ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ ครูและมิตรรักชาวไท(ย) จากพ่อใหญ่คายส์บ้านหนองตื่นในอีสานสู่สนามแม่สะเรียงและเชียงใหม่ 

เรื่อง : ป.ละม้ายสัน

สนามอยู่ที่ไหน? เป็นคำถามที่สำคัญข้อหนึ่งของนักมานุษยวิทยาในการศึกษาคนอื่นหรือแม้กระทั่งศึกษาตนเอง จนมีหนังสือในประเด็นเกี่ยวกับการสะท้อนย้อนคิดในสนามของนักมานุษยวิทยาเป็นจำนวนมากทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

การเขียนถึงสนามในโลกภาษาไทยก็มีอยู่จำนวนหนึ่งอาทิเช่น คนใน : ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย อีกเล่มที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือหนังสือรวมบทความการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยาในปี 2566 ที่สะท้อนย้อนคิดเกี่ยวกับตนเองในการเข้าไปทำวิจัยภาคสนามเรื่อง ชีวิตภาคสนาม : Life Ethnographically! หนังสือสองเล่มนี้มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ นักมานุษยวิทยาที่เข้าไปในภาคสนามเพื่อทำการวิจัยนั้นไม่สามารถแยกขาดกับตัวตนของเราได้ มันมีทั้งอารมณ์ความรู้สึกและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในสนามที่ตนเองศึกษาอยู่เสมอ

ในหนังสือเล่มหลัง Charles F. Keyes เป็นนักมานุษยวิทยาท่านหนึ่งที่มีคนเขียนถึงเขาด้วย ทั้งการทำความเข้าใจความคิด วิธีวิทยา และบริบททางการเมืองที่ส่งผลต่องานวิจัยที่ของอาจารย์คายส์ที่ออกมา อาจารย์คายส์เป็นครูบาอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหาชาวไทยเป็นจำนวนมาก การทบทวนแนวคิดหรือการเขียนถึงท่านจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

นอกจากบทความทางวิชาการแล้ว คุณูปการของอาจารย์คายส์ยังถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะอย่าง เสวนาออนไลน์ในหัวข้อ อาจารย์คายส์เดอะซีรี่ย์ และบทความใน The isaan record ก็กล่าวถึงคุณูปการของท่านต่อด้านความเปลี่ยนแปลงของชนบทภาคอีสานที่สำคัญผ่านการภาคสนามของท่าน

สนามอันเป็นพื้นที่โด่งดังของเขาซึ่งก็คือ “บ้านหนองตื่น” จังหวัดมหาสารคาม ที่เป็นพื้นที่สำคัญในการทำความเข้าใจหมู่บ้าน/ชนบทในภาคอีสาน เริ่มตั้งแต่วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่ศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเป็นไทยและความเป็นลาว หรืองานในช่วงหลังที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของชนบทอีสานเพื่อทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจรวมถึงขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านชนบทในทศวรรษที่ 2550 และเสนอว่าชาวบ้านในภาคอีสานมีความคิดที่ไม่ได้ปิดตัวเองอยู่เพียงแค่ในหมู่บ้านชนบทเพียงเท่านั้น แต่เชื่อมถึงโลกภายนอกอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน จนเป็นชาวบ้านผู้เจนต่อโลก (Cosmopolitan villagers)

ข้อเขียนชิ้นนี้มิได้มุ่งสรุปสาระสำคัญของงานชิ้นต่าง ๆ ของอาจารย์คายส์ แต่จะเป็นการเขียนประวัติศาสตร์สนามของอาจารย์คายส์จากบ้านหนองตื่นสู่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากทั้งสองสนามแห่งนี้ได้สร้างท่านได้สร้างผลงานเกี่ยวกับชาติพันธุ์นิพนธ์และไทยศึกษาชิ้นสำคัญหลายต่อหลายชิ้น และผลงานของท่านก็ชวนคิดต่อในภาวะปัจจุบันด้วยซึ่งจะกล่าวในช่วงหลัง

ลูกแก้ว (เด็กชายที่มาบวชเป็นสามเณรที่วัดอมราวาส) ที่บ้านของชาร์ลส์และเจน ไคส์ ชาร์ลส์กำลังผูกด้าย โดยมีสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ และนิคมมองดูอยู่ ออกจากบ้านของชาร์ลส์ และเจนไคส์, อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮองสอน ประเทศไทย พฤษภาคม พ.ศ.2511. (อ้างอิงจาก จดหมายเหตุนักมานุษยวิทยาที่รวบรวมโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)) ภาพต้นฉบับ https://digital.lib.washington.edu/researchworks/items/08027ff2-acec-455f-905d-c06d39e0aeca

จากบ้านหนองตื่นสู่แม่สะเรียงและเชียงใหม่ห้วงสงครามเย็น

อาจารย์คายส์เป็นนักเรียนมานุษยวิทยาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท-เอกที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล การเข้ามาเมืองไทยของอาจารย์คายส์ได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิฟอร์ด เพื่อมาเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกหัวข้อเรื่อง Peasant and Nation : A Thai-Lao Village in a Thai Stage (1966)

ข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่อภิปรายถึงสังคมวิทยาความรู้ด้านชนบทศึกษาในช่วงสงครามเย็นของเก่งกิจ กิติเรียงลาภ เรื่อง เขียนชนบทให้เป็นชาติ ชี้ให้เห็นว่า อาจารย์คายส์เริ่มต้นวิทยานิพนธ์ของเขาด้วยการสร้างปมปัญหาหนึ่งที่เรียกว่า “ปัญหาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (The Northeastern Problem) ได้สอดรับกับบรรยากาศในแวดวงของการศึกษาชาวเขาของรัฐไทยและนักวิชาการอเมริกันคนอื่น ๆ ที่มุ่งเสนอสิ่งที่เรียกว่า “ปัญหาชาวเขา” (The Hill Tribe Problem) ในฐานะปมปัญหาและความขัดแย้งที่รัฐต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาด้านความมั่นคงและคอมมิวนิสต์ซึ่งกลายมาเป็นอุปสรรคของการผนึกรวมสร้างความเป็นชาติในช่วงสงครามเย็น ราวกับว่าการอ้างอิงสมมติฐานหรือปมปัญหาว่าด้วย “ปัญหา” ทั้งภาคอีสานและปัญหาชาวเขา เป็นการหยิบยืมกันไปมาของนักวิชาการเหล่านี้ (หน้า, 86-87)

อย่างไรก็ดี ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี  นักมานุษยวิทยาผู้เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์คายส์ ชี้ให้เห็นเงื่อนไขในการสร้างโจทย์วิจัยของเขาในห้วงสงครามเย็นคือ 1) การเมืองของสงครามเย็น 2) อิทธิพลของโครงการคอร์แนล-ไทยแลนด์ และ 3) วิธีคิดแบบเวเบอร์ เหตุผลนิยม และ Verstehen อันเป็นรากฐานความคิดสำคัญต่องานวิจัย สำหรับคายส์ ปิ่นแก้วชี้ต่อว่า การเกี่ยวข้องกับเมืองไทยของเขา ไม่ได้มาจากการเมืองของวงการมานุษยวิทยาในสหรัฐฯ หากแต่มาจากความสัมพันธ์ที่เขามีกับชาวบ้านในสนามที่เขาศึกษา และกับมิตรสหายในไทย ข้อเท็จจริงเรื่องนี้แสดงให้เห็นได้ในอีกหลายทศวรรษต่อมา (ชีวิตภาคสนาม, หน้า 90-92)

ชาร์ลส์เต้นรำตามวงดนตรีพม่าที่บ้านของชาร์ลส์และเจน เมอร์เรย์และสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ มองดูอยู่, อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮองสอน ประเทศไทย พฤษภาคม พ.ศ. 2511.(อ้างอิงจาก จดหมายเหตุนักมานุษยวิทยาที่รวบรวมโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)) ภาพต้นฉบับ https://digital.lib.washington.edu/server/api/core/bitstreams/c33b76ea-40ef-4516-8024-5bc09bd79050/content

อาจารย์คายส์มาถึงที่ภาคเหนือของประเทศไทยเมื่อทศวรรษที่ 2510 จังหวัดแม่ฮองสอนและเชียงใหม่ หลังจากเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเสร็จสิ้นแล้ว วสันต์ ปัญญาแก้ว ได้อธิบายในเรื่อง ตามรอย มานุษยวิทยาศาสนาของ Charles F. Keyes ที่เชียงใหม่และแม่สะเรียง แสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายต่องานวิชาการของอาจารย์คายส์ กล่าวคือ หลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก อาจารย์คายส์ได้ย้ายขึ้นมาทางเหนือของประเทศไทย คือที่แม่สะเรียงและเชียงใหม่ การทำงานภาคสนามหลังปริญญาเอกนี่เองที่ “เปิดประตู” ของท่านเข้าสู่ “โลกของชาวไท” (The Tai World) เมื่อคายส์ย้ายสนามของการศึกษามาสู่สังคมไทยภาคเหนือและชาวกระเหรี่ยงในแถบชายแดนไทย-พม่า ที่แม่สะเรียง จึงเป็นการย้าย หรือขยายอาณาบริเวณของท่าน จากดินแดนอาณาจักรล้านช้าง สู่อาณาจักรล้านนา (หน้า, 96)

ภาพมองลงไปจากประตูสิงโต, ชาร์ลส์ และมาร์ค แอนเดอร์สันอยู่ที่ประตูสิงโต, อำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮองสอน (อ้างอิงจาก จดหมายเหตุนักมานุษยวิทยาที่รวบรวมโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)) ภาพต้นฉบับ https://digital.lib.washington.edu/server/api/core/bitstreams/a0e70024-c9fb-4318-9ebe-89e7eef8e49a/content

วสันต์ เล่าต่อว่า ท่านใช้เวลาทำงานวิจัยที่แม่สะเรียงนานกว่าขวบปี งานสนามที่แม่สะเรียงคือ “จุดเปลี่ยน” สำคัญที่ทำให้อาจารย์คายส์หันมาสนใจเรื่องชาติพันธุ์ (Ethnicity) โดยเฉพาะชาวกระเหรี่ยง ไทลื้อ และสังคมวัฒนธรรมล้านนา ในบรรดางานเขียนเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรม การศึกษาทางมานุษยวิทยาศาสนา คือแกนกลางของการผลิตงานอันทรงคุณค่า 

อานันท์ กาญจนพันธุ์ นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงความสนใจของอาจารย์คายส์ต่อพุทธศาสนาในล้านนาว่า ท่านสนใจเรื่องของเจ้าคุณธรรม สนใจคัมภีร์ใบลานซึ่งเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาในล้านนา ท่านก็เลยออกค้นหาคัมภีร์ศาสนาเหล่านี้ ชาวบ้านหรือบรรดาพระสงฆ์เอาไปเก็บไว้ตามถ้ำต่างๆ (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเหตุจากช่วงที่เกิดสงครามระหว่างล้านนากับพม่า) อายุประมาณ 300 กว่าปี การพบคัมภีร์ใบลานต่าง ๆ เหล่านี้ มีหลายเรื่องที่ท่านนำมาเขียนอาทิ Buddhist Plgrimage Centers and the Twelve-Year Cyle (ในวารสาร History of Religions. 1975) เป็นการเขียนถึงการจาริกแสวงบุญของชาวล้านนาไปตามพระธาตุต่าง ๆ ตามปีเกิด อีกชิ้นหนึ่งที่ท่านเขียนถึงครูบาศรีวิชัยคือ Millennialism, Theravada Buddhism, and Thai Society (ในวารสาร The Journal of Asian Study. 1977) (อ้างถึงในชาร์ลส์ คายส์ มิตรสนิทชาวไทย, หน้า 249-251)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสนามของอาจารย์คายส์ที่แม่สะเรียงและเชียงใหม่ ก็มีความคุณูปการที่สำคัญต่อไทยศึกษาที่เป็นฐานสำคัญต่อล้านนาศึกษาที่คนรุ่นหลังต่อมาอีกหลายประเด็นเช่น ประเด็นเกี่ยวกับเมืองชายแดน (อย่างหนังสือเรื่อง เรื่องเล่าเมืองไต ของนิติ ภวัครพันธุ์) ประเด็นเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวของพุทธศาสนาในล้านนาอีกหลายชิ้น (อย่างหนังสือเรื่อง ครูบาศรีวิชัย ตนบุญล้านนา ของโสภา ชนะมูล) และประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมล้านนา (อย่างหนังสือเรื่อง คนยองย้ายแผ่นดิน ของแสวง มาละแซม) เป็นต้น หากแต่การพูดถึงความสำคัญของสนามในภาคเหนือของอาจารย์คายส์ยังน้อยเกินไป

ความเป็นไท(ย)คืออะไร?

จากการลงภาคสนามในภาคเหนือของประเทศไทย งานเกี่ยวกับไต/ไทศึกษาของอาจารย์คายส์นั้นเริ่มต้นด้วยความสนใจด้านมานุษยวิทยาศาสนา (Antropology of Religion) ที่ท่านมีต่อ พุทธศาสนาเถรวาทควบคู่ไปกับเรื่องของพุทธศาสนา ประเด็นที่คายส์ในวัยหนุ่มให้ความสนใจอีกประการหนึ่งก็คือประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันไปกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของคนไท ภายใต้บริบทการก่อตัวขึ้นมาของรัฐชาติ (Nation Stage Buliding) และการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ (Modernization) (ชีวิตภาคสนาม, หน้า 95.)

คนอื่นๆตักบาตรพระในวันขึ้นปีใหม่ที่ที่ว่าการอำเภอ: คนต่างๆ, ชาร์ลส์, เจน, สง่า, อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย มกราคม พ.ศ. 2511. (อ้างอิงจาก จดหมายเหตุนักมานุษยวิทยาที่รวบรวมโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)) ภาพต้นฉบับ https://digital.lib.washington.edu/server/api/core/bitstreams/bacade4e-7c98-43ea-8eea-3bc54b10a658/content

ตัวอย่างงานสำคัญของอาจารย์คายส์ในภาคสนามภาคที่ภาคเหนือ ที่เน้นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไท และการก่อตัวของรัฐชาติสมัยใหม่ คือบทความเรื่อง Who are the tai? Reflections on the Invention of Identities ที่เสนอว่า ความเป็นไต/ไท เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมโดยเฉพาะสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และวัฒนธรรมหลายแบบ เช่น ตำนาน พิธีกรรม อนุสาวรีย์ ละคร ฯลฯ การสร้างความเป็นไทยผ่านสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่สมมติขึ้นมา นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นว่าก่อนการเป็นรัฐไทยสมัยใหม่นั้น ผู้คนที่พูดภาษาไต/ไทกลุ่มต่าง ๆ มีความผูกพันอีกแบบที่ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติ แต่ผ่านตำนาน นิทาน และการค้า สรุปก็คือ ความเป็นไทคือสิ่งที่เรียกว่า “พหุชาติพันธุ์นิยม”

อาจารย์คายส์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 คุณูปการของท่านนั้นมีมากมาย (สามารถอ่านต่อได้ที่ The issen record ) แต่คุณูปการสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่นอกจากจะเป็นครูและมิตรของชาวไท(ย) และงานวิจัยเกี่ยวกับไทยศึกษาแล้ว ในมุมมองของผู้เขียนสิ่งที่น่าคิดต่อและคิดว่าเป็นคุณูปการของท่านคือคำถาม? และในปัจจุบันเรายิ่งต้องถามกันมากขึ้นโดยเฉพาะคำถามต่อความเป็นไทย เนื่องจากมีการถกเถียงในเรื่องแรงงานข้ามชาตินั้น ควรได้รับสัญชาติไทยหรือไม่ เป็นประเด็นที่เถียงกันในวงกว้าง 

ท่ามกลางการถกเถียงเช่นนี้ เราจะเห็นพลังของชาตินิยมที่มองคนอื่นต่างจากเราประหนึ่งว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์มีมากขึ้นทุกที ความเป็นไทยที่ยึดถืออยู่ทุกวันนี้จึงต้องถูกตั้งคำถามอีกครั้ง ทวนสอบอีกครั้ง รื้อกันอีกครั้งหนึ่งในภาวะปัจจุบัน เพื่อทำลายมายาคติความเป็นไทยเป็นศูนย์กลางและมองคนอื่นโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน 

อย่าลืมว่าแรงงานข้ามชาตินั้นเป็นส่วนที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะพวกเขาเหล่านั้นเป็นแรงงานในอาชีพที่คนไทยไม่อยากจะทำ!! ส่วนมีอาชีพอะไรบ้างนั้นก็ลองหาข่าว หรือเดินออกไปนอกหมู่บ้านที่ตนอยู่กันดู เผื่อจะมีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันบ้าง

เอกสารที่ใช้ในการค้นคว้า

  • เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. เขียนชนบทให้เป็นชาติ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562.
  • นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และวิสุทธิ์ เวชวราภรณ์. บรรณาธิการ. ชีวิตภาคสนาม. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. องค์การมหาชน, 2566.
  • ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล. บรรณาธิการ. คนใน : ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร .องค์การมหาชน, 2546.
  • ปิ่นแก้ว เหลืออร่ามศรี. สนามในประวัติศาสตร์ : นักมานุษยวิทยาอเมริกันกับภูมิภาคอีสานในห้วงสงครามเย็น. ใน. นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และวิสุทธิ์ เวชวราภรณ์. บรรณาธิการ. ชีวิตภาคสนาม. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. องค์การมหาชน, 2566.
  • วสันต์ ปัญญาแก้ว. ตามรอย มานุษยวิทยาศาสนา ผ่านงานภาคสนามของ Charles F. Keyes ที่เชียงใหม่และแม่สะเรียง. ใน. นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และวิสุทธิ์ เวชวราภรณ์. บรรณาธิการ. ชีวิตภาคสนาม. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. องค์การมหาชน, 2566.
  • อานันท์ กาญจนพันธุ์. ครูบาศรีวิชัย พุทธศาสนาล้านนา และชาร์ล คายส์. ใน ชาร์ล คายส์ มิตรสนิทชาวไทย. เชียงใหม่ : ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2567.
  • Charles f Keyes. Who Are the Tai? Reflections on the Invention of Identities. In Ethnic Identity : Creation Confict, and Accommodation. Lola Romanucci-Ross and George A. De Vos, eds. Third Edition. Walnut Creek, Alta Mira Press. Pp. 136-160.
  • Charles f Keyes. “cosmopolitan” villagers and populists democracy in Thailand.  South East Asia Research, 20,3, pp 343-360 doi: 10.5367/sear.2012.0109.
  • ดร.ชาร์ลส์ เอฟ ไคส์ มิตรสนิทของชาวไทย

ชอบอ่านวรรณกรรม โดยเฉพาะวรรณกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดา และงานวรรณกรรมวิจารณ์ ตื่นเต้นทุกครั้งที่อ่าน มาร์กซ์ ฟูโกต์ และแก๊ง post modern ทั้งหลาย ใช้สมุนไพรเป็นเครื่องช่วยเยียวยาจิตใจในโลกทุนนิยมอันโหดร้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง