เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ร่วมจับตาเลือกตั้ง 66 ชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์ ย้ำกกต. ต้องโปร่งใส

ภาพ : iLaw

11 มกราคม 2566 ได้มีการจัดกิจกรรม “เข้าคูหา จับตา การเลือกตั้ง 2566 Protect Our Vote” เพื่อแถลงเจตนารมณ์ร่วมขององค์กรภาคประชาชนกว่า 101 องค์กรในนาม “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” ได้แก่ iLaw, We Watch, ACTLAB และ ทะลุฟ้า ณ ห้องเอนกประสงค์ หอศิลป์กรุงเทพฯ เวลา 13.00-17.00 น.

ภาพ : iLaw

จุดประสงค์หลักเพื่อเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปที่ใกล้จะมาถึง โดยลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครหรือส่งข้อมูลความผิดปกติหรือสถานการณ์การเลือกตั้งในเขตของตนเองทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังวันเลือกตั้งร่วมกับเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ผ่านเว็บไซต์ Vote62.com นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องไปยังองค์กรจัดการการเลือกตั้งอย่างกกต. ที่ต้องทำหน้าที่ให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ร่วมมือในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทุกภาคส่วน และให้รัฐบาลสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยก่อนการเลือกตั้ง

ภาพ : iLaw

แถลงการณ์จากเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้งปี 2566

การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนทุกคน นักการเมืองหรือชนชั้นนําไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ในการครอบงําหรือบงการการเลือกตั้งให้บิดเบี้ยวไปจากหลักสากลว่าด้วยการเลือกตั้งที่เป็นธรรม อิสระ และโปร่งใส น่าเสียดายที่การเมืองไทยถูกแทรกแซงอยู่บ่อยครั้ง จนทําให้แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่การเมืองไทยกลับยิ่งถอยห่างออกจากประชาธิปไตย อย่างไรก็ดียังไม่สายเกินไปหากประชาชนจะร่วมกันทวงคืน การเลือกตั้งให้กลับเข้าสู่ร่องสู่รอยโดยเร็ว

การเกิดขึ้นของรัฐประหารปี 2557 นับเป็นจุดด่างพร้อยครั้งใหญ่ของการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ไทย การรัฐประหารครั้งนั้นพรากสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนเป็นเวลากว่า 5 ปี ในบริบทที่ประชาชนตื่นตัว และเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นเข้ากับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไปแล้ว อีกทั้งการเลือกตั้งที่ถูกจัดขึ้นในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหารและเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ส่งผลให้ผลการ เลือกตั้งเป็นที่คลางแคลงใจของประชาชนต่อความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชน ในการลงคะแนน เช่น รัฐธรรมนูญปี 2560 กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมีอํานาจเลือก นายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมี หน้าที่จัดการเลือกตั้งก็มีที่มาจากคณะรัฐประหาร และถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังการเลือกตั้งถึงมาตรฐานการ ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเรื่องความผิดปกติของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ความโปร่งใสของผลการเลือกตั้ง ความถูกต้องของการคํานวณจํานวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง รวมถึงความเป็นกลางในการ พิจารณาเรื่องร้องเรียนและคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทําผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง

จากการประเมินของ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” คาดว่าในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ปัญหาเรื่องความเป็นธรรม ความเป็นอิสระ และความโปร่งใสจะยังคงเกิดขึ้นอีก การให้อํานาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ได้ จะยังคงสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันของพรรคการเมืองอีกเช่นเคย อีกทั้งการมี กกต. ชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ อาจมีความผิดปกติเช่นเดิมหรือความผิดปกติใหม่เกิดขึ้นอีก

ถึงเวลาแล้วที่การสังเกตการณ์การเลือกตั้งโดยประชาชนต้องขยายตัวอย่างกว้างขวาง เพื่อรับรองว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามหลักสากลและเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นอิสระของประชาชน “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” เกิดขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นการประสานความร่วมมือกันของเครือข่ายภาคประชาชนหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่มีหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นกลางโดยเฉพาะและกลุ่มที่มี ความตื่นตัวทางการเมืองต่าง ๆ (ดังรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้) โดยมีวิสัยทัศน์แห่งความสําเร็จ คือ หนึ่ง ป้องกันการโกงการเลือกตั้งและทําให้การเลือกตั้งเป็นไปตามหลักสากล สอง เพิ่มความไว้วางใจในกระบวนการการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นเครื่องมือสําคัญของการเลือกผู้แทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งปฏิเสธเครื่องมืออื่นที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน และสาม ส่งเสริมการพัฒนาการเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและความรุนแรงหลังการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่พอใจในการเลือกตั้งทไม่เป็นไปตามหลักสากล

ทั้งนี้ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” มีข้อเรียกร้องต่อประชาชนและฝ่าย ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. ขอให้ กกต. ทําหน้าที่อย่างโปร่งใส เป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งต่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง การเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยผ่านระบบออนไลน์ สนับสนุน ให้ความสําคัญ และร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องการเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยและเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

2. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยในช่วงก่อนวันเลือกตั้งนับต่อจากนี้ไป เช่น คุ้มครองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกคุกคามให้พรรคการเมืองใช้พื้นที่และสิ่งอํานวยความสะดวกในความดูแลของรัฐเพื่อรณรงค์การเลือกตั้ง คุ้มครองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกคุกคาม ให้พรรคการเมืองใช้พื้นที่ และสิ่งอํานวยความสะดวกที่อยู่ในความดูแลของรัฐอย่างเท่าเทียมในการหาเสียงเลือกตั้ง และควบคุมมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตําแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทําการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

3. ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนในทุกเขตเลือกตั้งเข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปที่กําลัง จะมาถึงโดยลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครฯ หรือส่งข้อมูลความผิดปกติหรือสถานการณ์การเลือกตั้งในเขตของตนเองทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังวันเลือกตั้ง แก่ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” ผ่านทางเว็บไซต์ Vote62.com

การเลือกตั้งต้องเป็นของประชาชน ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองที่ไร้ความหมายต่อ ประชาชนอีกต่อไป

อ่านตัวเต็มได้ที่ https://ilaw.or.th/sites/default/files/Election%20monitoring.pdf

เสวนา “เข้าคูหา จับตา เลือกตั้ง 66”

ทวงคืนพื้นที่ประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง ช่วยเลือกตั้งโปร่งใสขึ้น

ภาพ : iLaw

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งที่แตกต่างไปจากการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทำให้ประเด็นเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้ง และการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ไม่ว่าจะการเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบคือ บัตรแบบแบ่งเขตและพรรคการเมือง การเลือกตั้งในปี 2562 มีหลักการที่ผิดเพี้ยนไปคือ พรรคพลังประชารัฐที่มีส.ส. 116 เสียงจากส.ส. 500 คน แต่ผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการสนับสนุนของ ส.ว. 250 คน แต่ภูมิทัศน์ในแง่ของตัวผู้เล่นปัจจุบันแตกต่างออกไป

“ผมฟังท่านนายกฯ ปราศรัยเมื่อวานนี้บนเวที ข้อสำคัญคือ ท่านบอกว่า ท่านเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเท่าเทียม ผมก็สงสัยว่า เราเท่าเทียมกันอย่างไร ในเมื่อท่านมีส.ว.ที่ท่านเลือกไว้ ถ้าท่านจะเท่าเทียมจริง เอาล่ะ ถ้าท่านยึดในมั่นในระบอบประชาธิปไตยจริงแล้วท่านปฏิวัติทำไมเมื่อแปดปีที่แล้ว ถ้าท่านยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่ข้อสำคัญคือ ส.ว.ของท่าน ถ้าท่านยืนยันที่แล้วก็แล้วไป จากนี้ไปท่านประกาศได้ไหมว่า ส.ว.จะไม่ยุ่งเกี่ยวให้ประชาชนตัดสิน หากท่านเป็นเสียงข้างมาก โอเคท่านเป็นนายกฯ ต่อไป พรรคไหนได้เสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาลไป ไม่ใช่เป็นนายกฯ ด้วยเสียงส.ว.ของท่าน…”

ระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบเกี่ยวข้องกับปัญหาของการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา ระบบแบบปี 2562 นั้นมีบัตรใบเดียวคือ บัตรแบบเขตทำให้มีผู้สมัครมากในหนึ่งเขต จากปกติ 7-8 คนเพิ่มเป็น 28 คน มากสุดหนึ่งเขตมี 44 คน เหตุเช่นนี้เพราะคะแนนแบบแบ่งเขตจะนำมาคำนวณ ส.ส.พึงมี ใช้เขตแสวงหาคะแนนให้พรรคการเมือง เมื่อผู้สมัครมากขึ้นส่งผลให้บัตรเลือกตั้งมีรายละเอียดมากขึ้น การจัดการเลือกตั้ง กกต.ผิดพลาดเยอะมาก เช่น เรื่องคุณสมบัติในการสมัครซึ่งมีหลุดบ้างเนื่องจากผู้สมัครมีจำนวนมากจากหลักพันเป็นหลักหมื่น ผศ.ดร.ปริญญา เชื่อว่าเมื่อเปลี่ยนระบบมาเป็นบัตรสองใบข้อผิดพลาดจะลดลง

หลักการของการเลือกตั้งซึ่งมาตั้งแต่มี กกต.ในปี 2540 วางอยู่บนหลักการเลือกตั้งจะโปร่งใสได้ก็ต่อเมื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งมีชัย ฤชุพันธุ์ตัดหมดและนำผู้ตรวจการเลือกตั้งมาแทน เลิกกกต.จังหวัด ตัดภาคประชาชนทิ้งไป มีวิธีการพิสดารต่าง ๆ จนเกิดปัญหาเยอะ เขาเชื่อแบบราชการเลยให้ราชการมาตรวจ เขาไม่เชื่อประชาชนเลยตัดประชาชนทิ้ง ปัจจุบันกฎหมายยังไม่เปลี่ยน แต่จากการพูดคุยเชื่อว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นปัญหาดังกล่าว และการนำหลักการการสังเกตการณ์กลับมาจะทำให้ป้องกันการโกงได้  แต่จนถึงตอนนี้ กกต.ยังไม่พูดออกมา ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนควรเข้าไปหาและขอเข้าไปมีส่วนร่วม เราไม่มีอะไรมากเลย ขอเพียงให้ประชาชนเลือกอย่างไรให้ผลออกมาตามนั้น ในแง่ของนโยบายสำนักงานกกต.น่าจะมีการเปิดกว้างมากกว่าครั้งที่ผ่านมา

“ผมคิดว่าเครือข่ายภาคประชาชนต้องเข้าไปทวงถามกับ กกต. ว่าคราวที่แล้ว ไม่ยอมให้ประชาชนมีส่วนรวม ปัญหาเลยเยอะ แต่คราวนี้ประชาชนเราขอเข้าไปมีส่วนร่วม เราไม่มีอะไรมาก ขอเพียงแค่ประชาชนเลือกอย่างไรและให้ผลออกมาตามนั้น”

“กกต. ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของอาจารย์มีชัย มีการเพิ่มจำนวนเป็นเจ็ดคน ที่สำคัญคือมีลักษณะเป็นบอร์ด ไม่ค่อยทำงาน แต่เน้นประชุมและทำงานสำนักงาน ไม่เหมือนกับ กกต. ที่ผ่านมาที่มีการแบ่งฝ่ายต่าง ๆ เช่น ฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้และประชาธิปไตย ฝ่ายการมีส่วนร่วม ฝ่ายพรรคการเมือง และอื่น ๆ แต่ชุดนี้ไม่มี ไม่มีการปฏิบัติ ผมพูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องไปพูดคุยกับ กกต. ทั้งเจ็ดคนหรอก แต่พูดกับเลขาฯ กกต. แทน”

ประเด็นส.ว. ชุดนี้มีวาระถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 และระหว่างนี้ยังมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีและองค์กรอิสระอยู่ ทำให้สมการการเลือกนายกรัฐมนตรียังคงเป็นแบบเดิมเหมือนปี 2562 ผศ.ดร.ปริญญามองว่า การแตกคอของสอง ป. อย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อถึงเวลาจะมีคนหนึ่งที่ถอย ทำให้เสียงของ ส.ว.ยังไม่แตกออก อย่างไรก็ตามทั้งสองอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ถ้ามีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึง 250 คนจะทำงานไม่ได้และอาจถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นจึงต้องทำให้มีเสียงส.ส. 250 คน แต่อาจจะเกิดการ “ดูดเอาดาบหน้า” อย่างไรก็ตามพล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ เลือกตั้งโปร่งใสและส.ว.ต้องออกเสียงตามเสียงข้างมาก อันเป็นการป้องกันรัฐประหารไปด้วย

“ที่พล.อ.ประยุทธ์ไม่อ่านคำปฏิญาณว่า จะพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ใช่เพิ่งไม่อ่าน แต่บรรดาแม่ทัพ นายกองสิบปีมาแล้วเขาไม่อ่านแล้ว ในการรับตำแหน่งผบ.เหล่าทัพต่าง ๆ ประโยคนี้ไม่มีมานานแล้ว ทหารต้องปฏิญาณตนว่า จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า รัฐประหารกับส.ว.เป็นเรื่องที่ต้องไปด้วยกัน ต้องให้ส.ว.รับปากกับประชาชนตั้งแต่ก่อนหน้าการเลือกตั้ง”

ภาพ : iLaw

ปริญญากล่าวทิ้งท้ายว่า การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญและทำได้ “ไม่เกี่ยวกับข้างไหน อยู่ข้างไหนก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน ผมอยากจะเสนอไว้ข้อหนึ่งคือ เรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ละจังหวัดจะมีห้าหรือแปดคนแล้วแต่จำนวนประชากร ผมชวนให้ภาคประชาชนลองร่วมมือกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง เท่าที่เคยคุยกับผู้ตรวจการเลือกตั้งเขาก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ทำอะไรไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถ้าภาคประชาชนสามารถร่วมมือกับผู้ตรวจการเลือกตั้งผมว่า โอกาสสำเร็จมีแล้วนะในการทำการเลือกตั้งให้โปร่งใส”

“การเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยให้เรากลับสู่ประชาธิปไตยเร็วขึ้น เมื่อส.ว.ไม่โหวตเลือกนายกฯ แล้วเมื่อส.ว.หมดวาระในปีหน้า เราจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วอะไรก็แล้วแต่เป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตย เราแก้ได้หมดเลยแล้วเราก็จะกลับสู่ประชาธิปไตยเต็มใบอีกครั้งหนึ่ง เริ่มจากการเลือกตั้งครั้งนี้ให้โปร่งใส”

ชำแหละระบบเลือกตั้ง 62 ทำลายประชาธิปไตย ยังหวังการเปลี่ยนขั้วอำนาจอย่างสันติ

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งบ่อยอยู่ในระดับห้าอันดับแรกของโลก ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีนักเพราะทุกครั้งที่เปลี่ยนประชาชนต้องทำความเข้าใจใหม่ ถ้าย้อนกลับไปก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ไทยใช้ระบบเลือกตั้งแบบหนึ่งเขตสามคน พรรคการเมืองส่งได้สามชื่อ ทางวิชาการมองว่า ทำให้เกิดการแข่งขันกันเองในระบบพรรคการเมืองก็ยกเลิกไปและเปลี่ยนมาเป็นแบบคู่ขนานในการเลือกตั้ง 2544 และ 2548 คล้ายกับการเลือกตั้ง 2566 ต่างตรงที่ 2544 และ 2548 มีเกณฑ์ขั้นต่ำห้าเปอร์เซ็นต์ที่ถูกมองว่าเอื้อต่อพรรคใหญ่และพรรคที่มีชื่อเสียงติดหูและมีทรัพยากรในการหาเสียงในระดับประเทศ ตามด้วยการรัฐประหารในปี 2549 และเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง จากนั้นเปลี่ยนระบบอีกครั้งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2554

การรัฐประหาร 2557 นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2560 และระบบเลือกตั้งแบบใหม่ รศ.ดร.สิริพรรณระบุว่า ขอไม่เรียกระบบการเลือกตั้ง 2562 ว่า ระบบเลือกตั้งแต่ขอเรียกว่า เป็น “เทคนิคเลือกตั้ง” เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกเลยที่ใช้ระบบเลือกตั้งนี้ เหตุที่เป็นเช่นนี้คือ ข้อเสียของระบบจัดสรรปันส่วนผสมเป็นระบบที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะเน้นตัวบุคคลและรากเหง้า “ซากเดนของปัญหายังสืบทอดจนถึงปัจจุบัน ทำไมทุกวันนี้เราจึงเห็นการย้ายพรรคแบบไร้ยางอาย การซื้อส.ส. การซื้อผู้สมัครบ้านใหญ่…เพราะเป็นผลพวงของระบบเลือกตั้งปี 2562 ที่เน้นตัวบุคคล เวลาเราเลือกเรามีบัตรใบเดียว เขาเลือกส.ส.เขต ส่วนบัญชีรายชื่อเอาคะแนนส.ส.ทั้งหมด ไม่ว่าจะสอบได้ สอบตก บางเขต บางพรรคเข้าไปดูได้ห้าคะแนน…แต่คะแนนเหล่านี้ยังมีความหมาย ในปี 2562 มีผู้สมัครเป็นหมื่น ๆ คนเพราะทุกคะแนนไม่ตกน้ำ ซึ่งเป็นข้ออ้างของผู้ร่างระบบเลือก แต่ตั้งคำถามคือ คะแนนไม่ตกน้ำ มันดีตรงไหน ในระบบเลือกตั้งคือ ระบบที่คัดผู้ชนะ ไม่ใช่ให้โบนัสแก่ผู้แพ้ คือแพ้ก็ได้ประโยชน์อยู่ ทำให้ตัวบุคคลมีความสำคัญมาก ทำให้บ้านใหญ่ ผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อเจ้าแม่กลับมาบูมอีกครั้งหนึ่ง”

“ประการที่สองลดทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองจ้องไปดึงตัวผู้สมัครเข้ามา ครั้งที่แล้วแข่งขันกันในเชิงนโยบายก็จริง แต่ว่าถ้าใช้ระบบเลือกตั้งนั้นไปเรื่อย ๆ นโยบายของพรรคจะลดความสำคัญลง…และทำให้เกิดการแข่งขันกันเองในพรรค”  รศ.ดร.สิริพรรณยกตัวอย่างพรรคอนาคตใหม่ที่เวลานั้นผู้สมัครแบบแบ่งเขตมีโอกาสชนะน้อย จึงอยากลงแบบบัญชีรายชื่อมากกว่า

ในเรื่องการจัดการเลือกตั้ง เธอระบุว่า อาจจะเห็นไม่ตรงกับอาจารย์ปริญญา ในประเด็นที่หลายคนเชื่อว่า กกต.จงใจให้เกิดการปัดเศษ แต่เธอขอยืนยันว่า กกต.คำนวณถูกแล้ว ไม่ได้คำนวณผิด เอกสารของกกต.ออกมาก่อนหน้านั้นโดยอธิบายวิธีการคำนวณ การที่มีพรรคปัดเศษไม่ใช่เป็นการคำนวณผิดหรือจงใจเอื้อประโยชน์ของกกต. ปัญหาอยู่ที่การเขียนระบบเลือกตั้งแต่แรก แต่กกต.มีความผิดผลาดแน่นอน อย่างไรก็ตามเพื่อความโปร่งใส เรียกร้องให้กกต.ออกหนังสือการจัดสรรที่นั่งออกมาก่อนการเลือกตั้ง 2566

ระบบการเลือกตั้ง 2562 ที่ทำลายประชาธิปไตยมากที่สุดคือ การทำให้มีพรรคการเมืองจำนวนมาก ไทยกลายเป็นประเทศที่มีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก คือ 19 พรรค ก่อนหน้านี้นักวิชาการประเมินว่า รัฐบาลไม่น่าจะอยู่รอดเนื่องจากจะต้องมีการรอมชอมประนีประนอม แต่ทุกวันนี้มีการปลูกกล้วยกันเต็มสภา ในที่สุดก็อยู่มาได้และทำท่าจะไปต่อ คำถามคือ แม้ว่าจะอยู่รอดครบเทอม แต่ปัญหาคือ ประสิทธิภาพของการบริหาร “ความอยู่รอดตั้งอยู่บนการต่อรองและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์มากกว่าความอยู่รอดเพื่อการบริหารประเทศ ทั้งหลายทั้งปวงเป็นผลพวงของระบบเลือกตั้ง มันสำคัญเนื่องจากเป็นเครื่องมือแรกที่เข้าสู่อำนาจทางการเมือง เครื่องมือที่ทำให้รัฐบาลเข้าสู่อำนาจในลักษณะหนึ่งก็จะได้รัฐบาลแบบหนึ่ง ถ้าเปลี่ยนเครื่องมือจะได้รัฐบาลอีกแบบหนึ่ง เชื่อว่า ถ้าเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นอีกแบบหนึ่งหน้าตาของรัฐบาลก็เปลี่ยนไปได้”

อีกเรื่องหนึ่งคือการจัดการเลือกตั้งที่มีปัญหา ประการแรก บัตรเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตและพรรคการเมืองคนละเบอร์ มองว่า เป็นความจงใจที่ทำให้พรรคการเมืองลดความสำคัญลงในใจคน ประการที่สองคือ ความรู้ความเข้าใจของกกต. “ถ้าจำกันได้กกต.มีสองเรื่องหลัก ๆ คือ การนับบัตรที่ส่งมาจากต่างประเทศและบอกมาไม่ทันไม่นับ มันไม่ได้ในทางหลักการ เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ต่อให้ปิดคูหาสองทุ่ม แต่สองทุ่มยังมีคนรอคิวอยู่ก็ให้ลง แม้ว่าบัตรจะเดินทางมาช้าก็ต้องนับ ประการที่สองครั้งที่แล้วกกต.ประกาศผลเลือกตั้งแค่ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้ต้องประกาศให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์” นี่คือตัวอย่างของความรู้ความเข้าใจของกกต. และประการที่สามเรื่องของความโปร่งใสและความเป็นธรรม มีความสำคัญมากในแง่ของการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ พรรคการเมืองตรวจสอบได้

รศ.ดร. สิริพรรณระบุว่า อยากเห็นการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ไม่เกิดความรุนแรง “สิ่งที่กลัวที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือปัญหาการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ การถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติคือการเปลี่ยนอำนาจทางการเมืองจากขั้วหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่ง ถ้ามองย้อนหลังการเมืองใน 20 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยมีการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ มีการเกิดรัฐประหารหรือการชุมนุมทางการเมืองในทุกครั้งของการถ่ายโอนอำนาจ ซึ่งเราไม่เรียกว่าสันติ และครั้งนี้ หลังการเลือกตั้งจะยอมรับให้พรรคการเมืองหรือขั้วการเมืองที่ได้รับเสียงมากที่สุดของประชาชนจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่? ถ้าไม่ยอมโดยยังใช้เสียง สว. จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่”

“ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่มีความละอาย ไม่มีความรู้สึกผิด ไม่คำนึงถึงความชอบธรรมทางการเมืองใด ๆ และยังมีสว. 250 คนอยู่ในมือ ถึงจะแตกเป็นสองฝั่งก็ตาม ถึงเวลามี สว. ท่านหนึ่งออกมาพูดว่า ‘น้ำบ่อไหน ก็จะไปลงที่น้ำบ่อนั้น’ หมายความว่า น้อยมากที่จะมี ส.ว. แตกแถวมาเลือกในฝั่งที่เคารพเสียงของประชาชน คำถามคือ แล้วประชาชนจะทำอะไรเราพร้อมที่จะรับความไม่สงบใด ๆ ต่อจากนี้หรือไม่”

นอกจากนี้นักวิชาการทั้งสองแล้ววงเสวนายังมีตัวแทนภาคประชาสังคมที่ทำงานจับตาการเลือกตั้งร่วมแลกเปลี่ยนอย่างพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (WeWatch) และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

พงษ์ศักดิ์ระบุว่า ในฐานะที่มีประสบการณ์ในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในต่างประเทศและติดตามการเลือกตั้งในไทยช่วง 20 ปีที่ผ่านมา “เราพูดได้ว่า รากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงของเรื่องการเลือกตั้ง นั้นแบ่งเป็นสองระดับคือ หนึ่งคือประเด็นเรื่องโครงสร้าง เรื่องพวกกฎหมายและเกณฑ์ที่สร้างหายนะกับประเทศไทย สองคือแนวคิดกับวิธีคิด วัฒนธรรมทางความคิดของคนในสังคม ซึ่งสะท้อนจากคนที่ทำงานในองค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ นี่ผมพูดรวมถึง กกต.” การตัดสินหรือการวินิจฉัยที่เป็นที่มาของปัญหาที่ทำให้คนมองว่า การเลือกตั้งไม่โปร่งใสและเป็นธรรม การลงชื่อเพื่อปลดกกต. ของประชาชนสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจ หลายคนในที่นี้คงไม่มั่นใจในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ประเด็นความกังวล เช่น การที่มีกฎหมายให้กระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งร่วมกับกกต. ก่อนการรัฐประหารไม่มีกฎหมายนี้

ประเด็นต่อมาคือ กกต.ไม่สนับสนุนการสังเกตการณ์และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งอยู่ในระเบียบของกกต.ก่อนการรัฐประหาร 2557 แต่ถูกนำออก “ผมถามว่า เอาออกทำไม ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ มันเป็นคอมมอนเซนส์เลยว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนทำได้” และการไม่ประกาศผลคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งจากกกต. สวนทางหลักการความโปร่งใสและตรวจสอบได้  ในเรื่องของการรายงานผลเรียลไทม์ที่เขาตั้งคำถามและรู้สึกว่า สังคมไทยไม่ได้ตั้งคำถามเรื่องนี้มากนัก ปกติแล้วการรายงานผลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับผลคะแนนจะต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรที่ได้รับการยอมรับ ยกตัวอย่างที่ฟิลิปปินส์ที่ต้องมีการตรวจสอบก่อน มิเช่นนั้นประชาชนจะไม่ยอมรับ

การเลือกตั้งในระดับอาเซียนที่ผ่านมา ที่ฟิลิปปินส์มีองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งสามารถระดมอาสาสมัครได้ 550,000 คน ใน 70,000 หน่วยเลือกตั้ง สามารถสังเกตการณ์และเทียบคะแนนได้ทุกหน่วยเลือกตั้งสามารถอ้างอิงและขอให้ตรวจสอบได้ “ไม่ว่าประเทศใด ๆ ก็ตามในโลกนี้ จะสร้างเครื่องมือหรือกลไกอะไรก็ตาม เพื่อจะตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจก็แล้วแต่ แต่ถ้าปราศจากการที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ วางใจ ละเลย เชื่อมั่นในกลไกนั้นโดยไม่มีส่วนร่วม คุณเชื่อไหมว่า หายนะจะมาเยือนประชาชนหรือสังคมนั้น เพราะว่า ท้ายที่สุดคนที่มีอำนาจก็ต้องใช้กลไกหรือเครื่องมือนั้นเพื่อหาประโยชน์หรือสืบทอดอำนาจของตนเอง”

ด้านยิ่งชีพระบุว่า การเลือกตั้งปี 2562 อยู่ภายใต้กติกาของคสช. ปูทางให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี มีกลไกที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ เอารัดเอาเปรียบผู้แข่งขัน ไม่ว่าจะการตั้งชื่อพรรคการเมืองให้เหมือนนโยบายคสช. และการแบ่งเขตใหม่ ในการเปิดตัววันที่ 9 มกราคม 2566 ทำให้แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังตั้งมั่นในทางการเมือง อย่างไรก็ตามสี่ปีที่ผ่านมาอำนาจเปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างการจำกัดเสรีภาพสื่อ ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาและ New Voter อีกจำนวนมากขึ้นอันเป็นคะแนนที่ควบคุมไม่ได้ ใช้การควบคุมแบบเก่า อิทธิพลบ้านใหญ่แบบเดิมยิ่งน้อยลง การอยู่ต่อของพล.อ.ประยุทธ์ในปี 2566 ยากขึ้นมาก แต่ยังมีกลไกบางอย่างที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของคสช. อยู่

เขาเล่าย้อนปัญหาในการเลือกตั้งปี 2562 ว่า หลังการเลือกตั้งประธานกกต. แถลงข่าวตอนสามทุ่มบอกว่า ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 65 เปอร์เซ็นต์ แต่กว่าคะแนนจะครบร้อยเปอร์เซ็นต์คืออีกหลายวันถัดมา โดยเปลี่ยนตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเป็น 75 เปอร์เซ็นต์จำนวนห่างกันหลักล้านคน และประเด็นที่กกต.มีการรายงานผลเรียลไทม์หน้าหน่วยเมื่อนับเสร็จและรายงานตอนนั้น ซึ่งการรายงานคะแนนมีปัญหาตามมามากมาย และครั้งนี้กกต.อาจไม่มีการรายงานผลเรียลไทม์แล้ว ยิ่งชีพตั้งคำถามว่า เราจะรอผลคะแนนจากกกต.เท่านั้นหรือ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีอาสาสมัครการเลือกตั้งปี 2566 ไม่มีทางเลือกเลย หากประชาชนลงสังเกตการณ์การเลือกตั้งจำนวนมากจะเป็นชัยชนะที่มองไม่เห็น มันอาจจะไม่มีกรณีที่นับต่างกันจนต้องโต้แย้ง แต่เมื่อประชาชนออกมาสังเกตการณ์จำนวนมาก ผู้จัดการการเลือกตั้งจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องโปร่งใสไปเอง

ภาพ : iLaw

ภายในงานมีกิจกรรมจำลองการนับคะแนนและแสดงข้อผิดพลาดในการนับคะแนน เช่น คะแนนเขย่ง ขีดคะแนนไม่ครบ ไฟดับขณะนับคะแนน รวมคะแนนผิด ซึ่ง กกต. จะต้องทำให้เห็นตลอดเวลาที่ กกต. ทำงาน ถือเป็นส่วนสำคัญการผิดไป 1 คะแนน ถือว่ากระทบมหาศาล หน่วยเลือกตั้งมีประมาณ 90,000 หน่วย คะแนนหายไป 1 คะแนน แต่ 90,000 หน่วย ยิ่งส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้ง และยังแสดงให้เห็นอีกว่าคะแนนไม่ได้หายไปแค่ 1 คะแนน ก่อนปิดกิจกรรม

ภาพ : iLaw

สามารถร่วมกันจับตาการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ผ่าน Line Official ของ Vote 62 ได้ที่ https://lin.ee/d2EXAA8

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง