มะเมียะ: เรื่องราวรักร้าวของเจ้าชายล้านนา

ภาพปก: หอสมุดแห่งชาติ: เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือเจ้าน้อยศุขเกษม ถ่ายภาพกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นภรรยา

“มะเมี๊ยะเป๋นสาวแม่ก้า คนพม่าเมืองมะละแมง 

งามล้ำเหมือนเดือนส่องแสง คนมาแย่งหลงฮักสาว 

มะเมี๊ยะบ่ยอมฮักไผ มอบใจ๋ฮื้อหนุ่มเจื้อเจ้า 

เป๋นลูกอุปราชท้าวเจียงใหม่” (จรัล มโนเพ็ชร, 2524)

ความรักอันบริสุทธิ์ แต่ปราศจากหนทางแห่งความสมหวัง ท่วงทำนองคำร้องบทเพลง “มะเมี๊ยะ” จากศิลปินโฟล์คซองคำเมืองชื่อดังอย่าง จรัล มโนเพ็ชร บทเพลงได้ทำหน้าที่เดินทางไปยังกลุ่มมวลชน ทำให้ผู้คนต่างพากันเห็นใจในความรักต้องห้ามอันขมขื่นทุกข์ระทมนี้ เนื่องจากบริบททางสังคมได้กีดกั้นไม่ให้แม่ค้าชาวพม่าและลูกเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ร่วมใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เหตุเพราะการครอบงำอยู่ใต้กฎเกณฑ์ทางการเมือง เรื่องราวที่ได้ฟังได้อ่านนั้นล้วนกัดกินหัวใจจนเสียน้ำตาไปมากโขราว แล้วเรื่อง “มะเมี๊ยะ” คือตำนาน เรื่องจริง หรืออิงประวัติศาสตร์ ทิ้งทวนปริศนาให้ได้หาคำตอบที่แท้จริง

มะเมี๊ยะ: เรื่องจริง

เรื่องราวความรักที่ต่างเชื้อชาติ ระหว่าง เจ้าน้อยศุขเกษม และมะเมี๊ยะ อันกลายมาเป็นตำนานรักที่จบลงอย่างโศกสลด และได้รับการกล่าวขานมาถึงปัจจุบัน จากหนังสือ  “เพ็ชร์ลานนา” สารคดีชีวประวัติศาสตร์บุคคล ยุคทองของลานนา ของปราณี ศิริธร (2523) ณ พัทลุง ได้ร้อยเรียงรักอมตะของมะเมี๊ยะมีใจความว่า ในปี พ.ศ. 2441 เจ้าศุขเกษม บุตรของเจ้าแก้วนวรัฐกับเจ้าแม่จามรี ตอนนั้นอายุ 15 ปี ถูกส่งไปเรียนหนังสือที่มะละแหม่ง ขณะนั้นเจ้าแก้วนวรัฐผู้บิดาดำรงตำแหน่งเจ้าอุปราช ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ตำแหน่งสำคัญของระบบการปกครองล้านนา ที่เรียกว่า “เจ้าขัน 5 ใบ” อันประกอบด้วย เจ้าเมือง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร และเจ้าบุรีรัตน์

ด้วยเหตุที่เจ้าศุขเกษมเป็นบุตรเจ้าอุปราช จึงถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญไม่น้อย ต่อมาเจ้าศุขเกษมได้พบรักกับสาวพม่าเป็นแม่ค้าขายบุหรี่ชื่อ “มะเมี๊ยะ” และทั้งสองก็ได้เสียเป็นผัวเมียกัน พอถึงปี พ.ศ. 2446 หลังจากอยู่มะละแหม่งได้ 5 ปี เจ้าศุขเกษมต้องกลับเชียงใหม่ เจ้าศุขเกษมก็พามะเมี๊ยะกลับมาด้วย ตอนแรกให้คนสนิทปิดเรื่องนี้เป็นความลับ

แต่ในที่สุดเมื่อความจริงเปิดเผย ความรักของคนทั้งสองก็ต้องอวสาน เหตุเพราะว่ามะเมี๊ยะเป็นพม่า เจ้าศุขเกษมซึ่งต่อไปจะได้เป็นเจ้าเมืองครองเชียงใหม่ จะมีชายาเป็นพม่าซึ่งเป็นคนของอังกฤษไม่ได้ เพราะอังกฤษอาจใช้เป็นข้ออ้างเพื่อแทรกแซงหรือยึดเชียงใหม่ และเรื่องนี้ทำให้สยามไม่พอใจ เพื่อไม่ให้เรื่องลุกลามใหญ่โต ด้วยเจ้าพ่อได้หมั้นหมายเจ้าหญิงบัวชุมให้เจ้าสุขเกษมไว้แล้ว เรื่องแต่งงานกับสาวพม่าจะเกิดขึ้นไม่ได้กับลูกเจ้าเชียงใหม่             

วันส่งตัวมะเมี๊ยะกลับพม่า เจ้าสุขเกษมนั่งช้างไปส่งมะเมี๊ยะที่ประตูเมือง มะเมี๊ยะร้องไห้ เจ้าสุขเกษมก็ร้องไห้ มะเมี๊ยะสยายผมเช็ดเท้าเจ้าสุขเกษม ชาวเมืองที่มาดูตอนนี้ถึงกับร่วมร้องไห้ด้วยความสงสาร

หลังส่งตัวมะเมี๊ยะไปแล้ว เจ้าสุขเกษมถูกส่งตัวไปอยู่กรุงเทพ ฯ รับราชการเป็นทหาร แต่งงานกับเจ้าหญิงบัวชุม แต่ชีวิตไม่มีความสุขเพราะคิดถึงแต่มะเมี๊ยะ อาศัยเหล้าเป็นเครื่องปลอบใจ จนสภาพร่างกายทรุดโทรม จึงกลับไปเชียงใหม่

ส่วนมะเมี๊ยะหลังถูกส่งกลับบ้าน นางยึดมั่นคำสาบานไว้กับเจ้าสุขเกษมว่าจะรักและไม่ทรยศต่อเจ้าสุขเกษม นางจึงบวชเป็นชี แต่พอรู้ข่าวเจ้าสุขเกษมป่วยหนักและกลับมาเชียงใหม่ จึงแอบไปเยี่ยมแต่ไม่ได้พบ เจ้าสุขเกษมอยู่ได้ไม่นานก็ตรอมใจตาย อายุเพียง 35 ปี ทั้งสองต้องจากกันอย่างตลอดกาล ส่วนมะเมี๊ยะยังคงเป็นแม่ชีจนเสียชีวิตเมื่ออายุ 80 ปี 

มะเมี๊ยะ: นิยายอิงประวัติศาสตร์

บทความจากศิลปวัฒนธรรม ของสมฤทธิ์ ลือชัย (2555) กล่าวถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผลที่เรื่องรักอมตะดังกล่าวจะเป็นเรื่องจริง เพราะเขามีความชื่นชอบหลงใหลกับตำนานรักดังกล่าว จึงพยายามตามรอบและสืบค้นหาด้วยตนเอง โดยยกตัวอย่างเหตุผลที่เรื่องนี้มิอาจเป็นเรื่องจริงอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ประการ ประการแรก ที่มะละแหม่งไม่มีใครทราบเรื่องนี้ ตามใน “เพ็ชร์ลานนา” บอกแต่เพียงว่ามะเมี๊ยะเป็นแม่ค้าขายบุหรี่ เชื่อกันว่าต้องขายในตลาดและตลาดที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองมะละแหม่งก็คือตลาดแห่งนี้ ดังนั้นที่แห่งนี้ต้องเป็นที่พบรักของมะเมี๊ยะและศุขเกษม และถ้ามะเมี๊ยะเป็นแม่ค้าบุหรี่ที่นี่จริง เชื่อว่าน่าจะมีหลักฐานอะไรคงค้างอยู่ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปร้อยกว่าปีก็ตาม ยิ่งตลาดอยู่คู่กับเรื่องเล่าแล้วด้วย เหตุใดถึงไม่มีคนพูดถึงเรื่องตำนานรักนี้ 

ประการที่สอง ข้อมูลในหนังสือ มีข้อมูลที่ผู้เขียนเพ็ชร์ลานนา (2538) ให้มาผิดพลาดหลายจุด เช่น ตอนที่เกิดเหตุการณ์นั้น เจ้าแก้วนวรัฐบิดาของเจ้าศุขเกษมอยู่ในตำแหน่ง “เจ้าราชวงศ์” ไม่ใช่ “เจ้าอุปราช” อย่างที่ปราณีเสนอ ดังนั้นการที่ปราณีอ้างว่าความรักของเจ้าศุขเกษมกับมะเมี๊ยะต้องสิ้นสุดเพราะเจ้าศุขเกษมจะได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ต่อไปในอนาคตนั้นก็ไม่จริง เพราะตำแหน่ง “เจ้าราชวงศ์” โดย “ตำแหน่งและจารีต” แล้วมีโอกาสเป็นเจ้าเมืองน้อยกว่า “เจ้าอุปราช”

ประการสุดท้าย เรื่องราวเดียวกัน แต่พอเวลาผ่านไปกลับไม่ตรงกัน อธิบายได้ว่า จะเห็นได้ว่าตอนที่คุณปราณีออก “เพ็ชร์ลานนา” ในปี พ.ศ. 2507 นั้นเรื่องราวรักอมตะนี้ยังไม่หวือหวาเท่าไร แต่อีก 16 ปีต่อมาเมื่อออก “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” ในปี พ.ศ. 2523 นอกจากจะมีเนื้อหาเพิ่มแล้วเรื่องราวยังถูกสร้างให้ยิ่งใหญ่ขึ้น แม้ว่าข้อมูลเก่าและใหม่จะขัดแย้งกันก็ตาม อย่างเรื่องของเจ้าศุขเกษมหลังจากแยกกับมะเมี๊ยะแล้ว ต่อมาได้แต่งงานกับเจ้าบัวชุม ใน “เพ็ชร์ลานนา” กล่าวถึงชีวิตรักของทั้งสองว่า 

“เจ้าศุขเกษมมาอยู่เชียงใหม่ประมาณ 1 ปี จึงลงไปรับเจ้าหญิงบัวชุมมาอยู่ด้วย ชีวิตรักยังคงดำเนินมาโดยราบรื่นเพียง 7 ปี มัจจุราชก็พรากชีวิตเจ้าศุขเกษมไปอย่างไม่มีวันกลับ ทิ้งแต่ความรักอาลัยแก่เจ้าหญิงผู้อยู่หลัง…”

ภาพจาก: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ไม่เห็นมีวี่แววใด ๆ ที่จะระบุว่าเจ้าศุขเกษมยังรักและคิดถึงมะเมี๊ยะ แต่พอมาออก “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” คุณปราณีเสนอข้อมูลที่อ้างว่าได้จากปากของเจ้าบัวชุมเองว่า

“ตลอดชีวิตเจ้าศุขเกษมไม่มีความสุขและรื่นเริงในชีวิตสมรสเลย เพราะท่านคิดถึงมโนภาพชีวิตรักและคำสาบานของท่านต่อมะเมี๊ยะ ภรรยาคนแรกที่รักของท่านและมะเมี๊ยะก็รักท่าน…เป็นรักครั้งแรกและรักสุดท้าย”

เหตุใดเรื่องเดียวกันแต่พอเวลาผ่านไปกลับไม่ตรงกัน เป็นไปได้ไหมที่ว่าเมื่อออก “เพ็ชร์ลานนา” ปี พ.ศ. 2507 นั้น บุคคลสำคัญที่อ้างถึงคือเจ้าบัวชุมยังมีชีวิตอยู่ เลยไม่กล้าปรุงแต่งให้หวือหวาเท่าไร แต่พอมาออก “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” ซึ่งตอนนี้เจ้าบัวชุมเสียชีวิตไปแล้วก็เลยใส่ได้เต็มที่ ประกอบกับตอนนั้นเพลง “มะเมี๊ยะ” ของคุณจรัลกำลังดัง ก็เลยทำให้ตำนานรัก “มะเมี๊ยะ-ศุขเกษม” ใน “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

มะเมี๊ยะ: จากบทเพลงของจรัล

เนื้อเพลง “มะเมี๊ยะ”ของ จรัล มโนเพชร (2524) ได้นำความรักอมตะเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อน มาถ่ายทอดให้รำลึกถึงความสะเทือนใจในครั้งนั้นอีกครั้งหนึ่ง ไม่เพียงแต่ชาวล้านนาเท่านั้นที่ต้องเสียน้ำตากับเรื่องนี้ แต่คนทั่วไปที่ได้ฟังเรื่อง ก็ต้องสะเทือนใจกับความรักบริสุทธิ์ที่ถูกครอบงำอยู่ใต้กฎเกณฑ์ทางการเมือง

จากตำนานรักอันเป็นที่รู้จัก หนังสือของปราณี ศิริธร ณ พัทลุง (2523) จึงได้เกิดเป็นเพลงที่โด่งดัง “มะเมี๊ยะ” ซึ่งขับร้องโดย สุนทรี เวชานนท์  คำร้องทำนองจากศิลปินโฟล็กกำเมือง จรัล มโนเพ็ชร โดยบันทึกเสียง ปี พ.ศ.2524 ข้อมูลจากเพจ “พร่างเพชรในเกร็ดเพลง” เรียบเรียงข้อมูลจากหนังสือ “30 ปี โฟล์คซองคำเมือง” ของ “สิเหร่” กล่าวว่า คุณจรัล มโนเพ็ชร แต่งเพลง “มะเมี๊ยะ” จากเรื่องจริงที่เป็นความรักอมตะของลูกเจ้าเมืองเชียงใหม่กับสาวพม่านามมะเมี๊ยะ

โดยเพลง “มะเมี๊ยะ” เป็นเพลงที่จรัล มโนเพ็ชร (2524) ไม่ค่อยนำไปร้องสด เพราะจัดเป็นเพลงอาถรรพ์เพลงหนึ่ง ตั้งแต่ตอนบันทึกเสียงเพลงนี้ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะบันทึกเสียงติด คุณสุนทรี เวชานนท์ที่เป็นคนร้องเพลงนี้ ทำยังไงก็ร้องไม่ได้ ร้องทีไรร้องไห้ทุกที พอปล่อยให้ให้ร้องไห้ให้พอแล้วค่อยร้องเพลง ก็ร้องไม่ได้อีกเพราะร้องไห้จนเสียงไม่มี สุดท้ายมีผู้แนะนำว่าควรกราบไหว้บอกกล่าวเสียก่อน ก็เลยทำตามนั้นเพื่อความสบายใจ ที่สุดก็บันทึกเสียงเพลงนี้ได้สำเร็จ

จากหลักฐานบทความที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่เรื่องราวรักร้อยปีของมะเมี๊ยะและเจ้าชายแห่งล้านนา จะเป็นความจริงทั้งหมด แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ ตำรา ตำนานล้วนถูกแต่งเติม จากนักเขียนมากฝีมือ อย่างไรก็ตามเราไม่มีทางรับรู้อดีตได้ว่าแท้จริงเป็นเช่นไร แต่ความรักที่ต้องห้ามนี้ ยังคงพูดถึงและเป็นสิ่งที่ให้ความสุขในแง่ความบันเทิง

ที่มา

  • ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. (2538) เพ็ชร์ลานนา. กรุงเทพฯ: บริษัท นอร์ทเทิร์น พริ้นติ้ง
  • ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. (2523) ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่. กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์เรืองศิลป์
  • สมฤทธิ์ ลือชัย (2555) มะเมี๊ยะ : เรื่องเก่าที่ต้องมองใหม่.  วารสารศิลปวัฒนธรรม. ฉบับเดือนธันวาคม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง