อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: มืดมนอนธการ อนาคตการเมืองไทย

เรียบเรียง: ปุณญาพร รักเจริญ

สรุปเนื้อหาการบรรยาย “หนึ่งทศวรรษรัฐประหาร” โดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่วันที่ 22 พฤษภาคม 2567

อนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

อรรถจักร์เริ่มต้นด้วยความหมายของ ‘มืดมนอนธการ’ ว่ามีสองความหมาย ความหมายที่หนึ่ง คือ มืดมนจนมองไม่เห็นอนาคตที่ปรารถนา  เขาคิดว่ามนุษย์ทุกคนปรารถนาระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่เน้นว่ารัฐต้องเป็นตัวค้ำประกันสิทธิที่เท่าเทียมที่ไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและมีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันเรามองไม่เห็นอนาคตที่เราปรารถนา มองไม่เห็นมา 10 ปีแล้ว 

เนื่องจากการรัฐประหารในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาเป็นการตกผลึกโครงสร้างสังคมไทย อีกทั้งรัฐไทยเกิดการเปลี่ยนรูป (Transformation State) เป็น “รัฐบรรษัท” (Neo-Corporatist State) ซึ่งจะมีมิติของอำนาจนิยมสูงมากขึ้น

รัฐบรรษัท (Corporatist State) ใช้อธิบายความเข้าใจถึงการเกิดขึ้นของพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ของเบนิโต มุสโสลินี และมีการถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในเพื่อกลับมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงของรัฐและสังคมในโลก อรรถจักร์พูดถึงช่วงการยึดครองวอลล์สตรีทที่เริ่มมีการพูดถึงคน 1% ครอบครองเท่าไรบ้างและพวกเราที่เป็น 99% ครอบครอบเท่าไหร่บ้าง อีกทั้งใช้รัฐบรรษัทอธิบายความเป็นจีน  ดังนั้นแล้วรัฐบรรษัทคือกรอบแนวคิดที่ทำให้เราเข้าใจการเมืองของโลกและการเมืองของไทยชัดเจนมากขึ้น เกิดขึ้นจากเครือข่ายชนชั้นนำที่ครองอำนาจอยู่พยายามปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับพลเมืองเพื่อรักษาอำนาจของตนเองไว้ รัฐบรรษัทในช่วงแรกคือการอยู่ตรงกลางระหว่างการสู้ของคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย แต่ช่วงหลังคือการเชื่อมต่อกันระหว่างกลุ่มเครือข่ายและชนชั้นนำทางการเมืองเพื่อที่จะดำรงความเหลื่อมล้ำให้ดำเนินต่อไป เพราะความเหลื่อมล้ำคือที่มาของโภคทรัพย์จากชนชั้นนำทั้งหมด ดั้งนั้นเราจะทำอย่างไรให้รัฐบรรษัทสามารถดำรงอยู่ได้เพราะแนวคิดนี้ทำให้ความคิดของพลเมืองแยกเป็นชนชั้นหายไปด้วยการมุ่งเน้นให้คนทุกกลุ่ม ทุกสถานะ ทุกชนชั้น มีความสำนึกถึง “ส่วนรวม” ที่ถูกสร้างขึ้น และพลเมืองแต่ละคนเป็น “ผลรวมของหน่วย” ที่มีพลังมากกว่าแยกกลุ่ม

รัฐบรรษัททำให้พลเมืองผู้ใต้ปกครองกลายเป็นพลเมืองผู้สยบยอม (passive citizens) เห็นจากโครงการรัฐที่พลเมืองเป็นส่วนร่วมในรัฐที่ไม่ต่อต้านรัฐ พร้อมทั้งอธิบายว่า สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนรูปรัฐมาสู่ระบบบรรษัทที่กลุ่มครอบครองอำนาจต้องการใช้ที่อยู่ในกลุ่มบรรษัทยักษ์โดยผนวกกลืนกับระบบราชการอย่างชัดเจนจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยน ‘พื้นที่/สังคมประเทศไทย’ ถ้าหากเปลี่ยนได้จริงสังคมไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พร้อมยกตัวอย่างโครงการใหญ่ เช่น EEC (Eastern Economic Corridor) และ โครงการ Land Bridge ที่กลายเป็นผลประโยชน์ให้แก่บรรษัท โดยพวกเราในฐานะพลเมืองไทยจะถูกทำให้ยอมรับทุกอย่างอย่างยินยอมพร้อมใจ

อรรถจักร์ชวนย้อนดู แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าคือการคือการตกตะกอนความปรารถนาชองชนชั้นนำไทย ในการวางกระบวนการการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเปลี่ยนสังคมให้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง ยกตัวอย่างกรณีของประยุทธ์ที่เมื่อหมดอำนาจแล้วแต่ก็ยังมีอนาคตต่อไป ชี้ให้เห็นว่าคือกระบวนการทางการเมืองที่กลุ่มชนชั้นนำไทยสนับสนุนการรัฐประหารคิดและวางแผนจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับสังคมไทยซึ่งถือเป็นการกักกั้นรัฐบรรษัท เขาคิดว่าองค์กรที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็วเพื่อดูแลควบคุมสังคมคือ กอ.รมน.  (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) อีกทั้งเราต้องมองให้ลึกลงไปว่าแผนนี้เป็นโปรเจกต์การเมือง (Political Project) ของชนชั้นนำไทย 

กระบวนการเปลี่ยนรูปของรัฐในไทย โดยรัฐจะสร้างแนวทางให้แก่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ควบรวมเข้าด้วยกันทำให้กลุ่มทุนขยายตัวมากขึ้น ส่งผลสองด้านคือ

1.การขยายตัวของกลุ่มทุนภายใต้การเป็นรัฐบรรษัทได้ทำให้เกิดภาพลวงตา เช่น การจ้างงาน และ การทำให้ทุกคนมีโอกาสเติบโต

2.การผลิตของชาวบ้านจะตกไปอยู่ภายใต้ทุนใหญ่และเป็นเบี้ยล่างมากขึ้น

การเปลี่ยนรูปรัฐที่เกิดขึ้นนี้จะใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สังคมประเทศไทย รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ กลุ่มทุนที่ทำการก่อสร้างร่วมมือกับรัฐบรรษัทเป็นผู้ได้รับงบประมาณการก่อสร้างและมีความจำเป็นต้องทำให้พลเมืองสยบยอม ดังนี้

1.รัฐไทยในช่วงรัชกาลที่9 เกิดการสถาปนาการเกิดฉันทามติภูมิพล ซึ่งเป็นเวลาของการเชื่อมต่อรูปรัฐบรรษัทที่มาตกผลึกในช่วงการรัฐประหารเนื่องจากการใช้อำนาจรัฐประหารเปลี่ยนรูปรัฐ

2.อำนาจทางวัฒนธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

3.การทำให้พลเมืองยอมรับในการเปลี่ยนแปลง

การทำให้พลเมืองสยบยอม

การทำให้ให้เกิด “อุดมคติสูงสุด” ในการทำตามอำนาจวัฒนธรรม ให้ลองนึกถึงระบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือ ระบอบเกียรติยศ จะพบว่าเป็นที่ฝังอยู่ในหัวใจของคนไทยจำนวนมาก อรรถจักร์เปรียบเทียบว่าการทำให้พลเมืองสยบยอมคือการทำให้พลเมืองกลายเป็นส่วนประกอบเล็ก ๆ เหมือนอะตอมที่ต้องเข้าไปประกอบรวมกับสิ่งที่มันใหญ่กว่า ถึงจะมีความหมายการทำให้เกิดการเร้าสำนึกปักเจกชนให้กลายเป็นส่วนประกอบรัฐ เช่น ระบบการศึกษา และ การถูกครอบงำของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในไทย 38 แห่ง

ทั้งหมดนี้คือกระบวนการสร้างกลุ่มคนที่ได้ออกไปขยายความคิดเรื่องการสยบยอมต่อการเป็นรัฐบรรษัท กระบวนการที่ทำให้เกิดพลเมืองผู้สยบยอม มีดังนี้

1.การทำให้ “ความกลัว” ขยายขอบเขตไปทุกพื้นที่  

2.การทำให้ระบบของรัฐกลายเป็นฐานความชอบธรรมให้แก่รัฐ เช่น กฎหมาย ระบบยุติธรรม 

3.การทำให้ชีวิตที่พยายามอยู่นอกอำนาจ หรือไม่สยบยอม ต้องพบความไม่แน่นอน กล่าวว่าได้ทำให้เยาวชนหลายคนกังวลและถูกทำให้รู้สึกว่าต้องเจอความเสี่ยงในการใช้ชีวิต 

4.การทำให้อยู่อย่างไม่มีการเมืองเป็นชีวิตที่ปลอดภัย  

ดังนั้นแล้วการเปลี่ยนรูปรัฐนี้เกิดขึ้นเพื่อจรรโลงความเหลื่อมล้ำให้ดำเนินต่อไปโดยเน้นการบริการ เผยแพร่ ฝัง อำนาจทางวัฒนธรรมมากขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในสังคมไทยมีเยอะมากจึงเกิดอุตสาหกรรมการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบรรษัทไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่จะจรรโลงให้ดำเนินต่อไปชี้ให้เห็นถึงช่องว่างความแตกต่างระหว่างชนชั้นในสังคม

ความหมายที่สองของมืดมนอนธการ คือ มืดมนเพราะความมืดบอดทางปัญญา อรรถจักร์ กล่าว่า สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก อีกทั้งบอกว่าการที่กลุ่มชนชั้นนำยังคงพยายามรักษาโครงสร้างเดิมไว้ซึ่งแสดงว่าพวกเขาไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง  อรรถจักร์ตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ที่ชนชั้นนำเท่านั้นไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ

“อีกทั้งเขาคิดว่าความเปลี่ยนแปลงแม้จะเกิดขึ้นหรือพวกเขาคิดในระดับที่ว่าสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้กำลังและความรุนแรง (การรัฐประหารและการจับเข้าคุก) ดังนั้นมันจึงปิดกั้นสติปัญญาในการคิดหาทางออก”

“เขาพูดถึงกรณีสถานการณ์การนำทักษิณกลับซึ่งชนชั้นนำไทยพยายามที่จะคิดหาวิธีจรรโลงโครงสร้างอำนาจไว้เดิมไว้ แต่ยังหาไม่พบผู้นำที่มาจากเลือดเนื้อตัวเอง ดังนั้นจึงหยิบทักษิณมาเป็นไพ่ชั่วคราว แต่หากไม่ได้ผลทักษิณก็จะถูกจัดการแบบเดิม”

พร้อมทั้งเสนอให้มีการเปลี่ยนรูปรัฐที่ซึ่งมาจากการเปลี่ยนโครงสร้าง โดยสร้างผู้นำลักษณะใหม่ไม่ว่าจะมองนายกฯ เศรษฐามาจากทักษิณหรือเป็นนายกหุ่น แต่คือตัวแทนของบริษัทและเข้าสู่ตำแหน่งในรัฐบรรษัทอำนาจนิยมโดยความเห็นพ้อง

(ระดับหนึ่ง) ของเครือข่ายชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่ร่วมอยู่ในรัฐบรรษัท ดังนั้นตัวเขาคิดว่าต้องเลือกผู้นำรัฐบรรษัทใหม่ในสมัยหน้าอาจจะเป็นนักธุรกิจหรืออื่น ๆ  เพื่อจรรโลงความได้เปรียบต่อไป อีกทั้งกล่าว่า “หากนายกฯ เศรษฐาจะเป็นตัวแทนเครือข่ายต่อไปก็ต้องสลัดทักษิณให้หลุดจากหลังตัวเองให้ได้ อาจจะยากหรือถ้าสลัดไม่ได้ก็อาจถูกเขี่ยออกไปเลย” แต่ทั้งหมดนี้คือเกมที่คุณต้องรักษาโครงสร้างของรัฐบรรษัทนี้เอาไว้ เขาเปรียบเทียบกับนักคิดโบราณว่า “เมื่อโครงสร้างแบบนี้ต่อให้ไม่มีนโปเลียนมันก็จะมีสร้างคนแบบนโปเลียนขึ้นมา”

อรรถจักร์กล่าวปิดท้ายว่า  ความมืดบอดทางปัญญา (อนธการ) ของชนชั้นนำ คือการประเมินความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยน้อยกว่าที่ควร แต่หลังจากเริ่มมีการก่อสร้างรัฐบรรษัทตัวเขาเองภาวนาให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนอย่างไร ภายใต้การเปลี่ยนรูปรัฐ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการเป็นรัฐบรรษัทคือ การเลือกตั้ง สว. เพราะไม่มีเหตุผลอื่น ๆ นอกจากทำให้ข้างล่างของโครงสร้างอยู่ภายใต้รัฐบรรษัท ดังนั้นนอกจากการจับตามองสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปแล้ว ควรต้องคิดว่าภาคประชาสังคมทั้งหมดจะต่อรองอย่างไร สังคมไทยตอนนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งเพราะไม่ใช่แค่การเปลี่ยนทางการเมืองแต่เป็นการเปลี่ยนรูปแบบของรัฐและเป็นครั้งแรกในการเกิดรัฐบรรษัทที่พยายามทำให้พวกเราทั้งหมดเป็นพลเมืองผู้สยบยอมอย่างดุษฎีและดุษณีภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง