เปลี่ยนถนนช้างม่อยให้เป็นมิตรกับคนเดินเท้า ไปกับ Chiang Mai Urban Cyclist เพราะถนนเป็นพื้นที่ของเราทุกคน

เรื่อง: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

กลุ่ม Chiang Mai Urban Cyclist และประชาชนชาวเชียงใหม่ จัดโครงการทดลองเปลี่ยนถนนช้างม่อยให้เป็นมิตรกับคนเดิน โดยการสนับสนุนจาก Chiang Mai City Lab ตั้งแต่วันที่ 7-15 ธันวาคม 2567 บนถนนช้างม่อยเก่า บริเวณชุมชนช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในกิจกรรมมีการทาสีถนนและติดตั้งสวนหย่อม เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ถนนจากช่องสัญจรของรถยนต์ เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนใช้ร่วมกันอย่างเท่าเทียม 

“เราอยากเปลี่ยนถนนช้างม่อยให้คนเดินง่ายขึ้น”

บอส-สิทธิชาติ สุขผลธรรม กลุ่ม Chiang Mai Urban Cyclist เล่าถึงเป้าหมายของการทำโครงการนี้ว่าอยากเปลี่ยนนิเวศถนนช้างม่อยเก่า จากเดิมที่เป็นเพียงทางลัดหรือทางผ่านของรถยนต์ให้กลายเป็นพื้นที่ปลายทางที่ผู้คนมาร่วมใช้เวลาไปด้วยกัน 

“ถ้าเราอยากทำให้คนเดินง่ายขึ้น เราต้องเริ่มจากการเปลี่ยนการรับรู้ของคนก่อน คือทุกคนยังมีความรู้สึกว่าถนนมันต้องเป็นพื้นที่ของรถ คนลงไปเดินยังไม่ได้เลย อย่างนักท่องเที่ยวเวลาเดินบนถนนคนก็จะถามละว่าทำไมไปเดินบนถนน ทำไมไม่เดินบนฟุตบาท แต่ก็ดูสภาพฟุตบาทเชียงใหม่เนอะ ไม่ใช่ว่าจะเดินได้ คือเราไม่ได้บอกว่ารถห้ามผ่านนะ มันผ่านได้ แต่เพราะพื้นที่ตรงนี้มันเป็นพื้นที่ชุมชน มันต้องให้คนเดินมีอภิสิทธิ์ก่อนแล้วรถยนต์ก็ค่อยๆ ผ่านไปได้เหมือนกัน”

บอสยังเล่าอีกว่าจุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากการที่คนในชุมชนช้างม่อยประสบปัญหาเรื่องการจราจรที่แออัดและปัญหาพื้นที่จอดรถที่ไม่เพียงพอต่อนักท่องเที่ยวในชุมชน โดยเขามองว่า ถนนเป็นพื้นที่ของทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะรถเท่านั้น ถ้าอยากให้คนเดินบนถนนได้ง่ายขึ้น ก็ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนการรับรู้ของคนก่อน

ปัญหาพื้นที่บนท้องถนนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่แค่ในย่านช้างม่อยเท่านั้น ในยุคที่เชียงใหม่กลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้การจราจรหนาแน่นและแออัดมากกว่าเดิม จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ถือเป็นปัญหาที่ควรถูกแก้ไขอย่างจริงจัง 

“จริงๆ ปัญหานี้มันเป็นทุกที่ครับ มันเป็นย่านท่องเที่ยวที่เริ่มโต อย่างนิมมานนี่ก็เหมือนกัน เที่ยวในเมืองเชียงใหม่แล้วคนจะมีปัญหาเรื่องที่จอดรถเยอะมากเพราะว่าพื้นที่มันเล็ก มันเป็นเมืองเก่า ถนนมันเล็ก พื้นที่จอดมันก็ไม่ได้เยอะ กลายเป็นว่าที่เชียงใหม่มันมีปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ในเมืองที่ไปให้พื้นที่กับรถมากเกินไป ซึ่งมันไม่ได้ให้ผลประโยชน์กับธุรกิจท้องถิ่นที่ไม่ได้มีต้นทุนสูงมากเท่าไหร่ กับอีกอย่างคือเราไม่ได้มีพื้นที่มากพอขนาดนั้น”

บอส มองว่าการร่วมมือกันของคนในชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งชาวบ้านในชุมชนช้างม่อยก็แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนของพวกเขาผ่านการร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาพื้นที่ชุมชนอย่างสามัคคีกัน

“ที่ต้องเริ่มจากขัวแดงเพราะว่าชุมชนเขาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น จากแต่ก่อนที่มันไม่มีใครใช้พื้นที่ตรงนี้ เพราะมันไม่มีอะไร คนไม่มาอยู่ มันไม่มีพื้นที่ให้นั่งกิน ไม่มีพื้นที่กิจกรรม ไม่ใช่แหล่งพบปะของผู้คน แต่ก่อนมันเคยเป็นทางลัดด้วยซ้ำนะ รถมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กๆ คือวิ่งผ่านกันระนาวเลย แต่ชุมชนที่นี่เขาค่อยๆ สร้าง เริ่มติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ เริ่มทาสีตกแต่งภูมิทัศน์ โดยที่ทำกันเองเลยนะ ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากใครเลย พอแล้วประสบความสำเร็จ หน่วยงานรัฐถึงได้เริ่มให้ความสนใจที่จะมาซัพพอร์ต”

นอกจากการทำงานกับคนในชุมชนแล้ว การร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกเรื่องที่มีบทบาทสำคัญในแง่ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อรัฐอำนวยความสะดวกและมีบทบาทในการช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนอย่างตรงจุด ก็จะทำให้ชุมชนนั้นเกิดการพัฒนาได้ง่ายและไวมากขึ้น

“ทำงานกับภาครัฐอะไรที่มันเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ ส่วนใหญ่มันก็จะผ่านเทศบาลเพราะทรัพย์สินมันอยู่ภายใต้ความดูแลของเขา ปัญหาคือ พวกกฎหมายที่หลักๆ มีไว้เพื่อรักษาความสงบ ในแง่หนึ่งมันก็ดีตรงที่ ไม่ใช่ใครจะมาทำอะไรก็ได้ที่มันกระทบคนวงกว้าง แต่ในอีกแง่มันก็ไปตัดความคิดริเริ่มของคนที่อยากทำให้ย่านมันดีขึ้น ซึ่งมันไม่มีช่องให้คน ไม่มีระเบียบให้คนที่อยากลุกขึ้นมาทำได้ กลายเป็นว่าพอคนจะลุกขึ้นมาทำอะไร ส่วนใหญ่คือต้องรู้จักคนใหญ่คนโตก่อน ไปคุยกันแล้วให้เขาสั่งลงมา กับอีกอย่างคือทำไปก่อนเลยแล้วก็ค่อยโดนปรับโดนอะไร พอเขาเห็นว่าทำแล้วมันดีค่อยมาทำตาม”

ปิติ เหลืองเจริญลาภ ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมเหมือนเป็นการช่วยพัฒนาชุมชน การได้มาเห็นเส้นทางที่มีรูปวาดเยอะๆ ทำให้เขารู้สึกอารมณ์ดี และอยากมีรูปวาดของตัวเองอยู่ในพื้นถนนแห่งนี้ด้วย ถือเป็นการเพิ่มสีสัน และเป็นการผลักดันให้พื้นที่นี้เกิดความสงบ ท่ามกลางความวุ่นวายของถนนข้างนอก

ด้าน ชนัดดา อินสุวรรณ ชาวบ้านในชุมชนช้างม่อย กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ชุมชนย่านช้างม่อย ช่วยทำให้ชุมชนมีความสวยงามมากขึ้น การมีกิจกรรมนี้ทำให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ ได้มาร่วมใช้เวลาไปด้วยกัน ช่วยให้คนรักถนน และอยากใช้ถนนมากขึ้น มีคนรู้จักชุมชนนี้มากขึ้น

โดยบอสได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ชุมชนช้างม่อย นั้นเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการทำให้ถนนเป็นมิตรกับคนเดิน จึงอยากให้มีการผลักดันในรูปแบบนี้ในถนนเส้นอื่นๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ เพราะปัญหานี้ไม่ได้มีแค่คนในชุมชนช้างม่อยเพียงเท่านั้นที่ต้องเผชิญแต่เป็นปัญหาของคนทั้งจังหวัดและคนทั้งจังหวัดก็ต้องเห็นภาพร่วมกันว่าหน้าตาของถนนที่ทุกคนอยากให้เป็น จะออกมาหน้าตาแบบไหนภายใต้ข้อจำกัดของผังเมืองที่สวนทางกับประชากรเช่นนี้

ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงแรกมันกระทบทุกคน เพราะเราก็เป็นเหยื่อของการขยายถนน คนตัดสินมันก็ไม่อยู่ละ แต่เราก็ยังอยู่กับมัน เราก็เป็นเหยื่อเหมือนกันหมด เพราะงั้นเราอาจจะต้องมีภาพของถนนในแบบเดียวกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Chiang Mai Urban Cyclist: ปั่นรถถีบในเชียงใหม่ 

นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง