แรงงานกลางแจ้งเชียงใหม่ต้องเผชิญกับอะไร ในภาวะที่โลกเดือดและฝุ่นพิษ

ปี 2566 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  โดยกล่าวว่ายุคโลกร้อน (Global Warming) สิ้นสุดลงแล้ว และขณะนี้ได้เข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น ไฟไหม้ป่า ภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลันเพิ่มขึ้น และรุนแรงมากขึ้นทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศและภัยแล้ง การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากน้ำท่วม รวมถึงการเสียชีวิตจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อีกทั้ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากความร้อนในอัตรา 58 ต่อแสนประชากร หรือ 14,000 คน ภายในปี 2623 หรือในอีก 57 ปีข้างหน้า

ผศ.ดร.ธรณ์ ธรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาเตือนถึงภาวะโลกเดือดที่กำลังเกิดขึ้นโดยอธิบายว่า “โมเดลล่าสุดทำนายว่า ปีนี้เอลนีโญอาจทำให้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์ เอลนีโญจะจบลงช่วงเดือนมิถุนายน แต่ช่วงครึ่งปีแรกโลกจะร้อนเดือดไปทุกหนแห่ง หลายประเทศอาจร้อนจนทะลุสถิติเดิมในปีก่อน มีประเทศไทยอยู่ในเขตนั้นด้วย”

ภาพจาก Facebook : Thon Thamrongnawasawat

เสียงของแรงงานกลางแจ้ง จะมีบ้างไหมใครจะได้ยิน? 

รายงานจาก World Academic Forum เผยว่าระยะ 10 ปีต่อจากนี้ งานประมาณ 1.2 พันล้านตำแหน่ง หรือร้อยละ 40 ของแรงงานทั่วโลก จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และแรงงานที่ได้รับผลมากที่สุดคือแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ต้องทนทำงานภายใต้ความร้อนจนไม่อาจทำงานได้ ซ้ำร้ายจะส่งผลต่อระดับผลิตภาพของแรงงาน ส่งผลต่อระดับเศรษฐกิจโดยรวม นี่จึงเป็นวาระสำคัญที่คนต้องหันมาสนใจว่าการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันไปพร้อมกัน

เอก (นามสมมติ) แรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับ Lanner ว่าตนและครอบครัวพักอาศัยอาศัยอยู่ในห้องเช่าในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิภายในห้องพักจะสูงมากจนนอนไม่ได้ ทำให้ตนกับครอบครัวต้องออกมานอนพื้นบริเวณนอกห้องพักเพื่อคลายร้อนในเวลากลางคืน ซึ่งออกมานอนเช่นนี้ตั้งแต่ปีที่แล้วในช่วงฤดูร้อนและเป็นช่วงที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 รุนแรงมากที่สุด ในปีนี้ก็เช่นกันที่ครอบครัวของเอกพร้อมกับเพื่อนบ้านผู้เช่าห้องข้างเคียง ต่างออกมานอนนอกห้องพักในเวลากลางคืน หรือเด็กนำตัวลงไปแช่นำ้ในอ่างผสมปูน และนำเสื้อที่เปียกชื้นมาสวมเพื่อบรรเทาความร้อน อีกทั้งยังต้องเผชิญกับฝุ่น PM2.5 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาพเด็กนำตัวลงไปแช่นำ้ในอ่างผสมปูนเพื่อคลายร้อน

“เริ่มออกมานอนข้างนอกเนื่องจากปีนี้รุนแรง แต่ปีที่แล้วก็มีออกมานอน แต่ไม่ได้เยอะเท่านี้ รุนแรงเท่านี้ ปีนี้ออกมานอนกันเกือบทุกห้อง เพราะมันไม่ไหว ร้อนไม่ไหว จะอาบน้ำ จะเอาเสื้อที่เปียก ๆ มาใส่ตอนอยู่ในห้องก็ไม่ไหว พยายามหาวิธีคลายร้อนโดยที่ไม่ออกไปนอกห้องแล้วแต่มันไม่ไหว ก็เลยจำเป็นต้องออกมา ปีที่แล้วก็ทำแบบนี้กันประมาณ 2-3 อาทิตย์ ในช่วงเดือนเมษายน ส่วนปีนี้เริ่มมา 1-2 สัปดาห์แล้ว” เอก กล่าว

ภาพครอบครัวของเอกและเพื่อนบ้านออกมานอนนอกห้องพักเพื่อคลายร้อน

เอกและครอบครัวมีอาชีพกรรมกรก่อสร้าง ทั้งวันในการทำงานเอกและครอบครัวต้องเผชิญกับภัยความร้อนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะป้องกันให้ตัวเองในระดับหนึ่ง เช่น การหาสแลมมาบังแดดขณะทำงาน และนำนำ้มารดตัวเองให้เปียกอยู่ตลอดเพื่อเพิ่มความชื้นให้กับร่างกาย 

ภาพการทำงานของเอกและครอบครัว

“ถ้าต้องก่อสร้างสิ่งที่อยู่กลางแจ้ง เช่น สร้างสระว่ายน้ำ เขาจะให้ทำหน้าร้อนเพราะหน้าฝนมันทำยาก พวกโครงสร้างสระว่ายน้ำจึงให้ทำในหน้าร้อน ตอนทำก็หาสแลมมาคลุมเอา ซึ่งทรมานมาก เพราะต้องลงไปในบ่อลึกที่ขุดไว้และปูกระเบื้องที่เมื่อโดนแดดแล้วตัวกระเบื้องจะร้อนมาก ๆ บางครั้งก็ใช้วิธีเอาน้ำมาราดหัวแล้วก็ไปทำงานต่อ ถ้าน้ำแห้งแล้วก็เอาน้ำมาราดหัวใหม่แล้วก็ไปทำงานต่อ ทำซ้ำไปซ้ำมา” เอก กล่าว

ภาพการทำงานของเอกและครอบครัว

รัฐในทำอะไรในภาวะโลกเดือด

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ประจำปี พ.ศ.2567 ภายใต้หัวข้อ “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความปลอดภัยและชีวอนามัย” ถึงปัญหาสภาพอากาศ ว่า ในปัจจุบันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ขณะนี้อุณหภูมิประมาณ 40-43 องศาเซลเซียส ผู้ใช้แรงงานหากรู้สึกร้อนจนเกินไปให้พยายามจิบน้ำบ่อยๆ เวลาทํางานให้ใส่เสื้อผ้าสีอ่อนๆ และไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าหลายชั้น เพื่อให้การระบายความร้อนดีขึ้น และที่สำคัญเวลาออกไปทำงานควรจะอยู่กันเป็นกลุ่ม หากเกิดโรคลมแดด (ฮีทสโตรก) ขึ้นมาจะได้ช่วยเหลือกันได้ รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งในขณะที่แดดร้อน ๆ เพื่อเป็นการรักษาอุณหภูมิในร่างกายไม่ให้ร้อนจนเกินไป

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ

พิพัฒน์ ยังฝากไปถึงเจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการ ควรจะดูแลผู้ใช้แรงงานในขณะทํางานในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด ให้ทำงานในที่มีความเหมาะสม ถ้าหากอากาศร้อนจนเกินไป ควรงดทำงานกลางแจ้ง หรือหากจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรติดตั้งพัดลมไอน้ำ เพื่อเป็นการลดอุณหภูมิให้กับลูกจ้าง

ด้าน เอก ได้ระบายกับ Lanner ว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติของตนเข้าไม่ถึงมาตรการของทางรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในช่วงเดือนเมษายนที่จังหวัดเชียงใหม่จะมีค่า AQI สูงเป็นอันดับ 1 ของโลกเป็นประจำทุกปี ซึ่งกลุ่มของตนไม่ได้รับหน้ากากอนามัยหรือมีสวัสดิการการตรวจสุขภาพในระบบทางเดินหายใจ และในสถานการณ์ช่วงหน้าร้อนมีอุณหภูมิสูงมากจนอาจเกิดความอันตรายต่อสุขภาพได้ ทำให้เอกร้องให้รัฐออกนโยบายที่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติและแรงงานกลางแจ้งอย่างพวกตน 

“มาตรการรัฐมันมาไม่ถึงเรา เราก็เอื้อมไม่ถึงมาตรการรัฐ ไม่มีมาตรการในเรื่องฝุ่น PM2.5 และภัยความร้อนต่อแรงงานเลย ยิ่งเป็นแรงงานข้ามชาติยิ่งไม่ได้อะไรเลย อีกทั้งแรงงานข้ามชาติยิ่งไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองต้องเช่าเอา และอยากให้ออกนโยบายเกี่ยวกับช่วงฝุ่น PM2.5 และช่วงหน้าร้อนให้กับแรงงาน ไม่ว่าจะเพื่อแรงงานข้ามชาติหรือแรงงานทั่วไปก็ดี เช่น เรื่องค่าไฟที่จะพอช่วยเหลือแรงงานหรือแรงงานข้ามชาติมากขึ้น และนายจ้างควรจะจัดพื้นที่ให้แรงงานอยู่แบบถ่ายเทอากาศมากกว่านี้ หรือในช่วง PM2.5 ควรมี marks แจกให้กับลูกน้อง” เอก กล่าว

วิจิตรา ดวงดี ผู้จัดการโครงการ Outreach Southeast Asia Pulitzer Center กล่าวในโครงการดังกล่าวว่า แรงงานฐานรากกลายเป็นด่านหน้าในการเผชิญกับภาวะที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งที่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ากลุ่มทุนทั้งหลาย เช่น

–    ไรเดอร์ส่งอาหาร ต้องเผชิญกับความร้อนในการขับขี่ยานยนต์ ที่มีผลการศึกษาออกมาแล้วว่า เหมือนกับมีไดร์เป่าผมมาจ่อหน้าอยู่ตลอดเวลา

–    เกษตรกร ต้องเผชิญความเสี่ยงที่ผลิตผลลดลง จนหลายคนต้องทิ้งไร่นามาทำงานในเมือง และกลายเป็น ‘คนจนเมือง’ ในที่สุด

–    ชาวประมง ต้องเผชิญกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​ โดยที่พวกเขาไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ เพราะอยู่เหนือการควบคุม และอาจลงเอยที่พวกเขาต้องสูญเสียเงินและงานไป

อากาศยิ่งร้อน ยิ่งใช้เงินมาก

ตามการวิเคราะห์ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature เผยให้เห็นว่าหากโลกยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป ผู้คนจะได้รับเงินจากการทำงานน้อยลงไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนก็ตาม แต่ผลกระทบนั้นจะไม่เท่ากันอย่างยุติธรรม โดยเฉพาะกับคนที่ยากจน ก็จะยิ่งจนลงไปอีก ทำให้ความเท่าเทียมเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม เราทุกคนสามารถมองเห็นผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เช่น เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชของพวกเขาได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง อากาศร้อนยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ข้าวของแพงขึ้น และผู้คนก็ต้องใช้จ่ายเงินเพื่อคลายความร้อน ปัจจัยต่าง ๆ ทำให้เงินที่เราหามาได้มีคุณค่าลดน้อยลงไป และที่สำคัญ คนที่รายได้น้อยอยู่แล้ว ก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก พวกเขาจะมีเงินในการดำรงชีวิตน้อยลงเนื่องจากรายได้หดตัว และเงินที่มีอยู่ก็ต้องนำไปใช้จ่ายกับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากภาวะโลกร้อน พร้อมกับซื้อของต่าง ๆ เพื่อดับร้อน ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนไม่จำเป็น

แม้ว่าในปีนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้มีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐบาล ระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2567 โดยลดค่าไฟฟ้า 21 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ลดค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทจาก 89.55 สตางค์/หน่วย เป็น 39.72 สตางค์/หน่วย แล้วก็ตาม แต่สำหรับคนที่พักอาศัยตามห้องเช่าหรือหอพักไม่สามารถเข้ารับมาตรการดังกล่าวได้ การออกมาตรการที่ไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มอย่างที่เสียงสะท้อนของ ‘เอก’ ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้แรงงานกลางแจ้งเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิมในฤดูร้อน ไม่ว่าจะเป็นค่านำ้ ค่าไฟ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เช่น โรคไมเกรน อาหารเป็นพิษ โรคทางผิวหนัง เป็นต้น อีกทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ PM2.5 ที่ทำให้แรงงานกลางแจ้งต้องซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเองจากฝุ่น

ท้ายที่สุดแล้ว ภาวะโลกเดือดที่อุณหภูมิสูงจนทำให้ภูมิอากาศแปรปรวนและสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องทุกปีในภาคเหนือ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะปล่อยให้แรงงานกลางแจ้งหรือแรงงานทุกคนอย่างที่เอกต้องเผชิญต่อไปโดยไม่มาตรการช่วยเหลือจริงหรือ

อ้างอิง

  • Thai PBS, (2566), โปรดทราบ! ไทยเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด” เสี่ยงกระทบสุขภาพ, เข้าถึงได้จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/330934
  • Environman, (2567), รู้หรือไม่ โลกรวนทำคนจนลง 20% คนที่ยากจน ก็จะยิ่งจนลงอีก, เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=739938041681826&id=100069969091464&rdid=Gcm8TtsdF9tEieTw
  • The ACTIVE, ‘แรงงานไทย’ ด่านหน้า โดนวิกฤตภูมิอากาศเล่นงานมากที่สุด, เข้าถึงจาก https://theactive.net/news/socialmovement-20240503/
  • พรรคภูมิใจไทย, (2567), โลกเดือด !!! ห่วงใยผู้ใช้แรงงาน แนะ 6 ข้อช่วงอากาศร้อนจัด, เข้าถึงจาก https://bhumjaithai.com/news/96718
  • PEA, (2567), PEA แจ้งมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม – เมษายน 2567

นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง