29 ปี การจากไปของ ‘เเก้วตาไหล’ ตำนานช่างซอล้านนาผู้สะท้อนเสียงของผู้คนด้วยเพลงซอจนวาระสุดท้ายของชีวิต

เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นวาระครบรอบ 29 ปีการจากไปของ ตาไหล กันทะจันทร์ หรือ ‘พ่อเเก้วตาไหล’ ศิลปินซอชั้นครูผู้เลื่องชื่อของจังหวัดลำพูน ผู้ใช้เสียงเพลงสรรสร้างเสียงสะท้อนของชาวบ้านผู้ทุกข์ยากจากการกระทำของภาครัฐ อีกทั้งยังเป็นผู้ขับกล่อมเพลงซอตำนานพื้นบ้านที่สำคัญต่างๆ อย่างซอตำนานช้างปูก่ำงาเขียว, ซอตำนานเมืองเก่าบ้านเวียงหนองล่อง, ซอตำนานพระธาตุห้าดวงเมืองลี้, ซอประวัติพระบาทหัวเสือเชิงดอยอินทนนท์ จอมทองเชียงใหม่ และซอตำนานเขื่อนยันฮี

นายตาไหล กันทะจัน เกิด ณ บ้านศรีเตี้ย หมู่ที่ 3 ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ในปีพ.ศ.2457 เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายอินทร์และนางเอ้ย กันทะจัน มีพี่น้อง 10 คน สมรสกับนางแสน กันทะจัน มีบุตรด้วยกัน 5 คน ประกอบอาชีพรับจ้างแสดงซอตามงานฉลองต่างๆ

ตาไหล กันทะจัน ได้ติดตามรับใช้ช่างซอปั่นแก้วเมื่อไปแสดงตามที่ต่างๆ และมีโอกาสได้แสดงฝีปากหลายครั้งจนในที่สุดได้พัฒนาความสามารถของตนเองขึ้นมาเป็นช่างซอในระดับแนวหน้า ถึงแม้ว่าจะมีความรู้น้อยแต่มีปฏิญาณไหวพริบที่ยอดเยี่ยม สามารถที่จะซอโต้ตอบได้อย่างฉับไวด้วยสำนวนที่คมคายเป็นที่ถูกใจของผู้ฟัง ต่อมาได้คิดหาแนวการซอจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว คือซอด้วยทำนองที่รวดเร็วทำให้ตอบโต้ได้ฉับไว จนทำให้ตาไหล กันทะจัน กลายเป็นช่างซอที่โดดเด่น ประกอบกับลักษณะการซอจะมีท่วงท่าและมีมุขตลกสอดแทรก จึงทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วทั้งดินแดนล้านนาและภาคเหนือ

ในช่วงพ.ศ.2500 แก้วตาไหล กันทะจันทร์ ได้สะท้อนความคิดของเขาผ่านเพลงซอ โดยได้บันทึกเสียงในเทปคาสเซทเป็นเพลงซอเรื่อง  ตำนานเขื่อนยันฮี หรือ ซอน้ำท่วมวังลุง บอกเล่าถึงความทุกข์ยากของชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของภาครัฐ นี่จึงน่าจะเป็นครั้งแรกที่ศิลปินเพลงพื้นบ้านล้านนาอย่าง “ช่างซอ” ลุกขึ้นมาสร้างบทสนทนาต่อกระแสธารการพัฒนาที่มาพร้อมกับ “เขื่อนยันฮี”  (หรือภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เขื่อนภูมิพล) ถูกสร้างขึ้นกั้นแม่น้ำปิง บริเวณช่องเขายันฮี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ขณะที่ “ซอเก็บนก” กลับสร้างบทสื่อสารการแสดงที่มีนัยยะเหน็บแนบและเย้ยหยันความสัมพันธ์ระหว่าง “ชาวบ้าน” กับ “นายอ่าย”หรือนายด่านรักษาป่าไม้ที่มีนัยยะเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ

ตั้งแต่ปีพ.ศ.2509 เริ่มมีความนิยมที่จะแข่งขันซอขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกวดซอที่สถานีวิทยุ วปถ. 2 เดิม (อยู่บริเวณค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่) ตาไหล กันทะจันได้เข้าร่วมแข่งขันด้วย ผลปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศ ต่อจากนั้นได้เดินทางไปเข้าร่วมในการประกวดซอตามที่ต่างๆ เช่น ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย บ้านทุ่งเสลี่ยม บ้านท่าล้อ บ้านห้วยส้ม อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ผลการแข่งขันสามารถขับซอได้ชนะเลิศทุกครั้งไป เมื่อมีการประชันซอกันเมื่อใดดูเหมือนว่าประชาชนทุกคนต่างพากันมาฟังซอของคณะแก้วตาไหลอย่างท่วมท้น ตาไหล กันทะจัน ได้ซอในนาม “แก้วตาไหลและได้บันทึกแผ่นเสียงออกจำหน่าย ต่อมาได้บันทึกเทปในนาม “แก้ว ตาไหล บ้านหนองล่อง” ซึ่งมีซอหลายชุดด้วยกันช่างซอที่โต้ตอบกันเรียกว่า “คู่ถ้อง” หรือนักขับซอที่โต้ตอบกับแก้ว ตาไหล เสมอ เป็นช่างซอสตรีมีชื่อว่าแก้วมา บัวบานขันแก้ว บัวดิ๊บ บัวจั่น ปั่นแก้ว อุมา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นช่างซอที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น

ไหล กันทะจันทร์ เสียชีวิตในช่วงเช้ามืดของวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2537 ในวัย 81 ปีด้วยโรคเลือดคั่งในสมองและหัวใจล้มเหลว โดยก่อนหน้านั้นในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2537 ตาไหล กันทะจันทร์ ได้รับคำเชิญจากโรงเรียนบ้านโฮ่งรัตนะวิทยา ให้ไปแสดงสาธิตการซอในงานอนุรักษ์วัฒนธรรมและนิทรรศการวิชาการ ก่อนจะมีอาการตัวเอียงจะตกจากเก้าอี้ที่นั่งซออยู่เมื่อซอจบในช่วงแรก และกำลังจะขึ้นซอในช่วงที่สอง จึงถือได้ว่า ไหล กันทะจันทร์ เป็นช่างซอจนวาระสุดท้ายของชีวิตตามความปราถนาที่เคยพูดไว้กับลูกหลานเมื่อครั้งยังมีชีวิตว่า

“ถ้าตนเองจะตายก็ขอให้ตายบนผามซอ”


อ้างอิง

  • “ตาไหล กันทะจัน, นาย.” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 5. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 2383-2384.
  • https://www.facebook.com/100004705260553/posts/810247744132709/?vh=e&extid=MSG-UNK-UNK-UNK-IOS_GK0T-GK1C

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง