ถอดบทเรียนจากต่างประเทศถึงไทยต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ทันท่วงที

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจาก ‘ปัญหาอุทกภัย’ อยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมชายฝั่ง โดยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมสูงที่สุดในโลก ตามดัชนี INFORM Risk Index ปี 2021 น้ำท่วมสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลให้กับประเทศไทย โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยถึง 60,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2007 (พ.ศ. 2550) เป็นต้นมา และยังส่งผลกระทบต่อประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 4.6 ล้านคนต่อปี รวมถึงทรัพย์สินกว่า 1.7 ล้านแห่ง ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

นอกเหนือจากความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้ว จำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยตามข้อมูล Climate Risk Country Profile ปี 2021 ของ World Bank Group (WBG) และ Asian Development Bank (ADB) จากเดิมในช่วง 34 ปี (1971 – 2004) ประเทศไทยมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 886,335 คน หรือเฉลี่ยราว 26,068 คนต่อปี แต่ในอนาคตคาดว่าจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอาจเพิ่มขึ้นเป็น 3,177,190 คน ในระยะเวลาเพียง 10 ปี (2035 – 2044) เฉลี่ย 317,719 คนต่อปี ซึ่งมากกว่าเดิมถึง 12 เท่า (คำนวนโดย 101PUB)

แม้ประเทศไทยจะมีงบประมาณป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่ก็ยังเผชิญกับความสูญเสียจากน้ำท่วมแทบทุกครั้ง จากการสำรวจงบประมาณลงพื้นที่จังหวัด (Area) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดย Rocket Media Lab พบว่า จากงบประมาณทั้งหมด 3.185 ล้านล้านบาท มีงบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอยู่ที่ 53,377.55 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ งบประมาณส่วนใหญ่ถึง 41,093.46 ล้านบาท หรือ 76.99% ถูกใช้ไปกับการก่อสร้าง ส่วนที่เหลือคือ งบประมาณด้านการบำรุงรักษา 11,621.05 ล้านบาท หรือ 21.77% ขณะที่งบด้านการวางแผนมีเพียง 247.42 ล้านบาท (0.46%) งบที่เกี่ยวกับการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล 211.76 ล้านบาท (0.40%) และงบด้านบริหารจัดการ 203.85 ล้านบาท (0.38%)

รวมแล้ว งบประมาณส่วนใหญ่ 98.76% ถูกใช้ไปกับการก่อสร้างและบำรุงรักษา ขณะที่งบสำหรับการวางแผน การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และการบริหารจัดการคิดเป็นเพียง 1.24% แม้จะมีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก แต่เหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยช่วงเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมายังส่งผลให้เกิดความเสียหายที่อาจสูงถึง 16,000 ล้านบาท ตามการประเมินของ InnovestX Research

ข้อมูลข้างต้นกำลังบอกอะไรกับเรา? ข้อมูลข้างต้นกำลังชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถจัดการกับผลกระทบจากน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ดังนั้นในบทความนี้จึงจะพามาดูกันว่าประเทศอื่น ๆ มีแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และบริหารจัดการน้ำอย่างไรจนสามารถอยู่ร่วมกับปัญหาน้ำท่วมได้? โดยในที่นี้จะพูดถึงระบบในเชิงโครงสร้าง โดยจะยกตัวอย่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ‘เนเธอร์แลนด์’ ซึ่งมีระบบที่ดีที่สุดในโลก ‘ญี่ปุ่น’ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อภัยธรรมชาติ และ ‘จีน’ ที่มีโมเดลการจัดการที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย

ประเทศเนเธอร์แลนด์

หากพูดถึงระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีที่สุดในโลก กรณีศึกษาที่มักถูกยกขึ้นมาเสมอก็คงหนีไม่พ้น ‘เนเธอร์แลนด์’ ประเทศแผ่นดินต่ำ (Low Countries) ติดทะเลเหนือ ที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากอุทกภัยน้ำท่วมมาอย่างยาวนาน ด้วยภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ตั้งอยู่บนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสายสำคัญของยุโรปถึง 3 สาย (Rhine-Meuse-Scheldt) และมีพื้นที่กว่า 24% หรือราว 1 ใน 4 ของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องเผชิญกับความท้าทายจากน้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ด้วย ‘Delta Works’ ที่เป็นสุดยอดแห่งการออกแบบทางวิศวกรรม ทำให้ชาวดัชต์สามารถสร้างบ้านเรือนและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย แม้จะมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลก็ตาม

ภาพ: FloodList

ก่อนที่เนเธอร์แลนด์จะกลายเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการน้ำทั่วโลก ประเทศแห่งนี้เคยเผชิญกับเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 1953 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘1953 North Sea Flood’ คลื่นน้ำขนาดมหึมาจากทะเลเหนือพัดถล่มซัดข้ามแนวป้องกันน้ำทะเล ทิ้งร่องรอยแห่งความเสียหายและความตายไว้เบื้องหลัง พายุขนาดใหญ่ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับหลายประเทศของยุโรป รวมถึงพื้นที่ของเนเธอร์แลนด์กว่า 937,500 ไร่ พื้นที่ 9% ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ อาคารสิ่งก่อสร้างกว่า 47,300 อาคาร ได้รับความเสียหาย คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,835 ราย และสัตว์เลี้ยงอีก 35,000 (สัตว์ปีก วัว หมู ม้า แกะ และแพะ) คิดเป็นเงินกว่า 1,500 ล้าน ดัช กิวเดอร์ (Dutch Guilders) หรือราว 680 ล้านยูโร

เหตุการณ์นี้กินเวลาร่วมเดือน และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เริ่มหันมาผลักดันแผนการจัดการน้ำอย่างจริงจัง โดยตั้งคณะกรรมการดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Delta Committee) ขึ้นมาเพื่อวางแผนการป้องกันน้ำท่วมระยะยาว ซึ่งนำไปสู่การสร้างโครงการ ‘Delta Works’ ในปี 1997 (ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์) ด้วยงบประมาณกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6 พันล้านยูโร (ประมาณ 240,000 ล้านบาท) คิดเป็น 0.84% ของ GDP ทั้งประเทศ จากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 36,000 ล้านบาทเท่านั้น

ภาพ: pref.aichi.jp

Delta Works เป็นโครงการพัฒนาระบบจัดการน้ำและควบคุมผลกระทบจากภัยพิบัติทางน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณปากแม่น้ำ Rhine – Meuse – Scheldt ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถูกดำเนินการโดยหน่วยงานจัดการน้ำ Rijkswaterstaat (RWS) ด้วยเป้าหมายหลักในการป้องกันพื้นที่ขนาดใหญ่จากภัยพิบัติทางน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำท่วมจากทะเล โครงการนี้เป็นผลงานชิ้นเอกทางวิศวกรรมซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างที่หลากหลาย อาทิ เขื่อน ประตูระบายน้ำ กำแพงกั้นน้ำ คลองน้ำ คันกั้นดิน และประตูป้องกันคลื่น จำนวน 16 แห่ง เชื่อมพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำด้านตะวันตกทั้งหมด เพื่อกั้นปากแม่น้ำ

ด้วยความยิ่งใหญ่และความซับซ้อนของโครงการ ทำให้ Delta Works ได้รับการยกย่องจากสมาคมวิศวกรโยธาแห่งสหรัฐฯ ให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของเนเธอร์แลนด์ไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ โดยตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความสำเร็จของระบบนี้คือ ในปี 2563 เนเธอร์แลนด์สามารถส่งออกผลผลิตทางการเกษตรได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก มูลค่ารวม 3.76 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นข้อพิสูจน์ที่แสดงถึงความสำคัญของระบบการจัดการน้ำที่มีมาตรฐานสูง หากไม่ได้มีโครงการ Delta Works ที่เริ่มต้นเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว ประเทศเนเธอร์แลนด์อาจยังคงเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

ประเทศญี่ปุ่น

ถัดมาที่ประเทศซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อการเกิดภัยธรรมชาติเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก หรือ ‘ญี่ปุ่น’ ประเทศเกาะบนแนวมรสุม เพราะหากพิจารณาจากจำนวนของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในอดีตในญี่ปุ่น เราจะพบว่า ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม เช่น ไต้ฝุ่น น้ำท่วม และดินถล่ม คิดเป็นมากกว่า 70% ของจำนวนภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญและไม่อาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะพื้นที่เมืองหลวงอย่าง ‘กรุงโตเกียว’ และพื้นที่โดยรอบซึ่งต้องตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจากการเกิดน้ำท่วมตลอดมา เนื่องจากตั้งอยู่บนที่ราบคันโต ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลโดยตรง ไม่มีภูเขาหรือที่ราบสูงกั้น อีกทั้งบริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่ต่ำ โดยมีพื้นที่เมืองนับร้อยตารางกิโลเมตรที่มีความสูงต่ำกว่าระดับน้ำทะเล (zero-metre zones) นอกจากนี้ เมืองโตเกียวยังเป็นจุดรับน้ำจากแม่น้ำถึง 8 สาย ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่ายเมื่อเผชิญกับมรสุมหรือฝนตกหนัก ดังนั้น โตเกียวจึงถือหนึ่งเป็นเมืองปราการของวิกฤตปัญหานี้มาโดยตลอด

กระทั่งในเดือนกันยายน ปี 1991 เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงโตเกียว ทำให้บ้านเรือนประชาชนมากกว่า 30,000 หลังจมอยู่ใต้น้ำ และมีผู้เสียชีวิตถึง 52 คน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้พื้นที่ความเสียหายขยายออกไปยังเขตรอบ ๆ เป็นบริเวณกว้างมากกว่า 100 กิโลเมตร นับเป็นอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 30 ปีของญี่ปุ่น

ภาพ: Bloomberg

ด้วยเหตุนี้ ในปีถัดมา (1992) รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยได้ทุ่มงบประมาณกว่า 70,000 ล้านบาท เพื่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์มีชื่อว่า Metropolitan Area Outer Underground Discharge Channel’ ( MAOUDC) ซึ่งมักเรียกกันว่า ‘G–Cans Underground Temple’ หรือ ‘G–Cans’ ในเขตโชวะ – คาสึกาเบะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น อุโมงค์นี้ทำหน้าที่เป็นทางนํ้าไหลใต้ดินในช่วงเกิดพายุไต้ฝุ่นและช่วงฝนตกหนัก เพื่อบริหารจัดการน้ำในเขตเมืองหลวงและปริมณฑล ป้องกันกรุงโตเกียวจากกระแสนํ้าที่มาจากตอนเหนือและน้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำ 8 สาย อีกทั้งยังช่วยรับมือกับน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี โดยระบบระบายน้ำจะผลักน้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำขนาดเล็กและขนาดกลางไปยังแม่น้ำเอโดะ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักแล้วลงสู่ทะเลที่อ่าวโตเกียวต่อไป

ภาพ: ktr.mlit.go.jp

อุโมงค์ G–Cans แล้วเสร็จในปี 2006 โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 1992 ใช้เวลาก่อสร้างรวม 14 ปี ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลัก 6 จุด ได้แก่ ไซโลคอนกรีตรับน้ำ 5 จุด ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 เมตร (105 ฟุต) สูง 65 เมตร (213 ฟุต) สามารถจุน้ำได้ประมาณ 209 ตัน รวมสามารถรับน้ำได้ทั้งหมด 1,045 ตัน หรือกว่า 1.045 ล้านลิตร อีกจุดที่สำคัญคือ ถังน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘The Temple’ หรือ ‘วิหาร’ ถังน้ำนี้มีเสา 56 ต้น สูง 20 เมตร แต่เตี้ยกว่าไซโลอีก 5 แห่ง 25.4 เมตร และสามารถรับน้ำได้ประมาณ 500,000 ลิตร ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำจากไซโลถึง 2 เท่า อุโมงค์ที่เชื่อมโยงกับไซโลมีความยาว 6.3 กิโลเมตร เมื่อน้ำไหลมาจากไซโลแล้ว จะถูกสูบลงไปยังแม่น้ำด้วยเครื่องสูบน้ำกำลัง 13,000 แรงม้า ซึ่งสามารถสูบได้ถึง 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การระบายน้ำจะถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบริเวณชายฝั่ง มีการสร้างห้องควบคุมที่มีหน้าจอควบคุมระบบภายในอุโมงค์มากกว่า 20 เครื่อง ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถสอดส่อง ดูแล และควบคุมสถานการณ์ระดับน้ำได้อย่างทั่วถึง

ในช่วงไต้ฝุ่นฮากิบิสในเดือนตุลาคมปี 2019 เมื่อมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำนากะในอัตรา 216 มิลลิเมตร ตลอด 48 ชั่วโมง ระบบนี้สามารถเบี่ยงน้ำได้ประมาณ 12.18 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกมากกว่า 4,800 สระ เมื่อเทียบกับความเสียหายจากไต้ฝุ่นในปี 1982 ระบบนี้ได้ช่วยลดจำนวนบ้านที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำลงได้ถึง 90% และป้องกันความเสียหายที่เกี่ยวข้องได้ถึง 26,400 ล้านเยน

ภาพ: https://blog.japantwo.com/2010/06/25/metropolitan-area-outer-underground-discharge-channel-maoudc/

ระบบนี้มีการเปิดใช้งานเฉลี่ย 7 ครั้งต่อปี และจนถึงปี 2019 ทางการประมาณการว่า อุโมงค์ G-Cans ช่วยป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมได้เกือบ 148,000 ล้านเยน นอกจากนี้ เมื่อลมฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวยให้มีฝน อุโมงค์ใต้ดินนี้ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยปกติจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์แห่งนี้ มีเจ้าหน้าที่คอยอธิบายขั้นตอนการระบายน้ำจากอุโมงค์ให้ผู้เข้าชมเข้าใจได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานสำหรับวิศวกรจากทั่วโลกที่เดินทางมาเยี่ยมชมด้วย

ประเทศจีน

อีกประเทศหนึ่งซึ่งต้องเผชิญกับวิกฤตปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมที่รุนแรงมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ ‘จีน’ จนอาจพูดได้ว่า ความถี่ของการเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในประเทศจีนนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเสียอีก โดยหนึ่งในเหตุการณ์น้ำท่วมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนคือ ‘เหตุการณ์น้ำท่วมในแม่น้ำหวงเหอ (แม่น้ำเหลือง)’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Yellow River flood’ ซึ่งเกิดขึ้นถึง 3 ครั้งด้วยกัน ทั้งในปี 1887 (1887 Yellow River flood) 1931 (1931 China floods) และ 1938 (1938 Yellow River flood) เหตุการณ์เหล่านี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปนับล้าน

หรือแม้แต่ในศตวรรษที่ 20 ประเทศจีนก็ยังคงเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรง อาทิ ในช่วงปี 2008 มีรายงานสถิติซึ่งระบุว่า จำนวนเมืองใหญ่ในประเทศจีนที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่า หรือในปี 2010 จีนประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในชนบท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลกว่า 3 ใน 4 ของจีน แม่น้ำกว่า 25 สายล้นตลิ่ง ส่งผลให้บ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างได้รับความเสียหายอย่างเป็นวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 700 คน และสูญหายกว่า 300 คน กระทั่งในปี 2012 ความเปราะบางของจีนต่อปัญหาน้ำท่วมเริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้น สังเกตได้จากการที่เมืองหลวงของจีนอย่าง ‘มหานครปักกิ่ง’ ประสบกับน้ำท่วมครั้งใหญ่จากฝนตกหนักมากเกินไปสำหรับระบบระบายน้ำ ทำให้น้ำเอ่อท่วมใจกลางเมืองและขยายไปยังเขตขอบเมือง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานในเมืองและชีวิตของประชาชน  โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะใต้ดินที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน

ภาพ: China Daily

เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนจึงได้มีการพัฒนาและประกาศใช้โครงการ เมืองฟองน้ำ’ (China’s Sponge City Program: SCP) ขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เพื่อจัดการปัญหาน้ำท่วมและน้ำขังในเขตเมือง รวมถึงพัฒนารูปแบบการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างผู้คน น้ำ และเมือง ผ่านแนวทาง ‘นำธรรมชาติกลับเข้าสู่เมือง – ปรับเมืองให้รับกับธรรมชาติ’ (Nature-based solutions) ซึ่งผสมผสานระหว่าง ‘ธรรมชาติ’ ‘เทคโนโลยีทางวิศวกรรม’ และ ‘ศาสตร์การออกแบบ’ ทั้งทางภูมิทัศน์และผังเมืองมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างเมืองอย่างเข้าใจบริบททางสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนจาก ‘เมืองโครงสร้างสีเทา’ (grey infrastructure) ที่น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ ให้กลายเป็น ‘เมืองฟองน้ำ’ ที่ทำหน้าที่ซับน้ำ โดยเลียนแบบวัฏจักรทางอุทกวิทยาตามธรรมชาติ (Natural water cycle) ภายใต้ 6 เกณฑ์หลัก ได้แก่ การซึมลงดิน (Infiltration) การกักน้ำ (Retention) การเก็บน้ำ (Storage) การบำบัดน้ำ (Purification) การใช้ประโยชน์น้ำ (Utilization) และการระบายน้ำ (Drainage) เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำขัง และการขาดแคลนน้ำของเมือง

ภาพ: China-Britain Business Council FOCUS

หากจะสรุปก็คือ ‘เมืองฟองน้ำ’ เปรียบเสมือนการที่ ‘เมือง’ ใช้ธรรมชาติแทนการใช้คอนกรีตในการชะลอน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก โดยทำหน้าที่เหมือน ‘ฟองน้ำ’ โดยดูดซับ กักเก็บ และชะลอการไหลของน้ำในช่วงฝนตกและพายุ น้ำที่ได้ก็จะถูกกรองโดยดินตามธรรมชาติและไหลลงสู่บ่อพักน้ำใต้ดินในเมืองเพื่อรอการนำกลับมาใช้ใหม่ และระบายน้ำส่วนเกินไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลบ่าเข้าโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เช่น ถนน ทางเท้า และอาคาร ซึ่งน้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ แม้จะมีการสร้างท่อระบายน้ำหรือเขื่อนเก็บน้ำเพื่อบรรเทา แต่ปัญหาน้ำท่วมก็ยังคงมีอยู่ 

โครงการเมืองฟองน้ำ (SCP) ได้กลายเป็นโครงการเรือธงด้านความยั่งยืน โดยเริ่มนำร่องไปใช้ใน 30 เมืองทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2014 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก 16 เมืองในปี 2015 และกลุ่มที่สองอีก 14 เมืองในปีถัดมา เมืองนำร่องเหล่านี้ครอบคลุมทั้งมหานครขนาดใหญ่ อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และเซินเจิ้น รวมถึงเมืองขนาดกลางและเล็กอีกหลายเมือง เช่น เจิ้นเจียง ฉางเต๋อ และชิงหยาง แต่ละเมืองจะได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการเมืองละ 400 – 600 ล้านหยวน หรือประมาณ 60 – 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,900 – 2,800 พันล้านบาท) นอกเหนือจากเมืองนำร่องทั้ง 30 แห่ง รัฐบาลจีนยังตั้งเป้าหมายที่จะขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองถึง 80% ภายในปี 2030 และในปัจจุบัน แนวคิดเมืองฟองน้ำไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังได้รับความสนใจจากหลากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ (ออคแลนด์) เยอรมนี (เบอร์ลิน) สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา (ซีแอตเทิล) ไต้หวัน และแอฟริกา (ไนโรบี) เป็นต้น

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไทยต้องหันมาจริงจังกับเรื่องน้ำท่วม?

อ้างอิง

อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂

ข่าวที่เกี่ยวข้อง