เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ถอนอุทยานฯออบหลวงสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด 532 ล้านบาท

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

จากกรณีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น กรณีเพิกถอนอุทยานแห่งชาติออบหลวง (บางส่วน) เพื่อก่อสร้าง โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยการเปิดรับความคิดเห็นในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากที่ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การเสนอ ร่างพ.ร.บ.กฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง (บางส่วน) ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ในมาตราที่ 8 วรรคสาม โดยความเห็นบนโลกออนไลน์แยกเป็นสองฝั่งชัดเจนคือ เห็นด้วยให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำเพราะจะได้มีพื้นที่ในการจัดเก็บแหล่งน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งรวมไปถึงป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน และความเห็นที่บอกว่าไม่เห็นด้วยในการสร้างอ่างเก็บน้ำเนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ วัฒนธรรมท้องถิ่นและพื้นที่ป่า

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด เนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ นั้นสืบเนื่องจากวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2530 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับแหล่งน้ำในเขตอำเภอฮอด โดยให้กรมชลประทานดำเนินการสร้างโครงการฝายทดน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องตะกอนหน้าฝายทำให้เก็บกักน้ำได้น้อยประกอบกับตัวฝ่ายชำรุด ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบปัญหาความแห้งแล้ง ที่บ้านตีนตก หมู่ที่ 8 ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำใช้เพื่อการเกษตร จนเป็นที่มาในการเพิกถอนอุทยานฯออบหลวงบางส่วนเพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอดอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเชียงใหม่

เปิด EIA ผลกระทบ พื้นที่-พรรณไม้-สัตว์ป่า 

ข้อมูลจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โดย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ในการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ นั้นมีพื้นที่รวมกว่า 253 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่หัวงานและอาคารประกอบ 43 ไร่ และพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 207 ไร่ และพื้นที่ถนนเข้าพื้นที่หัวงาน 3 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพนิเวศป่าไม้เป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ และมีงบประมาณในการดำเนินโครงการที่รวมทั้งค่าก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 532 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 4 ปี

โดยบัญชีรายชื่อชนิดไม้ (Species list) ที่สำรวจพบในพื้นที่ป่าเต็งรัง เช่น กระดูกกบ กระทุ่มเนิน กระพี้เขาควาย กระพี้จัน กางขี้มอด ขี้อ้าย คำรอก แคหางค่าง ชิงชัน แดง เต็ง มะค่าโมง รกฟ้า รัง สาธร ส้านใหญ่ ผักหวานป่า มะกล่ำตาไก่ เป็นต้น และบัญชีรายชื่อชนิดไม้ (Species list) ที่สำรวจพบในพื้นที่ป่าเบญจพรรณ เช่น กระเจียน กระโดน กระพี้จั่น กางขี้มอด ขี้อ้าย คำรอก งิ้ว ช้อ ตะคร้อ ตะเคียนหนู ตะแบกเลือด ตีนนก ประดู่ ปอขาว ปีป มะกอกป่า มะเกลือ มะขามป้อม มะหาด ยมหิน ยอเถื่อน สะเดา หมีเหม็น หว้า มะขาม เป็นต้น

นอกจากนี้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นฯ พบสัตว์ป่าทั้งหมด 106 ชนิด โดยแบ่งเป็น นก (69 ชนิด) เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด รองลงมาคือ สัตว์เลื้อยคลาน (16 ชนิด) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (11 ชนิด) และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (10 ชนิด) สัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่มีขนาดตัวเล็ก เนื่องจากพื้นที่สองฝั่งลำน้ำที่เป็นภูเขามีความลาดชันค่อนข้างมาก จึงไม่เหมาะสมในการอาศัยของสัตว์ป่าโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ 

สัตว์ป่าที่แพร่กระจายอยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำได้รับผลกระทบจากการถูกรบกวนการดำรงชีวิตจากกิจกรรมมนุษย์จากการเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางสัญจรเพื่อเข้าไปเก็บหาของป่า (หาสาหร่าย และนำวัวเข้ามาเลี้ยงแบบปล่อย) ทำให้ความหลากชนิดของสัตว์ป่าที่พบจึงเป็นประเภทอาศัยและหากินได้ตีในพื้นที่หลากหลายประเภทและมี กิจกรรมมนุษย์เข้ามารบกวน ได้แก่ คางคกบ้าน อึ่งลายเลอะ อึ่งน้ำเต้า กบหนอง กิ้งก่าริ้ว แย้เหนือ จิ้งแหลนหลากลาย จิ้งแหลนบ้าน งูเขียวพระอินทร์ นกเขาใหญ่ นกบั้งรอกใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกกะรางหัวขวาน นกขมิ้นน้อยธรรมดา นกแซงแชวหางบ่วงใหญ่ นกปรอดเหลืองหัวจุก นกปรอกสวน กระแตเหนือ หนูท้องขาว เม่นใหญ่ กระจ้อน เป็นต้น 

ส่วนสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่รับประโยซน์ พบสัตว์ป่าประเภทค่อนข้างคุ้นเคยหรือทนทานต่อการ ถูกรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์ ในพื้นที่ปลูกพืชเกษตร แต่เนื่องจากมีกิจกรรมของมนุษย์ค่อนข้างมาก สัตว์ป่ากลุ่มนี้จึงพบได้น้อย สัตว์ป่าที่สำรวจพบ ได้แก่ คางคกบ้าน อึ่งอ่างบ้าน อึ่งลายเลอะ อึ่งน้ำเต้า อึ่งข้างดำ กบหนอง กบนา เขียดจะนา จิ้งจกหางหนาม จิ้งจกหางแบนเล็ก ตุ๊กแกบ้าน เหี้ย งูเห่าหม้อ งูสิงบ้าน เป็ดแดง นกปากห่าง นกยางควาย เหยี่ยวนกเขาหงอน นกกวัก กระแตเหนื่อ หนูนาเล็ก เป็นต้น สำหรับสถานภาพสัตว์ ป่าที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายพบว่า ส่วนใหญ่เป็นนก จำนวน 65 ชนิด ได้แก่ เป็ดแดง เหยี่ยวปีกแดง นกกวัก นกกระปูดใหญ่ นกเค้าแคระ นกตะขาบทุ่ง นกกะรางหัวขวาน นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง นกอีเสือสีน้ำตาล นกแซงแชวหางบ่วงใหญ่ นกปรอดหัวโขน นกกะรางสร้อยคอเล็ก นกกินปลีอกเหลือง นกกระติ๊ดตะโพกขาว เป็นต้น 

และส่วนสัตว์ป่าคุ้มครอง อีก 6 ชนิด สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 3 ชนิด ประกอบด้วย กิ้งกำรั่ว เหี้ย และงูสิงบ้าน และ 2.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 3 ชนิด คือ กระต่ายป่า เม่นใหญ่ และหมาจิ้งจอก ส่วนสถานภาพเพื่อการอนุรักษ์ พบ เหยี่ยวปีกแดง นกปรอดหัวโขน เม่นใหญ่ สุนัขจิ้งจอก นกยูง และมีสัตว์ป่า ชนิดที่ IUCN (2018-2) กำหนดให้มีสถานภาพเพื่อการอนุรักษ์เป็นสัตว์ป่าถูกคุกคามในระดับใกสัสูญพันธุ์ คือ นกยูง

ข้อมูลจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ยังเผยอีกว่ามีสิ่งมีชีวิตในลำน้ำแม่ฮอด พบว่าปริมาณแพลงก์ตอนในลำน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง ส่วนสัตว์หน้าดินที่พบมีความหลากหลายชนิด ระดับปานกลาง สำหรับปลาที่พบแต่ละสถานีอยู่ระหว่าง 1 -8 ชนิด มีความหลากหลายชนิดระดับปานกลาง พันธุ์ไม้ที่พบเป็นไม้ ชายน้ำ ได้แก่ ผักเป็ด บอน กระเม็ง กุ่มน้ำ ผักปราบใบแคบ ผักปราบช้าง กกขนาก กกทราย หญ้าตะกรับ หญ้าหนวดปลาดุก ไคร้น้ำ เป็นต้น

โดยพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำของโครงการในเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวง มีสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหมดเป็นพื้นที่ป่าไม้ ส่วนพื้นที่รับประโยชน์มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ เกษตรกรรม (ร้อยละ 51.64)

สามารถอ่าน EIA ข้อมูลจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โดย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ที่นี่

ที่ปรึกษา กมธ.ที่ดินทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หวั่นผลกระทบต่อการใช้ระบบนิเวศน์ของคนรุ่นต่อไป

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้เล่าย้อนไปถึงในปี 2557 หลังการรัฐประหารโดย คสช. ที่รัฐบาล รวมไปถึงหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านป่าไม้ที่ดินระลอกใหญ่ครั้งหนึ่งของประเทศไทย ที่มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ อาทิ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ร.บ.ทางทะเลและชายฝั่ง รวมไปถึงการเกิดขึ้นมาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่มีการดำเนินนโยบายที่ไล่รื้อชุมชนในพื้นที่ป่าอุทยานฯเป็นจำนวนมาก อาทิ นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่มีการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่อ้างว่าการทวงคืนผืนป่า มีการไล่ แย่ง ยึด ที่ดินของชุมชนจำนวนมาก

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร

“แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าหลังจากการประกาศใช้นโยบายเหล่านั้น มันสร้างผลกระทบกับคนในพื้นที่ยังไง มีการได้ป่าคืนจากนโยบายทวงคืนผืนป่าเท่าไหร่ ก็ไม่ชัดเจน” 

ธนากร พูดถึงกระแสวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่พูดถึงเรื่องโลกร้อนและ PM2.5 ที่ส่งผลต่อทิศทางในการประกาศใช้นโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ในประเทศไทยโดยตรง โดยยกตัวอย่างคนที่อยู่ในพื้นที่ป่ามักเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ถูกตราว่าเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ ฝุ่นควันและการเผา นอกจากนี้กระแสวิกฤตสิ่งแวดล้อมส่งผลให้รัฐสมัยใหม่มักอ้างปัญหาของภัยแล้งหรือความต้องการแหล่งน้ำ ของกลุ่มเกษตรกรที่ต้องใช้ที่ดินและน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงนโยบายที่เกี่ยวกับป่านั้นก็คือการจัดการน้ำ 

“การเปลี่ยนแปลงใน 10 ปีที่ผ่านมามันเกิดสภาวะที่ทิศทางป่าและการจัดการน้ำ กับมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางสิ่งแวดล้อมจะไปทิศทางไหนกันแน่”

ธนากร ได้พูดถึงสถานการณ์พื้นที่ป่าในจังหวัดเชียงใหม่ ที่รัฐบาลมีความต้องการและพยายามในการประกาศพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมซึ่งมีข้อพิพาทกับชุมชนเดิมมาก่อน แต่ในขณะเดียวพื้นที่อย่างพื้นที่อุทยานฯออบหลวง-ออบขานก็มีพื้นที่ในการจัดการน้ำเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น โครงการพันน้ำยวม แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับพบว่าคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อยู่ในป่าในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน หรือสาธารณูปโภค กลับหยุดนิ่งไม่มีการพัฒนา ซึ่งแสดงถึงความย้อนแย้งบางอย่างของภาครัฐ ซึ่งเกิดเป็นคำถามว่าภาครัฐมีเกณฑ์พิจารณาในการใช้พื้นที่ป่า ว่าประเมินเรื่องระบบนิเวศหรือเป้าหมายจริง ๆ ของพื้นที่เหล่านั้นด้วยมาตรวัดอะไรกันแน่?

ข้อมูลจาก EIA ในการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด พบว่าเป็นการสร้างแหล่งน้ำเพื่อตอบสนองพื้นที่ทางการเกษตร คำถามคือกระบวนการออกแบบ การตัดสินใจ นั้นมีออกแบบไว้กี่ตัวเลือกหรือมีแนวทางอื่นอีกไหมในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำในการเกษตร

“จู่ ๆ มีความต้องการจะสร้าง รวมไปถึงกระบวนการทำ EIA โดยกรมชลประทาน ยิ่งจะเป็นคำถามต่อคนทั่วไปว่ามันจะครอบคลุมหรือสอดคล้องกับความเป็นจริงของผลกระทบในพื้นที่ขนาดไหน?”

ธนากร ได้ย้ำถึงเรื่องกระบวนการตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ อย่างน้ำแม่ฮอด ที่เป็นแม่น้ำที่สำคัญที่เกี่ยวพันกับแหล่งน้ำในจุดอื่น ๆ จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าแค่ 253 ไร่ มันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์โดยรอบอีกด้วย ซึ่งไม่ถูกประเมินในรายงาน EIA 

“การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์แบบนี้มันเดิมพันอนาคตของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าและผลกระทบของการใช้ระบบนิเวศน์ของคนรุ่นต่อไปด้วย”

แน่นอนว่าระเบียบในการกำหนดพื้นที่ในการขยายอุทยานแห่งชาติหรือเพิกถอน บางส่วนนั้นจะต้องกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการส่วนร่วมขิงผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ ในฐานะประชาชนหากต้องการแสดงความเห็นว่า เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย ก็สามารถ กดเข้าที่ลิ้งค์นี้ เพื่อแสดงความคิดเห็น https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37239&fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR0NmR5WyGWV0oghb32NImRp1GNiPXSlypmNsFeifPyisbX4VZFMsGX4LMo_aem_ASfyHHsR4t-Fb4H0a6_atin5uWZWde_K0frhLwxlhpgkuqwRVaBbPWJ2xZm9wDhOaFjdJgPe_YMsuiDnoNMXpHqo

ข่าวที่เกี่ยวข้อง