Lanner Joy : พื้นที่แห่งภราดรภาพ (Solidarity) ที่อยู่เหนือเชื้อชาติ ผ่านศิลปะและงานคราฟท์ ณ ร้านเล็กในเมืองใหญ่ Golden Land Solidary Collective 

เรื่องและภาพ: ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์

เหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้ผู้คนที่แลดูห่างไกลแต่แท้จริงแล้วใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ต้องระหกระเหิน นำพามาซึ่งการตีความคำว่า ‘บ้าน’ เสียใหม่อย่างหาทางย้อนกลับไม่ได้ เชียงใหม่เองก็เป็นที่พำนัก เสมือนโอเอซิสที่โอบรับผู้จำต้องเดินทางไกลเหล่านี้ เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่าในช่วงปีค.ศ. 2021 เธอเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มประชาชนและนักศึกษาพม่า มีนาคมปีนั้น ญาติของเธอถูกจับเข้าคุก และเมื่อชีวิตประจำวันต้องเข้า ๆ ออก ๆ เพื่อเยี่ยมญาติอยู่ทุกวี่วัน ทำให้เธอได้รับรู้ถึงผลกระทบที่นักโทษการเมืองได้รับ ทั้งญาติ ๆ เพื่อนฝูงที่ต่างมารอพบคนสนิทในคุก ยืนต่อแถวยาวสุดลูกหูลูกตา เธอจึงเริ่มต้นช่วยเหลือ ทั้งส่งข้าว ส่งน้ำ (Care Package) ทั้งเริ่มต้นแคมเปญระดมทุนมากมายให้กับคนข้างในในฐานะประชาชนคนหนึ่ง 

ตัดภาพมาที่ต้นมะขามใหญ่ที่ชูกิ่งก้านราวกับกำลังปกปักษ์รักษาผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เรือนไม้เก่าในรั้วของ The Loft Cafe ย่านวัดเกต เชียงใหม่ กิจกรรมมากมายเกิดขึ้นที่นี่ คอมมูนิตี้ที่กำลังค่อย ๆ ก่อนตัว ล้อมรอบช็อปเล็ก ๆ ที่ใช้ศิลปะเป็นศูนย์รวมการระดมทุนเพื่อการต่อสู้ที่ยังไม่มีท่าทีจะจบสิ้นนี้ 

Lanner Joy พาทุกคนมาทำความรู้จักกับ บริอันนา ฝ้าย คอรอล และ ชู แห่งช็อป Golden Land Solidarity Collective พื้นที่แห่งภราดรภาพ (Solidarity) ที่อยู่เหนือเชื้อชาติ เต็มไปด้วยงานศิลปะและงานคราฟท์ ที่สร้างสรรค์จากมือ จิตใจ และมันสมองที่ต้องการเห็นระบบการระดมทุนที่ยั่งยืนขึ้นสำหรับการเคลื่อนไหวที่ไม่ไกลตัวเราอย่างที่คิด มาฟังเรื่องราวของสี่สาวชาวอเมริกัน ชาวไทยและชาวพม่า ว่าพวกเขามารวมตัวกันได้อย่างไร ภายใต้ต้นมะขามใหญ่แห่งนี้

การพูดคุยครั้งนี้มีต้นตอมาจากการสนทนาภาษาอังกฤษ และภาษาพม่าบ้างปะปนกันไป และถูกแปลเป็นภาษาไทยให้ทุกคนได้อ่าน 

ทุกคนรู้จักกันได้ยังไง?

บริอันนา: กับฝ้ายและคอรอล ฉันเจอสองคนนี้ก่อนทางอินสตาแกรม ทั้งคู่เลย 

ฝ้าย: อ้าว! จริงเหรอ กับคอรอลด้วยเหรอ

คอรอล: เธอก็รู้จักกันผ่าน IG ก่อนเหรอ เพิ่งรู้นะ!

บริอันนา: ใช่ ๆ หลังจากนั้นก็เจอกันที่งาน IWD (International Women’s Day) ที่ท่าแพช่วงปีก่อน (ค.ศ. 2023) จังหวะนั้นเรากำลังระดมทุนช่วยคอรอล แล้วก็สหายอีกหลายคนที่ทำงานคราฟท์อยู่ในเซฟเฮ้าส์ต่าง ๆ ตอนนั้นฉันมีของพวกนี้ตุนอยู่ในบ้านเยอะมาก ๆ ก็เลยเริ่มมีไอเดียอยากจะเปิดสเปซพอดี แต่ก็อยากทำงานนี้ร่วมกับคนไทย ฉันเลยชวนฝ้ายมาทำสิ่งนี้ [เปิดช็อป Golden Land Solidary Collective] ด้วยกัน 

ฝ้าย​: ช่วงนั้นเราเองก็ทำงานอาสากับ Radical Grandma Collective มาก่อน แล้วบังเอิญว่าบริอันนากับเราก็มีคนรู้จักร่วมกันหลายคน จากนั้นพอได้มาเจอกันอีกทีที่งาน IWD เราก็เลยเริ่มคุยแนวทางที่เราสนใจ อย่างเรื่อง Solidarity ระหว่างไทยกับเมียนมา แล้วชวนกันสร้างร้านนี้ขึ้นมา

บริอันนา: เราอยากทำให้สเปซนี้เป็นเหมือนห้าง เป็นศูนย์รวมของการระดมทุนของนักเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้า ที่ ๆ ทุกคนจะสามารถมาซัพพอร์ตความเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านการจับจ่ายใช้สอย ตามความสนใจของแต่ละคน นอกจากนี้ผ่านงานคราฟท์ที่ด้วยมือเหล่านี้ เราสามารถช่วยส่งต่อเรื่องราวของผู้คนที่สร้างสรรค์มันขึ้นมาได้ด้วย

ภาพจาก Facebook Golden Land Solidarity Collective

ตอนนั้นเธอ (บริอันนา) ย้ายมาอยู่เชียงใหม่หรือยัง?

บริอันนา: ฉันอยู่ที่นี่มาได้สามปีแล้ว จริง ๆ ก็มาเชียงใหม่เรื่อย ๆ มานานแล้วล่ะ ลูก ๆ ฉันเองก็เกิดที่นี่ ใจฉันก็เลยอยู่ที่นี่อยู่แล้ว เป็นหนึ่งในที่ที่ชอบที่สุดเลยในโลกนี้

โปรดักส์แรก จุดเริ่มต้นของ Golden Land Solidarity Collective 

บริอันนาเล่าให้ฟังถึงการต้องการช่วยซัพพอร์ตครอบครัวพม่าครอบครัวหนึ่งที่เพิ่งย้ายมาตั้งหลักที่เชียงใหม่ สมาชิกในครอบครัวเขาเองทำงานคราฟท์เป็นเสมือนงานอดิเรก และด้วยความรู้ทางการตลาดที่เธอมีเธอจึงสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่าเป็นโปรดักส์แรกของกลุ่ม GLSC ขึ้นมาคือ Nativity sets (ตุ๊กตาชุดการประสูติของพระเยซู) จากความรู้ว่าชาวต่างชาติจะชื่นชอบสิ่งนี้ เธอจึงประสานงานทางครอบครัวที่เอ่ยถึงเพื่อปั้นงานตุ๊กตาทำมือเหล่านี้ขึ้นจากฝั่งพม่า มาแมชกับแพคเกจจิ้งในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้โปรดักส์แรกที่เธอเรียกว่า “First solidarity set” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

ภาพจากเว็บไซต์ www.goldenlandsolidarity.com 

บริอันนา: ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เราเริ่มขายเซ็ทพวกนี้ออนไลน์ช่วงธันวาคมปี ค.ศ. 2022 หลังจากนั้นก็เปิดร้าน ตอนนี้มีหน้าร้านได้หนึ่งปีแล้ว ส่วนเพจ Facebook เพิ่งจะมีได้ไม่กี่เดือนนี้เอง

ฟังดูเหมือนหมู่ดาวเรียงกันนะคะ ทุกคนมาเจอกันและทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น

บริอันนา: ใช่แล้ว มันดีมากเลย ทาง The Loft Cafe เองก็แฮปปี้กับการที่เรามาอยู่ที่นี่ มองอีกมุมหนึ่งถึงการเมืองไทยจะซับซ้อนยังไง ฉันก็รู้สึกว่าพวกเขาก็ต้อนรับผู้คนต่างถิ่นดีมาก ๆ ฉันยินดีและรู้สึกอบอุ่นมาก ๆ ที่การมีอยู่ของร้านเราก็ทำให้ชุมชนได้ประโยชน์ เติบโตไปด้วยกันได้

เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มักจะเป็นที่รวมตัวกันของชาวพม่าที่อยู่ในเชียงใหม่ด้วยใช่ไหม?

ฝ้าย: คิดว่าการที่ช็อป Golden Land มาเปิดที่นี่ก็มีส่วนทำให้มันเป็นไปแบบนั้น เพราะเรามักจะจัดอีเว้นท์รวมตัวคอมมูนิตี้ชาวพม่ากันที่นี่

ภาพจาก Facebook Radical Grandma Collective

เราขอถามพี่ฝ้าย ชู กับคอรอลบ้างนะ คิดยังไงบ้างกับการมีอยู่ของร้านและเรื่องการสื่อสารประเด็นสังคม-การเมืองพม่ากับผู้คนที่นี่?

ชูเริ่มตอบคำถามเราในภาษาพม่า ในขณะที่คอรอลช่วยแปลสิ่งที่ชูพูดให้เราฟัง

คอรอล: เธอบอกว่าเธอดีใจเวลามีชาวต่างชาติมาช็อปที่ร้าน เพราะคนที่มามักจะมาเพราะต้องการซัพพอร์ตเหตุการณ์ที่เกิดในพม่าจริง ๆ เป็นคนที่ติดตามข่าวสารและรู้เรื่องดีอยู่แล้ว เยอะเหมือนกัน

ฝ้าย: เราคิดว่าร้านแบบนี้ว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของคนทั่ว ๆ ไปที่เปิดให้คนเข้ามาสนใจประเด็นต่าง ๆ เหตุการณ์ในพม่ามากขึ้นนะ สำหรับเราที่อยู่ในแวดวง NGOs การติดตามข่าวสารพวกนี้มันเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ เรารู้สึกว่าเรื่องในพม่ามันยังรู้สึกห่างไกล เชื่อมโยงกันได้ยากอยู่ มันเลยเป็นสิ่งที่ทำแล้วจับต้องได้ เริ่มได้ง่ายหน่อย ถ้าคนจะเริ่มตรงไหนก่อน ก็เริ่มจากการรับรู้ ซื้อของ โปรดักส์สวย ๆ เหล่านี้ได้ มันทำให้ประเด็นการเมือง-สังคมพม่าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

บริอันนา: อีกประเด็นหนึ่ง ไม่ว่าผู้ซื้อจะรู้สตอรี่หรือไม่ ยังไงก็แล้วแต่ เราคิดว่าเราพยายามดีไซน์ของให้มีคุณภาพดีที่สุด คนจะรู้สึกดึงดูดมากกว่ากับคุณภาพ กับโปรดักส์ที่ดี มันทำให้เขาซื้อของเราโดยที่ไม่จำเป็นต้องซื้อเพราะสงสาร แต่เพราะเขาชอบสิ่ง ๆ นั้นจริง ๆ 

บริอันนา: ส่วนอันนี้เป็นหนังสือทำอาหารฉบับโรฮิงญาค่ะ ในประวัติศาสตร์พม่าที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาถูกกีดกันออกจากสังคมในพม่ามาก ๆ เพราะฉะนั้นการที่เรามีของแบบนี้ในร้านเราก็อยากจะชวนพูดคุย ชวนตั้งคำถามกับประเด็นพวกนี้ด้วย ว่าพวกเขาก็ควรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วยเหมือนกัน 

หนังสือ Rohingya Women Cookbook

ฝ้าย: หนังสือเล่มนี้มาจากความร่วมมือของ Rohingya Women Development Network (RWDN) อยู่ในมาเลเซีย แล้วก็รัฐ Texas ทำงานกับผู้ลี้ภัยใน Texas แต่มีสาขาในมาเลเซียด้วย

บริอันนา: ก็มีลูกค้าหลายคนที่มาเรียนรู้สตอรี่ของที่ซื้อไปทีหลัง เขาเจอเราผ่าน Facebook ผ่านเว็บไซต์ก่อน ซึ่งพอเริ่มทำความเข้าใจสตอรี่มันก็ทำให้เขาตื่นเต้นมาก เราก็เลยมีลูกค้าหลากหลาย ทั้งที่รู้สตอรี่อยู่แล้วแล้วเข้ามาอุดหนุน กับแบบที่แค่มองหาสินค้าคุณภาพก่อน แล้วค่อยมารับรู้เรื่องราวทีหลัง ยังไงก็แล้วแต่ เราก็รู้สึกดีที่เราได้ขายของที่เราภูมิใจกับคุณภาพด้วยตัวของมันเองด้วย

ฟังดูเหมือนคุณต้องทำงานหนักเลยนะ กับการที่จะดึงเรื่องราวเหล่านี้มาถ่ายทอดในสินค้าเพื่อสื่อสารด้วย 

บริอันนา: เราก็พยายามนะ ฉันจะทำคอนเท้นท์ภาษาอังกฤษซะส่วนใหญ่ และบางครั้งเราต้องมีวิธีการในการนำเสนอ ยกตัวอย่างนะ ฝรั่งบางทีเขาจะชอบซื้อโปรดักส์เฉพาะ เช่น ผ้าเช็ดจาน มันอยู่ในวิถีชีวิตเขา ทีนี้เราก็สื่อสารได้ว่าผ้าที่เราได้มา เราซัพพอร์ตผ้าจากชุมชนในพม่านะ ส่วนการเย็บ เราทำงานกับกลุ่มบุคคลชายขอบในสันทราย สิ่งที่เราทำก็คือร้อยเรียงเรื่องราวเหล่านี้เข้าด้วยกัน

บริอันนา: บางครั้งคนอาจจะแค่เข้ามาเพราะอยากจะซื้อผ้าเช็ดจานเฉย ๆ หรือเขาซื้อเพราะชอบมูลนิธิในไทยที่เราทำงานด้วย แต่การที่เขาเข้ามาซื้อที่ร้าน ทำให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นในพม่าไปโดยปริยาย มันก็เลยจะมีหลายวิธีการ หลายช่องทางที่เราจะสื่อสารได้เนอะ 

เธอพูดเสร็จก็วิ่งไปหยิบสินค้าตัวที่พูดถึงมาให้ดู

บริอันนา: ใช่แล้ว ฝั่งไทยสำหรับผ้านี้เราทำงานกับมูลนิธิดุลภาทรค่ะ ไว้ว่าง ๆ พาไปดูได้นะ อยู่สันทรายนี่เอง ตัวผ้าเราได้มาจากหมู่บ้านในพม่า ในรัฐฉาน (Shan State)แม่ที่ช่วยกันเย็บผ้านี้ขึ้นมา เธอมีลูกที่พิการ ก็เลยไปทำงานก่อสร้างไม่ได้ อืม เหมือนเราก็ได้เชื่อมโยงคอมมูนิตี้ฝรั่งที่นี่ ให้รู้จักกับทั้งตัวมูลนิธีในไทยและชุมชนในพม่าด้วย ฉันชอบคอนเสปต์นี้นะ มันเราทำให้ภราดรภาพ (Solidarity) มันเกิดขึ้นผ่านโปรดักส์เหล่านี้

ฝ้าย: บริอันนาเขาทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงเรื่องราวกับคอมมูนิตี้ทางสังคมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และโปรดักส์พวกนี้มันก็เป็นกระบอกเสียงเรื่องราวเหล่านั้นในตัวของมันเอง

บริอันนา: อย่างที่แขวนโปสเตอร์ไม้ที่เราขาย พวกพ่อ ๆ ที่มาจากกลุ่มชายขอบในมูลนิธิฯ ก็เป็นคนทำขึ้นมา พวกคน NGOs ที่มาช็อปบางทีเขามาแล้วก็ต้องขึ้นเครื่องบินเดินทางออกนอกประเทศ เขามักจะชอบซื้ออะไรเบา ๆ ติดมือกลับบ้านไป อย่างที่แขวนโปสเตอร์นี่แหละ เราก็จะเล่าถึงที่มาให้เขาฟังว่าพ่อ ๆ เป็นคนทำขึ้นมานะ คุณอยากซัพพอร์ตศิลปินพม่าด้วยมั้ย?​ เรามักจะมีงานศิลปะ (Poster Art) จากศิลปินพม่าขายด้วยเนอะ เราก็จะชวนเขาซื้อด้วยเลย

บริอันนาได้มอบที่แขวนโปสเตอร์ให้เรากลับมาที่บ้าน ผลเป็นอย่างภาพที่เห็นด้านล่าง

บริอันนา: ทุกวันนี้เราก็ทำมันอยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่าเราจะ Radicalize (เปลี่ยนแปลงจิตใต้สำนึก) ทำให้คนค่อย ๆ สนใจประเด็นพวกนี้มากขึ้นหรือจะทำให้คนค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนแนวคิดยังไงได้บ้าง เราพยายามทำสิ่งนี้ผ่านของที่เราเลือกและมาขายในร้าน

คนที่มาที่ร้านเป็นใครบ้างคะทุกวันนี้?

คอรอล: ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติกับชาวพม่านะคะ 

คนที่มาที่ช็อปมักจะชอบสินค้าตัวไหน?

คอรอล: ก็ต่าง ๆ กันไปนะ แต่คนจะชอบพวกเสื้อผ้าเยอะ กระเป๋าผ้าก็ด้วย ฝรั่งจะชอบธงผ้าประดับ บางคนก็ชอบโปสเตอร์​ โปสการ์ด คนมาซื้อน้ำผึ้งก็มีเหมือนกัน

บริอันนา: ปกติก็แล้วแต่ลูกค้าเลยค่ะ เป็นเหตุผลที่เราพยายามจะมีให้หมดทุกอย่างเหมือนห้างเลย 

เป็นยังไงบ้างกับหนึ่งปีที่ผ่านมา

เราถามถึงการรวมตัวกันในครั้งนี้ที่เกิดขึ้นเร็วและแลดูจะเป็นปรากฎการณ์ที่สร้างผลกระทบได้ไม่น้อยเลย

ฝ้าย: เราคิดว่าช็อปมันก็เป็นตัวนำพาความหวัง ความสร้างสรรค์มาเหมือนกันนะ เรายินดีมาก ๆ ที่เห็นซัพพอร์ตจากคอมมูนิตี้ที่หลากหลายกับปัญหาเหล่านี้ อีกอย่างก็คือ ในมุมมองเรื่องความสร้างสรรค์ คิดว่ามันเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับกลุ่มการเคลื่อนไหวในไทยเหมือนกัน เราแทบจะไม่มีประสบการณ์เรื่องการส่งสารเรื่องที่เราอยากสื่อสารออกไปในรูปแบบของความสร้างสรรค์เลย บางทีเราไม่จำเป็นต้องทำแค่เสื้อ แก้ว ถุงผ้า อย่างเดียวก็ได้ มันมีอะไรที่ทำได้อีกเยอะเลยถ้าคิดนอกกรอบขึ้นมาอีก ยังไงก็แล้วแต่นะ เรายังต้องใช้เวลา ใช้ทรัพยากรอีกมากในการต่อสู้ครั้งนี้ หนทางมันยังอีกยาวไกล

บริอันนา: โลกหลังโควิดมันโหดกับมนุษย์อยู่นะ เราเห็นได้เลยว่าทุก ๆ คนที่สร้างรายได้จากกิจกรรมของร้าน เขาจะดีใจมาก พอเห็นแบบนี้เอาจริง ๆ ฉันก็รู้สึกกดดันเหมือนกัน เพราะอยากทำให้มันอยู่ได้ ยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็รู้สึกขอบคุณมากเพราะมันมีหลายคนที่ช่วยทำให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา 

บริอันนา​: เร็ว ๆ นี้เราจะเริ่มทำสลากผลิตภัณฑ์เป็นภาษาพม่าด้วย นอกเหนือจากภาษาอังกฤษและภาษาไทย

บริอันนา: เชียงใหม่ก็ถือเป็นเมืองแห่งโยคะอยู่เหมือนกัน มีสตูดิโอโยคะที่หนึ่งในเชียงใหม่ใช้เสื่อโยคะที่เราทำขึ้นมา เพื่อนของคอรอลที่เป็นช่างเย็บผ้าในพม่า จริง ๆ เธอตั้งใจจะเริ่มทำบริษัทแฟชั่น วันเดียวกับที่พม่าเกิดรัฐประหาร หลังจากนั้นเราเลยเริ่มทำงานด้วยกัน เธอเป็นคนผลิตเสื่อโยคะพวกนี้เองเลย ทำจากผ้าพื้นบ้านในพม่า ก็ขายดีเลยค่ะ ในเชียงใหม่จะมีที่สตูดิโอ Layla Yoga

บริอันนาเล่าถึงการร่วมมือกับผู้ประกอบการในเชียงใหม่ด้วยความภูมิใจ และเธอมีความหวังที่อยากจะร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่นมากขึ้นหลังจากนี้เช่นกัน

สวยงามดีนะ เมื่อเห็นสิ่งของพวกนี้ที่สร้างสรรค์จากความเชื่อมโยงของผู้คน

บริอันนา: มันสนุกมาก ฉันคิดว่าการสร้างช็อปนี้ขึ้นมามันเหมือนการสร้างโลกเสมือนจริงเล็ก ๆ โลกที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โลกที่เรื่องราวของผู้คนมันจะถูกส่งต่อ

บริอันนา: นอกจากนี้ มันก็ดูเหมือนว่าระหว่างคนไทยกับคนพม่า มันยังมีช่องว่างบางอย่างที่เกิดจากรอยร้าวในประวัติศาสตร์อีกเหมือนกัน การที่เราทำงานร่วมกันแบบนี้มันก็เป็นการย้ำเตือนว่าจริง ๆ เราก็คือคนธรรมดาที่เป็นเพื่อนกันได้นะ

ไม่ว่าเราจะมาจากชาติใน ชนชาติอะไร (หันไปพูดกับเพื่อนใหม่ชาวพม่า) ยินดีที่ได้รู้จักนะ 

คอรอลและชูยิ้มให้เราด้วยสายตาใจดี

บริอันนา: คำว่า Cute ภาษาไทย คืออะไรนะ?​

เอิง: น่ารัก แล้วภาษาพม่าละ?​

คอรอล: ชิ-ไซ-อา (ချစ်စရာ)

และเมื่อเป็นเพื่อนกันแล้ว เราจึงสงสัยและอยากฟังว่าแต่ละคนเคยผ่านอะไรกันมาบ้าง

มารวมตัวกันได้ขนาดนี้ เริ่มสงสัยแล้วว่าพวกคุณมีพื้นฐานอะไรกันมาก่อนบ้าง? 

บริอันนา​: ฉันจบธุรกิจมา ตอนอายุ 18 ฉันเข้าไปเรียน Community College (ในอเมริกา) เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะทุกวัน ฉันเห็นผู้คนที่เขาลำบากมาก ต้องทำงานงก ๆ ทำงานที่ค่อนข้างแย่ ฉันก็แค่คิดว่าอยากจะทำอะไรที่สร้างโอกาสให้คนเราได้ทำสิ่งที่เรารัก มันเลยเป็นสิ่งที่สนใจมานานแล้ว พอได้มาเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในพม่า ฉันก็เลยได้เริ่มทำสิ่งนี้ 

บริอันนา: ความจริงแล้วการที่เกิดปัญหาในพม่าเนี่ยทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจเยอะเหมือนกันนะ ชาวพม่าย้ายเข้ามากันเยอะมาก

คอรอลล่ะ?

คอรอล: ฉันจบกฎหมาย สมัยก่อนฉันทำงานในพม่า ช่วงฝึกงานก็ฝึกงานกฎหมายนะแต่ไม่ค่อยชอบ ตอนหลังก็เลยออกมาทำหลาย ๆ อย่าง ทำงานร้านอาหารแล้วก็ทำงานให้ JICA (Japan International Cooperation Agency) เป็นโปรเจคเกี่ยวกับสาธารณุปโภคกับภาครัฐ หลังจากนั้นก็ลาออกแล้วก็มาเป็นไกด์ ฉันเริ่มเป็นไกด์ช่วงปี ค.ศ. 2017 ช่วงวิกฤตโรฮิงญาพอดี ปีหลังจากนั้น ค.ศ. 2018 พม่าไม่มีนักท่องเที่ยวเลย หลังจากนั้นพอดีขึ้นหน่อยก็มาเจอโควิดอีก บริษัทฉันเลยต้องปิดไป แล้วสามปีก่อนก็เกิดรัฐประหารในพม่า

บริอันนา: ความฝันของทุกคนถูกทำลายกระจุยเลย 

คอรอล: แต่ฉันชอบเชียงใหม่มากนะ มันออกจะคล้าย ๆ มัณฑะเลย์อยู่เหมือนกัน มีภูเขาเต็มไปหมด คล้าย ๆ รัฐฉานเลย 

บริอันนา: ขี่มอเตอร์ไซค์ได้เนอะ ในย่างกุ้งนี่ขี่ไม่ได้เลย รัฐบาลห้าม แต่ในมัณฑะเลย์ยังขี่ได้ เหมือนเชียงใหม่

เธอเป็นคนที่ไหน?

คอรอล: ฉันมากจากโซนอิรวดี (Ayeyarwady) ห่างจากย่างกุ้งประมาณ 2 ชั่วโมงนะ 

ชอบอะไรกับวิถีชีวิตที่เชียงใหม่?

คอรอล: อาหารค่ะ

บริอันนา: ฮ่า ๆ แน่นอนสิ เธอโพสท์แต่เรื่องอาหารกันตลอดเลย เธอชอบออกไปกินสตรีทฟู้ดใช่ไหม? ชอบกินอะไรมากสุด?

คอรอล: ข้าวซอยนะ

อาหารที่นี่เหมือนอาหารที่บ้าน (พม่า) มั้ย?

บริอันนา: มีข้าวซอยเวอร์ชั่นเมียนมาอยู่นะ บางอย่างก็คล้าย ๆ กัน มันต่างกันยังไงนะ?

คอรอล: ใช่เลย แต่ว่าของพม่าจะเครื่องเทศน้อยกว่าของที่นี่นะ

ทุกคนอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน อยู่ในความก้ำกึ่ง ถ้าเราจะต้องสร้างชีวิตใหม่กัน เมืองแบบไหนที่คุณอยากใช้ชีวิตอยู่? เมืองในฝันของคุณเป็นแบบไหน? 

บริอันนา: เธออยากกลับไปพุกามมั้ย? คอรอลเคยเป็นไกด์อยู่ที่นั่นด้วยนะ คอรอลมีความฝันอยากทำฟาร์มแล้วก็ทำเรื่อง Ecotourism เธอเคยเริ่มทำมาแล้วด้วย

คอรอล: ใช่ ๆ อยากทำฟาร์มออแกนิค อยากทำงานพวก CBT (Community-based Tourism) อยากให้รายได้จากการทำธุรกิจท่องเที่ยวมันถูกใช้ไปกับการพัฒนาชุมชน ทำให้สาธารณุปโภคมันดีขึ้น อะไรแบบนี้

ตอนนี้ดูเหมือนคุณก็ทำสิ่งที่คล้ายคลึงกับความฝันอยู่นะ

บริอันนา: ถ้าเป็นไปได้ เราก็ฝันอยากกลับไปทำสิ่งนั้นที่พม่าแหละ ฉันสังเกตอยู่นะว่าคนพม่าที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นคนที่อินกับเรื่องชุมชนมาก ๆ ฉันคิดว่าถ้าทางการไทยเห็นในศักยภาพของคนเหล่านี้มันจะดี เพราะคนพวกนี้ก็สามารถช่วยพัฒนาเมืองไทยได้เหมือนกัน 

คอรอล: เวลาฉันไปโน่นไปนี่ในเชียงใหม่ ฉันก็จะคิดตลอดว่าอยากเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้กลับไปทำที่พม่าบ้าง อย่างกาดต่าง ๆ กาดจริงใจ ถนนคนเดิน ไนท์บาซาร์ บางครั้งเวลาเห็นนักท่องเที่ยวมาเชียงใหม่เยอะ ๆ ฉันก็แอบเศร้า อยากให้เกิดสิ่งเหล่าขึ้นที่พม่าบ้าง

บริอันนา: เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีสปิริตความเป็นผู้ประกอบการสูงนะ ธุรกิจเล็ก ๆ มีเต็มไปหมด 

