13 ธันวาคม 2565
ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่งได้โพสต์ในเพจถึงกรณีที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้าหลังเก่า ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นศาลแขวงเวียงป่าเป้า แต่สิ่งที่ถูกลบหายไปจากอาคารก็คือพานรัฐธรรมนูญบนหน้าจั่ว โดยถูกแทนที่ด้วยตราครุฑแทน
ในโพสต์ระบุว่า
“อาคารเก่าแห่งหนึ่งในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซ้ายมือ ถ่ายเมื่อ 2557 เป็นที่ว่าการอำเภอ มีรูปพานรัฐธรรมนูญบนหน้าจั่ว พร้อมข้อความ “รัฐธรรมนูญสถิตสถาพร”
ขวามือ ถ่ายเมื่อ 2565 เป็นศาลแขวงเวียงป่าเป้า มีรูปครุฑมาติดแทน อาคารแห่งนี้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว น่าสนใจว่าหน่วยงานใดเป็นผู้เก็บรูปพานรัฐธรรมนูญเอาไว้”
สำหรับที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้าหลังเก่า ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2445 และถูกแปรสภาพกลายเป็นพิพิธภัณฑ์อำเภอเวียงป่าเป้า ปัจจุบันเป็นศาลแขวงเวียงป่าเป้าตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน
หลังจากปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เวียงป่าเป้าได้รับการยกฐานะจาก กิ่งอำเภอ เป็น อำเภอ โดยขุนบวรอุทัยธวัช นายอำเภอขณะนั้น ได้สร้างที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้าขึ้นมา ซึ่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในสมัยของขุนสุขจิต สมบัติศิริ ที่ว่าการอำเภอใหม่นั้นเป็นตึก 2 ชั้น หลังคาหน้าจั่วด้านหน้าปรากฏสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญจากไม้แกะสลัก พร้อมกับข้อความว่า “รับธรรมนูญสถิตสถาพร”
สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นนั้นเกิดมาจากการที่รัฐบาลคณะราษฎร ออกนโยบายส่งเสริมให้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญถ่ายแบบและจำลองขึ้นใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ อาจจะส่งผลต่อแรงบันดาลใจแก่ช่างในล้านนา และอีกหนึ่งประเด็นเป็นการย้ายเอาอำนาจจากเจ้าเมืองล้านนาไปสู่ศาลากกลางจังหวัดหรือที่ว่าการอำเภอ ถือได้ว่าเป็นการดึงอำนาจจากเจ้า ขุน มูล นาย ที่เป็นอำนาจเก่า ไปสู่อำนาจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ
โดยก่อนหน้าที่นั้นมีความพยายามลบมรดกของคณะราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในจังหวัดเชียงรายนั้น พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. ที่เชียงราย ถูกเปลี่ยนป้ายชื่อเป็น ‘ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาตร์’ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 โดยผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไทเคยโทรศัพท์สอบถามไปที่พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. เจ้าหน้าที่รับสาย อธิบายว่า จะเปลี่ยนป้ายใหม่เฉย ๆ พร้อมยืนยันว่าสถานที่ดังกล่าวยังเป็นพิพิธภัณฑ์ทหาร บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม เหมือนเดิม
แม้จะยังไม่ทราบว่าสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญบนหน้าจั่วอยู่ที่ไหน และใครเป็นคนอนุมัติให้เอาตราครุฑมาแทนที่ นี่อาจเป็นการทำร้ายประวัติศาสตร์และความทรงจำสาธารณะ ในขณะที่ประชาชนในประเทศกำลังหูตาสว่างทะลุเพดานกันไปแล้ว
อ้างอิง
- ป้าย ‘บ้านจอมพล ป.’ ที่เชียงราย ปลิวแล้ว เหลือแค่ชื่อ ‘ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาตร์’
https://prachatai.com/journal/2020/02/86171
- หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ 5 (กันยายน 2552 – สิงหาคม 2553) สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญกับประติมานวิทยาทางการเมืองในเขตวัฒนธรรมล้านนา พ.ศ. 2475-2490 โดย ว่าที่ ร้อยตรี ชาญคณิต อาวรณ์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาสหวิทยาการบริหารท้องถิ่น วิทยาลัยนานาชาติภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA/article/view/16542/14962
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...