่าน อย่าง “พ่อไชยลังกา เครือเสน” และ “พ่อคำผาย นุปิง” ที่เป็นศิลปินซอล่องน่านที่มีชื่อเสียงกว้างไกลครอบคลุมทั้งในและนอกท้องถิ่นเมืองน่านซึ่งต่างก็ได้รับรางวัล “ศิลปินแห่งชาติ” จากหน่วยงานวัฒนธรรมของไทยในทศวรรษ 2530 นั้น ย่อมมีส่วนสำคัญต่อการพลิกฟื้นให้          

“ซอล่องน่าน” ดำรงอยู่ในวิถีควบคู่กับอดีตและเจริญเติบโตควบคู่กับวิถีชีวิตของผู้คนในภาคเกษตรกรรม ยังสัมพันธ์อยู่บนเรื่องของเศรษฐกิจมาตั้งแต่อดีตก่อนทุนนิยมจะเบ่งบาน สะท้อนให้เห็นได้จากการเรียกค่าตอบแทนในรูปแบบสินจ้าง และการสร้างเอกลักษณ์ประจำตัวของศิลปินซอแต่ละคนเพื่อเหตุผลในด้านชื่อเสียงและการตลาดที่มีขึ้นมาในช่วงระยะเวลาหลัง

เออจริงสิหนอ!!!! คนเรามันก็ต้องกินต้องใช้เพื่อปากเพื่อท้องกันทั้งนั้น

 ข้อมูลอ้างอิงประกอบการเขียน

  • กิจชัย ส่องเนตร. (2547). การศึกษานักคิดท้องถิ่น กรณีศึกษานักคิดท้องถิ่นในกลุ่มซอพื้นเมือง: นายคำผาย นุปิง.
  • รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ชุดโครงการวิจัยเครือข่ายความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคเหนือ
  • .เชียงใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ชุดโครงการวิจัยเครือข่ายความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคเหนือ.
  • ชุติพงศ์ คงสันเทียะ. (2556). ซอล่องน่าน : พลวัตการผลิตซ้าทางวัฒนธรรมของเพลงพื้นบ้านไทยภาคเหนือ.วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การพัฒนาสังคม). เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • บูรณพันธุ์ ใจหล้า. (2545). ซอล่องน่าน: กรณีศึกษาคณะคำผาย นุปิง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาดนตรี.กรุงเทพฯ :บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

[1] บุคคลที่ได้รับการยกย่องโดยรัฐไทยขึ้นเป็น“ศิลปินแห่งชาติ” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งหมด 2 ท่าน นั่นคือ “พ่อไชยลังกา เครือเสน” (พ.ศ.2447-2535) หรือที่ผู้ศึกษาเรียกว่า “อุ๊ยไจย” ศิลปินซอล่องน่านผู้ล่วงลับ ซึ่งได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีพื้นบ้าน) เมื่อปีพ.ศ. 2530 และ “อุ๊ยผาย” หรือ “พ่อคำผาย นุปิง” เสียชีวิตในปี พ.ศ 2557  ขณะที่มีอายุได้ 91 ปี ทั้งคู่ต่างเป็นช่างซอล่องน่านที่ถือได้ว่าเป็น “พ่อครู” คนสำคัญของวงการซอล่องน่านในเมืองน่านและภาคเหนือ โดยอุ๊ยผายได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติในสาขาศิลปะการแสดง(การแสดงพื้นบ้าน-ขับซอ) ในปีพ.ศ. 2538

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง