เป็นยุทธวิธีทางการเมือง ‘ชำนาญ จันทร์เรือง’ เผย 2 กรณี หลังนายก อบจ.เชียงใหม่ ประกาศลาออกก่อนครบวาระ 2 วัน

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่าน พิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ‘สว.ก๊อง’ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ โดยกำหนดให้มีผลในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 หรือ 2 วันก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พิชัย จะลงรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. สมัยที่ 2 ในนามกลุ่มเพื่อไทยเชียงใหม่ เพื่อสานต่อนโยบายในการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงการตอบสนองนโยบายรัฐบาลของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลในการลาออกก่อนครบวาระเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในการเลือกตั้งนายกฯ และสมาชิก อบจ. 42 เขต ให้พร้อมกัน เนื่องจากหาลาออกก่อนหน้าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง (เลือกนายกฯ และ เลือก ส.อบจ.) พิชัย ทิ้งท้ายว่าการลาออกก่อนครบวาระเพียง 2 วัน ไม่ได้เป็นการเอาเปรียบคู่แข่ง เนื่องจากไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง

ชำนาญ จันทร์เรือง 

ด้าน ชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจ ได้ให้ความเห็นกับ Lanner ว่า การยื่นลาก่อนครบวาระ ของ นายก อบจ. เชียงใหม่ และในจังหวัดอื่นๆ ที่บอกว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาระผูกพันที่ต้องชี้แจงค่าใช้จ่ายรวมไปถึงข้อห้ามต่างๆ ที่เข้าข่าย 180 วัน และ 90 วันหากอยู่ครบวาระ ชำนาญ มองเหตุผลดังกล่าวแบ่งได้ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีแรก ในเรื่องของข้อกำหนดเรื่องข้อห้ามของการหาเสียงเลือกตั้งในระยะเวลา 180 วันก่อนเลือกตั้ง ที่นายกฯ มีฐานะต้องห้ามเช่นเดียวกับว่าที่ผู้สมัครคนอื่นๆ  กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณของหน่วยงาน แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เข้าสู่ฤดูกาลหาเสียง และต้องอยู่ในบังคับเรื่องข้อห้ามหาเสียง รวมทั้งการนับเป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องแจ้ง ที่อาจจะเป็นข้อกำหนดในการทำงานของเหล่านายก อบจ. 

กรณีที่สอง การห้ามใช้งบประมาณของ อปท.ในการดำเนินโครงการภายใน 90 วันก่อนการครบวาระ กรณีนี้ ชำนาญมองว่าเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งนายกฯ โดยตรง โดยมีองค์ประกอบความผิดทั้งหมด 2 เงื่อนไข คือ

(1) เป็นโครงการใหม่ ซึ่่งก็คือ การตราข้อบัญญัติตั้งโครงการขึ้นใหม่ และ

(2) เป็นโครงการที่มีลักษณะเป็นการซื้อเสียง  เช่น  โครงการนำ อสม.ไปดูงาน,โครงการแจกของ

ชำนาญ เผยว่ากรณีการดำเนินงานของ นายกฯ ก่อนหมดวาระ 90 วัน จะต้องเข้าทั้ง 2 เงื่อนไขถึงเป็นการผิดกฎหมาย หากขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ยังดำเนินการได้ เช่น ริเริ่มโครงการใหม่ แต่โครงการดังกล่าวเป็นโครงการซ่อมถนน,ก่อสร้างไฟทาง อย่างนี้ก็ทำได้

นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้นที่ซ้อนยกเว้นอีกกรณีก็คือ เข้าเงื่อนไขที่ (2) แต่ยังทำได้ เช่น หากมีเหตุการณ์น้ำท่วมและต้องแจกถุงยังชีพ ก็จะไม่ผิดกฎหมาย

หากมองตัวบทกฎหมายทั้ง 180 วัน และ 90 วัน ก่อนครบวาระเป็นพันธะผูกพันที่เหนี่ยวรั้งการทำงานของเหล่านายก อบจ. ทำให้ต้องลาออกก่อนครบวาระ ชำนาญ ส่งท้ายว่า นายกฯ สามารถทำงานได้ทุกเรื่องตามปกติมีข้อยกเว้นน้อยมาก น้อยจนไม่อาจนำมาอ้างเพื่อการลาออกใกล้ครบวาระได้ ชำนาญมองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นยุทธิวิธีทางการเมืองมากกว่า

นอกจากนี้ ในเรื่องการลาออกของ ส.อบจ. ชำนาญทิ้งท้ายว่า การพากันลาออกพร้อมกันโดยอ้างว่าจะให้เลือกตั้งพร้อมกันกับนายกฯ นั้นเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตามมันขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต. ที่จะกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 60 วัน หลังจากการลาออก ซึ่งอาจจะพร้อมหรือไม่พร้อมกันก็ได้ แต่คาดว่าคงพร้อมกันเพื่อประหยัดงบประมาณและสะดวกในการจัดการ ส่วน ส.อบจ. ถ้าลาออกในระยะเวลาที่สภามีอายุเหลือไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม ให้เหลือจำนวนเท่าที่มีอยู่ได้เลย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง