เปิดเหตุผลทำไม 9 นายก อบจ. ภาคเหนือ ลาออกก่อนหมดวาระ

ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ) ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จะมีการครบวาระในการดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 หากมาดูที่ตัวเลขของ นายก อบจ.ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระทั้งหมด 27 คน โดยในพื้นที่ภาคเหนือมีนายก อบจ. ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระทั้งหมด 9 จังหวัด ดังนี้ นครสวรรค์ พะเยา พิษณุโลก อุทัยธานี สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ มีรายชื่อดังนี้

สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 1 พ.ค. 67 ซึ่งปัจจุบันสมศักดิ์ก็ยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. ได้อีกหนึ่งสมัยหลังจากการเลือกตั้งนายก อบจ.นครสวรรค์ อีกครั้งในวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา 

อัครา พรหมเผ่า อดีตนายก อบจ.พะเยา น้องชายของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 13 มิ.ย. 67 โดยปัจจุบันอัคราไม่ได้ดำรงตำแหน่ง นายกอบจ.พะเยา โดยให้เหตุผลว่าตนต้องการไปเล่นการเมืองระดับชาติ แต่มีการส่งไม้ต่อให้ ธวัช สุทธวงค์ นายก อบจ.พะเยา คนปัจจุบัน

มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 20 มิ.ย. 67 ซึ่งปัจจุบันมนต์ชัยก็ยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. เป็นสมัยที่ 3 หลังจากการเลือกตั้งนายก อบจ.พิษณุโลก อีกครั้งในวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา 

เผด็จ นุ้ยปรี นายก อบจ.อุทัยธานี ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 2 ส.ค. 67 ซึ่งปัจจุบันเผด็จก็ยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. เป็นสมัยที่ 5 หลังจากการเลือกตั้งนายก อบจ.อุทัยธานี อีกครั้งในวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยการเลือกตั้งในครั้งนี้ เผด็จ เป็นผู้ลงสมัครเพียงคนเดียว

มนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย สามีของน้องสาวของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 ก.ย. 67 และปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. เป็นสมัยที่ 2 หลังจากมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา

สุนทร รัตนากร อดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันจังหวัดกำแพงเพชรอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ก่อนจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.กำแพงเพชร ในวันที่ 1 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ สุนทรก็เป็นหนึ่งในผู้ลงสมัครเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตนายก อบจ.ตาก ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่วันที่ 4-8 พ.ย. นี้เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ตาก ซึ่งณัฐวุฒิได้มีการส่งไม้ต่อให้ อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ ลูกสะใภ้ของณัฐวุฒิและอดีตรองนายก อบจ.ตาก ในการลงสมัคร หลังจากตนดำรงตำแหน่งนายก อบจ.มากว่า 3 สมัย

อัครเดช ทองใจสด อดีตนายก อบจ.เพชรบูรณ์ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 25 ต.ค. โดยมีผลในวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยในวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมาเป็นวันเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง โดย อัครเดช ได้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.เพชรบูรณ์ มากว่า 6 สมัย

ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา อดีตนายก อบจ.อุตรดิตถ์ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่วันที่ 4-8 พ.ย. 67 จะเป็นวันเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง และจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.อุตรดิตถ์ในวันที่ 22 ธ.ค.67

จากจำนวนของนายก อบจ. ที่ลาออกก่อนครบวาระ Lanner ได้วิเคราะห์เหตุผลว่า ทำไม? นายก อบจ. ถึงลาออกก่อนครบวาระ ดังนี้

1.ข้อจำกัดด้านกฎหมาย

สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นข้อจำกัดแก่เหล่า นายก อบจ. และผู้บริหารท้องถิ่นในการทำงานจนไม่สามารถบริหารงานได้อย่างอิสระตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 รวมไปถึงข้อจำกัดในการหาเสียงล่วงหน้า ห้ามผู้สมัครหาเสียงหรือดำเนินการใดๆ ในเชิงหาเสียงเลือกตั้งในระยะเวลา 180 วันก่อนครบวาระ ซึ่งรวมไปถึงการใช้งบประมาณที่มีข้อจำกัดและเงื่อนไขเป็นจำนวนมาก

ในหมวด 6 ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 65 ที่มีข้อห้ามหลายข้อ เช่น ห้ามให้ ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นใดแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ห้ามจัดเลี้ยงหรือมองความบันเทิง ห้ามใช้วิธีการข่มขู่หรือใช้กำลังบังคับ ห้ามใช้ข่าวสารหรือข้อมูลเท็จ ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตนในการเลือกตั้ง ทั้ง บุคลากร สถานที่ ยานพาหนะ และวัสดุอุปกรณ์ของทางราชการ หากนายก อบจ.ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็จะมีบทลงโทษทั้ง 1.การตัดสิทธิ์การเลือกตั้ง 2.การเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งในครั้งถัดไป รวมไปถึง 3.อาจถูกดำเนินคดีทางอาญาและรับโทษจำคุกหรือปรับ

จะเห็นได้ว่าด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายและบทลงโทษที่หากผู้นายก อบจ. ฝ่าฝืนในช่วงคาบเกี่ยวในการทำงานบริหารและช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งนั้นมีบทลงโทษที่รุนแรง นี่อาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลว่าทำไมเหล่า นายก อบจ. ถึงทยอยลาออกจากการดำรงตำแหน่งของตนก่อนครบวาระในการบริหาร

2.ชิงความได้เปรียบทางการเมือง

นอกจากข้อกฎหมายที่รัดกุมที่ฉุดรั้งนายก อบจ. ทั้งในการทำงานและการหาเสียง การลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระก็มาพร้อมกับนัยยะทางการเมืองที่แฝงไปด้วยกลยุทธ์เช่นเดียวกัน เนื่องจากหากนายก อบจ. ดำรงตำแหน่งครบวาระกฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่หากลาออกก่อนกำหนดกฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งระยะเวลาในการหาเสียงนานกว่าถึง 15 วัน 

ถึงแม้จะส่งผลให้คู่แข่งทางการเมืองมีเวลาเตรียมการในการหาเสียงมากขึ้น แต่การลาออกก่อนตำแหน่งจะทำให้คู่แข่งตั้งตัวไม่ทันในการหาเสียง ทั้งการเตรียมกำลังพล ทรัพยากร รวมไปถึงการสื่อสาร อาจกล่าวได้ว่าการที่นายก อบจ.หลายคนประกาศลาออกก่อนครบวาระ ตนและพรรคพวกรู้อยู่แล้วว่าจะออกตอนไหน ทำให้การเตรียมกำลังพลและทรัพยากรเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ประเด็นการชิงลาออกก่อนนอกจากเป็นการชิงความได้เปรียบทางการเมืองแล้ว การเลี่ยงเผชิญกับกระแสพรรคสีส้มอย่างพรรคประชาชนอดีตพรรคก้าวไกลก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคส่งผลให้พรรคนั้นต้องโฟกัสกับการก่อร่างพรรคและสมาชิกพรรคใหม่ การเลือกตั้งนายก อบจ.ก็อาจจะถูกลดความสนใจ และนี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งช่องว่างที่ทำให้เหล่านายก อบจ. ใช้จังหวะนี้ในการลาออกก่อนหมดวาระและเลือกตั้งใหม่ หรือหากนายก อบจ. ดำรงตำแหน่งอยู่ครบวาระและมีเลือกตั้งนายก อบจ.พร้อมกันทั้งประเทศ การที่ต้องต่อสู้กับกระแสของพรรคการเมืองระดับชาติอย่างพรรคประชาชนก็เป็นเรื่องยาก 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจอย่างการจัดรูปแถวสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ส.อบจ. อีกหนึ่งกลไกทางการเมืองที่สำคัญ ทั้งในการตรวจสอบการบริหารและการถ่วงดุลย์อำนาจของ อบจ. ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธ.ค. และมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 1 ก.พ. 68 พร้อมกับ นายก อบจ. หากมีนายก อบจ. ลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระในจังหวัดใด จะทำให้นายก อบจ.ที่เข้ามาก็จะมีวาระในการดำรงตำแหน่งเป็น 4 ปี ซึ่งวาระ 4 ปี ก็มาพร้อมกับอำนาจที่เพิ่มตาม ก็สามารถนำพรรคพวกของตนเข้าไปนั่งในตำแหน่ง ส.อบจ.ได้ง่ายขึ้น การถ่วงดุลย์อำนาจก็จะน้อยลงหากสัดส่วนของ ส.อบจ.อยู่ในฝั่งเดียวกับตน อาจเปรียบได้ว่าเป็นการผูกขาดอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ

3.สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

นอกจากเงื่อนไขทางกฎหมายที่รัดตัวเหล่า นายก.อบจ.และกลยุทธ์ทางการเมืองของการเมืองท้องถิ่นแล้ว ถ้าพูดแบบแฟร์ๆ การลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระอาจจะมีเหตุผลอื่นที่อาจจะไม่ใช่ที่กล่าวมาข้างต้นก็ได้ อดีต นายก อบจ.หลายคนที่ลาออกเนื่องจากเหตุผลเรื่องส่วนตัวทั้งเรื่องสุขภาพ หรือสถานการณ์ส่วนตัวที่ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ อย่างล่าสุด วิเชียร ขาวขำ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ที่ลาออกไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 67 เนื่องจากปัญหาสุขภาพ

หรือความสนใจในการย้ายตัวเองไปลงเล่นในสนามการเมืองระดับชาติ อย่าง อัครา พรหมเผ่า อดีตนายก อบจ.พะเยา น้องชายของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 13 มิ.ย. 67 เพื่อไปนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐต้นสังกัดของพี่ชาย

อย่างไรก็ตามการลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระจะมีเหตุผลรองรับไม่ว่าจะทั้งกฎหมาย ยุทธศาสตร์ทางการเมือง หรือเหตุผลอื่นๆ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องเสียในสมการนี้แน่ๆ ก็คือเวลาที่ต้องไปเลือกตั้งจาก 1 ครั้งที่สามารถหย่อนบัตรทั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ จะกลายเป็นการเลือกตั้งถึง 2 ครั้งที่ต้องไปเลือกนายก อบจ. ที่ลาออกก่อนหมดวาระ 1 ครั้ง และ ส.อบจ. อีก 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังรวมถึง กกต. ต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งใหม่ถึง 2 (เลือกตั้งนายก อบจ. ก่อนหมดวาระ 1 ครั้ง และ เลืองตั้ง ส.อบจ. ตามวาระอีก 1 ครั้ง) ซึ่งแต่ละครั้งใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนแตกต่างกันตามจังหวัดและพื้นที่ประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งหากจัดให้มีการเลือกตั้ง 2 ครั้งจะต้องคูณงบประมาณไปถึง 2 เท่า ซึ่งเป็นการเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ 

รวมไปถึงการที่ประชาชนจะได้มีผู้นำในการบริหารจังหวัดของตนไม่ครบ 4 ปี และความต่อเนื่องที่ของนโยบายและโครงการที่เป็นต่อนๆ ขาดครึ่ง ก็จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ในส่วนนี้อีกด้วย นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเราในฐานะประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบและตั้งคำถามกับทั้งตัวบทกฎหมายที่รัดกุมรวมไปถึงการลาออกก่อนหมดวาระของเหล่า นายก อบจ.ที่อาจจะความหมายแฝงของผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง