เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว
“เขื่อน” สิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์สำหรับกั้นทางน้ำ กักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนและใช้ในการเกษตรกรรมในช่วงหน้าแล้ง ป้องกันเกิดอุทกภัย และใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็ได้เร่งดำเนินนโยบายการพัฒนาทางน้ำขนาดใหญ่ อาทิ โครงการผันน้ำยวม โครงการเขื่อนแม่วงก์ เป็นต้น
แต่การเร่งดำเนินการนโยบายไปข้างหน้าให้ทันตามเศรษฐกิจโลกนั้น อาจจะทิ้งบางสิ่งไว้ข้างหลัง โครงการหลาย ๆ โครงการนั้นส่งผลกระทบต่อนิเวศทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้างมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งสวนทางกับนานาประเทศทั่วโลกที่มีการตระหนักถึงความได้ไม่คุ้มเสียของการเกิดขึ้นของเขื่อนที่ส่งกระทบต่อ ระบบนิเวศทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำที่ต้องอาศัยแม่น้ำในการดำรงชีวิตรวมไปถึงการให้ความสำคัญต่อแม่น้ำในด้านจิตวิญญาณ
วันที่ 14 มีนาคมของทุกปีถือเป็น วันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Actions for Rivers : against Dams) วันสำคัญทางสิ่งแวดล้อมอีกหนึ่งวัน จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของวิถีชีวิตและธรรมชาติในลุ่มน้ำทั่วโลก รวมถึงตระหนักต่อการเกิดขึ้นของเขื่อนและการพัฒนาทางน้ำที่ขาดความยั่งยืน เกิดขึ้นที่เมืองกูริติบา รัฐปารานา ประเทศบราซิล ในวันที่ 11-14 มีนาคม 2540 ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบการเขื่อนทั้งหมด 20 ประเทศ ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จากเขื่อนครั้งที่ 1 เพื่อหาแนวทางในแก้ไขปัญหาจากเขื่อนที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมจากทั่วภูมิภาค และกำหนดให้วันที่ 14 มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดเขื่อนโลก โดยมีคำขวัญว่า “น้ำเพื่อชีวิตไม่ใช่เพื่อความตาย”
เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก เราจึงอยากพาทุกคนไปสำรวจประเทศที่มองเห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำที่เป็นดั่งชีวิตที่คอยหล่อเลี้ยงผู้คนมากกว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และประเทศที่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นการไหลเวียนของวิถีชีวิตในแม่น้ำ
แม่น้ำคือผู้คน แม่น้ำคือชีวิต
เมื่อปี 2560 แม่น้ำวังกานุย แม่น้ำสายใหญ่อันดับ 3 ของนิวซีแลนด์ บนเกาะเหนือ ได้รับสถานะเทียบเท่าบุคคลตามกฎหมาย ภายใต้สนธิสัญญาวังกานุย หลังสมาชิกสภานิติบัญญัติอนุมัติกฎหมายดังกล่าว หลังมีการผลักดันเรียกร้องตั้งแต่ปี 2413 ร่วมระยะเวลาเกือบ 150 ปี และออกกฎหมายฉบับใหม่ยอมรับความสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างแม่น้ำวังกานุย กับชาวเมารีเผ่าวังกานูอิอิวิ เรียกว่า ‘Te Awa Tupua’ ซึ่งหมายถึง ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’
โดยสถานะบุคคลทางกฎหมายของแม่น้ำวังกานุย หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิและความรับผิดชอบเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป อีกทั้งยังเป็นความสัมพันธ์ทางบรรพบุรุษที่เฉพาะระหว่างชาวเมารีเผ่าวังกานูอิอิวิ เพราะการดำรงชีวิตของชาวกานูอิอิวินั้นไม่ได้ดำเนินไปแค่การให้แม่น้ำเป็นแค่แหล่งอาหารเท่านั้น แต่เป็นการดำเนินชีวิตที่มีแม่น้ำเป็นจิตวิญญาณอีกด้วย
และนอกแม่น้ำวังกานุยที่ได้รับสถานะเทียบเท่าบุคคลตามกฎหมายแล้ว ในปีเดียวกันนั้นประเทศอินเดีย ในรัฐอุตตราขัณฑ์ ก็ได้ประกาศให้แม่น้ำคงคาและยมุนา มีสถานภาพของการเป็นบุคคลทางกฎหมาย มีสิทธิตามกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคล หากใครทำให้แม่น้ำทั้งสองสายนั้นสร้างมลพิษ จะมีความผิดเทียบเท่าการทำร้ายบุคคล
จากสถานการณ์ของ 2 ประเทศนี้ทำให้เห็นว่านอกจากแม่น้ำที่เป็นแหล่งอาหารของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณนั้นแล้วยังเป็นตอกย้ำว่าแม่น้ำเป็นดั่งเสมือนจิตวิญญาณที่คอยเชื่อมโยงผู้คนในสายน้ำเข้าด้วยกัน
รื้อถอนเขื่อน ให้ชีวิตในแม่น้ำกลับมาอีกครั้ง
ประเทศโลกที่หนึ่งนั้นเป็นต้นกำเนิดในการสร้างเขื่อน ในทศวรรศที่ 19 ประเทศเหล่านี้ได้เร่งสร้างเขื่อนเป็นจำนวนมากในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ในปัจจุบันประเทศเหล่านี้ได้มีทัศนคติที่เปลี่ยนไป มีการเร่งรื้อถอนเขื่อนที่ผุดขึ้นมากมายหลังมองว่าการสกัดกั้นน้ำมีประโยชน์น้อยกว่าการปล่อยแม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระที่สร้างประโยชน์มากกว่า เป็นการกลับมาฟื้นฟูธรรมชาติ และระบบนิเวศให้กลับคืนมาดั่งเดิม
ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการรื้อถอนเขื่อนไปแล้วมากกว่า 1,951 แห่ง ในปี 2564 และยังดำเนินการรื้อถอนเขื่อนอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยในปีที่ผ่านมามีโครงการรื้อถอนเขื่อน 4 แห่งในแม่น้ำ Klamath แม่น้ำขนาดใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐออริกอน ให้แม่น้ำกลับมาไหลอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งแม่น้ำแห่งนี้เป็นทั้งแหล่งอาหารของชนพื้นเมือง และปลาแซลมอนสามารถอพยพเพื่อไปวางไข่ได้อย่างอิสระ ถือเป็นโครงการรื้อถอนเขื่อนและฟื้นฟูแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วหลายประเทศในภาคพื้นยุโรปก็ได้เห็นความสำคัญของนิเวศทางธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งได้ดำเนินการโครงการรื้อถอนเขื่อนมาแล้วกว่า 20 ปี เริ่มต้นในปี 2000 สหภาพยุโรปได้ร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ และข้อบังคับตามกฎหมายทรัพยากรน้ำของสหภาพยุโรป ภายใต้กรอบทรัพยากรน้ำ (WFD) บังคับให้สมาชิกสหภาพยุโรปต้องปฏิบัติตามมาตรฐานในการฟื้นฟูแม่น้ำภายในประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานทางนิเวศวิทยาที่ดีภายในปี 2027 โดยในปี 2541 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำเนินการรื้อถอนเขื่อน Saint-Etienne-du-Vigan เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ แม่น้ำ และเปิดทางให้กับปลาแซลมอนแอตแลนติคที่อพยพมาจากตอนเหนือของมหาสมุทรแอดแลนติคให้สามารถเดินทางไปวางไข่ได้ในแถบต้นน้ำของแม่น้ำ Allier ได้ ในปี 2564 สเปน เป็นประเทศที่มีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำมากที่สุด จำนวนกว่า 108 แห่ง โดยในปี 2565 ในภูมิภาคยุโรปมากกว่า 17 ประเทศได้รื้อถอนกำแพงกั้นน้ำ เขื่อน และฝายมากกว่า 239 แห่ง
อย่างในบทความวิชาการเรื่อง “กฎหมายต้นแบบว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแม่น้ำ” ของ สกุนา ทิพย์รัตน์และสุนีย์ มัลลิกะมาลย์ เสนอว่าควรมีการคุ้มครองสิทธิของแม่น้ำเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างแท้จริง โดยให้ภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมโดยมีหน้าที่เฝ้าระวัง ดูแล แจ้งเบาะแสการกระทําที่เป็นการละเมิดสิทธิของแม่น้ําให้แก่ภาครัฐ และในด้านนโยบายควรมีการกําหนดในหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ รักษาธรรมชาติ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีความรอบรู้ในสภาพภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นตน รวมทั้งปลูกฝังแนวคิดแบบระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง (Eco-Centric) ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
การยกแม่น้ำให้ได้รับสถานะเทียบเท่าบุคคลตามกฎหมาย และการรื้อถอนเขื่อนในหลายประเทศนั้นทำให้เห็นว่า เขื่อนส่งผลเสียต่อนิเวศทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งสวนทางกับประเทศไทยที่ได้มีนโยบายการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่ยังดำเนินการไปอย่างไม่หยุดหย่อนในปัจจุบัน
อ้างอิง
- HISTORY OF INTERNATIONAL DAY OF ACTION FOR RIVERS
- แม่น้ำคือบุคคลการคืนอำนาจให้ชนพื้นเมือง
- บทเรียนจากทั่วโลกว่าด้วยการรื้อเขื่อน
- ‘Momentous:’ US advances largest dam demolition in history
- ‘รื้อเขื่อน’ กว่า 200 แห่ง ทั่วยุโรป
- เส้นทางการปฏิวัติเขื่อนในยุโรป คืนเส้นทางน้ำให้ฝูงปลา
- กฎหมายต้นแบบว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแม่น้ำ
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