น้ำท่วมเชียงราย สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ร้องรัฐช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่

13 กันยายน 2567 กิตติ ทิศสกุล ที่ปรึกษานายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้จังหวัดเชียงรายเร่งดำเนินการตั้งโต๊ะแถลงการณ์การบริหารจัดการน้ำท่วมและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะผู้ประสบภัยที่ยังติดค้างอยู่ในแต่ละชุมชน การบริหารจัดการเรื่องการแจกอาหารและสิ่งของจำเป็น การประสานงานกับองค์กรภายนอกที่เข้ามาช่วยเหลือ การจัดลำดับความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือ การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการจังหวัดที่ชัดเจน การขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การแก้ไขปัญหาการขนส่งข้ามสะพานน้ำกก การวางแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมไปถึงแผนสำรองหากฝนตกเพิ่ม

ภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/87945

ขณะเดียวกัน ในวันเดียวกันนี้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยช่วงเช้าได้เดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์และแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากนั้นเดินทางต่อไปยังที่ว่าการอำเภอแม่สาย ชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวใกล้ที่ว่าการฯ และเดินทางต่อไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเพื่อรับฟังสถานการณ์เพิ่มเติมและมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่เดือดร้อน ก่อนกลับไปยังท่าอากาศยานทหาร บน.6 ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันต่อไป

ด้านสถานการณ์น้ำและฝนในพื้นที่ ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงรายปัจจุบัน จากการพูดคุยกับ พิศณุกรณ์  ดีแก้ว เจ้าหน้าที่ภาคสนามสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต หนึ่งในสมาชิกทีมตั้งศูนย์พักพิงน้ำท่วมที่ศูนย์การเรียนรู้ CCF เชียงราย รายงานว่า สถานการณ์น้ำและฝนในปัจจุบันยังคงต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสภาพอากาศยังคงมีเมฆฝนปกคลุม และมีแนวโน้มว่าจะเกิดฝนตกหนักอีกครั้งซึ่งหากมีฝนตกเพิ่มขึ้นจะทำให้น้ำท่วมขังนานขึ้นกว่าเดิม

ที่มา: เฟซบุ๊กศูนย์การเรียนรู้ CCF เชียงราย

สำหรับความต้องการเร่งด่วนของประชาชน ในพื้นที่บ้านฟาร์มสัมพันธกิจ ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย และ ศูนย์การเรียนรู้ CCF เชียงราย ในปัจจุบันนั้น พิศณุกรณ์ เผยว่า ข้าวกล่องและอาหารสดนั้นมีจำนวนเพียงพอแล้วแต่ยังขาดแคลนอาหารแห้งที่สามารถกักตุนเพื่อใช้สำหรับทำอาหารหลังจากนี้ เนื่องจากห้องครัวของชาวบ้านหลายหลังได้รับความเสียหายจึงทำให้ไม่สามารถทำอาหารได้ นอกจากนี้ยังขาดแคลนอุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น ไม้ดันน้ำ เพื่อใช้ในการทำความสะอาดบ้านเรือนและชุมชนหลังน้ำลด

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง