ภาพ: Nonny Theeraphorn
จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวิกฤตหนักที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของระบบเตือนภัยพิบัติในประเทศไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล่าช้าในการแจ้งเตือนประชาชน จึงทำให้เกิดคำถามถึง ‘การทำงานและประสิทธิภาพของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ’ ที่ถูกมองว่าเป็นการจัดวางหน่วยงานที่ ‘ผิดที่ผิดทาง’
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ: ใครควรเป็นผู้ดูแล?
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ หรือ ศภช. (National Disaster Warning Center) ซึ่งมีหน้าที่ในการเป็นศูนย์ข้อมูลกลางแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมแม่สาย ปัจจบันเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ผิดที่ผิดทาง’ อยู่ในขณะนี้ เดิมที ศภช. เคยอยู่ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร หลังเหตุการณ์สึนามิ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2548
ต่อมา 15 กันยายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 โดยมีสาระสำคัญคือให้ยกเลิกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และให้จัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาแทน (เปลี่ยนชื่อกระทรวง) จึงทำให้ ศภช. ได้ย้ายมาอยู่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ก่อนจะถูกย้ายมาสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ในปี 2565 ระหว่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี
แม้ว่า ศภช. จะกำลังพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงผ่าน SMS ที่เรียกว่า ‘Cell Broadcast Service’ (CBS) ร่วมมือกับ กสทช. กระทรวง DE และผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่าง TRUE หรือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เดิมทีเป็น AIS) แต่ปัจจุบันระบบนี้ยังไม่พร้อมใช้งานตามที่เคยประกาศไว้ และคาดว่าจะพร้อมในปี 2568 แม้ก่อนหน้านี้จะมีการเลื่อนมาจากปี 2567 ก็ตาม
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า การแจ้งเตือนภัยพิบัติของ ศภช. ในวันเกิดเหตุนั้น เป็นเพียงการโพสต์รูปภาพเกี่ยวกับการคาดการณ์สาธารณภัยในระยะสั้นบนเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่สอดคล้องกับความรุนแรงและความเร่งด่วนของสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่แม่สาย หลายคนตั้งคำถามว่า การแจ้งเตือนในรูปแบบดังกล่าวเพียงพอต่อการเตรียมความพร้อมและอพยพประชาชนให้ทันเวลาหรือไม่
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติในไทยเป็นจำนวนมากจากหลายภาคส่วน โดยมีเรียกร้องให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกลับไปสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) หรือให้กระทรวงที่มีความคล่องตัวในด้านดิจิทัลรับผิดชอบหลักในเรื่องนี้ เนื่องจากการแจ้งเตือนภัยพิบัติควรมีความรวดเร็ว ประชาชนควรเข้าถึงได้ง่าย และครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งระบบแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพควรอยู่ในมือของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการและประสานงานเรื่องการแจ้งเตือนภัยอย่างมืออาชีพ
อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันผู้ประสบภัยในไทยยังต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากกู้ภัย เอกชน และมูลนิธิมากกว่าจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งที่ในหลายประเทศ การช่วยเหลือฉุกเฉินรวมถึงการอพยพประชาชนจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เฮลิคอปเตอร์ในการช่วยเหลือพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก
อีกทั้งยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนการฝึกซ้อมและความพร้อมรับมือภัยพิบัติในประเทศไทย การฝึกซ้อมร่วมระหว่างหน่วยงานและประชาชน เช่น กรณีน้ำท่วมที่ไม่มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าหรือให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับพื้นที่หลบภัยอย่างเหมาะสม
เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่แม่สายนี้จึงถือเป็นตัวจุดชนวนกระแสให้หลายภาคส่วนต้องตั้งคำถามถึง ‘การจัดการภัยพิบัติในระดับท้องถิ่นและชุมชน’ ว่าควรได้รับการปรับปรุง เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร
อ้างอิง
- ที่มา ศภช.
- อัพเดตการสร้างระบบเตือนภัยผ่าน SMS
- การย้ายศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย
- การแจ้งเตือนภัยพิบัติจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...