น่าน ๆ เนิบ ๆ โอกาสเติบโตเท่ากับศูนย์?

‘น่านนคร’ เมืองโรแมนติกต้องมนต์ ที่ชวนให้หลงใหล ไม่ว่าศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ทิวเขาทอดยาวสลับซับซ้อน เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ธรรมชาติที่โอบกอดหัวใจปลอบช้ำได้ดีกว่าที่แห่งไหน เหมือนกับเพลงของศุ บุญเลี้ยง ที่มีเนื้อร้องว่า “น่านน่ะสิ มากี่ทีกี่ที อยากอยู่นาน ๆ” ความงดงามที่ละสายตาไม่ได้หากผู้ใดได้มาสัมผัส ทว่าความดั้งเดิมที่บางคนไม่ประสงค์ให้เปลี่ยนแปลง ทำให้น่านยังคงเหมือนเดิม เหมือนเคย ไม่มีเปลี่ยน 

ข้อมูลจากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน เผยถึงสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวภายในจังหวัดน่านในปี พ.ศ.2565 รวมทั้งหมด 1,183,201 คน แบ่งเป็นชาวไทยจำนวน 1,168,258 คน ชาวต่างชาติจำนวน 14,943 คน อีกทั้งยังมีข้อมูลรายได้จากการท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน ในปี พ.ศ.2565  โดยรวมอยู่ที่ 3076.19 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้นักท่องเที่ยวจากไทย 2992.7 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 83.49 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ในรายได้จากการท่องเที่ยว

“น่าน เป็นจังหวัดที่ควรมาเที่ยว แต่ไม่ควรมาใช้ชีวิต”

หมอกของความไม่เท่า เอื้อมไม่ถึง เข้ามาปกคลุมไม่จางหาย การคมนาคมที่ไม่เอื้อต่อคนท้องถิ่น การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ให้กับนายทุน การเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ คุณจำเป็นต้องเสียเวลาและรายได้ไปหนึ่งวัน เพื่อเดินทางไปโรงพยาบาล โดยเหมารถราคาสูงลงมาในตัวเมืองตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อรับบัตรคิวรอรักษา คนเฒ่าคนแก่มักจะบอกเสมอว่า “ถ้าบ่ป่วยแต้ ๆ บ่มีทางไปหาหมอแน่”

น่านเนิบ 01: จากใจคนน่าน เราไม่มีสิทธิ์ที่จะเจริญเลยหรอ

เมืองที่คนหนุ่มสาวใฝ่ฝันอยากออกจากที่นี่ เหตุค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐาน ความหวังที่มองไม่เห็น และไม่มีผู้ใหญ่ที่เข้าใจพวกเขา อีกทั้งเด็ก ๆ ที่ต้องดิ้นรนแข่งขันเข้าโรงเรียนรัฐที่ดี เมื่อโครงสร้างอำนาจทางสังคมที่กดทับไม่ให้เติบโต พวกเราล้วนโหยหาความเจริญ ที่ไม่รู้ว่า ‘ความเจริญ’ ที่กล่าวมานั้น มีหน้าตาแบบใด

รูปภาพจาก: Go Went Go

หนึ่งในความคิดเห็นจากช่องยูทูป (YouTube) ไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยว ของบาส-ภาณุภัทร์ สุกัลยารักษ์ หรือที่หลายคนรู้จักในนาม บาส Go Went Go ที่มียอดติดตามมากถึงหนึ่งล้านคน หนึ่งในวิดีโอที่เขานำเสนอเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คือ ‘บ้านสะปัน น่าน สวยไม่แพ้ต่างประเทศ | VLOG | Gowentgo’ โดยเขาได้บอกเล่าถึงความสวยงามธรรมชาติของจังหวัดน่านได้เป็นอย่างดี อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัส ทำให้มีคนกดเข้ารับชมถึงเก้าแสนกว่าครั้ง มีคนสนใจอยากไปตามรอยเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าในวิดีโอได้มีคนในพื้นที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นอีกมุมมองว่า “ขอบคุณนะคะที่ไปจังหวัดน่าน แต่จากใครคนน่านอย่างเรานะคะ เราไม่มีสิทธิ์เจริญเลยหรอคะ”

ไม่นาน บาสได้มาตอบกลับความคิดเห็นดังกล่าวว่า “ผมต้องขอโทษ ที่สื่อสารไปแบบนั้น ทำให้เกิดความคิดแบบนั้นขึ้น ขอรับไปปรับปรุงนะครับ” บาสยังกล่าวอีกว่าเขาอยากให้ทุกที่เจริญอยู่แล้ว หมายถึงสิ่งที่สมควรจะพัฒนา ไม่ว่าจะเรื่องของสาธารณสุข คมนาคม หรือการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ แต่ความเจริญที่เขาหมายถึงคือ การท่องเที่ยวในไทยที่พอได้รับความนิยม มักมีนายทุนฉกฉวยโอกาส หาผลประโยชน์ และทำลายความเป็นชุมชน ความเป็นธรรมชาติในที่สุด ทั้งหมดนี้จึงเป็นเพียงเรื่องการสื่อสารที่ผิดพลาดเท่านั้น โดยส่วนตัวช่อง Go went go ได้ยกให้น่าน เป็นจังหวัดอันดับต้น ๆ ที่เขาชื่นชอบ แน่นอนว่าไม่ได้มีแง่มุมแบนนั้น โดยกล่าวทิ้งท้ายว่า เขาเห็นด้วยว่าทุกจังหวัดสมควรมีพื้นฐานชีวิตที่ดี ให้สมกับภาษีที่จ่ายเหมือน ๆ กับประเทศที่เจริญแล้ว

รูปภาพจาก: Go Went Go

น่านเนิบ 02: เนิบ เนิบ เติบโตกี่โมง

“เงินเดือนแม่งน้อย ทำมาหากินไม่พอแดก”

ทางด้านเดียวกัน ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ถึงความรู้สึกถึงจังหวัดน่าน จังหวัดที่เขาได้กำเนิดมา โดยกล่าวว่า น่าน คือบ้านเกิดฉัน เป็นเมืองที่ไม่มีงานทำ นอกจากข้าราชการ กับงานภาครัฐ เด็กจบคณะ สาขาอื่น ๆ ไม่มีการเติบโตในหน้าที่การงาน ค่าครองชีพเงินเดือน 15,000+ ถือว่าเยอะ (โครตเยอะ) ลูกหลานหนีออกจากเมืองน่านไปหางานทำหมด มีแต่คนนอกเมืองที่หนีเข้าไปอยู่แทน อากาศดีไม่เถียง แต่ไม่มีกินสำคัญกว่า

โดยเขาได้เพิ่มเติมอีกว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาที่จะเหยียดคนเงินเดือนน้อย แต่เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่อยากจะกลับไปทำงานที่บ้านเหมือนกัน ครอบครัวอบอุ่นก็ใช่ แต่การสร้างชีวิตตัวเองก็สำคัญกว่า และทิ้งท้ายว่า ทำงานซื้อที่ดินอีก 30 ปีจะกลับไปอยู่นะครับ น่านเนิบ เนิบ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เรื่องหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน จำแนกตามวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม เป็นรายจังหวัด พ.ศ. 2547 – 2564 จากข้อมูลเฉพาะปี พ.ศ.2564 หนี้สินทั้งหมดเฉลี่ยต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ยของจังหวัดน่าน มีสูงถึง 236,497.34 บาท โดยแบ่งออกเป็น 6 อันดับ

อันดับที่ 1  เพื่อใช้ทำธุรกิจที่ไม่ใช่การเกษตร 77,043.69 บาท 

อับดับที่ 2 เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน 72,484.38 บาท 

อันดับที่ 3 เพื่อใช้ทำการเกษตร 42,452.70 บาท 

อับดับที่ 4 เพื่อใช้ซื้อ/เช่าซื้อบ้านและที่ดิน 39,763.61 บาท 

อันดับที่ 5 เพื่อใช้ในการศึกษา 4,101.54 บาท 

อับดับที่ 6  อื่น ๆ 651.40 บาท

ในปี พ.ศ. 2564 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติ ยังบันทึกถึงรายได้ต่อครัวเรือนของประชากรในพื้นที่จังหวัดน่าน เฉลี่ยรวม 20,555.92 บาท และข้อมูลค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน ปี พ.ศ.2565 เฉลี่ยรวม 18,405.25 บาท จะเห็นได้ว่าข้อมูลทั้งจำนวนหนี้สิน รายได้ และค่าใช้จ่าย น่านยังถือว่าเป็นจังหวัดที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ และประชากรมีหนี้สินจำนวนมาก นั่นเป็นเหตุผลที่หนุ่มสาวออกไปหางานทำในเมืองกรุง ทิ้งร้างไว้ซึ่งความทรงจำที่ดี และกลับมาสังสรรค์ในช่วงสิ้นปีเท่านั้น 

