อิสึรินะจะกลับญี่ปุ่นแล้ว หลังจากนี้ CGM48 จะเป็นอย่างไรในเชียงใหม่เมืองปราบเซียน

เรื่อง: ปิยชัย นาคอ่อน

“รินะขอประกาศจบการศึกษาจาก CGM 48 ค่ะ”

อิสึตะ รินะ ไอดอลและชิไฮนิน (ผู้จัดการ) วง CGM48 ได้ประกาศขอยุติการเป็นไอดอลที่ดำเนินมานานกว่า 14 ปี ในงานเทศกาลทานาบาตะ ที่จัดขึ้นในห้าง เมย่า (Maya lifestyle Mall) วันที่ 7- 8 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา และจะทำงานให้กับวง CGM48 จนถึงเดือนพฤษจิกายน 2567 นั่นสร้างความตกตะลึงให้กับคนที่โอชิ(โอตะที่ชื่นชอบไอดอลคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ) รินะและเหล่าโอตะที่ร่วมงานในวันนั้น รวมทั้งเกิดคำถามถึงอนาคตของวง CGM48 ที่ไม่มีชิไฮนินชื่อรินะว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 วงน้องสาวของวง BNK48 คือ วง CGM48 ได้ถือกำเนิดขึ้นที่เชียงใหม่ เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่วงได้ดำเนินกิจกรรมทั้งในและนอกประเทศ สร้างความสุขให้กับโอตะมาโดยตลอดมี อิสึตะ รินะ พร้อมกับออม อดีต CGM48 กัปตันวง ทั้งสองคอยขับเคลื่อนวงร่วมกับเมมเบอร์คนอื่น ๆ แม้ในช่วงที่ยากลำบากอย่างช่วงการแพร่ระบาด Covid-19 วง CGM48 สามารถผ่านมาได้ จนกระทั้งมีข่าวลือตามสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ว่าจะมีการยุบวงมิ้นท์ไปรวมกับวงม่วง

รู้จักกับอิสึรินะกันสักนิด

อิสึตะ รินะ (Rina Izuta) หรือ อิสึรินะ (Izurina) อดีตสมาชิกวง AKB48 รุ่นที่ 10 เจ้าของฉายา “อันเดอร์ 12 ตำแหน่ง” จากความสามารถในการจำท่าเต้นและตำแหน่งต่างๆ ได้อย่างดี รินะได้รับตำแหน่งเซนเตอร์ครั้งแรกในเพลง Reborn เป็นโปรเจคเพลงที่คัดเลือกสมาชิกจากคนที่ไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นเซมบัตสึมาก่อน การตัดสินใจย้ายมา BNK48 ของรินะเริ่มจากการมาร่วมงาน Japan Expo 2 ครั้งในประเทศไทย และจากที่มาถ่ายรายการ Nemosou TV ที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ทำให้วง BNK48 มีรุ่นพี่อย่าง รินะ มาร่วมทีมด้วย 

การตัดสินใจอีกครั้งของรินะเกิดขึ้นเมื่อมีการประกาศตั้งวงน้องสาวของวง BNK48 คือ วง CGM48 ที่เชียงใหม่ โดยรินะรับตำแหน่งเป็นชิไฮนินของวงร่วมกับการเป็นสมาชิกของวงไปด้วย และในงานเทศกาล ทานาบาตะ รินะก็ได้ประกาศยุติการเป็นไอดอลของวง 48 Group  

เชียงใหม่ไม่ดึงดูดใจกับการลงทุน

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นที่ว่า “ถ้ารินะไม่อยู่แล้ว CGM48 จะเป็นยังไงต่อไป” ผู้เขียนขอพาไปดูบริบทสถานการณ์ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันคำกล่าวที่ว่า “เชียงใหม่เมืองปราบเซียน” นั้นกำลังกลายเป็นเรื่องจริง จากบทความ “เชียงใหม่ไม่ได้แค่ปราบเซียน แต่ปราบทุกคน” ของ นลินี ค้ากำยาน  ทำให้เราได้เห็นว่า เชียงใหม่เป็นเมืองปราบเซียนจริง ๆ ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่กระจุกตัว ภาคเศรษฐกิจรวมกันอยู่ที่อำเภอเมืองและโดยรอบ แม้จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2566 จากคนไทย 57,663.02 ล้านบาท และจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 31,530.77 ล้านบาท แต่ก็มีความเสี่ยงเพราะเวลาพักของนักท่องเที่ยวพำนักเฉลี่ยเพียง 2 วัน นักท่องเที่ยวเที่ยวเฉพาะจุดและด้วยช่องว่างของการท่องเที่ยว จำนวนร้านค้าเซ้งร้านอย่างต่อเนื่องแค่ 1 เดือนเซ้งไปถึง 194 ร้าน บวกกับในไตรมาสแรกปี 2567 มีอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.92 (ประมาณ 9,467 คน) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า(ไตรมาสที่ 4 ปี 2566) ที่ร้อยละ 0.55 (ประมาณ 5,687 คน) ด้วยค่าแรงที่ได้รับในเมืองเชียงใหม่นั้นน้อยเมื่อเทียบกับจังหวัดหัวเมืองอื่นและวันทำงานที่มากถึง 6 วันต่อสัปดาห์ ทำให้การร่วมกิจกรรมก็ทำได้ยาก โอตะจากจังหวัดอื่นจึงเป็นความหวังที่จะช่วยให้วงอยู่ได้ แต่ก็ไม่พ้นที่ต้องมาเจอปัญหาเรื่องการเดินทางที่แต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเมื่อต้องมาร่วมกิจกรรมที่เชียงใหม่ เดินทางในเมืองยากลำบากและเสี่ยงที่จะถูกโก่งราคาจากรถโดยสารสาธารณะ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เหล่าโอตะเดินทางอย่างไรไปดูไอดอล CGM สำรวจ(ปัญหา)ขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ผ่านบทเพลง Love Trip ของผู้เขียนเอง) และการเดินทางมาเชียงใหม่ที่มีความคาดหวังว่าจะได้ตามไอดอลที่พร้อมกับการมาท่องเที่ยวพักผ่อนจึงไม่เหมาะเท่าไหร่นัก

การเที่ยวเชียงใหม่ที่ต้องมาเสี่ยงดวงกับขนส่งสาธารณะ ภาคการท่องเที่ยวที่ไม่สนับสนุนนักท่องเที่ยวชาวไทย ค่าใช้จ่ายที่พอ ๆ กันกับกรุงเทพฯ การเลือกไปร่วมกิจกรรมที่กรุงเทพฯ จึงง่ายกว่าการมาเชียงใหม่

ไม่ใช่แค่ปัจจัยเดียวในความเป็นอยู่ของวง

ด้วยความที่วง CGM48 เองเป็นการดำเนินธุรกิจอย่างหนึ่ง (ธุรกิจเกี่ยวกับศิลปินดารา นักแสดง) ซึ่งตอนนี้ปัจจัยแรกกับความเป็นอยู่ของวงอย่างพื้นที่ตั้งนั้นไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ปัจจัยที่สองคือการขาดเสาหลักอย่างรินะผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ด้าน 48 Group ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีการวางตัวไว้ว่าใครจะเป็นชิไฮนินคนต่อไป ก็ทำให้ข่าวลือที่พูดมาตอนต้นนั้นมีน้ำหนักขึ้น การรับรุ่น 3 เข้ามาเพียงแค่ 5 คน ทำให้สมาชิกของวงในปัจจุบัน (รวมรินะแล้ว) อยู่ที่ 30 คน ซึ่งในทางทฤษฎีนั้นวงสามารถแสดงได้ แต่หากเป็นเพลงที่ต้องแสดง 16 คน หรือต้องไปหลาย ๆ งานพร้อมกันจะทำได้ยาก ประกอบกับในปี 2568 รุ่นที่ 1 จะหมดสัญญาและมีแนวโน้มที่จะไม่ต่อสัญญา หากเกิดขึ้นจริงจะทำให้สมาชิกที่เหลืออยู่ไม่พอที่จะทำการแสดง ถ้าไม่มีการรับเมมเบอร์เข้ามาเพิ่มหรือมีการต่อสัญญา หรือแม้แต่ประเด็นของการที่ยังไม่มีกัปตันวงและเธียเตอร์ถาวรก็มีส่วนสนับสนุนข่าวลือนั้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามในปี 2566 บริษัท อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จำกัด บริษัทแม่ของวง CGM48 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 11.76 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับสองปีที่ผ่านมา คือปี 2565 ขาดทุน 15.03 ล้านบาท และปี 2564 ขาดทุน 38.14 ล้านบาท โดยไม่ได้ระบุว่ากำไร ขาดทุน มาจากวงใดบ้าง ทำให้วิเคราะห์ได้ยากในเรื่องสถานะทางการเงินของวง CGM48  แต่ทางวงCGM48 ก็ยังมีกิจกรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคืองาน Tabata Day งานเปิดตัวรุ่นที่ 3 กิจกรรมของ 7th Single Love Trips กิจกรรม Pop up live (และ On tour ) ทุกวันอังคารกับพฤหัสบดี กิจกรรมที่กำลังเกิดขึ้นอย่าง BNK48 & CGM48 Sport day 2024, Request Hour 2024 และการออกเพลงที่มีอย่างต่อเนื่องจากเมื่อดูจากตารางการออกเพลงย้อนหลังหรือยอดขายที่ยังทรงตัวที่ประมาณ 3 แผ่นซึ่งจากข้อมูลที่มีนั้นก็พอมองเห็นว่าวงจะมีทิศทางเป็นอย่างไรต่อไป

ข้อมูลจาก https://x.com/withmywishth/status/1810141947547587063?s=12&t=cnHJWfQTYPQlNTVzQGn1Ng

ทิศทางของวงต่อจากนี้ที่รินะไม่อยู่

ผู้เขียนเองก็ใจหายกับการประกาศจบการศึกษาของรินะเช่นเดียวกัน การที่ผู้บริหารออกจากวงก็สร้างความกังวลใจให้กับเหล่าโอตะถึงสถานะของวงหลังจากนี้ บวกกับปัจจัยเรื่องของพื้นที่เมืองเชียงใหม่ที่ไม่รองรับการร่วมกิจกรรมกับไอดอล ซึ่งคนเชียงใหม่และจังหวัดข้าง ๆ เองที่จะมาร่วมกิจกรรมก็ยิ่งยากเข้าไปอีกเพราะเรื่องเศรษฐกิจ รายได้ การเดินทาง เวลาที่มี แม้สถานะทางการเงินของบริษัทแม่ ณ ปัจจุบัน (2567) จะมีกำไรและทางบริษัทได้นำเอาเทคโนโลยี Blockchian เข้ามามีบทบาทในการร่วมกิจกรรมของวงและกับการถือครอง NFT อีกอย่างหนึ่งคือมีการรุกตลาดออนไลน์มากขึ้น แต่วง CGm48 เองก็ยังมีค่าใช้จ่ายอย่างค่าสถานที่ ค่าจ้างพนักงาน เงินเดือนเมมเบอร์ ค่าทำเพลง ฯลฯ และกำไรงบนี้ยังต้องแบ่งใช้กับส่วนอื่น ๆ ของบริษัทด้วย อีกเรื่องหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือบริษัทมักมีอะไรมาเซอร์ไพร์แฟนคลับอยู่เสมอ

จากปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาประกอบด้วยก็ยิ่งทำให้อดคิดไม่ได้ว่าวง CGM48 จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่ายังไปต่อได้ เพราะการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักต้องใช้การลงทุนจำนวนมาก ซึ่งทางผู้บริหารไม่น่าทิ้งเงินลงทุนก้อนนี้ไปง่าย ๆ แต่รูปแบบอาจจะเปลี่ยนไป เช่น ขนาดของวงที่เล็กลงหรือลดขนาดของกิจกรรมลง หากเหล่าโอตะยังคงสนับสนุนวงและเมืองเชียงใหม่แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนเชื่อได้ว่า น้อง ๆ และวง CGM48 ก็จะอยู่กับเราต่อไป

(ภาพ: CGM48 official)

อ้างอิง

Lanner เปิดพื้นที่ในการขยายพื้นที่สื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com    

ข่าวที่เกี่ยวข้อง