รายงานจาก สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JUST ECONOMY AND LABOOR INSTITUTE) เรื่องราวคดีความของ ดร.เค็ง กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยทางจิต ทำให้เห็นถึงอีกแง่มุมของปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทย
เมื่อเดือนธันวาคมปี 2023 รายการข่าวชื่อดังหลายรายการในประเทศไทยได้ออกอากาศการสัมภาษณ์ “ดร.เค็ง” เกี่ยวกับคดีความของเธอกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเมื่อเผยแพร่ออกไปก็ได้รับความสนใจอย่างมากในโลกออนไลน์ ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ดร.เค็ง ได้กล่าวถึงแหล่งช่วยเหลือสนับสนุนของเธอในช่วงระยะเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหานานัปการ หนึ่งในนั้นก็คือสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
คดีความของ ดร.เค็ง นั้นถือเป็นเรื่องราวโดยตรงเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งในประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่าเพิ่งจะเป็นที่ยอมรับ และสามารถพูดคุยกันอย่างแพร่หลายเปิดเผยในระยะเวลาไม่นาน ทั้งยังเป็นกรณีตัวอย่างของการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยทางจิต ดร.เค็ง เล่าว่าปัญหาของเธอนั้นเริ่มต้นมาจากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมโดยนายจ้าง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสุขภาพจิตและวิถีชีวิตของเธอมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี
ในปี 2008 ดร.เค็ง-ประภากร วินัยสถาพร ได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในระหว่างที่เธอศึกษาอยู่นั้น ได้เริ่มมีอาการของปัญหาสุขภาพจิตจนต้องเข้าพบกับนักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย อาการของเธอแย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชเป็นเวลากว่า 28 วัน ในปี 2012
เมื่อกลับมาที่มหาวิทยาลัย เธอได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากทั้งคณะและเจ้าหน้าที่ ได้เข้าพบกับจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือเธอไม่ถูกเลือกปฏิบัตหรือทำให้รู้สึกแปลกแยกจากอาการป่วยของเธอแต่อย่างใด การดูแลเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัยทำให้ ดร.เค็ง สามารถศึกษาต่อได้จนสำเร็จ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับประเทศไทยเพื่อทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงตามเงื่อนไขของทุนการศึกษา ทุกสิ่งทุกอย่างกลับพลิกผัน เธอไม่ได้รับการดูแลปัญหาสุขภาพจิตแต่อย่างใดจากที่ทำงาน
ดร.เค็ง ทำงานโดยต้องต่อสู้กับอาการป่วยทางจิตที่ส่งผลต่อการกระทำและสภาวะการตัดสินใจ ทั้งยังถูกทำให้รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนร่วมงาน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ทำงานที่ไม่ได้ให้ความสนใจหรือช่วยเหลืออย่างเหมาะสมกับอาการป่วยนั้น เธอส่งอีเมล์ถึงอธิการบดีแจ้งว่าเธอไม่ไหวและอยากจะลาออก โดยขอให้ทางมหาวิทยาลัยช่วยตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน แต่สิ่งที่ต้องพบเจอคือ มหาวิทยาลัยใช้อีเมล์ฉบับนั้นเป็นเหตุผลในการให้เธอออกจากงาน
หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงยื่นฟ้อง ดร.เค็ง เป็นเงินมูลค่ากว่า 16 ล้านบาท ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าการลาออกของ ดร.เค็ง เป็นการผิดสัญญาทุนการศึกษา
ดร.เค็ง ที่ยังอยู่ในอาการป่วย ทั้งยังต้องออกจากงานต้องต่อสู้กับคดีความเพียงลำพังเป็นเวลาหลายปีโดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ทั้งปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นอุปสรรคต่อการหางานทำในขณะนั้น ต่อมา ภายหลัง จึงได้มีอาจารย์กฎหมายเข้ามาให้คำแนะนำในการเขียนรายงานโต้แย้งต่อศาลและเอกสารอื่นๆ ระหว่างนั้นก็เป็นช่วงที่ ดร.เค็ง ได้พบกับตัวแทนจากมูลนิธิกระจกเงาที่เข้ามาช่วยเหลือและให้กำลังใจ การสนับสนุนนี้มีความสำคัญอย่างมากในการทำให้เธอกลับมามีความหวังและเริ่มต้นหางานใหม่อีกครั้ง
ดร.เค็ง เริ่มต้นงานใหม่หลังจากผ่านการสอบสัมภาษณ์งานกับองค์กรหนึ่ง สถานที่ทำงานใหม่นี้มีความเข้าอกเข้าใจและสนับสนุนกระบวนการรักษาตัวของเธอเป็นอย่างดี ซึ่งในขณะนั้นเรื่องราวของ ดร.เค็ง ได้กลายเป็นประเด็นพูดคุยสาธารณะทางโซเชียลมีเดียไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้เธอเองเกิดความกังวลเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน การได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ คนก็ช่วยทำให้เธอกลับมามีความมั่นใจได้อีกครั้ง
ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2024 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ยกฟ้องโดยชี้ว่า ดร.เค็ง ไม่ได้ทำผิดสัญญาทุน
อีเมล์ที่เขียนถึงอธิการบดีนั้นไม่ใช่ใบลาออก เป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการคลังและเงื่อนไขในสัญญาทุน โดยไม่ได้ส่งเรื่องเข้าไปปรึกษากระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และกระทรวงการคลังตามระเบียบ เพื่อหารือว่าอาการป่วยทางจิตของ ดร.เค็ง เข้าเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมการรับราชการ และสมควรได้รับการยกเว้นหนี้ทุนให้ โดยศาลปกครองสูงสุดได้ให้ข้อสรุปว่า ดร.เค็ง ไม่ได้ผิดสัญญาทุน และไม่ต้องต้องชดใช้หนี้ทุนและค่าปรับแต่อย่างใด
คดีความนี้ นอกจากจะพรากระยะเวลา 10 กว่าปี และสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพจิตของ ดร.เค็ง แล้ว ยังชี้ให้เห็นถึงระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพในการให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสมต่อปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน การที่ฝ่ายบริหารเลือกปฏิบัติและเพิกเฉยต่อการให้ความช่วยเหลือและดูแลสุขภาพจิตของลูกจ้าง เป็นการละเมิดต่อสิทธิและความคุ้มครองความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแรงงาน
กรณีของ ดร.เค็ง ยังแสดงให้เห็นถึงความท้าทายทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งประเด็นสุขภาพจิตมักจะนำไปสู่จากเลือกปฏิบัติจากการเหมารวมสภาวะทางเพศสภาพ
ลูกจ้างมักเผชิญกับการละเมิดโดยนายจ้างอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ค่าจ้าง หรือแม้แต่ภาระงาน แต่ปัญหาเหล่านี้จะมีการจัดการแก้ไขอย่างจริงจังได้ก็ต่อเมื่อเกิดเป็นหลักฐานการเจ็บป่วยทางร่างกายที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว เมื่อเป็นปัญหาสุขภาพจิตแล้วนั้น ก็มักจะถูกมองข้ามหรือมองว่าเป็นหัวข้อต้องห้าม ทั้งๆ ที่ผลกระทบนั้นมีความรุนแรงอย่างมาก คนทำงานจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้า ในบางประเทศ การดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงานได้รับความสำคัญอย่างมากและถูกบังคับโดยกฎหมาย เช่น ในสหราชอาณาจักร นายจ้างมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องดูแลสุขภาพจิตของลูกจ้าง การเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างที่มีปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นเรื่องต้องห้ามโดยเด็กขาด แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยยังต้องเดินทางอีกยาวไกลในการพัฒนาให้ปัญหาสุขภาพจิตได้รับความสำคัญในที่ทำงานทั้งจากนายจ้างและลูกจ้าง
ในประเทศไทย กฎหมายแรงงานส่วนใหญ่จะเน้นที่การคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน โดยเฉพาะในแง่ของการป้องกันอุบัติเหตุและความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการทำงาน แต่ในแง่ของการคุ้มครองสุขภาพจิตโดยเฉพาะนั้น กฎหมายแรงงานยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนหรือเป็นรูปธรรมเท่าไหร่นัก
สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลจะต้องผลักดันให้มีการดูแลสุขภาพจิตของลูกจ้างอย่างจริงจังผ่านกรอบทางกฎหมาย กำหนดแนวทางการสนับสนุนสุขภาพจิต ส่งเสริมให้สถานที่ทำงานมีสิทธิประโยชน์ในการดูแลปัญหาสุขภาพจิตของลูกจ้าง และตรวจสอบไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติเมื่อลูกจ้างมีปัญหาสุขภาพจิต
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...