เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่สมาคมฝรั่งเศส เชียงใหม่ (Alliance Française de Chiang Mai) โดย กลุ่ม A New Burma, Anagat, สมาคมฝรั่งเศส เชียงใหม่ ,คลินิกสุขภาพ (Nway Oo Kyan Mar-Spring Health clinic) และครอบครัวผู้ลี้ภัย จัดงานนิทรรศการ เรื่องเล่า,มิอาจแบ่งแยก (The story, INDIVISIBLE) เจาะลึกบทบาทสำคัญของทีมแพทย์ช่วงหลังการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศพม่า เพื่อบอกเล่าถึงความกระจ่างเกี่ยวกับความเชื่อมโยงที่ไม่อาจแบ่งแยกการให้บริการดูแลสุขภาพทั้งพลเรือนและนักสู้ท่ามกลางความสับสนอลหม่านในเขตสงคราม
บรรยากาศในงานได้ถ่ายทอดผลงานด้วยภาพถ่าย โดย คิน ซานดาร์ โย๊ะ (Khin Sandar Nyunt) นักชาติพันธุ์วิทยาและช่างภาพสารคดี ตลอดระยะเวลากว่าสองปี ที่เธอเดินทางร่วมกับนักศึกษาแพทย์กลุ่มหนึ่งที่หนีออกจากเมืองย่างกุ้งไปยังภูเขาในรัฐกะเรนนีใกล้ชายแดนไทย ในเดือนพฤษภาคม 2021 นักศึกษา 8 คนและแพทย์ 2 คน ได้ก่อตั้งคลินิกและให้การดูแลสุขภาพแก่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) และประชาชนทั่วไปแม้จะมีทรัพยากรที่จำกัด ภายในสองปีให้หลังพวกเขามีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพในภูมิภาคเดโมโซตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตสงครามที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ของรัฐกะเรนนี
ภายในปี 2566 พวกเขาได้จัดตั้งโรงพยาบาลที่ใช้งานได้เต็มรูปแบบและตกเป็นเป้าหมาย โดยเกิดเหตุการณ์น่าสลดใจจากการโจมตีทางอากาศของรัฐบาลทหารพม่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 หน่วยการแพทย์และโรงพยาบาลในรัฐกะเรนนีตกเป็นเป้าบ่อยครั้ง ซึ่งขัดขวางการเข้าถึงการบริการทั้งนักรบและพลเรือน ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนหลายพันคน ขณะนี้ทีมงานกำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
คิน ซานดาร์ โย๊ะ (Khin Sandar Nyunt) เล่าว่า การจะทำสารคดีโดยปกติแล้วอาจจะหมายถึงการเขียนข้อมูลทั้งหมดลงไป แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ในหลากหลายวิธีและไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ในเรื่องใหญ่ๆ เสมอไป สามารถเอาความรู้สึกที่ได้สัมผัสในแต่ละวันมาถ่ายทอดได้ ทำไมเราถึงรู้สึกเจ็บปวด ทำไมเรารู้สึกกลัว หรือแม้แต่ความโล่งใจในบางสถานการณ์ การเล่าถึงความรู้สึกเหล่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกันและความรู้สึกของผู้คนไม่สามารถโกหกได้ เพราะเราได้เห็น ได้ยิน และได้สัมผัสด้วยตัวเอง
“เหตุการณ์ที่น่าสลดใจคือมีการโจมตีทางอากาศโดยรัฐบาลพม่าและฉันคิดว่าตนเองไม่รอดแล้ว สิ่งที่ฉันได้สัมผัสทำให้รู้สึกว่าฉันไม่ได้เป็นแค่คนนอก และต้องการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและถือว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติครั้งนี้ แม้บางครั้งรู้สึกเศร้า กลัว มีความสุข หรือมึนงง เมื่อเกิดรัฐประหารทั้งหมดนี้มีเหตุผลและมีอิทธิพลต่อการกำหนดความคิดและความรู้สึกของเราอย่างมาก เช่น บ้านเรือนถูกทำลาย การพลัดถิ่น การบาดเจ็บที่เกิดจากเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด นี่คือเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้เราร่วมกันต่อสู้มาจนทุกวันนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้สร้างให้เกิดความรู้สึกต่อความดิ้นรนของผู้คนในต่อสู้กับความเลวร้ายของเผด็จการทหารถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถละเลยได้” คิน ซานดาร์ โย๊ะกล่าว
ฮัน วิน (Hnin Win) นักเคลื่อนไหวชาวพม่าในไทย กลุ่ม A New Burma กล่าวว่า เรื่องความยุติธรรมเป็นสิ่งที่เจ็บปวดเพราะโลกมีโศกนาฏกรรมมากมายจนคนมึนงง เราจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดความยุติธรรมในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมโดยการโต้แย้งกัน
“แต่เราก็ยังคงใช้ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าเราจะต้องเผชิญชีวิตที่น่าเศร้าทุกวันแต่เราต้องการที่จะนำความหวังและจินตนาการมาสู่โลกของเรา” ฮัน วิน กล่าว
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...