น่านเนิบ 03: ก็เติบโตได้

บทความกล่าวว่าข้างต้น ถึงแม้จะพูดถึงจังหวัดน่านในมุมมองประสบการณ์ในรูปแบบที่พวกเขาเติบโตมา ในทางตรงกันข้ามผู้ประกอบกิจการน้อยใหญ่ได้เข้ามาจับจองพื้นที่การค้าเพื่อทำกำไร จากอัตลักษณ์ความเป็นน่าน ข้อมูลจากเว็บไซต์ Marketeer. (2563). ‘แบรนด์ใหญ่คิดอะไรอยู่? เมื่อ Swensen’s ออกไปโตนอกห้างสร้างสาขา Stand Alone หนึ่งเดียวในจังหวัดน่าน’ กล่าวว่า กว่า 34 ปีของ Swensen’s ในประเทศไทยนั้นเน้นขยายสาขาและเติบโตกับห้างสรรพสินค้ามาอยู่ตลอด บางห้างอย่างเดอะมอลล์บางกะปินั้นมีมากถึง 3 สาขา เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย แต่มีเพียงจังหวัดน่านแห่งแรกที่ตัดสินใจไปโตนอกห้าง กับการเป็นสาขาแบบ Stand Alone ที่สร้างความสะดุดตาด้วยดีไซน์แบบบ้านทรงไทย

โดยอนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไปของ Swensen’s ในประเทศไทย เล่าว่า แม้จะเป็นเพียงจังหวัดเล็ก ๆ แต่เหตุผลที่ทำให้ Swensen’s ตัดสินใจมาทำตลาดเปิดสาขาที่น่าน นั่นเป็นเพราะทางจังหวัดเองก็ต้องการจะหาสถานที่ที่ดึงดูดให้คนมาเที่ยวน่านมากขึ้น บวกกับน่านเองก็มีเสน่ห์และคาแรกเตอร์ของตัวเองที่ชัดเจน ตรงกับคอนเซ็ปต์ของการทำ Regional Flagship Store ที่แบรนด์วางไว้ จากการศึกษาของแบรนด์ สุดท้ายแล้วด้วยความที่ทำการบ้านมาอย่างดี จึงทำให้ Swensen’s สาขานี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้คนไปมากมาย เริ่มตั้งแต่ตอนที่ยังไม่เปิดก็มีคนแวะเวียนเข้ามาถ่ายรูป เข้ามาขอซื้อไอศกรีม จนถึงวันที่เปิดร้านจริง แม้ในทีแรกจะตั้งเป้าไว้ว่าน่าจะมีลูกค้าเข้ามาราว 500-600 คน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นกว่า 1,000 คนต่อวัน ซึ่งเกินจากที่ตั้งไว้ไปกว่าเท่าตัว

รูปภาพจาก: Marketeer Online

“แต่น่านมีโอกาสและทางเลือกที่ดีสำหรับเราน้อยมาก”

ทางด้านนักศึกษาสตรีเพศ ไม่ประสงค์ระบุตัวตน กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าน่านเป็นเมืองที่น่าอยู่ในแง่ของศิลปวัฒนธรรม บรรยากาศ และผู้คน แต่ในแง่ของการใช้ชีวิต การทำงานเลี้ยงชีพ รายได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก คนน่านมักใช้ชีวิตวัยเด็กที่นี่ แต่พอโตขึ้นมักไปหาโอกาสที่อื่น เราก็เช่นกัน ตั้งแต่มัธยมก็เลือกที่จะเรียนที่ต่างอำเภอ พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกที่จะเข้าเรียนที่ต่างจังหวัด เพราะเราพยายามมองหาโอกาสในด้านที่ตัวเองชอบ หรือถนัด น่าเศร้าตรงที่เราก็อยากจะใช้ชีวิตเรียนทำงานใกล้บ้านเกิดตัวเองนะ แต่โอกาสต่าง ๆ ที่น่านเป็นไปในทางที่เรามองไม่ออกว่าจะสามารถโตได้ดีในที่นี่ได้ยังไง หญิงสาวกล่าวความนัย

หากลองพิจารณาคำว่า “น่านเนิบ ไม่เติบโต” อาจจะกล่าวทั้งหมดไม่ได้ทีเดียว เพราะในฐานะผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวยังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างสวยงาม และมีรายได้สูง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านกาแฟ หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ แต่ในฐานะคนท้องถิ่น ทำการเกษตร ทำไร่ ทำสวน หรือเยาวชนหนุ่มสาว ยังต้องการความเจริญในแง่ของความเป็นอยู่พื้นฐานที่มนุษย์คนนึงสมควรได้รับ ไม่ว่าจะระบบสาธารณสุข ระบบคมนาคม ความเป็นอยู่วิถีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อเมืองน่านของเฮามีแขกบ้านแขกเมืองมาเยี่ยมเยือน จึงหวังถึงพลังการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้น มิใช่เพียงความเจริญด้านวัตถุ แต่รวมถึงสังคมความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่เช่นกัน

อ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง