ในภาคเหนือมีคำว่า “แม่” ในชื่อจังหวัด ตำบล และอำเภอกว่า 159 ชื่อ ว่าด้วยภูมินามวิทยากับคำว่า ‘แม่’ ในภาคเหนือ

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง

12 สิงหาคม เนื่องในโอกาสที่วันแม่แห่งชาติของไทยเวียนวนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง หากกล่าวถึงคำว่า ‘แม่’ ซึ่งเป็นคำที่คุ้นเคยในทุกสังคม หลายคนอาจนึกถึงคำที่ลูกใช้เรียกแม่ผู้บังเกิดเกล้า ทว่าหากลองมองลึกลงไปจะพบว่า คำว่า ‘แม่’ นั้นไม่เพียงแต่เป็นคำเรียกระหว่างแม่กับลูกและคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งซับซ้อน ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและธรรมชาติของเราอย่างแยกไม่ออก กล่าวคือ  คำว่า ‘แม่’ นอกจากจะหมายถึง ‘แม่ผู้ให้กำเนิด’ แล้วนั้น ยังถูกนำไปใช้ในบริบทอันหลากหลายเพื่อสื่อถึง ‘สิ่งที่มีคุณสมบัติคล้ายแม่’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นหรือรากฐานของสิ่งต่าง ๆ อาทิ แม่ซื้อ เทวดาคุ้มครองเด็กแรกเกิดหรือเป็นเทวดาประจำตัวทารก พระแม่ธรณี เทพีแห่งพื้นแผ่นดินผู้อุ้มชูหล่อเลี้ยงมนุษย์และสรรพสัตว์ แผงวงจรแม่ สิ่งที่ควบคุมและเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน มาตุภูมิ ภาษาแม่ หรือแม้กระทั่ง แม่น้ำ ซึ่งมีความหมายถึง ลำน้ำขนาดใหญ่อันเป็นจุดศูนย์รวมของชีวิตผู้คนด้วยเช่นกัน

ภาพ: วรวิทย์ ศุภวิมุติ จากบทความ ภูมินามวิทยา (Toponymy): มองภูมินามผ่านชื่อตำบลในประเทศไทย

คำว่า ‘แม่’ นอกจากจะเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่ให้กำเนิด และการใช้เรียกสรรพสิ่งที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงแล้วนั้น ยังแพร่หลายไปสู่การตั้งชื่อสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีการใช้คำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบลจำนวน 1 จังหวัด 23 อำเภอ 135 ตำบล เมื่อแยกตามภูมิภาคย่อย พบว่า ภาคเหนือตอนบนมีการใช้คำว่า ‘แม่’ ในการตั้งชื่อมากกว่า โดยมีถึง 19 อำเภอ และ 109 ตำบล ขณะที่ภาคเหนือตอนล่างมีจำนวนน้อยกว่า คือ 4 อำเภอ และ 26 ตำบล ดังนี้

จังหวัดเชียงราย มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 5 อำเภอ 20 ตำบล โดย 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่ลาว แม่สรวย แม่สาย และ 20 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่กรณ์ แม่ข้าวต้ม แม่คำ แม่เงิน แม่จัน แม่เจดีย์ แม่เจดีย์ใหม่ แม่ต๋ำ แม่เปา แม่พริก แม่ฟ้าหลวง แม่ยาว แม่เย็น แม่ไร่ แม่ลอย แม่สรวย แม่สลองนอก แม่สลองใน แม่สาย และแม่อ้อ

จังหวัดเชียงใหม่ มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 6 อำเภอ 31 ตำบล โดย 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม แม่แตง แม่ริม แม่วาง แม่ออน แม่อาย และ 31 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่ก๊า แม่ข่า แม่คะ แม่คือ แม่งอน แม่แดด แม่ตื่น แม่แตง แม่ทะลบ แม่ทา แม่นะ แม่นาจร แม่นาวาง แม่ปั๋ง แม่ปูคา แม่โป่ง แม่แฝก แม่แฝกใหม่ แม่แรม แม่วิน แม่แวน แม่ศึก แม่สอย แม่สา แม่สาบ แม่สาว แม่สูน แม่หอพระ แม่เหียะ แม่อาย และแม่ฮ้อยเงิน

จังหวัดน่าน มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 1 อำเภอ 4 ตำบล โดย 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่จริม และ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่ขะนิง แม่จริม แม่สา และแม่สาคร

จังหวัดพะเยา มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 1 อำเภอ 9 ตำบล โดย 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ใจ และ 9 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่กา แม่ใจ แม่ต๋ำ แม่นาเรือ แม่ปืม แม่ลาว แม่สุก แม่ใส และแม่อิง

จังหวัดแพร่ มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 0 อำเภอ 13 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่เกิ๋ง แม่คำมี (อำเภอเมืองแพร่) แม่คำมี (อำเภอหนองม่วงไข่) แม่จั๊วะ แม่ทราย แม่ป้าก แม่ปาน แม่พุง แม่ยม แม่ยางตาล แม่ยางร้อง แม่ยางฮ่อ และแม่หล่าย

จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่อจังหวัดอำเภอและตำบล จำนวน 2 อำเภอ 17 ตำบล โดย 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ลาน้อย แม่สะเรียง และ 17 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่กิ๊ แม่คง แม่คะตวน แม่เงา แม่โถ แม่นาจาง แม่นาเติง แม่ยวม แม่ยวมน้อย แม่ลาน้อย แม่ลาหลวง แม่สวด แม่สะเรียง แม่สามแลบ แม่เหาะ แม่อูคอ และแม่ฮี้

จังหวัดลำปาง มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 3 อำเภอ 12 ตำบล โดย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ทะ แม่พริก แม่เมาะ และ 12 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่กัวะ แม่ตีบ แม่ถอด แม่ทะ แม่ปะ แม่ปุ แม่พริก แม่มอก แม่เมาะ แม่วะ แม่สัน และแม่สุก

จังหวัดลำพูน มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 1 อำเภอ 3 ตำบล โดย 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ทา และ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่ตืน แม่แรง และแม่ลาน

จังหวัดกำแพงเพชร มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 0 อำเภอ 1 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่ลาด

จังหวัดตาก มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 2 อำเภอ 18 ตำบล โดย 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ระมาด แม่สอด และ 18 ตำบล ได้แก่ แม่กลอง แม่กาษา แม่กุ แม่จะเรา แม่จัน แม่ต้าน แม่ตาว แม่ตื่น แม่ท้อ แม่ปะ แม่ระมาด แม่ละมุ้ง แม่วะหลวง แม่สลิด แม่สอง แม่สอด แม่หละ และแม่อุสุ

จังหวัดนครสวรรค์ มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 2 อำเภอ 3 ตำบล โดย 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่เปิน แม่วงก์ และ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่เปิน แม่เล่ย์ และแม่วงก์

จังหวัดพิษณุโลก มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 0 อำเภอ 1 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่ระกา

จังหวัดสุโขทัย มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 0 อำเภอ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่สำ และแม่สิน

จังหวัดอุตรดิตถ์ มีคำว่า ‘แม่’ ในชื่ออำเภอและตำบล จำนวน 0 อำเภอ 1 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่พูล

ทั้งนี้จังหวัดที่ไม่มีคำว่า ‘แม่’ ปรากฏอยู่ในชื่ออำเภอและตำบลเลย (0 อำเภอ 0 ตำบล) มีจำนวนทั้งสิ้น 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดอุทัยธานี

คำว่า ‘แม่’ เกี่ยวข้องอะไรกับพื้นที่ในภาคเหนือ ทำไมภาคเหนือจึงนิยมตั้งชื่อพื้นที่ด้วยคำว่า ‘แม่’?

ภาพภูมินาม (Toponyms) ชื่อหมู่บ้าน ในประเทศไทย “แม่”  มิตรเอิร์ธ – mitrearth

‘ห้วย หนอง คลอง บึง เนิน โนน โพน โคก ฯลฯ’ หากสังเกตจะเห็นได้ว่าคำเหล่านี้มักปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของชื่อสถานที่ในประเทศไทยทั้งอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หรือพื้นที่อื่น ๆ ทำไมชื่อสถานที่จึงมีคำเหล่านี้ประกอบอยู่เสมอ? การเลือกใช้คำดังกล่าวในการตั้งชื่อพื้นที่หรือสถานที่ต่าง ๆ อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดเรื่อง ‘ภูมินาม’ (Place Name/Geographical Name) อันเป็นระบบวิธีคิดทางวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความหมายสัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่อาศัย วัฒนธรรม และความเชื่อ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วรรณกรรม เรื่องเล่า นิทานปรัมปรา ซึ่งสะท้อนถึงความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิศาสตร์จักรวาลของพื้นที่ อีกทั้งยังหมายรวมถึง การนิยามตั้งชื่อสรรพสิ่ง เช่น ชื่อหมู่บ้าน เมือง วัดวาอาราม ป่าเขาลำเนาไพร แม่น้ำลำห้วย และชื่อสถานที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นระบบ ‘อัตลักษณ์’ ของพื้นที่

เช่นเดียวกันกับคำว่า ‘แม่’ ซึ่งนับเป็นคำศัพท์ร่วมกันของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อุษาคเนย์) ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ โดยมีการใช้ในหลายวัฒนธรรมและภาษา แต่ละพื้นที่ก็ออกเสียงแตกต่างกันไป อาทิ ภาษาเขมรออกเสียงว่า ‘เม’ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ความหมายดั้งเดิมของคำว่า ‘แม่’ นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเพศหญิงเท่านั้น แต่ยังมีความหมายถึงผู้เป็นใหญ่หรือผู้นำอีกด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความเคารพและยกย่องที่มนุษย์มีต่อผู้ให้กำเนิดและผู้ปกครอง กลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไทย-ลาว ได้นำความหมายอันสูงส่งของคำว่า ‘แม่’ มาใช้เรียกลำน้ำสายใหญ่ โดยภาคกลางและภาคใต้ของไทยเรียกว่า ‘แม่น้ำ’ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า ‘น้ำแม่’ อาทิ น้ำแม่ปิง น้ำแม่อิง น้ำแม่โขง เป็นต้น ซึ่งบ่งบอกถึงความสำคัญและความอุดมสมบูรณ์ที่ลำน้ำเหล่านี้มอบให้แก่ชุมชน

ตัวอย่างภาพภูมิประเทศแหล่งน้ำผิวดินจังหวัดเชียงใหม่ มิตรเอิร์ธ – mitrearth

ทั้งนี้ เมื่อศึกษาการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของชื่ออำเภอ ตำบล รวมถึงหมู่บ้านที่มีคำว่า ‘แม่’ พบว่าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน ซึ่งเชื่อมโยงกับลักษณะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำลำธารจำนวนมาก จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าการตั้งชื่อดังกล่าวอาจมีความเกี่ยวข้องกับลักษณะภูมิประเทศและแหล่งน้ำในพื้นที่ สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ (Chiang Mai City Heritage Centre) ที่ระบุว่า ชื่อของหลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่มีความเชื่อมโยงกับแม่น้ำ โดยหลายแห่งมักตั้งชื่อตามชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่าน เช่น อำเภอแม่ริม และแม่แตง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำต่อวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ชื่อ ‘แม่’ ยังมีความหมายอันลึกซึ้งในวัฒนธรรมภาคเหนือ ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ให้กำเนิดและเป็นที่เคารพอย่างสูงสุด ดังจะเห็นได้จากชื่ออำเภอแม่อายที่แม้จะไม่ได้ตั้งตามชื่อแม่น้ำ แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับตำนานของ ‘เจ้าแม่มะลิกา’ ที่ปากแหว่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ

ตัวอย่างภาพภูมิประเทศแหล่งน้ำผิวดินในจังหวัดน่าน มิตรเอิร์ธ – mitrearth

หรืออย่างผลการศึกษาจากการศึกษาภูมินามในจังหวัดน่าน ประเทศไทย ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (A GIS Study of Toponyms in Nan Province, Thailand) พบว่า ชื่อหมู่บ้านจำนวนมากมีความเกี่ยวข้องกับลักษณะภูมิประเทศ เช่น ระดับความสูง ความลาดเอียง หรือแหล่งน้ำใกล้เคียง โดยประมาณ 40% ของหมู่บ้านทั้งหมดในจังหวัดน่าน มีชื่อที่สื่อถึงลักษณะเหล่านี้ และน่าสนใจว่าหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำในระยะ 1 กิโลเมตร มักมีชื่อที่สัมพันธ์กับน้ำมากกว่า 80% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของน้ำต่อวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า คำว่า ‘แม่’ นั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งเกินกว่าจะเป็นเพียงคำเรียกเพศหญิง มันมีความหมายถึงผู้ให้กำเนิด ผู้ปกครอง และสิ่งที่เป็นที่เคารพนับถือ การนำคำนี้มาใช้เรียกลำน้ำสายใหญ่ในหลายพื้นที่ของไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำต่อวิถีชีวิตของผู้คน และความเชื่อที่ว่าแม่น้ำเปรียบเสมือนผู้ให้ชีวิต โดยจากการศึกษาการกระจายตัวของชื่อสถานที่ที่มีคำว่า ‘แม่’ ในภาคเหนือของไทย พบว่า มีความเชื่อมโยงกับลักษณะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำลำธารจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าชื่อหลายแห่งมีความเกี่ยวข้องกับตำนานและความเชื่อท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของผู้คนในพื้นที่ จึงอาจสรุปได้ว่า การศึกษาภูมินามช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของชุมชน และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ชื่อสถานที่แต่ละแห่งจึงไม่ใช่เพียงแค่คำเรียก แต่ยังเป็นเหมือนรหัสลับที่บอกเล่าเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้น ๆ อีกด้วย

อ้างอิง

ผกามาศ ไกรนรา

อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂

ข่าวที่เกี่ยวข้อง