คอรอล: ฉันอินกับเรื่องแพ็คเกจจิ้งของที่นี่มาก ที่พม่าความรู้เรื่องพวกนี้ยังมีไม่เยอะ อย่างพวกของฝาก บางทีเน้นแต่เรื่องปริมาณ แต่คุณภาพยังไม่ดีพอ เวลาไปกาดวโรรสฉันชอบไปดูงานพวกนี้มาก ๆ เอาเป็นว่าฉันน่ะอยากจะยกเชียงใหม่ไปไว้ที่พม่าแหละนะ 

บริอันนา: “สนุก” คำนี้ใช่ไหมนะ? ฉันว่าวัฒนธรรมที่นี่มันสนุก อย่างวัฒนธรรมการไปคาเฟ่ฮ็อป หรือร้านกาแฟต่าง ๆ เหล่านี้มันสะท้อนให้เห็นว่าคนที่นี่เขามีความสุขนิยมอยู่ ฉันชอบนะ วัฒนธรรมแบบนี้ แล้วฉันเองก็สนุกกับการได้ไปทดลองใช้ชีวิตแบบนั้นดูเหมือนกัน 

ก้าวต่อไปของ Golden Land Solidarity Collective

บริอันนา: ร้านเราจะบริจาครายได้ให้กลุ่มคนพลัดถิ่นในพม่าเป็นประจำ ในรัฐฉาน (Shan State) รัฐกะฉิ่น (Kachin State) และ ภาคซะไกง์ (Sagaing)

คอรอล: ในยะไข่ (Rakhine State) ก็ด้วย

บริอันนา: เราพยายามจะบริจาคให้ทั่วถึงทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ แต่จริง ๆ ตอนนี้ก็หวังว่าจะขยายต่อไปยังภาคตะนาวศรี (Tanintharyi) ทางใต้ด้วย

บริอันนา: ที่ผ่านมา คนจะติดต่อฉันกับคอรอลเยอะมากเพื่อขอความช่วยเหลือ เราเองก็อยากจะช่วยในวิธีที่ไม่ใช่แค่ให้เงิน ก็เลยต้องหาวิธีการสร้างรายได้เหล่านี้ให้ชุมชน เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่ง ณ ตอนนี้มันทำสร้างอาชีพให้ผู้คนหลากหลายในพม่า นอกจากนี้พอเราขายดีขึ้นแบบนี้ เราเองก็มีกำลังที่จะบริจาคให้กลุ่มต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย ทุกวันนี้เราก็ดีใจที่เราได้ซัพพอร์ตผู้ประกอบการ ผู้ผลิตในเมืองไทยด้วย และจากการทำงานร่วมกันเราก็สามารถซัพพอร์ตและบริจาคต่อให้กับกลุ่มต่าง ๆ ในพม่าด้วยเช่นกัน

บริอันนา: ความท้าทายถัดไป เราเองก็อยากให้มีคนมาที่ร้านเยอะขึ้น ณ ตอนนี้เรายังเปิดร้านแค่ 3 วันต่ออาทิตย์ ในอนาคตก็อยากขยายเวลาเป็น 6 วันต่ออาทิตย์ไปเลย

ทุกคนมีอะไรที่อยากบอกกันมั้ย?

คอรอล: ฉันยินดีและซาบซึ้งมาก ๆ ที่ได้ทำงานกับบริอันนาและฝ้าย แล้วก็ทุกคนที่มาซัพพอร์ตร้านและสิ่งที่มันเป็น สิ่งที่เราเชื่อ 

สี่สาวต่างยิ้มให้กันในแบบที่ไม่ต้องมีคำพูดมากไปกว่านี้ การต่อสู้เพื่อสิทธิและการมี “บ้าน” ให้กลับยังคงดำเนินต่อไป และไม่ว่าจะที่เชียงใหม่หรือบ้านเกิด เราก็หวังให้เพื่อนร่วมสังคมได้ “กลับบ้าน” และทำตามฝันอย่างที่หวังในเร็ววัน

'นนทบุเรี่ยน' ที่มาเป็นชาวเชียงใหม่ เป็นนักรณรงค์เมืองดนตรีที่มีความฝันว่าอยากจะเป็นนักเขียนกับเขาบ้าง เมื่อได้ลองทำจึงปิติเป็นอย่างมาก เล่นดนตรีบ้างเพื่อเคลียร์พื้นที่จิตใจ มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเมืองแนวราบและการกระจายอำนาจเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง