เรื่องและภาพ: ภัทรภร ผ่องอำไพ
‘ปัญหายาเสพติด’ อาจเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่แม้ประเทศไทยได้มีการพยายามแก้ โดยการเพิ่มโทษทางข้อกฎหมายและมีวิธีการปราบปรามที่รุนแรงก็ตาม ดังในยุคหนึ่งที่เคยใช้นโยบายซึ่งมี นายกฯ ในสมัยนั้นคือ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546 และต่อมาในช่วงปลายปี 2564 ได้มีแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายขึ้นมาใหม่ 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564
ผู้ใช้สารเสพติด จึงได้ถูกมองใหม่ภายใต้กรอบแนวคิด ‘ผู้เสพไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นผู้ป่วย’ ซึ่งในทางการแก้ไขปัญหาเน้นการใช้กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟู หลังจากผ่านการบำบัดจะไม่ถูกดำเนินคดีและไม่มีประวัติอาชญากร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีบทบาทหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด หน่วยงานภาครัฐ (โรงพยาบาล) ทำหน้าที่ในส่วนของการบำบัดรักษาและฟื้นฟู เช่น การให้คำปรึกษาภายใต้การดูแลนักจิตวิทยา นักจิตเวช และเครือข่ายภาคประชาสังคม (NGOs) บทบาทที่สำคัญคือ เป็นตัวกลางสร้างพื้นที่ปลอดภัยและดึงให้ผู้ใช้สารเสพติดเข้าสู่ระบบสาธารณสุขทั้งนี้การเข้าสู่ระบบการบำบัดจะเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ต้องการเอง ซึ่งนอกจากนี้ได้มีการให้ข้อมูล ความรู้ กระบวนการวิธีการลดอันตรายจากสารเสพติด (Harm Reduction) กับผู้ที่อยู่ในกระบวนการบำบัด ซึ่งเป็นเวลา 1 ปีกว่าแล้วหลังจากประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้
ซึ่งนี่เป็นข้อท้าท้าย ต่อวิธีการใช้กระบวนการลดอันตรายของการใช้สารเสพติด ที่ผ่านมาของหน่วยงานภาคประชาสังคม (NGOs) ด้วยเช่นในช่วงหลังผ่านพ้นไป 1 ปีกว่าที่มีการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดใหม่และมีอนุบัญญัติรองรับการบังคับใช้เกือบครบแล้ว ข้อท้าทายที่ค้นพบในการขับเคลื่อนประเด็นนี้เป็นอย่างไร กระบวนการลดอันตราย สามารถใช้การได้จริงหรือไม่ในสังคมไทย
ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ผ่านมุมมอง 3 คน 4 มุมมองของ “ผู้ใช้สารเสพติด” ต่อประเด็นการขับเคลื่อนในกระบวนการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ‘Harm Reduction’
เรื่องเล่าจาก “ผู้ใช้สารเสพติด”
“ถ้าถามเรา ใจเราเชียร์ให้เลิกใช้ยาไปเลยมากกว่าการลดนะ เพราะว่าถ้ากินยาและเล่นยาไปด้วยพร้อมกัน มันจะทำให้เลิกยาก เช่น เฮโรอีนหาของไม่ได้ 2 อาทิตย์ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเลิกรับเมทาโดนเป็นปีเลยมันสะสมอยู่ในร่างกาย เราไม่สนับสนุนให้เล่นไปกินยาไป”
น้อย (นามสมมุติ) วัย 46 ปี ปัจจุบันประกอบอาชีพ เป็นผู้ช่วยภาคสนาม ได้เล่า ช่วงวัยเด็กที่เธอได้ใช้สารเสพติดครั้งแรกเป็นช่วงที่เธอประสบอุบัติเหตุ มีอาการปวดอย่างรุนแรง เพื่อนแนะนำว่ากินยาที่เอามาให้จะสามารถบรรเทาอาการได้ เธอจึงรับมาและมารู้หลังจากที่เสพติดยาไปแล้วว่าเป็น ผงขาว หรือที่รู้จักคือ เฮโรอีน ในภายหลังที่เธอได้เข้ารับการบำบัดศูนย์ยี่สิบสามสี่พระยา ซึ่งทำให้เธอได้พบกับ นุ้ย เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย
เมื่อถามถึง การลดอันตรายจากสารเสพติด “Harm Reduction” ว่ารู้จักคำนี้มาก่อนหรือไม่ น้อย เล่าว่า ตอนแรกเธอไม่เข้าใจคำนี้ ช่วงที่ นุ้ย ได้เอาชุดอุปกรณ์สะอาด (เข็ม) มาแจกและกำชับว่าอย่าใช้เข็มซ้ำกับใคร เธอสงสัยจึงเข้าไปสอบถามเพิ่ม ซึ่งได้คำอธิบายว่าสิ่งนี้เป็นบริการที่ช่วยลดอันตรายจากสารเสพติด เมื่อเธอเข้าใจแล้วดังนั้นเธอจึงเลิกใช้สารเสพติด และต่อมาหลังจากที่ได้เข้าร่วมงานกับมูลนิธิ เธอเข้าใจมากขึ้นถึงการให้ความสำคัญของการลดอันตรายสารเสพติดมากขึ้น
น้อย เล่าว่า แม้เธอจะสามารถเลิกใช้สารเสพติดได้เนื่องจากมีหลายสาเหตุประกอบ แต่ในฐานะคนทำงานเธอเข้าใจผู้ใช้สารเสพติด ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะต้องเลิก
“การลดอันตรายจากสารเสพติดยากง่ายไหม ผมว่ามันก็ไม่ยากและก็ไม่ง่ายเช่นเดียวกัน ผมคิดอย่างนั้นนะ หมายถึงว่าคุณพร้อมที่จะเรียนรู้หรือยัง อย่ามัวแต่เดี๋ยวก่อน รอก่อน เข้ามาทำความรู้จักกับมันก่อน ทำมันเลย”
ต๋อย (นามสมมุติ) วัย 44 ปี ปัจจุบันประกอบอาชีพ เป็นผู้ช่วยภาคสนามพื้นที่กรุงเทพฯ ได้เล่าถึงช่วงวัยเด็ก เขาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งความสัมพันธ์ภายในบ้านไม่ค่อยดีเท่าไรหนัก เขาเริ่มมารู้จักสารเสพติดจากเพื่อนละแวกแถวบ้านซึ่งพื้นที่ที่เขาอยู่ก็เป็นพื้นที่เขตระวังเป็นพื้นที่สีแดง ต๋อยเลือกใช้สารเสพติดเพื่ออยู่ในโลกส่วนตัวที่ไม่ต้องสนใจใคร ซึ่งในช่วงปราบปรามยาเสพติดเขาเปลี่ยนวิธีใช้จากการสูบเป็นการฉีดเข้าเส้นเลือดแทน ซึ่งในตอนนั้นมีผู้ใหญ่ที่ใช้เป็นคนฉีดให้
“ผมติดเฮโรอีนหนักมาก โดนจับเข้า – ออก สถานพินิจอยู่บ่อยครั้ง ครอบครัวก็มีพาไปเข้าบำบัดตามโรงพยาบาล ตามวัด ผมทำทุกอย่าง แต่พอกลับมาที่บ้านเจอปัญหาเหมือนเดิม และอาการของผมที่พอขาดยาแล้วทรมาน ผมทนไม่ได้ ผมก็วนใช้สารเสพติดซ้ำ โดนจับก็ยอมจำนนออกมาก็ใช้ใหม่”
เมื่อถามถึง การลดอันตรายจากสารเสพติด “Harm Reduction” ว่ารู้จักคำนี้มาก่อนหรือไม่ ต๋อย กล่าวว่า ได้เข้ารับยาเมทาโดนที่ศูนย์สาธารณะสุขแถวบ้าน และได้เจอกับอาสาสมัครจากมูลนิธิรักษ์ไทย จุดหักเหของชีวิตจึงเป็นในส่วนของการเสียชีวิตในกลุ่มเพื่อนของต๋อย ที่จากเดิมเคยได้มารวมตัวกันค่อยๆ เสียชีวิตลง หลังจากนั้นก็เริ่มเข้ามาทำกิจกรรมกับทางองค์กร ได้เข้าใจว่าชุดเข็มที่ได้รับเป็นส่วนหนึ่งของการลดอันตรายจากสารเสพติด ลดการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และไวรัสตับอับเสบต่างๆ จนสุดท้ายต๋อยเข้ามาทำงานกับมูลนิธิรักษ์ไทย ในฐานะผู้ช่วยภาคสนาม
“ถ้าจะให้เลิกถาวรเลย บางคนเขาทำแบบนั้นไม่ได้นะ มันต้องดูสภาพแวดล้อมบริบทของเขาด้วย ถ้าเขาใช้เพื่อไม่ให้เครียดแล้วมีความสุข มันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา ซึ่งจะมาบังคับให้เลิกมันทำไม่ได้และการที่ชุมชนบอกว่า เราไปสนับสนุนให้เขาใช้ยามากกว่าเดิม คือ เราไม่ได้สนับสนุน เราแค่ให้เขาเข้าถึงบริการอุปกรณ์ ข้อมูลเท่านั้น”
จอย (นามสมมุติ) วัย 46 ปัจจุบันประกอบอาชีพ เป็นผู้ช่วยภาคสนาม เล่าว่า ครอบครัวของเธอพ่อแม่แยกทางกัน สารเสพติดแรกที่เธอใช้เริ่มจากการดมกาวกับกลุ่มเพื่อน ต่อมาช่วงที่เรียน กศน. เพื่อนได้แนะนำให้มาใช้ เฮโรอีน ให้รู้จักโดยใช้วิธีแบบสูบจนกระทั่งวัย 17 – 18 ปี จึงเปลี่ยนมาใช้แบบ ฉีด
“ถ้าถามว่ารู้จักไหม เราก็รู้จักนะ แต่ในส่วนของข้อที่เกี่ยวข้องกับเรามากที่สุด จะเป็นเรื่องของการใช้ เมทาโดน ยาซาแน็ก เพราะเราในฐานะคนทำงาน ถ้าเพื่อนกินยาเกินขนาด (Overdose) ยาอยู่ แล้วเป็นอาการที่สามารถใช้ยาซาแน็กได้ เราจะสามารถใช้ยานั้นได้ทัน”
เมื่อถามถึง ข้อดี ข้อเสีย ของขั้นตอนวิธีการลดอันตรายจากสารเสพติด ‘Harm Reduction’ จอย กล่าวว่า เธอได้รู้ขั้นตอนการช่วยเหลือเพื่อนที่ใช้สารเสพติดจากอาการกินยาเกินขนาด (Overdose) หรือ การให้ข้อมูลความรู้ ชุดอุปกรณ์สะอาด เพื่อลดการใช้เข็มซ้ำ ในส่วนของข้อเสีย เธอมองว่าเป็นสังคมมากกว่าที่ไม่เข้าใจแนวทางการลดอันตรายจากสารเสพติด
“การลดอันตรายจากสารเสพติด มันก็ไม่ได้ยาก ความมักง่าย ของคนมากกว่า เราทำให้มันไม่เสี่ยงได้จาการการไม่ใช้เข็มซ้ำ”
ปอนด์ (นามสมมุติ) วัย 36 ปี ปัจจุบัน ว่างงาน สารเสพติดแรกที่ปอนด์รู้จักเป็น ‘ยาบ้า’ เขาใช้ไปจนต่อมาได้ขยับเป็น ‘เฮโรอีน’ ช่วงวัยเยาว์ เขาใช้วิธีการ ดม ก่อน และมีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ปอนด์ได้กลับมาจากต่างจังหวัด เขามีอาการลงแดง จึงขอให้รุ่นพี่ที่รู้จักเป็นคนฉีดให้ ปอนด์ เล่าว่า เขาเสพติดหนักมากแต่ด้วยราคาของยาที่สูง ทำให้เขาตัดสินใจเป็น “เด็กเดินยา” แต่เงินที่ได้ยังไม่เพียงพอ เขาจึงเปลี่ยนมาเป็น “คนขายยา” ในช่วงวัยเยาว์ของปอนด์นั้น เขาเข้า – ออก จากสถานพินิจอยู่บ่อยครั้ง จนเมื่อวัย 28 ปี ปอนด์ได้มีภรรยาและลูก เขาจึงตัดสินใจที่จะหยุดพฤติกรรม
“ก่อนหน้านี้ผมเข้ารับยาจากศูนย์สี่พระยามาเจอกับอาสาสมัครของมูลนิธิ มันก็เป็นการบอกข้อมูลกันปากต่อปาก เจ้าหน้าที่ก็มีให้ชุดอุปกรณ์สะอาดบ้าง มีมาให้ข้อมูลบ้างก่อนหน้านี้ผมไม่รู้เลย ว่าอะไรคือการลดอันตราย ผมเล่นยาอย่างเดียว”
“การที่คุณจะได้รับยาต้าน HIV คนติดเชื้อที่ปกติ คุณก็สามารถไปขึ้นทะเบียนไปขอรับยากับโรงพยาบาลได้เลย แต่กรณีของผู้ใช้สารเสพติดคือคุณจะต้องไปเลิกยาก่อนถึงจะสามารถรับได้ มันแสดงให้เห็นมายาทัศนคติต่อผู้ใช้ยาเสพติดว่าคุณต้องปลอดยาก่อน ถึงจะสามารถเข้าถึงได้รับบริการการรักษา”
2546 : บาดแผลที่ลงเหลือ จากสงครามปราบยาเสพติด
กฤษดากร เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิรักษ์ไทย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ องค์กร ได้ขยับมาจับงานในประเด็น “ผู้ใช้สารเสพติด”
โดยในช่วง 2548 ได้รับงบจาก Global Fund เนื่องจากรัฐบาลในสมัยนั้นปฏิเสธการให้งบเพื่อขับเคลื่อนประเด็นนี้ จึงทำให้ต้องไปหาแหล่งทุนนอกและจับมือกับภาคีเครือข่ายที่สนใจ ซึ่งหลังจากนั้นรักษ์ไทยก็เป็นผู้รับทุนหลักจากโครงการ STAR (Reach-Recruit-Test-Treat-Prevention-Retain : RRTTPR) ซึ่งหลังจากจบสงครามยาเสพติดสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) มียอดตัวเลขขึ้นสูงมาก สถานะภาพของผู้ใช้สารเสพติดจึงไม่ต่างจาก ‘คนชายขอบ’ ไม่สามารถออกมาใช้สิทธิ์ในการเข้ารับบริการสาธารณสุข หรือต่อให้เข้าได้ก็ต้องมีเงื่อนไขบางประการและหลบซ่อนจากสังคม
“สังคมมองผู้ใช้ยาเป็นคนไม่ดี เป็นอาชญากร ซึ่งในสมัยนั้นกระบวนการที่ผู้ใช้ยาได้รับคือการเอาไปจับ ขัง เข้าคุก ผู้ใช้ยาที่นอกจากต้องหลบซ่อน ต้องต่อสู่กับการเลือกปฏิบัติมายาคติ เช่น ถ้าป่วยเป็นเอชไอวี (HIV) คนปกติสามารถเข้ารับยาต้านได้ตามสิทธิ์บัตรทอง หรือใดๆ ที่มีได้เลย แต่ในสถาณการณ์นี้จะไม่เกิดการผู้ใช้ยาเพราะเมื่อเขาไปรับยากับทางโรงพยายาล มันกลายเป็นเงื่อนไขว่า คุณต้องปลอดยาก่อน ถึงจะรับการรักษาได้”
ซึ่งหลังจากคลี่คลายสถาณการณ์การปราบยาเสพติดแล้วก็ตาม แต่ผลจากการบังคับใช้นโยบาย ข้อกฎหมาย ได้ทิ้งร่องรอยบาดแผลมาจนถึงปัจจุบันนี้
ทายาด้วย “Harm Reduction”
ช่วงที่ กฤษดากร เป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามใหม่ๆ เขาทำงานได้รับเงินจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และนำเงินที่ได้ไปซื้อเข็มตามร้านขาย เพื่อที่จะมาแจกให้ผู้ใช้ยา ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีแพ็กเและเขายังไม่รู้จักคำว่า ‘การลดอันตรายจากสารเสพติด (Harm Reduction)’ มาก่อน มันดูเป็นคำที่กว้างและใหญ่มาก จนเมื่อได้เข้าไปอบรมเรียนรู้จากหน่วยงานต่างประเทศ ก็พบว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันที่ผ่านมานั้น คือ หนึ่งในการลดอันตรายจากสารเสพติด (Harm Reduction) โดยที่เขาไม่รู้ตัว
ต่อมาจึงได้นำแนวคิดมาประยุกต์ใช้ ปรับปรุง ออกแบบชุดบริการในเรื่องของ “บริการชุดเข็มสะอาด” ซึ่งถ้าให้พูดถึงการบริการในส่วนนี้ยังถือว่าขัดกับกฎหมาย ยังอยู่ในเงา
“คนที่เขาไม่เข้าใจ เขาก็มองว่าผมไปสนับสนุนให้ผู้ใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้น การใช้สารเสพติดมันผิดกฎหมาย พวกคุณจะสนับสนุนให้คนทำผิดทำไม การที่มีผู้ใช้ยาอยู่ในสังคมปะปนแบบนี้ดีแล้วเหรอ เพราะฉะนั้นแล้วการขับเคลื่อนประเด็นงานนี้ การสื่อสารสร้างความเข้าใจมันใช้ระยะเวลา คุณไม่อาจจะเปลี่ยนใจใครได้ภายใน 3 – 5 นาที”
ดังนั้นแล้วหน่วยงานภาคประชาสังคม (NGOs) และภาคีเครือข่ายจึงได้จับมือทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ พยาบาล และชุมชน ทำงานในเชิงกลไกการมีส่วนร่วม เพื่อสะท้อนปัญหาและแก้ไขไปด้วยกัน
การสมานแผล ต้องใช้ระยะเวลา
ในแง่ของข้อท้าทาย – ข้อกังวลที่หน่วยงานภาคประชาสังคม (NGOs) และภาคีเครือข่ายร่วมที่ต้องเจอในการขับเคลื่อนประเด็นงาน กฤษดากร กล่าวไว้ ในส่วนของข้อท้าทายแบ่งออกหลักๆ เป็น 4 ประเด็น
-การสื่อสาร ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน : เช่นกรณีการเบิกจ่ายระบบสุขภาพ ผู้ใช้ยาจะไม่สามารถเบิกได้ครอบคลุมในการเบิกยานั้นๆ ตามอาการที่ตนเป็น รวมไปถึงไม่กล้าบอกว่าตนเองเป็นคนใช้ยา ดังนั้นเวลาวินิจฉัย รักษาโรค จึงคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยน
-มายาคติ ทัศนคติ / อำนาจของแพทย์ต่อคนไข้ : คือการที่ อำนาจการตัดสินใจบางอย่างอยู่ภายใต้คำว่า ‘ดุลยพินิจของแพทย์นั้นๆ’ ซึ่งในแต่โรงพยาบาลในกระบวนการส่งต่อผู้ใช้ยาหากโรงพยาบาลนี้แพทย์มีทัศนคติเข้าใจกระบวนการรักษาก็ทำ แต่หากอีกโรงพยาบาลหนึ่งแพทย์ไม่เข้าใจ มีทัศนคติก็ไม่ได้รักษา
-การเข้าถึงสิทธิ์ : ผู้ใช้ยาเข้าไม่ถึงสิทธิ์ที่ตนพึ่งจะได้รับ ดังนั้นการพาเขาเข้าสู่ระบบอย่างน้อยที่สุดเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหรือรับบริการก็ยังสามารถเบิกจ่ายได้ หรือกรณี ผู้ใช้ยาที่อยู่ในเรือนจำ พอออกมาทางเรือนจำไม่ส่งสิทธิ์กลับมาสู่ภูมิลำเนาเดิม ส่งเข้าส่วนกลางหรือที่เรียกว่าทะเบียนบ้านกลาง เพราะฉะนั้นคนที่ออกจากเรือนจำต้องไปขอคัดจากทะเบียนบ้านกลางเอง ซึ่งหลายๆ คนก็ไม่มี
-กฎหมายที่ไม่เอื้อ : ผลักดันให้มีบริการด้านเมทาโดน (Methadone) เป็นชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ใช้ยา , ระเบียบเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบซี (แต่เดิมผู้ใช้ยาต้องรักษายาเสพติดก่อนจึงจะสามารถรักษาไวรัสตับอักเสบซีได้) หรืออย่างเหตุการณ์ปัจจุบันหน่วยงานภาคประชาสังคม (NGOs) และภาคีเครือข่ายได้มีส่วนร่วมในการออกแบบข้อกฎกมาย (2564) แนวทางการลดอันตรายจากสารเสพติด
ที่นอกจากจะเป็นข้อท้าทายในระดับของคนทำงานในประเด็นนี้แล้ว ยังเป็นข้อท้าทายต่อผู้ใช้ยาที่ต้องต่อสู่กับภาพมายาคติของสังคมด้วย ในส่วนของหน่วยงานภาคประชาสังคม (NGOs) และภาคีเครือข่าย ที่ขับเคลื่อนประเด็นงานยังต้องพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ต่อไปในอนาคต เช่น คู่มือการอบรมแนวทางของ SOP ให้คนทำงานหรือคนที่สนใจได้นำไปใช้เพื่อเป็นทิศทางเดียวกัน, บริการ 16 ชุดบริการเพียงพอหรือไม่หรือควรขยับไปเป็น 20 ชุดบริการ เป็นต้น เป็นตัวเชื่อมในการประสานนำพาไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ (โรงพยาบาล) หน่วยงานเอกชน และชุมชนหมู่บ้าน ทำงานขับเคลื่อนสะท้อนปัญหาและมีส่วนร่วมกัน
สุดท้ายเพื่อที่จะสามารถผลักดันไปจนถึงการแก้ไขข้อกฎหมาย หรือนโยบายใดๆ ก็ตามที่จะขัดต่อสิทธิของผู้ใช้ยาและเพื่อให้เขาสามารถดำรงในสังคมร่วมกันได้ แต่ทั้งหมดที่กล่าวไปต้องใช้ระยะเวลา
“คำตอบคือ ไม่กังวล และถ้าหากกังวล จนสุดท้ายไม่มีคนขับเคลื่อนประเด็นนี้เลย”
“ใครจะเป็นคนทำ?”
“ถ้าเกิดตั้งเป้าไว้ว่า Harm Reduction คือการ ‘ลด ละ และปลายทางคือ เลิก’ผ่านการจัดการของผู้ใช้สารเสพติดเอง ผมไม่แน่ใจว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาได้ไหม เพราะโครงสร้างที่เอื้อให้กลับไปใช้สารเสพติดซ้ำ ‘Relapse’ ถ้ารัฐตั้งเป้า Harm Reduction เป็นการเลิกใช้ แต่ไม่ได้แก้ไขโครงสร้างที่จะกลายเป็นการสร้างเขาวงกต ผู้ใช้สารเสพติดจะต้องวนเวียนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากมาย รวมทั้งปัญหาเชิงอคติกับคนในสังคมด้วย”
Harm Reduction “คุณ” กับ “ผม” ไม่เหมือนกัน
ในขณะที่สัมภาษณ์กับ รัฐพล นิสิตปริญญาโท ย่านมหาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเหนือตอนล่าง ซึ่งอดีตเคยเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามทำงานในประเด็นผู้ใช้สารเสพติด (MSM) มาก่อน รัฐพล เล่าในช่วงที่เขาได้ทำงานเจ้าหน้าที่ภาคสนามทำงานในประเด็น การลดอันตรายจากสารเสพติด งานเน้นในเรื่องของการบริการด้านสุขภาพ โดยมี 2 ข้อหลักๆ
-ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับสารเสพติด การออกฤทธิ์ และผลความเสี่ยงต่างๆ
-การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (ผู้ใช้สารเสพติด) และนำส่งต่อสาธารณสุขเพื่อเข้ารับบริการด้านสุขภาพ เช่น การบำบัด การส่งต่อตรวจเอชไอวี (HIV) การส่งต่อตรวจและรักษาไวรัสตับอักเสบซี (HCV) และการบริการชุดอุปกรณ์เข็มสะอาด
ในส่วนประเด็นข้อคำถาม กระบวนการลดอันตรายจากสารเสพติด (Harm Reduction) สำเร็จหรือไม่อย่างไร รัฐพล กล่าวว่า ควรจะย้อนกลับไปที่นิยามของคำก่อน ซึ่งแนวทางมีความหมายที่กว้างมาก เช่น ต่างประเทศนิยามการลดอันตรายจากสารเสพติด ‘Harm Reduction’ ว่าเป็นแนวทางนโยบายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบด้านลบในด้านสุขภาพ สังคม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมทั้งภาคทำงานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยปราศจากการตัดสิน การบีบบังคับ และการเลือกปฏิบัติ ในไทยก็ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศเช่นกัน และได้นิยามการลดอันตรายจากสารเสพติด ‘Harm Reduction’ เป็นการลดปัญหา ลดความเสี่ยงอันตราย ลดการแพร่ระบาด ในขณะที่ผู้ใช้สารเสพติดยังใช้สารและไม่พร้อมที่จะเลิก จึงเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นการเข้ารับการบำบัดตามความสมัครใจของผู้ใช้มากกว่าให้เลิกในตอนที่ไม่พร้อม คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน และทำความเข้าใจธรรมชาติของผู้ใช้ยาเสพติดมากขึ้น แต่ในแง่หนึ่งของ พ.ร.บ. 2564 มีความต้องการลดความอาชญากรรมของผู้ใช้สารเสพติดลง จึงได้นิยามผู้ใช้สารเสพติดใหม่เป็นผู้ป่วย และส่งต่อให้กับกระทรวงสาธารณะสุขดูแลนำแนวทางลดอันตราย ‘Harm Reduction’ มาใช้ในการบำบัดซึ่งมีทิศทางในบั่นปลายเป็นแนว “ลด ละ เลิก”
‘เขาวงกต’ ของผู้ใช้สารเสพติด
รัฐพล กล่าวเสริมต่อว่า กรณีตั้งเป้าหมาย Harm Reduction ในแง่ของการ ลด ละ เลิก ในกระบวนการบำบัด 80% เกิดการกลับไปใช้ซ้ำ ‘Relapse’ เมื่อผู้ใช้สารเสพติดที่เคยได้รับการบำบัดกลับคืนสู่ชุมชน สังคมเดิม สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่เอื้อโอกาสทำให้เขากลับไปใช้อีก ท้ายที่สุดแล้วอำนาจในการจัดการสารเสพติด การบำบัด หรืออะไรก็แล้วแต่ไปจบที่เครื่องมือสุดท้าย คือ ‘รัฐ’
“จะบำบัดให้ออกมาเป็นคนปกติได้ไหม?”
“จากคนป่วยกลายเป็นปกติได้หรือไม่? สุดท้ายมันจะกลับมาอยู่ที่ว่าคุณจะมีความสามารถในการเอาชนะใจตัวเองได้ในขั้นตอนการบำบัดหรือไม่?”
พอเป็นเช่นนี้ ‘Harm Reduction’ ที่ต้องไปจบอยู่มี 2 กรณี คือ
1.อาจจะไม่ได้เข้าสู่การดำเนินการ ‘Harm Reduction’ จนจบกระบวนการและถูกดำเนินกฎหมาย จำคุก
2.เข้าสู่กระบวนการ ‘Harm Reduction’ จนจบ แต่ส่วนมากที่เข้าสู่กระบวนการบำบัด สุดท้ายเมื่อเราไปเช็คเอกสารงานวิชาการเกี่ยวกับงานที่ศึกษาเกี่ยวกับสารบำบัดแล้ว จะพบว่ามีเคสประเภทนี้มีเกินกว่า 80% สอดคล้องกับงานวิจัย “การป้องกันการกลับไปเสพซ้ำของผู้ป่วยยาเสพติด” ของกลุ่มงานวิชาการพยาบาล โรงพยาบาลธัญรักษ์ปัตตานี (2565)
“สุดท้ายถ้าเกิดตั้งเป้าไว้ว่า Harm Reduction คือการ ‘ลด ละ และปลายทางคือ เลิก’ผ่านการจัดการของผู้ใช้สารเสพติดเอง ผมไม่แน่ใจว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาได้ไหม เพราะโครงสร้างที่เอื้อให้กลับไปใช้สารเสพติดซ้ำ ‘Relapse’ ถ้ารัฐตั้งเป้า Harm Reduction เป็นการเลิกใช้ แต่ไม่ได้แก้ไขโครงสร้างที่จะกลายเป็นการสร้างเขาวงกต ผู้ใช้สารเสพติดจะต้องวนเวียนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากมาย รวมทั้งปัญหาเชิงอคติกับคนในสังคมด้วย”
“ผมคิดว่ารูปแบบมันดี แต่ปริมาณบุคลากรทรัพยากรที่จะมาประยุกต์นำมาใช้กับกฎหมาย มันไม่พอ เร่งผลิตก็ไม่พอ เพราะฉะนั้นแล้วในความเห็นส่วนตัวของผม กฎหมายออกมาเร็วไป ควรจะมีการปรับให้บุคลากรคนทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เพียงพอก่อน แล้วค่อยออกกฎหมาย”
รากฐานทรัพยากร ไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมาย
ผศ. นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นข้อคำถาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ที่เปลี่ยนจาก “ผู้เสพไม่ใช่อาญากร แต่เป็นผู้ป่วย” โดยอธิบายว่า ในเชิงภาพรวม “ผู้เสพไม่เป็นอาญากร แต่เป็นผู้ป่วย” เป็นแนวทางที่สากลพยายามนำมาปรับเปลี่ยนใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้เป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้หลายประเทศได้นำแนวทางนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย แต่อาจจะมีบางประเทศที่ไม่ได้ใช้ โดยหลักการลดอันตรายจากสารเสพติด ‘Harm Reduction’ เป็นแนวทางการค่อยๆ ลดขนาดการสารเสพติดลงควบคู่ไปกับการใช้ยารักษาจนอาการดีขึ้นและสามารถหยุดใช้ยาได้ นอกจากนี้หลักของ ‘Harm Reduction’ คือ การไม่สนับสนุนให้ผู้ใช้สารเสพติดใช้ “เข็มวนซ้ำ” ลดการติดเชื้อ แต่ในหลักของการลดอันตรายสารเสพติด ปัจจุบันสามารถทำได้ในกลุ่มสารเสพติดบางประเภท เช่น เฮโรอีน ซึ่งหากมองกลับมาทางฝั่งของประเทศไทย ผู้ใช้สารเสพติดจะต้องได้รับการรักษาเข้าสู่กระบวนการบำบัด ซึ่งในกลุ่มวิชาชีพไม่ว่าจะเป็น นักบำบัด นักจิตวิทยา นักจิตเวช และแพทย์เชี่ยวชาญการเฉพาะกลุ่มคนที่ทำประเด็นงานเหล่านี้มีไม่เพียงพอในไทย
“ผมยกตัวอย่าง จิตแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐมีจำนวนน้อยมากการนัดพบ 1 ปี ได้เจอครั้ง ไม่ว่าจะเป็นยาที่ใช้ในการรักษา การเข้ากิจกรรมการบำบัด ซึ่งถ้าในกรณีผู้ใช้สารเสพติดเขาต้องเข้ารับการบำบัดดูแลอย่างใกล้ชิดแต่บุคลากรไม่พอ เขาจะได้รับการบำบัดไหม? เขาอาจจะกลับไปเป็นผู้ใช้สารเสพติดต่อ ปัญหาจะวนไปมาอยู่แบบนั้น และสุดท้ายผู้เสพที่รอการรักษาบำบัดจะหลุดออกจากระบบ”
สมิทธิ์ ได้กล่าวเสริมในประเด็นข้อท้าทายที่พบว่า นอกจากประเด็นในส่วนของทรัพยากรบุคลากรทางการแพทย์จะไม่เพียงพอแล้ว ศูนย์บริการชุมชน หรือที่เรียกกันว่า “Drop In Center : DIC” ในแต่ละพื้นที่ ไม่ได้มีทุกอำเภอ จังหวัด ซึ่งการดูแลรักษาผู้ใช้สารเสพติดต้องมีการติดตามประเมินอย่างใกล้ชิดหรือแม้กระทั่งสภาพแวดล้อมชุมชนที่ใกล้ชิดผู้ใช้สารเสพติด ชุมชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการสอดส่อง ดูแลชุมชนของตนเอง และมีความเข้าใจ เมื่อกลไกส่วนใดส่วนหนึ่งขาดไปความต่อเนื่องในการดูแลรักษาผู้ใช้สารเสพก็จะหลุดออกจากระบบ และวนกลับไปใช้สารเสพใหม่
สถานการณ์ของ Harm Reduction – ในต่างประเทศ
จากบทความ Design for Change Recovery ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ “Why Are These Programs So Controversial?” กล่าวถึง เหตุและผลว่าทำไมโปรแกรมที่เรียกว่า ‘Harm Reduction’ จึงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในบทความได้แสดงถึงข้อถกเถียงระหว่างกลุ่มผู้คิดว่าโปรแกรมนี้ จะนำมาสู่การทำให้การเสพยาเป็นเรื่อง “ปกติ” ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในการลดจำนวนผู้ใช้ยาหรือรับการบำบัดใดใด ซึ่งเป็นมุมมองในแง่ลบ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีกลุ่มองค์กรที่มีแนวคิดว่าไม่ว่าใครจะเชื่อว่า ‘Harm Reduction’ จะมีประโยชน์หรือไม่ก็ยังคงทำตามสิ่งที่พวกเขาเข้าใจว่าควรทำให้สำเร็จ
หากจะกล่าวว่าประเทศไทยมีทรัพยากรบุคลากรผู้เชี่ยวชาญชำนาญการด้านยาเสพติด เจ้าหน้าที่ภาคสนาม และบุคลากรที่ทำประเด็นงานที่เกี่ยวข้องพอสมควรนั้น ข้อความดังกล่าวก็อาจจะไม่เกินความจริงเท่าไรนัก
ดังนั้นแล้วในประเด็นของการนำ ‘Harm Reduction’ มาแลกเปลี่ยน ถกเถียง ในพื้นที่ที่แสงส่องถึงนั้นไม่แน่บางทีประเทศไทยอาจจะสามารถเข้าถึงปัญหาใต้พรมจริงๆ ก็เป็นได้
อ้างอิง
- ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ! ย้อนรอยยุคสงครามยาเสพติด ปัญหา “ฆ่าตัดตอน” นับพันศพ. (2565). [ออนไลน์]. ไทยรัฐ. แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/flashback/2527045. ค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2566
- พวงทอง ภวัครพันธุ์. ฆ่าตัดตอนในสงครามปราบยาเสพติด. (2565). [ออนไลน์]. ประชาไท. แหล่งที่มา : https://prachatai.com/journal/2022/10/101007. ค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2566
- วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา. พลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดมิติใหม่แห่งการแก้ปัญหายาเสพติดไทย. (2565). the101.world. แหล่งที่มา : https://www.the101.world/new-narcotic-bills/. ค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2566
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงยุติธรรม. (2565 ). แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๕. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : https://www.oncb.go.th/Home/PublishingImages/Pages/ITA/main/plan%2065%20(final)_8-11-64.pdf. ค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566
- กลุ่มงานวิชาการพยาบาล กลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี. (2565). การป้องกันการกลับไปเสพซ้ำของผู้ป่วยยาเสพติด. [บทความวิชาการ]. สืบค้นจาก : https://tph.go.th/th/news/saraknaru_file/610110164358.pdf. ค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566
- รัฐพล ก้อนคำ. (2565). ประเทศนี้คือเขาวงกตของผู้ใช้สารเสพติด (Relapse). [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : https://prachatai.com/journal/2022/04/98138. ค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566
- สถานการณ์เอชไอวีประเทศไทย. (2564). กรมควบคุมโรค. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://hivhub.ddc.moph.go.th/Download/RRTTR/Factsheet_HIV_2562_TH.pdf. ค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566
- ห้องบริโภคยาเสพติด อีกหนึ่งแนวคิดคู่ขนานการ “กำจัดสิ้น”. (2566). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://endofdiscrimination.org/article/read.php?tag=49&fbclid=IwAR0S6Tfkv56oMyEUm9iBNOWdraPj4yKO92mGQNvH6HsE6tsJ8MqoeQfeye0. ค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566
- ไปดู “ห้องเสพยา” ที่เดนมาร์ก เปิดให้ใช้ยาเสพติดได้ไม่ถูกตำรวจจับ. (2560). BBC NEWS ไทย. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.bbc.com/thai/international-38568367?fbclid=IwAR3a_SHUgjmcTggd_QHcM_354mszyqL11k9pqDBsh4RphFW3IVG41xKCFJQ. ค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566
- ถ้ายาเสพติดไม่ผิดกฎหมาย?: ต้นทุนของการปราบปราม และทางเลือกอื่น. (2564). thematter.co. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://thematter.co/thinkers/decriminalization-drug-policy/143600. ค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566
- Design for Change Recovery. Pros and Cons of Harm Reduction Programs for Substance Abuse. (2565). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://designforchangerecovery.com/blog/pros-and-cons-of-harm-reduction-programs-for-substance-abuse/. ค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566