ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมา ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมงานกิจกรรมสำคัญในเมืองลำปางหลายแห่ง รวมถึงการใช้ช่วงเวลาเย็นของสุดสัปดาห์ไปกับการเดินถนนคนเดินกาดกองต้าและถนนสายวัฒนธรรมย่านชุมชนท่ามะโอ ได้พบความแปลกใหม่อย่างหนึ่งคือมีกลุ่มคนราว 40-60% ของจำนวนผู้มาเที่ยวชมงาน สวมชุดพื้นเมืองโทนสีแดงอมชมพูคล้ายโทนสีของเค้ก Red Velvet ที่วางขายตามร้านคาเฟ่หรือเบเกอรีต่าง ๆ
“สีแบบนี้เรียกว่าสีครั่ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากโครงการวิจัยของ อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติจากทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดลำปาง และสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ให้ลำปางเป็นเมืองหลวงแห่งผ้าครั่ง โดยมีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปางเป็นแม่งาน” แม่สมพร ใจคำ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฮอมฮักผ้าทอทุ่งฮี อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง หนึ่งในผู้ออกบูธแสดงสินค้าตามงานกิจกรรมต่าง ๆ ในจังหวัดลำปาง ได้อธิบายต่อผู้เขียนที่กำลังสงสัยในความแปลกใหม่ดังกล่าว
ผู้เขียนจึงได้กลับไปสืบค้นที่มาที่ไปของผ้าสีย้อมครั่งลำปาง อภิชัย สัชฌะไชย ผู้ประกอบการโรงงานครั่งนอร์ทเทอร์นสยามซีดแล็คในจังหวัดลำปาง เคยให้สัมภาษณ์ต่อรายการ ที่นี่บ้านเรา ตอน ลำปาง “ครั่ง” รักษ์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เกี่ยวกับภาพรวมของครั่งในจังหวัดลำปางว่า ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดลำปางเพาะเลี้ยงครั่งมาเป็นเวลานานกว่า 20 – 30 ปีแล้ว แต่เพิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นจนเกิดเป็นการเพาะเลี้ยงเชิงเกษตรเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ในหลายพื้นที่มีราคาตกต่ำและให้ปริมาณไม่เพียงพอที่จะส่งออกตามท้องตลาดได้
ประกอบกับเมื่อช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องการรับซื้อครั่งจำนวนมาก ทำให้ครั่งมีราคาสูง เกษตรกรบางส่วนจึงเริ่มทดลองปล่อยพันธุ์ครั่งบนต้นฉำฉา (จามจุรี) และต้นลิ้นจี่ ปรากฏว่าได้ผลผลิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีการประชาสัมพันธ์ออกไปตามสื่อต่าง ๆ ปรากฏว่ามีทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถานศึกษา และผู้ประกอบการเข้ามาสนับสนุนด้านการรวมกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงครั่งภายในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้การเพาะเลี้ยงครั่ง การแปรรูปครั่งที่เหมาะสมกับวิถีหรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในพื้นถิ่น ก่อนที่จะขยายผลไปยังชุมชนข้างเคียงในโอกาสต่อมา
“ปัจจุบันจังหวัดลำปางส่งออกครั่งเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และอันดับ 2 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 900 – 1,000 ล้านบาทต่อปี ภาครัฐจึงเริ่มเข้ามาส่งเสริมให้ครั่งเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” อภิชัยกล่าวโดยผู้เขียนสามารถอนุมานได้ว่า ครั่งไม่เพียงแต่ให้ผลผลิต แต่ยังสามารถนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับท้องตลาดได้อีกด้วย
ทำไมลำปางต้อง “ครั่ง”
“ครั่ง” เป็นแมลงจำพวกเพลี้ยที่ขับสารชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นเหมือนยางหรือชันออกมาไว้ป้องกันตัวเองจากศัตรู ซึ่งสารที่ขับถ่ายออกมานี้เรียกว่า “ครั่งดิบ” ที่มีสีแดงม่วง ลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสีเหลืองแก่ หรือยางสีส้ม โดยครั่งจะขยายพันธุ์ได้ดีในสภาพอากาศเย็นและมีปริมาณความชื้นสูง แต่ไม่เหมาะกับสภาพอากาศร้อน ซึ่งมนุษย์ได้นำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคโลหิตจาง โรคลมขัดข้อ เป็นต้น นอกจากนี้ในภาคอุตสาหกรรมยังมีการนำไปใช้ทำเชลแล็ก แลกเกอร์ เครื่องใช้ เครื่องประดับหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมไปถึงนำไปทำสีย้อมผ้า
คนลำปางอีกจำนวนมากอาจยังไม่รู้ว่า จังหวัดลำปางเป็นแหล่งเพาะครั่งที่มีคุณภาพระดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ทั้งบนพื้นที่สูงและพื้นราบ โดยมีแหล่งเพาะเลี้ยงครั่งในเชิงเกษตรที่สำคัญคือ อำเภอวังเหนือ อำเภองาว และอำเภอเสริมงาม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเย็นและมีปริมาณความชื้นมากพอที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของครั่ง ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมจะนิยมนำครั่งไปแปรรูปเป็นแลกเกอร์ สีผสมอาหาร ยารักษาโรคตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน และสีย้อมผ้าอันเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่เกิดขึ้น
การแปรรูปครั่งเป็นสีย้อมผ้าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2565 ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง ได้นำเสนองานวิจัย “ขับเคลื่อนลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ (Lampang Learning City)” โดยในงานวิจัยดังกล่าวมีหัวข้อที่น่าสนใจคือ ลำปาง เมืองหลวงแห่งครั่ง
“เราค้นพบว่าน้ำล้างครั่งที่เหลือจากกระบวนการแปรรูปของโรงงาน ซึ่งกลายเป็นน้ำเสียที่ระบายลงท่อระบายน้ำ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณข้างเคียง จุดนี้เองทำให้ผู้ประกอบการโรงงานหลายแห่งมองว่าน้ำล้างครั่งน่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่นต่อได้และเริ่มทดลองนำน้ำล้างครั่งมาสกัดเป็นผง ซึ่งผงครั่งที่ได้จากกระบวนการนี้กลายเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งออกได้” ดร.ขวัญนภา เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของงานวิจัยลำปาง เมืองหลวงแห่งครั่ง
“โรงงานส่งออกผงครั่ง 100% ส่วนมากเป็นลูกค้าญี่ปุ่นซื้อไปย้อมผ้ากิโมโนระดับพรีเมียม บางประเทศซื้อไปเป็นสีผสมอาหาร พอเราย้อนกลับมามองลำปางบ้านเราแล้วรู้สึก “เอ๊ะ” แล้วลำปางเราจะยอดจุดเด่นตรงนี้อย่างไร จึงนำไปสู่แนวคิดการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่มองจุดเด่นที่มีอยู่ประกอบการปัญหาและความต้องการที่มีอยู่ ลำปางเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมีการต่อยอดงานในหลากหลายมิติ แต่ถ้ามีคำถามเรื่องความโดดเด่นเรื่องผ้าพื้นเมืองก็จะใช้เวลาคิดนานหน่อย แล้วอะไรคืออัตลักษณ์ที่เห็นแล้วจำได้ทันทีว่านี่คือผ้าของลำปาง จึงนำไปสู่การกำหนดภาพอนาคตร่วมกันถ้าเราผลักดันผ้าย้อมสีครั่งเป็นสีอัตลักษณ์ของลำปางเมื่อไหร่ที่คิดถึงผ้าย้อมสีธรรมชาติ ผ้าพื้นที่เมืองผ้าย้อมครั่งลำปางต้องเป็นที่รู้จักและพูดถึง ถ้านึกถึงแพร่ต้องผ้าหม้อห้อม สกลนครต้องผ้าย้อมครามและลำปางต้องเป็นผ้าย้อมครั่ง อาจารย์ในฐานะคนที่สนใจและทำผ้าพื้นเมืองมา 20 กว่าปีจึงต้องตั้งคำถามในใจว่า “ทำไมลำปางจะมีผ้าย้อมครั่งไม่ได้” เพื่อลำปางจะสามารถชูผ้าย้อมครั่งให้เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์เมือง และจากนี้จะขับเคลื่อนร่วมกันอย่างไรเพื่อให้เกิดภาพอย่างที่เราอยากเห็นร่วมกัน นี่จึงเป็นคำถามในการจุดประกายในการเริ่มต้น” ดร.ขวัญนภากล่าว
ปล่อยครั่งไม่ติดเพราะอากาศร้อน ลำปางขาดอัตลักษณ์ผ้าพื้นเมือง สองประเด็นที่ผู้เขียนยกมาถือเป็นปัญหาสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพราะเป็นปัญหาที่มักจะถูกนำไปเชื่อมโยงกับประเด็นดราม่าบนพื้นที่แสดงออกทางความคิดเห็นของคนลำปางอยู่เสมอว่า ลำปางจะหมุนตามกาลเวลากี่โมง แล้วครั่งจะช่วยตอบคำถามสุดคลาสสิกของลำปางได้อย่างไร
ลำปาง “ครั่ง” แล้วใครได้
“ลำปางจะหมุนตามกาลเวลากี่โมง” อาจยังเป็นคำถามที่ตอบได้ยากในตอนนี้ แม้ว่าในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมาจะเริ่มมีภาครัฐเข้ามาสนับสนุนและพร้อมจะผลักดันให้ผ้าสีย้อมครั่งเป็นอัตลักษณ์แห่งลำปางไปด้วยกันจากผลงานของทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปางที่จับต้องเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน แต่โดยภาพรวมการขับเคลื่อนผ้าครั่งตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันยังมีหลายข้อสังเกตที่น่าสนใจและชวนค้นหาคำตอบว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
“ทำไมคนที่สวมชุดผ้าสีย้อมครั่งถึงมีแต่กลุ่มกิจกรรมหรือชนชั้นนำทางสังคม (Elite) ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาครัฐ” ผู้เขียนค้นพบข้อสังเกตนี้จากการไปร่วมงานกิจกรรมในลำปาง 2–3 งานเมื่อช่วงก่อนสิ้นปี 2566 จนถึงเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา และได้สอบถามประชาชนทั่วไปที่มาเดินเที่ยวชมงานกิจกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวว่ารู้จักผ้าครั่งลำปางหรือไม่ ผู้เขียนสามารถสรุปแนวคำตอบจากการให้สัมภาษณ์ของประชาชนออกเป็น 6 ข้อดังนี้
- “จริง ๆ ก็เริ่มสงสัยตั้งแต่ปีที่แล้ว (2566) ว่าทำไมเพื่อนที่ทำงานรับราชการถึงสวมใส่เสื้อพื้นเมืองสีนี้เป็นประจำทุกวันอังคาร แล้วพอไปเจอเพื่อนออกงานอีเวนต์ในลำปางกี่งาน ๆ เพื่อนคนนี้ก็สวมชุดพื้นเมืองสีนี้ทุกงาน เรารู้สึกว่าโทนสีน่ารักดีและยังไม่เคยเห็นในลำปางมาก่อน ก็เลยรู้สึกเอ๊ะขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า ที่ผ่านมาลำปางยังไม่เคยมีสีผ้าพื้นเมืองประจำจังหวัดอย่างจริงจังเลย ซึ่งเรามองว่าแคมเปญสีผ้าย้อมครั่งลำปางที่รัฐกำลังขับเคลื่อนในตอนนี้ ต่อจากนี้จะต้องทำอย่างไรให้คนลำปางหันมาสวมใส่ผ้าย้อมครั่งจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ได้เกิดจากการขอความร่วมมือหรือกฎเกณฑ์ใด ๆ”
- “รู้จักและเคยซื้อผ้าทอกะเหรี่ยงสีย้อมครั่งจากหมู่บ้านที่เสริมงามแล้วใส่ไปเที่ยวหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่เชียงราย พี่น้องกะเหรี่ยงที่นั่นก็ชมว่าสีสวย อยากรู้ว่าต้องย้อมยังไง จะได้เอาครั่งที่ปล่อยไว้ในหมู่บ้านมาลองย้อม ถ้ามี workshop ย้อมสีครั่งที่ลำปางขอให้ส่งข่าวบอกกันนะ”
- “รู้จักผ้าครั่งจากการประชาสัมพันธ์ของสื่อโซเชียล ครั้งแรกที่เห็นรู้สึกว่าเป็นผ้าที่มีสีสวยมากและไม่เคยเห็นในลำปางมาก่อน แต่พอจะไปซื้อกลับรู้สึกว่าทำไมผ้าครั่งมีราคาแพงเมื่อเทียบกับผ้าหม้อห้อมที่ซื้อจากแพร่ เพราะดูจากเรทราคาแล้วเหมือนจะมีแต่คนมีสตางค์เท่านั้นที่ซื้อได้”
- “เรื่องผ้าครั่งราคาแพงจริง ๆ ถ้าเป็นคนที่พร้อมจ่ายเขาก็ไม่ติดอะไรนะ เพียงแต่คนขายไม่ว่าจะย้อม ทอ หรือเย็บปักลาย ควรจะอธิบายให้คนซื้อเข้าใจว่า ในการย้อมครั่งต่อผ้าหนึ่งผืนมีต้นทุนอะไรบ้าง แล้วสมเหตุสมผลกับราคาที่ตั้งอย่างไร”
- “ไม่รู้จักและไม่ได้รู้สึกตื่นตัวกับผ้าครั่งเป็นพิเศษ เพราะส่วนตัวมองว่าเป็นอัตลักษณ์ใหม่ทางวัฒนธรรมที่เพิ่งสร้าง โดยที่ไม่ได้ถูกปลูกฝังจากคนรุ่นก่อน ซึ่งแตกต่างจากรถม้าหรือถ้วยชามเซรามิกที่เรารู้จักและคุ้นเคยเหมือนเป็นชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดแล้ว”
- “จะให้ไปรู้จักได้ยังไง ในเมื่อลำปางมีอะไรใหม่ ๆ หรือจะจัดงานอีเวนต์อะไรก็เหมือนทำเพื่อละลายงบ มีแต่คนกันเองที่เข้าถึงอะไรแบบนี้ เพราะลำปางไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์หรือโปรโมทแบบทุ่มสุดตัวไปเลยว่า ทำไมนึกถึงลำปางต้องนึกถึงผ้าสีย้อมครั่ง แล้วพอชาวบ้านธรรมดาอย่างเราอยากจะไปเดินเที่ยวซื้อของในงานแบบนี้ แค่บรรยากาศทางเข้างานก็ดูไม่เวลคั่มชาวบ้านตาสีตาสา แล้วยังจะมาบอกว่าคนลำปางไม่เคยสนับสนุนอะไรใหม่ ๆ ได้อีกเหรอ”
จากแนวคำตอบทั้ง 6 ข้อได้สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมจากคนลำปางที่มีต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมใหม่อย่างผ้าครั่งทั้งประโยชน์ที่คนลำปางจะได้รับ ความคาดหวังที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดลำปาง ข้อสังเกตและข้อกังวลต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มชนชั้นทางสังคมกับชนชั้นกลางลงไปจากการพยายามสร้างภูมิปัญญาผ้าสีย้อมครั่งให้เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ของลำปาง ซึ่งหากมองตามความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายที่อัตลักษณ์ใหม่อย่างผ้าสีย้อมครั่งจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมเทียบเท่ากับผ้าหม้อห้อมหรือผ้าย้อมครามในช่วงเวลาอันสั้นได้ เพราะกว่าที่ผ้าหม้อห้อมหรือผ้าย้อมครามจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างจนรัฐบาลเศรษฐาต้องลิสต์รายชื่อเป็นหนึ่งในสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จะถูกต่อยอด ผลักดันให้เป็น Soft Power ของไทย ภูมิปัญญาเหล่านี้ย่อมต้องถูกออกแรงช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้ในสังคมระดับประเทศนานนับทศวรรษเหมือนกัน
ดร.ขวัญนภาเองก็ได้ให้ความคิดเห็นต่อข้อสังเกตดังกล่าวอีกว่า ความคิดเห็นจากประชาชนเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการวิจัยเพื่อศึกษาและพัฒนาผ้าครั่งได้เป็นอย่างมาก โดยสิ่งสำคัญที่สุดของการเริ่มต้นคือกระบวนการสร้างการรับรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมในการจัดการองค์ความรู้และพัฒนา ดังนั้นในการขับเคลื่อนเราเริ่มต้นจากลงพื้นที่ 13 อำเภอว่าแต่ละพื้นที่มีภูมิปัญญาเดิมอะไรบ้างและเราจะช่วยเติมเต็มในส่วนใหน การย้อมการทอในบางพื้นที่มีอยู่แล้วและถ้าเราจะเพิ่มตัวใหม่เข้าไปเราจะต้องหาจุดร่วมอย่างไร สิ่งที่พื้นที่ทำอยู่เดิมที่ดีแล้วก็จะต่อยอดอย่างไร เช่น เรื่องคุณภาพมาตรฐานการย้อม การออกแบบ การตลาดและที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงเครือข่ายทุกภาคส่วนมาร่วมในการพัฒนาและร่วมขับขับเคลื่อนในแต่บทบาทที่รับผิดชอบเป้าหมายสำคัญที่สุดคือความยั่งยืน ดังนั้นจึงเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลากลไกในการขับเคลื่อนการเชื่อมในทุกระดับ
“จากข้อสังเกตไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาแพง หรือคนระดับชาวบ้านรู้สึกเข้าไม่ถึง เป็นงานอีเวนต์งานตอบสนองเฉพาะกลุ่ม ในมิติของการพัฒนาเราก็ต้องหาวิธีการในการพัฒนาที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของสิ่งที่เราต้องทำแต่มิติของภาพลักษณ์หรือผลที่เกิดขึ้นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมร่วมกันเพราะอาจารย์เชื่อว่าทุกฝ่ายที่นำสิ่งที่เราทำกันอยู่ไปต่อยอดไม่ว่าจะในรูปแบบใหนก็คงเป็นเป้าหมายเดียวกันที่จะช่วยพัฒนาให้ดีขึ้น อย่างน้อยกิจกรรมที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาก็สร้างกระแสการรับรู้ผ้าย้อมครั่งลำปาง แต่ปัญหาก็คงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายต้องนำมาพิจารณาในการพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป” ดร.ขวัญนภากล่าว
ทำอย่างไรให้ทุกคน “ครั่ง” เหมือนกัน
ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามคณะทำงานของ ดร.ขวัญนภา ไปยังบ้านทุ่งฮี อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ซึ่งมีกลุ่มผ้าพื้นเมืองของแม่สมพรที่บุกเบิกแนวคิดผ้าสีย้อมครั่งมาด้วยกันตั้งแต่ต้น ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้มีความน่าท้าทายที่น่าสนใจว่า ทำอย่างไรให้กลุ่มผ้าพื้นเมืองในจังหวัดลำปางที่กระจายตัวไปตาม 13 อำเภอมีความรู้สึกร่วมและคิดเหมือนกันกับการเข้ามาของผ้าสีย้อมครั่ง
“จริง ๆ ที่บ้านทุ่งฮีมีการเลี้ยงครั่งบนต้นฉำฉาและย้อมผ้าสีครั่งมานานแล้ว พอมีงานวิจัยของ ดร.ขวัญนภาเข้ามาหนุนเสริมได้ 2 ปีกว่าทำให้เรามีทิศทาง มีเป้าหมายชัดเจนขึ้น ชาวบ้านมีกำลังใจที่จะเลี้ยงครั่งบนต้นฉำฉาอย่างจริงจังมากขึ้น กลุ่มทอผ้าของแม่พรก็มีผลผลิตจากในบ้านเรารองรับ ทำให้ภูมิปัญญาครั่งที่บ้านทุ่งฮีเข้มแข็งตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ กลายเป็นองค์ความรู้ไปช่วยหนุนเสริมงานวิจัยและสามารถถ่ายทอดไปยังกลุ่มผ้าพื้นเมืองตามอำเภอต่าง ๆ ได้” แม่สมพรกล่าว
เมื่อตั้งต้นจากองค์ความรู้เรื่องการย้อมสีครั่ง แม่สมพรกับดร.ขวัญนภาจึงร่วมกันเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวและทำความเข้าใจกับกลุ่มผ้าพื้นเมืองในอำเภออื่น ๆ ว่าทำไมจังหวัดลำปางต้องมีผ้าย้อมครั่ง
“อาจารย์บอกตรง ๆ ใน 13 อำเภอไม่มีที่ไหนที่อาจารย์ไปแล้วเขาจะปิดประตูใส่เราเลย” ดร.ขวัญนภาพูดถึงผลตอบรับจากกลุ่มผ้าพื้นเมืองในจังหวัดลำปาง
ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจต่อผลตอบรับที่ได้มาเหมือนกันทุกอำเภอ เพราะจากการศึกษาและวิเคราะห์บริบททางประวัติศาสตร์เมืองลำปางพบว่า คนลำปางมีความเป็นท้องถิ่นนิยม (Localism) สูงพอสมควร หมายความว่าพวกเขาจะสนใจแต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ของตนเอง ไม่ได้อินกับทุกอย่างในจังหวัดลำปาง ผู้เขียนจึงได้ตั้งคำถามต่อ ดร.ขวัญนภาไปอีกว่า พวกเขาเปิดใจรับแนวคิดผ้าย้อมครั่งตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปพบปะกันได้อย่างไร
“เราไม่ได้ไปบอกว่าต้องทำตามที่เราถึงถูกที่สุด แต่ให้ค้นหาจุดเด่นของพื้นที่ว่ามีภูมิปัญญาเรื่องการย้อมผ้า ทอผ้า หรือปักลายผ้าอย่างไร ก็ให้เขาคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านั้นต่อไป เพียงแต่เรานำทางเลือกใหม่อย่างผ้าครั่งไปนำเสนอ รับฟังความต้องการของพื้นที่ แล้วต่างฝ่ายต่างมาแชร์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน พื้นที่ก็จะสามารถตอบเราได้ว่าผ้าครั่งลำปางจะตอบโจทย์ให้กับภูมิปัญญาที่เขามีอยู่แล้วได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรบ้าง” ดร.ขวัญนภาเล่ากระบวนการสร้างความเข้าใจ
ผลตอบรับดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การเข้ามาของผ้าครั่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภูมิปัญญาผ้าพื้นเมืองของแต่ละกลุ่มที่ทำกันอยู่แล้ว ในทางกลับกันยังมองว่าเป็นการเพิ่มสีสันและทางเลือกในการเลือกซื้อผ้าพื้นเมืองให้แก่ลูกค้า และช่วยกันสร้างภาพจำให้เป็นภาพเดียวกันว่า ผ้าครั่งคือจังหวัดลำปาง ไม่ใช่แค่เมืองลำปาง
ชลนัฐ มัชชะ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฮักทอบ้านสบลืน อำเภอวังเหนือ และ สุทธิพร บุตรปะสะ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำมอญแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน ได้ให้ความเห็นต่อผ้าสีย้อมครั่งไปในทางเดียวกันว่า ผ้าครั่งลำปางไม่ใช่แค่เรื่องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่จดจำง่าย แต่ยังหมายถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่แต่ละชุมชนจะได้รับและต้องคว้าเอาไว้ เพราะถ้าในอนาคตมีความต้องการซื้อผ้าครั่งจากจังหวัดลำปางที่สูงขึ้นนั่นก็หมายความว่า ชุมชนจะมีโอกาสทั้งอาชีพและรายได้ ถ้ามีการส่งเสริมครั่งตั้งแต่การเพาะเลี้ยง แปรรูป ไปจนถึงการจัดแสดงขายตามท้องตลาด
พลอย กาวิโล กลุ่มทอผ้าชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) บ้านโป่งน้ำร้อนที่อำเภอเสริมงาม ได้อธิบายภูมิปัญญาผ้าพื้นเมืองดั้งเดิมของตนว่า พี่น้องกะเหรี่ยงจะมีภูมิปัญญาการทอผ้าและย้อมสีจากธรรมชาติอยู่แล้ว สีครั่งจึงเข้ามาเพื่อเพิ่มเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของสีธรรมชาติที่มีอยู่และเสื้อย้อมสีครั่งที่สวมใส่ เวลาที่ออกไปพบปะคนข้างนอกก็สามารถบอกได้อย่างภาคภูมิใจว่าเสื้อทอกะเหรี่ยงสีครั่งคือพี่น้องกะเหรี่ยงจากจังหวัดลำปาง
เช่นเดียวกับ วนิดา สัตยานุรักษ์ พี่น้องไทลื้อตำบลกล้วยแพะในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ได้พูดถึงผลตอบรับหลังจบการแสดงขบวนฟ้อนหมู่ไทลื้อผ้าครั่งที่งานกิจกรรมหนึ่งว่า หลายคนที่มาชมการแสดงเข้ามาชื่นชมว่าผ้าครั่งสีสวยและสามารถหาซื้อได้ที่ไหน และถ้ามีงานแสดงครั้งต่อไปไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ตนจะพยายามเชิญชวนให้พี่น้องไทลื้อที่กล้วยแพะร่วมกันสวมใส่ผ้าสีครั่ง เพื่อจะได้ให้พี่น้องไทลื้อที่มาจากจังหวัดอื่นได้จดจำง่ายขึ้นว่า นี่คือไทลื้อจากลำปาง
ในขณะที่มีบางพื้นที่ในจังหวัดลำปางที่ยังไม่เคยมีกลุ่มผ้าพื้นเมืองอย่างอำเภอห้างฉัตร พิศอำไพ สมความคิด ผู้ใหญ่บ้านบ้านทุ่งบ่อแป้น อำเภอห้างฉัตร ได้กล่าวถึงผลตอบรับจากการร่วมกิจกรรม workshop ผ้าย้อมครั่งในอำเภอห้างฉัตรร่วมกับคณะทำงานของ ดร.ขวัญนภาว่า ตนมองเรื่องนี้ในฐานะผู้นำชุมชนที่ต้องดูแลลูกบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ การมีกิจกรรมย้อมสีครั่งจึงได้เข้ามาช่วยหนุนเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุที่ตนทำอยู่แล้ว ซึ่งสังคมผู้สูงอายุตามชุมชนกำลังเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของจังหวัดลำปางด้วยเป็นจังหวัดที่มีประชากรผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ตนจึงมองว่ากิจกรรมย้อมสีครั่งน่าจะช่วยให้ผู้สูงอายุในชุมชนลดความง่อมเหงาไปได้ระดับหนึ่ง เพราะเป็นกิจกรรมใหม่ที่ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกร่วมกัน ผู้สูงอายุก็จะมีความสุขจากการมีกิจกรรมที่ได้ลงมือทำและพูดคุยกับเพื่อนผู้สูงอายุด้วยกัน
ผู้เขียนสามารถสรุปข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการผ้าพื้นเมืองตามอำเภอต่าง ๆ ได้ว่า แม้ลำปางจะมีจุดเด่นเรื่องวัฒนธรรมหลากหลาย ซึ่งการเข้ามาของผ้าครั่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการผ้าพื้นเมืองได้มองเห็น “จุดร่วม” ในภาพจังหวัดลำปางทั้งด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เพราะการขับเคลื่อนจังหวัดลำปางในช่วงเวลาที่ผ่านมายังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำและขาดการเชื่อมโยงต่อกันและกัน ดังนั้น ผ้าครั่งจึงน่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถเชื่อมประสานอัตลักษณ์ผ้าพื้นเมืองจากอำเภอต่าง ๆ ให้มองเห็นและโฟกัสจุดหมายร่วมกัน
อนาคตลำปาง “ครั่ง” ให้ได้คลั่งไคล้อย่างทั่วถึงทุกคน
“ถ้าอยากให้ผ้าครั่งลำปางไปได้ไกล” ต้องมองในเชิงระบบเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และคงไม่มองเฉพาะพื้นที่แต่ต้องยกระดับแบรนด์ผ้าครั่งจากท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล Local to Global
ดร.ขวัญนภายังได้กล่าวถึงภาพอนาคตของลำปางเมืองหลวงแห่งครั่งต่อไปอีกว่า วันนี้เริ่มมีพลวัตทางสังคมเกิดขึ้นจากจุดเล็ก ๆ แล้วคือทุกภาคส่วนในจังหวัดลำปางให้ความสนใจรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมของการย้อมครั่งลำปางเริ่มรณรงค์ให้บุคลากรในสังกัดของตนสวมใส่ผ้าพื้นเมืองสีครั่งอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ของการทำงาน รวมไปถึงตามโอกาสหรืองานกิจกรรมสำคัญทางวัฒนธรรม แม้ว่าวันนี้ผ้าครั่งอาจเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปยังรับรู้ได้ไม่ทั่วถึง แต่การมีคนกลุ่มหนึ่งสวมใส่ผ้าครั่งให้ทุกคนได้เห็นแล้วอย่างน้อยที่สุดคือมีคนเข้ามาถามด้วยความสนใจ แสดงว่าอัตลักษณ์ใหม่ของลำปางกำลังทำงานตามกลไกสร้างการรับรู้ (Awareness) ต่อผู้คนและสังคมในเมืองหรือชุมชนแล้ว
“ถ้าภาครัฐทุกหน่วยงานหรือองค์กรส่งสัญญาณมาพร้อมกันว่าพร้อมที่จะขับเคลื่อนผ้าครั่งลำปางไปด้วยกัน อย่างแรกที่ต้องทำคือต้องให้ผ้าครั่งลำปางเป็นวาระแห่งจังหวัดเพื่อออกแบบการทำงานบูรณาการ เราก็จะไม่ได้เชื่อมโยงระหว่างกันแค่ในจังหวัด แต่ยังหมายถึงการได้ออกไปจับมือกับองค์กรพันธมิตรที่ใหญ่กว่าระดับจังหวัดทั้งในและต่างประเทศ”
“ถ้าในอนาคตเกิดความร่วมมือระหว่างจังหวัดลำปางกับองค์กรระดับประเทศ เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, TCDC หรือแม้กระทั่ง OKMD สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ้าครั่งลำปางจะไม่ได้หมายถึงแค่สินค้า แต่ยังหมายถึงการสร้างเมืองสร้างสรรค์ที่จะมีทั้งตลาดผ้าครั่งตามย่านใจกลางเมือง เช่น สบตุ๋ย กาดกองต้า มีศูนย์การเรียนรู้และออกแบบแฟชั่นผ้าครั่ง มีพื้นที่สาธารณะให้กลุ่มอาชีพสร้างสรรค์ได้แสดงผลงานทางศิลปะ ซึ่งภาพอนาคตที่อาจารย์อยากจะเห็นต่อจากนี้ไม่ได้เป็นงานใหญ่แค่เฉพาะสถานที่ใดที่หนึ่ง แต่เป็นภาพที่มีความฝันทุกอย่างกระจายตัวทั่วทุกพื้นที่ในจังหวัดลำปาง ซึ่งถ้าใครเคยไปเที่ยวงาน Bangkok Design Week หรือ Thailand Biennale ที่เชียงรายก็จะเป็นประมาณนั้นเลย”
ดร.ขวัญนภากล่าวทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่า “แต่ถ้าคุณคาดหวังให้ผ้าครั่งลำปางเกิดแล้ว Big Impact ต่อจังหวัดลำปางได้จริง จะต้องทำออกมาในรูปแบบที่เป็น Big Project ที่สามารถพัฒนาได้ครอบคลุมทุกมิติ ความต่อเนื่องในการสนับสนุนจากรัฐคือส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ภาพอนาคตของผ้าครั่งอย่างที่อาจารย์เล่าไปได้มีโอกาสเป็นจริงมากขึ้น”
ผู้เขียนในฐานะผู้พยายามขับเคลื่อนประเด็นกลุ่มอาชีพงานสร้างสรรค์ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ได้มองเห็นโอกาสจากผ้าครั่ง อัตลักษณ์ใหม่แห่งลำปางเช่นเดียวกับหลายคนที่อาจคิดเหมือนกันว่า ทำแล้วต้องไม่ใช่แค่งานวิจัยทำแล้วจบ หรือทำแล้วต้องไม่ใช่แค่เกิดการส่งเสริมอาชีพเพาะเลี้ยงครั่ง ย้อมผ้าสีครั่ง หรือรวมกลุ่มทอผ้าครั่งแล้วจบ แต่ต้องสามารถขยายผลไปยังอาชีพอื่นให้อยู่รอดได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ยังถูกมองว่าเป็นคนนอกระบบอย่างงานสร้างสรรค์ให้มีงานรองรับ เพื่อเพิ่มกำลังสร้างสรรค์เมืองจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสมองไหลในเมืองเล็ก และเพื่อจะได้ออกไปตอบคำถามอย่างไม่ต้องเขินอายว่า “ลำปางจะหมุนตามกาลเวลากี่โมง”
อ้างอิง
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าว LANNER News Media โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)