“คงจะดีถ้าฟรีแลนซ์มีกฎหมายคุ้มครองบ้าง” จดหมายเปิดผนึกหนุนแรงงานสร้างสรรค์ ยันแรงงานไม่ใช่เครื่องมือผลิตสินค้า เหตุไม่ได้ค่าจ้างแถมโดนฟ้อง

เรื่อง: กองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา SYNC SPACE, สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) และเครือข่ายแรงงานสร้างสรรค์ ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก เรื่องการสนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้รับค่าจ้างและถูกฟ้องดำเนินคดีโดยนายจ้าง

จดหมายเปิดผนึก จากเครือข่ายแรงงานสร้างสรรค์ เรื่อง การสนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้รับค่าจ้างและถูกฟ้องดำเนินคดีโดยนายจ้าง

เรียน สาธารณชน ผู้สนับสนุนงานศิลปะวัฒนธรรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทุกท่าน

ในนามของ SYNC SPACE, สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) และองคาพยพ ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของแรงงานนักสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะ ค่าแรง สวัสดิการ และความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานในระหว่างการทำงาน รวมไปถึงกลุ่มเพื่อนในเครือข่ายนักสร้างสรรค์ และผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ครีเอทีฟสเปซในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และต้องการการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

เรามีความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีของกลุ่มนักสร้างสรรค์ ที่ได้รับจัดทำนิทรรศการที่มีเนื้อหาจากภาพยนตร์ชื่อดังบนพื้นที่ครีเอทีฟสเปซแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งยังไม่ได้รับค่าจ้างจากการทำนิทรรศการดังกล่าว แม้ว่านิทรรศการนี้จะถูกเปิดสู่สาธารณะชนมามากกว่า 1 เดือนแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน

เราขอยืนยันในหลักการพื้นฐานของความยุติธรรม และสิทธิแรงงาน ดังนี้ 

1. การจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม ผลงานสร้างสรรค์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่า ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้แก่นายจ้างหรือผู้ว่าจ้างเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความทุ่มเทของแรงงานสร้างสรรค์ที่ควรได้รับการตอบแทนอย่างสมเหตุสมผล และตรงเวลา การค้างค่าจ้างหรือการเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบในส่วนนี้เป็นการกระทำที่ไม่สมควร 

2. การใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม การใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้ง หรือกดดันแรงงานสร้างสรรค์ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการริดรอนเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งขัดต่อหลักการจริยธรรมในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นประชาธิปไตย

3. การส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หากผู้ว่าจ้างยังคงละเมิดสิทธิแรงงาน และยังไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตการทำงานของแรงงานอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของแรงงานและทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ทางเครือข่ายแรงงานสร้างสรรค์ ได้มีข้อเสนอดังนี้

1.ขอให้นายจ้างที่เกี่ยวข้องจ่ายค่าตอบแทนที่ค้างชำระโดยเร็วที่สุด และยุติการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน

2.เชิญชวนองค์กรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และประชาชนที่สนับสนุนงานศิลปะร่วมลงชื่อสนับสนุนกลุ่มแรงงานในกรณีนี้ เพื่อแสดงพลังสังคมในการเรียกร้องความยุติธรรม และร่วมกันไม่สนับสนุนนายจ้างที่กระทำการละเมิดสิทธิแรงงานเพื่อยกระดับวงการให้ดีขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่

เราขอยืนยันว่าแรงงานสร้างสรรค์ไม่ใช่เพียงเครื่องมือในการผลิตสินค้า แต่คือผู้สร้างคุณค่าและตัวตนของสังคมผ่านผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนวัฒนธรรม เราขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักด้นให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เป็นธรรม และยั่งยืนสำหรับทุกคน

“คงจะดีถ้าฟรีแลนซ์มีกฎหมายคุ้มครองบ้าง” คุยกับแรงงานสร้างสรรค์หลังไม่ได้รับค่าจ้าง-ถูกดำเนินคดี

จากจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว Lanner ได้ติดต่อพูดคุยกับ มณฑิรา คำสอน ตัวแทนจาก SYNC SPACE และ มาริสา (นามสมมุติ) ตัวแทนจากทีมงานผู้จัดทำนิทรรศการในประเด็นดังกล่าว มาริสาเผยว่าในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เธอและเพื่อนอีก 3 คนถูกว่าจ้างให้ออกแบบและจัดทำนิทรรศการซึ่งมีเนื้อหามาจากภาพยนตร์ชื่อดัง บนพื้นที่สถานประกอบการแห่งหนึ่งในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยระหว่างการทำงานทางทีมของมาริสาได้มีปัญหาในการทำงานกับทีมผู้ว่าจ้างอยู่หลายครั้ง ซึ่งเธอมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดรวมไปถึงวิธีการในการทำงานที่ต่างกัน ส่งผลให้การดำเนินงานไม่ราบรื่น อีกทั้งในช่วงการติดตั้งนิทรรศการเป็นช่วงที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้การเดินทางยากลำบากมากขึ้น อย่าง น้ำท่วม และดินสไลด์ ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมและระยะเวลาในการทำงานที่กระชั้นชิด ส่งผลให้การทำงานมีความลำบากมากขึ้น

แต่กระนั้นเอง มาริสา เล่าว่า เธอและทีมงานก็ได้ทำการส่งมอบนิทรรศการให้กับทางร้านทันตามกำหนดการโดยเธอได้ให้เงื่อนไขในการแก้ไขชิ้นงานให้ไวที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งหลังจากนั้นทางผู้ว่าจ้างก็ได้ให้แก้ไขชิ้นงาน ซึ่งเธอและทีมงานก็รีบแก้ไขงานไม่กี่วันหลังจากนั้น แต่เกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิคที่เกินความสามารถของทีม โดยทางทีมจึงได้ทำการขอโทษ ยอมรับในข้อผิดพลาด และเสนอให้มีการหักเปอร์เซ็นต์จากค่าจ้าง ซึ่งขณะนั้นทางร้านมีท่าทีบ่ายเบี่ยงค่าจ้างในส่วนที่ต้องชำระ โดยอ้างว่ารายละเอียดงานไม่เป็นไปตามตกลง แม้จะมีการส่งจดหมายทวงถามก็ไม่เป็นผล โดยทางร้านยังคงทำการเปิดนิทรรศการสู่สาธารณะ และโปรโมทนิทรรศการอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การส่งมอบครั้งแรก

กิจกรรมวันแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 

ในช่วงนั้นเองมีบุคคลที่รับรู้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ถึงปัญหาที่มาริสา และทีมงานพบเจอในระหว่างการทำงาน ซึ่งหนึ่งในทีมงานก็ได้เข้าไปแสดงความเห็นเพิ่มเติม ทำให้บุคคลทั้งสองถูกทางทีมผู้ว่าจ้างฟ้องร้องดำเนินคดีในภายหลัง พร้อมเรียกค่าเสียหายกว่า 5 แสนบาท พ่วงด้วยคดีทางอาญาอีก 1 คดี และปัจจุบันระยะเวลาล่วงเลยมาเกือบ 2 เดือน ทางทีมของมาริสา ก็ยังไม่ได้รับค่าแรงจากการทำงานดังกล่าวในส่วนที่เหลือ และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าทนายความเพื่อสู้คดีที่ถูกทางทีมผู้ว่าจ้างฟ้องร้องอีกด้วย

“อยากชวนทุกคนมาสร้างนิเวศการทำงานในวงการสร้างสรรค์ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ อยากให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างด้วยความเป็นมนุษย์ ไม่มองว่าเป็นแค่เครื่องจักรผลิตสินค้าตามสั่ง”

ด้าน มณฑิรา คำสอน ตัวแทนจาก SYNC SPACE  ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่ควรจะเกิดเรื่องแบบนี้กับแรงงานคนใดก็ตาม โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ หรือฟรีแลนซ์ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนทำงานที่ต้องแบกรับความเสี่ยงสูง และไม่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครอง การทำงานลักษณะดังกล่าวในทางกฎหมายจะถูกจัดอยู่ในลักษณะการจ้างทำของ หากเกิดเหตุการณ์ที่นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เช่นกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง สิ่งที่คุ้มครองแรงงานเหล่านี้มีเพียงสัญญาจ้างเท่านั้น ซึ่งถ้าหากสัญญาจ้างถูกเขียนอย่างไม่รัดกุมมากพอก็จะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ถูกแรงงานนอกระบบถูกเอาเปรียบได้ 

มณฑิรา เสริมอีกว่าการได้มาซึ่งความเป็นธรรมของลูกจ้างที่ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ก็จะอยู่ในลักษณะการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และแน่นอนว่าแรงงานเหล่านี้จะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการด้านคดี เช่น ค่าทนาย ค่าเอกสาร ค่าเดินทาง และอื่นๆ ต่างจากแรงงานในระบบที่สามารถร้องเรียนได้ที่กรมสวัสดิการ คุ้มครองแรงงาน และศาลแรงงาน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการดำเนินการ 

นอกจากนี้ มณธิรา ยังเสริมในเรื่องของการฟ้องร้องอีกรูปแบบที่มักจะเกิดขึ้นควบคู่ กับการละเมิดสิทธิลูกจ้างนั่น คือการ SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘คดีปิดปาก’ มีวัตถุประสงค์กลั่นแกล้ง หรือสร้างภาระให้กับลูกจ้างที่ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงาน หรือเปิดโปงความจริง โดยการฟ้องคดีไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย แต่เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ‘ปิดปาก’ ลูกจ้างที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ ให้หยุดพูด อย่างในกรณีข้างต้น เธอมองว่ากระบวนที่ผู้ว่าจ้างทำนั้นเข้าข่ายของการ SLAPP เพราะมีการเรียกค่าเสียหายที่นับว่าสูงมาก พ่วงด้วยคดีอาญาซึ่งมีโทษสูงสุด คือการติดคุก 

“คงจะดีถ้าแรงงานฟรีแลนซ์มีชุดกฎหมายคุ้มครอง หรือมีหน่วยงานรัฐที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมบ้าง”

ข้อเสนอต่อรัฐ-พรรคการเมืองจากแรงงานสร้างสรรค์

ปัจจุบันมีองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาในประเด็นสิทธิแรงงานนอกระบบอยู่หลายองค์กร อาทิ สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ แห่งประเทศไทย (CUT) และสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ซึ่งล้วนเป็นองค์กรอิสระ หรือภาคประชาสังคมทั้งสิ้น แต่หากมองในแง่ของความยั่งยืน และความต่อเนื่องก็อาจไม่เท่ากับหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งดูแลโดยรัฐ ที่มีทุน ทรัพยากรในการทำงานมาลงทุกปี

โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ ได้จัดกิจกรรม “CUT! ทุกปัญหา: เสียงจากแรงงานสร้างสรรค์ สู่นโยบายเพื่ออนาคต” เพื่อรวบรวมปัญหาและประสบการณ์ในการทำงานของ สมาชิกสหภาพฯ ในการรูปแบบข้อเสนอต่อนโยบายแก่พรรคการเมืองทั้งหมด 6 ข้อ (อ่านฉบับเต็ม) ดังนี้ 

1. 100 บาท ประกันสังคมถ้วนหน้า

ในปัจจุบัน ระบบประกันสังคมรายมาตรา 3 มาตรา (ม. 33 คนงานในระบบ, ม. 39 คนงานเคยอยู่ในระบบ, และ ม. 40 คนงานนอกระบบ) ให้สิทธิประโยชน์แตกต่างกันตามอัตราสมทบตามความเชื่อบรรษัทนิยม ดังนั้น CUT เสนอว่า มนุษย์ทุกคนในวัยทำงานที่ยื่นภาษีให้ได้รับการคุ้มครองโดยประกันสังคมถ้วนหน้านี้ โดยมีหลักการเหมือนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

2. ค่าแรง 1,000 บาท

จากการศึกษาศึกษาและสำรวจค่าครองชีพเพื่อยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า จากกลุ่มตัวอย่าง 1,225 คน โดยคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่ามีแรงงานร้อยละ 65 ที่ต้องทำงานถึง 41-48 ชม./สัปดาห์ มีการทำงานล่วงเวลา 10-19 ชม./สัปดาห์เป็นร้อยละ 49.7 และร้อยละ 36.3 ยังมีเวลานอนหลับพักผ่อนเพียง 6 ชั่วโมง ซึ่งการทำงานที่มากไปอาจกระทบต่อปัญหาสุขภาพ

เพื่อแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทางสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ (CUT) ขอเสนอนโยบายค่าแรง 1,000 บาทให้กับแรงงานในประเทศไทย

3. สร้างพื้นที่ สร้างโอกาสเข้าถึง ความสร้างสรรค์

ในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่างานสร้างสรรค์มักถูกมองเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและรายได้ต่ำ ทางแรงงานสร้างสรรค์มองเห็นความจำเป็นถึงการที่กระตุ้นโอกาสการเข้าถึงงานสร้างสรรค์ให้มากขึ้น และเสนอนโยบายที่มอบเงินอุดหนุนรายเดือนจำนวน “2,000 บาท” ให้กับแรงงานสร้างสรรค์ หรือเลือกรับครั้งเดียวเป็นเงินตั้งตัวตอนเรียนจบ “120,000 บาท” รวมถึงการสร้างพื้นที่งานสร้างสรรค์ทุกตำบล

4. รถไฟทุกอำเภอ รถเมล์ทุกตำบล

สร้างระบบขนส่งสาธารณะ สร้างรถไฟ “ทุกอำเภอ” รถเมล์ “ทุกตำบล” ท้องถิ่น บริหารระบบขนส่งสาธารณะ ราง ถนน ด้วยตัวเอง

5. สร้างอำนาจคนงาน ด้วยสหภาพแรงงาน

เพื่อให้แรงงานสร้างสรรค์ทุกคนได้รับสิทธิและการคุ้มครองสิทธิดังกล่าว ทางสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ขอเสนอนโยบาย เปลี่ยน “พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์” เป็น “พ.ร.บ. สหภาพแรงงาน” ให้การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเป็นสิทธิ คนงานทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน รวมถึงคนงานข้ามชาติมีสิทธิจัดตั้งและเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ กรรมการและอนุกรรมการสหภาพแรงงานได้รับการคุ้มครอง

6. ทำงาน 4 วัน หรือ 32 ชั่วโมง/สัปดาห์

เปลี่ยนเวลาการทำงานปกติจาก “6 วัน หรือ 48 ชั่วโมง/สัปดาห์” มาเป็นทำงาน “4 วันหรือ 32 ชั่วโมง/สัปดาห์” โดยที่รายได้เท่าเดิมหรือมากขึ้น

หากดูเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่เหล่าแรงงานนอกระบบต้องเผชิญกับปัญหาที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงสิทธิของเหล่าแรงงานนอกระบบในประเทศไทยที่ยังไม่ครอบคลุม การตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการรวมกลุ่มในฐานะแรงงานสร้างสรรค์ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองในการเรียกร้องและผลักดันในด้านกฎหมาย และค่าแรงที่เป็นธรรมก็เป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่ควรจะได้รับการผลักดันจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสังคมของการทำงานให้เป็นสังคมที่ปลอดภัย และเป็นธรรมกับทุกคน 

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง