เรื่องเล่าจากเด็กหญิงคนหนึ่งในภาคเหนือต่อการถูกคุกคามทางดิจิทัล

อ่าน “นอนอยู่บ้านเฉยๆ แล้วคอยมานั่งแคปโพสต์คนอื่นไปแจ้งความ” สำรวจการคุกคามทางดิจิทัลในภาคเหนือ : เมื่อการคุกคามทางออนไลน์คืบคลานเข้าสู่ชีวิตจริง

และ การคุกคามทางดิจิทัลในภาคเหนือ : เมื่อการคุกคามทางออนไลน์คืบคลานเข้าสู่ชีวิตจริง

เรื่องราวของ ‘เชอร์รี่’ (นามสมมติ) ปัจจุบันอายุ 18 ปี เธอเคยถูกแจ้งความในคดี 112 เหตุจากการโพสต์ข้อความใน Facebook โดยเธอถูกแจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่เธออายุเพียง 14 ปี ผู้ที่แจ้งจับเธอคือ แน่งน้อย อัศวกิตติกร พร้อมกับพวก ช่วงเวลานั้นเชอร์รี่ เป็นนักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองและความเป็นธรรมในโรงเรียน จนเธอเริ่มเป็นที่รู้จักในจังหวัดพิษณุโลก  ทำให้เธอถูกจับจ้องจากแน่งน้อยและพวก

เธอเริ่มถูกคุกคามทางออนไลน์หลังเธอโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การฟ้องคดี 112 อย่างมั่วซั่ว และมีเพื่อนที่รู้จักมาแสดงความคิดเห็นพร้อมเอ่ยชื่อ “แน่งน้อย” ใต้โพสต์ของเธอ เหตุที่เธอโพสต์ข้อความแบบสาธารณะ แน่งน้อยจึงสามารถเห็นข้อความดังกล่าวและเริ่มส่งข้อความมาคุกคามเธอ หลังจากนั้นบรรดาผู้ติดตามแน่งน้อยและผู้ใหญ่ในจังหวัดพิษณุโลกก็เริ่มส่งข้อความมาด่าว่าเธอมากขึ้นเรื่อยๆ 

“น่าจะมีคนแชร์ไปเรื่อยๆ ว่าเด็กคนนี้เป็นใคร เพื่อนพ่อแม่ทักมาด่าหนูในแชทเยอะมาก ถามว่าพ่อแม่เธอไม่สั่งสอนเหรอ”

หลายโพสต์ของเธอก็ถูกแคปเอาไปส่งต่อ ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนมองเธอในแง่ร้ายมากยิ่งขึ้น ครูที่โรงเรียนเริ่มต่อว่าเธอต่อหน้าเพื่อนในห้อง โดยเอาข้อความต่างๆ ที่เธอโพสต์มาวิพากษ์วิจารณ์กลางห้องเรียน ทำให้เธอเริ่มคิดที่จะย้ายออกจากจังหวัดพิษณุโลก

เหตุการณ์ที่เป็นจุดแตกหักทำให้เธอตัดสินใจออกจากจังหวัดพิษณุโลก คือ เมื่อครั้งที่เธอป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หมอที่ทำการรักษาเธอรู้ว่าเธอไปใครเนื่องจากเคยเห็นโพสต์ของเธอที่ถูกส่งต่อมา หมอจึงเริ่มพูดวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเธอ 

“หมอเคยเห็นโพสต์หนู ทำไมหนูไม่รักพ่อหลวง”

เป็นคำที่เธอจดจำได้ขึ้นใจ เหตุการณ์นี้เองเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เลือกตัดสินใจย้ายออกจากพิษณุโลกอย่างถาวร 

ก่อนจะย้ายออกจากพิษณุโลก เธอกลับได้รับหมายเรียกจากตำรวจในคดี 112 ที่เธอถูกแน่งน้อยและพวกเข้าแจ้งความ โดยยื่นหลักฐานเป็นรูปข้อความต่างๆ ที่เธอเคยโพสต์ไว้ ในวันที่เธอต้องให้การกับตำรวจ เธอถูกขอให้มอบโทรศัพท์มือถือพร้อมทำการปลดล็อคให้กับพนักงานสอบสวน หลังจากวันนั้นเธอมีความรู้สึกว่าถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทุกการเคลื่อนไหว ตำรวจที่ติดตามเธออยู่เริ่มแสดงพฤติกรรมให้เธอรับรู้ว่าเขากำลังสะกดรอยเธอในโลกออนไลน์อยู่

“ตอนนั้นโดนตำรวจสะกดรอยตามโซเชียลตลอด รู้สึกได้เลย ตำรวจน่าจะเอารหัสไปตอนที่หนูให้โทรศัพท์ไป”

หลังจากนั้นเธอจึงลบตัวตนทางดิจิทัลทุกช่องทาง พร้อมกับเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะพลเมืองของกรุงเทพฯ เพียงเวลาไม่ถึง 2 ปีหลังจากย้ายออกจากพิษณุโลกและทิ้งตัวทางดิจิทัลเก่าไว้เบื้องหลัง โพสต์เก่าๆ ที่เธอเคยถูกแจ้งความไว้ก็ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นตั้งข้อกล่าวหาอีกครั้ง

เธอจึงต้องกลับไปพิษณุโลกอีกครั้งหลังจากย้ายออกมาด้วยความทรงจำอันแสนเจ็บปวด เพื่อมาดำเนินการตามขั้นตอนการเป็นจำเลยในคดีความมั่นคง คดีที่ถูกฟ้องจากข้อความที่เธอเคยโพสต์สมัยที่ยังเป็นผู้เยาว์วัยเพียง 14 ปี

วันที่เธอไปรายงานตัวกับตำรวจ แม่เธอถามหาโจทก์ที่ฟ้องคดีลูกสาวเธอ แต่ปรากฏว่าไม่มีฝ่ายโจทก์มาเลยสักคนเดียว แม่เธอจึงพูดด้วยน้ำเสียงขับแค้นใจว่า

“แบบนี้ก็ได้หรอ นอนอยู่บ้านเฉยๆ แล้วคอยมานั่งแคปโพสต์คนอื่นไปแจ้ง”

 แม้ในใจเธอจะพูดกับตัวเองว่า “เธอไม่ได้ทำไรผิด ทำไมต้องมาโดนอะไรแบบนี้” แต่เธอก็ยอมรับว่าถ้าเลือกย้อนเวลากลับไปได้เธอคงเลือกที่จะไม่โพสต์ข้อความเหล่านั้น

“ตอนนั้นหนูเป็นเด็ก ทำอะไรก็ไม่ค่อยได้คิดหรอก ให้อารมณ์พาไป แต่ตอนนี้ก็โตแล้ว ย้อนกลับไปคงไม่ทำแบบตอนนั้น”

นี่คือคำพูดของเธอเมื่อต้องย้อนนึกไปถึงตัวเองในวัยเยาว์

การคุกคามในโลกดิจิทัลที่คืบคลานเข้าสู่ชีวิตจริง

เชอร์รี่ เด็กสาววัย 18 ปี ที่ครั้งหนึ่งเธอเคยมีความฝันอยากเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น เธอจึงลุกขึ้นมาทำกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่เธอยังเป็นเยาวชนวัยเพียง 14 ปี แต่แล้วเธอกลับต้องเผชิญการคุกคามทางดิจิทัล เริ่มต้นจากการถูกคุกคามผ่านการส่งข้อความมาต่อว่าเธอใน Facebook ก่อนจะขยับระดับความรุนแรงไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีเธอในฐานะผู้ร้ายความมั่นคง โดยอาศัยโพสต์ Facebook ของเธอเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ซ้ำร้ายหลังเธอเข้ามอบตัวตามขั้นตอนของกฎหมาย เธอกลับถูกเจ้าหน้าที่ลวงให้ปลดล็อคโทรศัพท์เพื่อสอดส่องและคุกคาม กลายเป็นวัฏจักรการคุกคามที่วนซ้ำไปมาระหว่างการคุกคามในทางดิจิทัลและการคุกคามในชีวิตจริง 

ไม่ใช่เพียงแค่น้องเชอร์รี่ที่ต้องตกอยู่ในวัฏจักรการคุกคามทางดิจิทัลและการคุกคามในชีวิตจริง นักกิจกรรมหลายคนในภาคเหนือก็ต้องเผชิญกับวัฏจักรนี้ โดยจากจำนวนนักกิจกรรมภาคเหนือจำนวน 20 คน พบว่ามี 7 คน หรือกว่าร้อยละ 35  เคยมีประสบการณ์ที่เจ้าหน้ารัฐแสดงตัวเพื่อคุกคามพวกเขาผ่านช่องทางดิจิทัลโดยตรง โดยเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้อาศัยอำนาจทางกฎหมายในโลกแห่งความเป็นจริง เพื่อเป็นอาวุธในการคุกคามทางดิจิทัลต่อบรรดานักกิจกรรมในภาคเหนือ

กล่าวคือ การคุกคามทางดิจิทัลโดยเจ้าหน้าที่รัฐมุ่งเน้นการควบคุมพฤติกรรมของนักกิจกรรมทั้งในโลกดิจิทัลและโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ต่างจากการคุกคามประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร เพียงแต่การคุกคามเริ่มต้นจากพื้นที่ดิจิทัลก่อนขยับเข้าสู่การคุกคามในทางกายภาพต่อไป

คำพูดของแม่น้องเชอร์รี่ที่กล่าวว่า “นอนอยู่บ้านเฉย ๆ แล้วคอยมานั่งแคปโพสต์คนอื่นไปแจ้งความ” เป็นภาพสะท้อนสถานการณ์การคุกคามทางดิจิทัลในภาคเหนือเป็นอย่างดี เพราะการคุกคามทางดิจิทัลได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของลูกสาวเธอในโลกแห่งความเป็นจริง

ขณะเดียวกัน การคุกคามทางดิจิทัลก็มิได้เกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่ยังมีการคุกคามทางดิจิทัลโดยประชาชนที่มีความคิดเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกับนักกิจกรรมเหล่านี้ ทั้งการคอมเมนต์ด้วยคำหยาบคาย การส่งข้อความมาต่อว่า กระทั่งนำไปสู่การคุกคามนักกิจกรรมเหล่านี้ในโลกแห่งความเป็นจริง

ดังนั้น สิทธิดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่ควรพูดถึงในวงกว้างมากกว่านี้ เพื่อเป็นเกราะป้องกันจากการคุกคามทางออนไลน์ที่มักส่งผลต่อชีวิตจริงเสมอ

สัมภาษณ์เชอรี่ (นามสมมติ). วันที่ 14 มกราคม 2568.

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง